WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สปช.แห่ชิงกมธ.ยกร่าง ค้านคนนอก เสียงแตก-ชงโหวต 27 ตค.

            แนวหน้า : สปช.แห่ชิงกมธ.ยกร่าง ค้านคนนอก เสียงแตก-ชงโหวต 27 ตค. ก๊วนอดีต 40สว.ชนมติวิปฯ‘วันชัย’เสียงอ่อยรอประชุม บิ๊กตู่-ป้อมอุ้ม‘บวรศักดิ์’ปธ.

                นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เชิญสมาชิก สปช.เข้าร่วมประชุมวันที่ 27 ตุลาคม โดยมีวาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติชั่วคราว 2เรื่อง ได้แก่ 1.แนวทางการสรรหากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของ สปช.จำนวน 20คน 2.การกำหนดวันและเวลาการประชุม สปช.อย่างถาวร ขณะที่ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในสัปดาห์หน้า มีวาระวิธีสรรหากรรมาธิการยกร่างฯในสัดส่วน สนช.จำนวน 5คน

สปช.-สนช.เตรียมถกปมสำคัญ

                ด้าน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่2 กล่าวว่า การประชุม สนช.วันที่ 30 ตุลาคมนี้ จะมีการพิจารณาสรรหาสมาชิก สนช.5คน เพื่อทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกสามารถแสดงความจำนงได้ภายในเวลา 12.00น.ของวันที่ 28ตุลาคม จากนั้นจะนำเข้าสู่การหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ในวันเดียวกัน พร้อมกับร่างกฎหมายต่าง ๆตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เสนอ ทั้งนี้ หากมีสมาชิกแสดงความจำนงทำหน้าที่ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่า 5คน ก็จะคัดเลือกเบื้องต้นก่อนเสนอชื่อต่อที่ประชุมใหญ่ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิการเสนอชื่อสมาชิกคนอื่นๆ

บิ๊กป้อมหนุนบวรศักดิ์ปธ.ยกร่าง

                พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ คสช.และครม.ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกัน ขึ้นอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.จะกำหนดวันเวลา ส่วนที่มองกันว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช.เป็นหวยล็อกจะมานั่งเก้าอี้ประธานกรรมาธิการยกร่างฯนั้น ส่วนตัวคิดว่า มีเหมาะสม เพราะเป็นนักกฎหมายและผ่านการทำงานต่าง ๆ มามากมายอย่างไรก็ตามอาจจะใช่หรือไม่ใช่ นายบวรศักดิ์ ก็ได้ เพราะนายกฯยังไม่ได้เลือกแน่ชัด

‘บิ๊กตู่’ก็หนุน-4พ.ย.ต้องส่งรายชื่อ

                เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณารายชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯในส่วน ครม.และคสช.ว่า จะมีการหารือก่อนประชุมร่วมกันวันที่ 4พฤศจิกายนนี้ เพื่อนำผลการหารือและนำเสนอรายชื่อในสัดส่วนของครม.จำนวน 5คน คสช.5คน และชื่อประธานอีก 1คน เข้าที่ประชุมดังกล่าว เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายที่จะต้องส่งรายชื่อ ผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯที่เคยบอกว่ามีรายชื่ออยู่ในใจจำนวนมาก มีชื่อ นายบวรศักดิ์ หรือไม่ นายกฯ กล่าวยอมรับว่า มีอยู่

‘ไพบูลย์’ค้านดึง 5 คนนอกร่างรธน.

                ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช.ด้านการเมือง กล่าวถึงสัดส่วนกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ สปช.ด้านการเมือง ว่า บุคคลที่สนใจเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมี ตน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายชูชัย ศุภวงศ์ นายอมร วณิชวิวัฒน์ และนางตรึงใจ บูรณสมภพ เป็นต้น แต่ยังไม่มีมติว่า จะส่งใคร ขณะเดียวกัน จะนัดหารือเพื่อนสมาชิกเพื่อกำหนดท่าทีประเด็นที่คณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือวิป สปช.ชั่วคราว มีมติเสียงส่วนใหญ่ใช้สัดส่วน สปช.15คนและบุคคลภายนอกอีก 5คน เข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างฯซึ่งจากการพูดคุยกับเพื่อนสมาชิกปรากฏว่า มีความเห็นแย้งเรื่องดังกล่าวและไม่เห็นด้วย เนื่องจากขัดกับหลักการ เพราะการที่บอกว่า เพื่อเปิดโอกาสให้มีความคิดที่หลากหลายนั้น ตนมองว่าการทำงานส่วนนี้เป็นการทำงานในส่วนกรรมาธิการยกร่างฯดังนั้นการนำคนนอกเข้ามาเพื่ออะไร

27 ตุลาคมนัดโหวตลงมติชี้ขาด

                ซึ่งการประชุม สปช.ครั้งที่2 วันที่ 27ตุลาคมนี้ มีวาระสำคัญเร่งด่วนการสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างฯ 20คน ซึ่งเห็นว่าสัดส่วน 20 คน ควรมาจากสมาชิก สปช.ทั้งหมด ซึ่งวันดังกล่าวตนและเพื่อนสมาชิกจะอภิปรายและจะยื่นญัตติให้ลงมติในที่ประชุมใหญ่ ซึ่งตนเชื่อในดุลยพินิจเพื่อนสมาชิกว่า จะไม่เห็นด้วยแน่นอน

นอมินีการเมืองแฝง-มุ่งแตกแยก

                นอกจากนี้ นายไพบูลย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายวันชัย สอนศิริ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในฐานะโฆษกวิป สปช.(ชั่วคราว) ระบุว่า วิป สปช.ชั่วคราว มีมติเปิดโอกาสให้กลุ่มพรรคการเมืองและนักการเมือง เข้ามามีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตนและพวกเห็นแย้งในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเห็นจากคนของพรรคการเมืองในวิป สปช.ชั่วคราว ซึ่งการที่จะดึงนักการเมืองมาเป็นกรรมาธิการยกร่างฯนั้น ถือเป็นการขัดหลักการที่สมาชิกในคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะต้องไม่มีส่วนได้เสียทางการเมืองและการเข้ามานั้นถือเป็นนอมินีของพรรคและเป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความแตกแยกอีกด้วย

‘วันชัย’เสียงอ่อยแล้วแต่ผลโหวต

                ด้าน นายวันชัย สอนสิริ สมาชิก สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในฐานะ วิปสปช.ให้สัมภาษณ์ถึงโควต้า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การที่ วิปสปช.เสนอให้กมธ.ยกร่างฯเป็นคนในสปช.15คนและคนนอก 5คนนั้น เป็นเพียงกรอบที่เสนอ เพราะต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วม เพราะที่ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญมักจะเกิดการไม่ยอมรับจากคู่ขัดแข้ง เพระไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม เราจึงเปิดโอกาสตรงนี้ไว้ให้ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทย หรือพรรคอื่นๆ กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) รวมถึงคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการร่างรัฐธรรมนูญได้มีโอกาสเข้ามา เราจึงวางแนวทางไว้ให้ที่ประชุมสปช.ได้อภิปรายและลงมติว่า เห็นด้วยตามที่วิปฯเสนอหรือไม่ เมื่อมีสมาชิก สปช.ไม่เห็นด้วย จึงอยากให้มาอภิปรายกันในที่ประชุม แล้วลงมติกัน เอาตามเสียงส่วนใหญ่ ออกมาอย่างไรก็ยึดตามนั้น

'วุฒิสาร'รับมีคนทาบนั่งกมธ.ยกร่าง

                ขณะที่ นายวุฒิสาร ตันไชย สมาชิก สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงข่าวที่ว่า มีการทาบทามให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่างฯว่า ยอมรับว่ามีคนใน สปช.และกลุ่มที่ทำงานด้านท้องถิ่น อยากเห็นตนเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เพื่อผลักดันการปฏิรูปด้านท้องถิ่น ส่วนกรณีทางคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) ชั่วคราว มีมติให้กำหนดสัดส่วนคณะกรรมาธิการยกร่างฯในส่วนของ สปช.มาจากสมาชิก 15คนและมาจากคนนอก 5คน ตนไม่ขอออกความเห็น ควรให้ที่ประชุม สปช.พิจารณาว่า จะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้

สปช.ตั้งกมธ.สามัญสภา 16 คณะ

                นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช.ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช.แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาขึ้นเพื่อพิจารณา ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทางการปฏิรูปในด้านต่างๆ โดยกำหนดให้แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการที่มาจาก สปช.ไม่น้อยกว่า 13คน แต่ไม่เกิน 29คน นอกจากนี้ที่ประชุมได้กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญอีก 5คณะ โดยคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา 16คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง 2.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน 3.คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

                4.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น 5.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 6.คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ 7.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตรและการแรงงาน 8.คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน 9.คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข 10.คณะกรรมาธิการปฏิรูปสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 11.คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร 12.คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม 13. คณะกรรมาธิการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลและค่านิยม 14.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและแก้ไขทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐและภาคเอกชน 15.คณะกรรมาธิการปฏิรูปกิจการศาสนาและศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติ 16.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

ไฟเขียวผุดกมธ.วิสามัญอีก 5 คณะ

                ส่วนคณะกรรมาธิการวิสามัญ 5คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2.คณะกรรมาธิการจัดทำวิสัยทัศน์และรูปแบบอนาคตประเทศไทย 3.คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน 4.คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชนประจำจังหวัด 5.คณะกรรมาธิการวิสามัญสื่อสาธารณะ และการประชาสัมพันธ์

ปปช.ไม่ห้ามอยากโชว์ทรัพย์สิน

                นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้สมาชิก สปช.ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แม้ปปช.จะมีมติไปแล้วว่า ไม่ต้องยื่น ว่า หาก สปช.บางส่วนต้องการยื่นเพื่อความโปร่งใสก็สามารถยื่นเข้ามาได้ แต่ ปปช.คงเข้าไปจัดการ หรือเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะที่ประชุม ปปช.มีมติแล้วว่า สปช.ไม่เข้าข่ายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เปิดทรัพย์สิน 5 สนช.นั่งรมต.

                วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สนามบินน้ำ มีการประกาศเปิดบัญชีหนี้สินและทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสมาชิกสนช.จำนวน 5คน กรณีพ้นจากตำแหน่งไปดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28สิงหาคม ดังนี้ 1.นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา มีทรัพย์สิน 317,674,376บาท ทรัพย์สินของผู้ยื่น 156,033,468บาท ของคู่สมรส 161,425,780บาท รวมหนี้สินทั้งหมด 568,707 บาท หนี้สินผู้ยื่น 369,565บาท ของคู่สมรส 199,142.21บาท มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 317,105,668 บาท โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากกรณีรับตำแหน่งที่ทาง ปปช.ได้เปิดเผยเมือวันที่ 3ตุลาคม 1,667,221บาท

‘ณรงค์ชัย’บิ๊กพลังงาน 281 ล้าน

                2.พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ มีทรัพย์สินทั้งหมด 24,301,127.97บาท ทรัพย์สินของผู้ยื่น 6,775,313.95บาท ของคู่สมรส 17,525,814บาท มีหนี้สินทั้งหมด 7,368,225บาท หนี้สินของผู้ยื่น 2,661,355บาท ของคู่สมรส 4,706,870บาท มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 16,932,902บาท โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากกรณีเข้ารับตำแหน่ง 373,444บาท มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาจากเงินฝากในส่วนของผู้ยื่น 185,013บาท ส่วนของผู้สมรส 96,566บาท 3.นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน มีทรัพย์สินทั้งหมด 281,352,644บาท ทรัพย์สินของผู้ยื่น 204,069,814บาท ทรัพย์สินคู่สมรส 77,282,829บาท มีหนี้สิน 85,389บาท โดยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 281,267,255บาท

‘รัชตะ’อู้ฟู่ 139 ล้าน-อาคม 24 ล้าน

                4.นายรัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข มีทรัพย์สินทั้งหมด 139,271,194บาท ทรัพย์สินของผู้ยื่น 67,114,832บาท ของคู่สมรส 72,156,362บาท ไม่มีหนี้สิน โดยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 139,271,194บาท โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากกรณีเข้ารับตำแหน่ง 678,939บาท 5.นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม มีทรัพย์สินทั้งหมด 24,772,863บาท ทรัพย์สินผู้ยื่น 11,572,863บาท ทรัพยส์สินคู่สมรส (เสียชีวิตเมือวันที่ 23กรกฎาคม2549และยังไม่มีการโอนทรัพย์สินให้แก่ผู้ยื่น เช่น สิ่งปลูกสร้าง และที่ดิน) 13,200,000บาท มีหนี้สินทั้งหมด 1,177,059บาท โดยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 23,595,804บาท โดยนายอาคม ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ปปช.เพียงครั้งเดียว

บิ๊กตู่เผยบาห์เรนชื่นชมเมืองไทย

                เวลา 20.15น.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ”คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยมีเนื้อหาสรุปว่า

                รัฐบาลกำลังเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ในทุกๆมิติ ก็ขอให้ทุกคนได้ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันกับการทำงานของเรา ถ้าเราไม่ร่วมมือกันวันนี้ก็เดินหน้าไปไม่ได้และเราแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้นทุกคนต้องหันหน้ามาพูดคุยกันและให้คำแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์

                “สิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งที่ยังไม่ดี ไม่เข้าใจ ผมยินดีน้อมรับทุกเรื่อง เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไข แต่หลายๆอย่างคงต้องใช้เวลา ไม่สามารถจะแก้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ขอขอบพระคุณในกำลังใจที่ให้กับพวกเราเสมอมา เราก็จะทำหน้าที่ของพวกเราให้ดีที่สุด”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ตั้งกมธ.ประจำสภา 16 คณะ วิสามัญอีก 5 คณะ

                นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาขึ้นเพื่อพิจารณา ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทางการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ โดยกำหนดให้คณะกรรมาธิการแต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการที่มาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติจำนวนไม่น้อยกว่า 13 คน แต่ไม่เกิน 29 คน นอกจากนี้ที่ประชุมได้กำหนดให้มี คณะกรรมาธิการวิสามัญอีก 5 คณะโดยคาดว่าวันที่ 31 ตุลาคม คณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับฯ จะมีการประชุมในครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นจะนำร่างข้อบังคับฯ นำเสนอต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้พิจารณาเป็นรายมาตรา หลังจากนั้นอาจมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อแปรญัตติ หรือตั้งคณะกรรมาธิการจากสภาปฏิรูปฯ ทั้ง 250 คน ก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน ซึ่งคาดว่าต้นเดือนพฤศจิกายนจะมีข้อบังคับการประชุมของ สปช. มาบังคับใช้

                สำหรับ คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา ทั้ง 16 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง 2.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน  3.คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น  5.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 6.คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ 7.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตรและการแรงงาน  8.คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน 9.คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข 10.คณะกรรมาธิการปฏิรูปสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 11.คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร 12.คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม 13.คณะกรรมาธิการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลและค่านิยม 14.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและแก้ไขทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐและภาคเอกชน 15.คณะกรรมาธิการปฏิรูปกิจการศาสนาและศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติ 16.คณะกรรมาธิการปฏิรูปการขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

                คณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 5 คณะประกอบด้วย 1.คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2.คณะกรรมาธิการจัดทำวิสัยทัศน์และรูปแบบอนาคตประเทศไทย 3.คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน 4.คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชนประจำจังหวัด  5.คณะกรรมาธิการวิสามัญสื่อสาธารณะ และการประชาสัมพันธ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!