- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Sunday, 26 January 2020 21:40
- Hits: 9426
วิษณุ เตรียม 5-6 แนวทางหากพ.ร.บ.งบฯ ล่าช้า มองออก พ.ร.ก.กู้เงินเป็นทางเลือกสุดท้าย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงข้อกังวลเกี่ยวกับกรณี ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันในการลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่อาจทำให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ อาจต้องล่าช้าออกไปนั้น รัฐบาลได้เตรียมหาทางออกไว้แล้วประมาณ 5-6 แนวทาง แต่ยังขอไม่เปิดเผยว่าเป็นช่องทางใด
อย่างไรก็ตาม มองว่าข้อเสนอให้ออกพระราชกำหนดกู้เงิน (พ.ร.ก.กู้เงิน) จะเป็นทางเลือกสุดท้าย และยังไม่ควรนำมาใช้ในขณะนี้ โดยขอให้สภาผู้แทนราษฏรตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาก่อน ซึ่งให้ยึดไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143
ทั้งนี้ นายวิษณุ ยอมรับว่า การใช้จ่ายงบประมาณในภาพรวมอาจล่าช้า แต่ยังสามารถนำเงินงบประมาณมาขับเคลื่อนโครงการต่างๆได้ อีกทั้งมั่นใจว่างบประจำจะไม่ได้รับผลกระทบ เป็นห่วงเรื่องงบลงทุนมากกว่า แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลเสียหายร้ายแรงตามที่มีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งใครที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ก็ขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นแน่นอน
โภคิน ชี้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องตกทั้งฉบับเหตุกระบวนการไม่ชอบด้วยรธน. ยันรัฐบาลออกพ.ร.ก.แทนไม่ได้
นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีมี ส.ส. เสียบบัตรแทนกันในการพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 เขียนชัดเจนเรื่องกระบวนการตรากฎหมาย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือการเสียบบัตรแทนกัน เท่ากับว่ามีความชัดเจนว่ากระบวนการตรานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จะทำให้กฎหมายนั้นตกไป โดยจะอ้างว่าช่องเสียบบัตรน้อย หรือเสียบบัตรแทนตามเจตนารมณ์ของเจ้าของบัตรไม่ได้
นายโภคิน ยังกล่าวถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 143 ที่หากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณไม่แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับแต่วันที่รับร่างจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ถือว่าสภาฯเห็นชอบตามที่ครม. เสนอมาว่า กรณีดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการพิจารณากฎหมายเสร็จสิ้นแล้วตามกรอบเวลา 105 วันจะนำมาอ้างเหตุให้มีผลบังคับใช้ตามวาระแรกที่รัฐบาลส่งมาไม่ได้ รัฐบาลต้องไปหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ร่างพ.ร.บ. นั้นบังคับใช้ให้เร็วที่สุด และไม่สามารถออกเป็นพ.ร.ก.ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องทำเป็นร่างพ.ร.บ.เท่านั้น ถ้ารัฐบาลออก พ.ร.ก.จะเท่ากับขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนจะฟ้องได้หรือไม่ต้องดูอีกที
ไพบูลย์ เชื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ถูกตีตกเหตุไม่มีข้อความขัด รธน.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะไม่เป็นโมฆะ จนสร้างผลกระทบและความเสียหายต่อประเทศอย่างแน่นอน เนื่องจากการยื่นคำร้องของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่มีการเสียบบัตรแทนกันนั้น สาระสำคัญของคำร้องทั้ง 2 ฉบับเกี่ยวกับเรื่องของการออกเสียงที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีข้อความใดในร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 148
นอกจากนี้ ตนเคยยื่นให้มีการตรวจสอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 57 มาแล้ว ซึ่งไม่ได้ทำให้งบประมาณต้องตกไป และในครั้งนั้นศาลใช้ระยะเวลาในการพิจารณาเพียง 10 วัน ซึ่งตามกรอบสามารถพิจารณาได้ไม่น้อยกว่า 15 วัน จึงเชื่อว่าการพิจารณาครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 15 วัน
2 ส.ส.พปชร.ปฏิเสธลงมติร่างพ.ร.บ.งบฯแทนกัน แค่ช่วยเสียบบัตร/’ชวน’ยันผิดแน่
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมด้วย นางสาวภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงภายหลังปรากฎภาพเสียบบัตรในช่องลงคะแนนมากกว่า 1 ใบในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้มีนโยบายให้ ส.ส.ใช้บัตรลงคะแนนแทนกัน
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า วิปรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐไม่มีแนวทางให้ ส.ส.กดบัตรลงคะแนนแทนกัน ถ้าใครไม่มาก็จะไม่มีการลงคะแนนแทนกัน อย่างไรก็ตาม มีปัญหาในเรื่องของสถานที่ประชุม เนื่องจากช่องลงคะแนนของพรรคมี 68 ช่องแต่พรรคมี ส.ส.117 คน ในหนึ่งช่องย่อมมีการเสียบ 2-3 ใบเป็นปกติอยู่แล้ว ส.ส.จะลงมาเสียบบัตรกันเอง แต่ภาพที่เกิดขึ้นอาจเป็นอุบัติเหตุ
"ไม่มีการเสียบบัตรแทนกันแต่เพียงครั้งเดียว ถ้าไม่ได้เข้าไปนั่งด้วยตัวเองจะไม่มีทางรู้เลยว่าการกดมันยากจริงๆ เป็นอุบัติเหตุ ส่วนเรื่องข้อกฎหมายเป็นเรื่องของการตีความ เราไม่ได้ตัดสินว่าถูกหรือผิด ยืนยันว่าไม่ได้เป็นไม่ได้เป็นการลงคะแนนแทนกันแต่เป็นการช่วยกันลงคะแนน" นายชัยวุฒิ กล่าว
ด้านน.ส.ภริม กล่าวว่า เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นลักษณะที่ได้ลงคะแนนไปแล้ว ปรากฎว่านายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ในห้องประชุมได้นำบัตรมาให้ช่วยกดลงคะแนน เพราะไม่สามารถเข้าไปที่นั่งเพื่อกดบัตรด้วยตัวเองได้ ซึ่งยืนยันได้ว่าการลงคะแนนได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนายทวิรัฐ โดยไม่ได้ลงคะแนนไปตามเจตนารมณ์ของตนเองแต่อย่างใด
นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รับได้กับเหตุการณ์ที่ฝากให้เพื่อนสมาชิกคนอื่นกดบัตรลงคะแนนแทนหากอยู่ในที่ประชุม เพราะมีตัวตนอยู่ในที่ประชุม ซึ่งต้องยอมรับว่าเครื่องลงคะแนนมีจำนวนไม่พอกับสมาชิก จึงอาจต้องฝากบัตรให้เพื่อนเสียบแทนเพราะสถานที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แต่หากไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไปต่างประเทศ แต่กลับมีการลงมติ มองว่าเป็นการกระทำผิด
น.ส.รังสิมา กล่าวว่า เคยทักท้วงกรณีนี้มาตั้งแต่ปี 2544 แต่ยังเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก มองว่าหากจะแก้ปัญหาที่ตัวบุคคลอาจทำได้ยาก จึงเสนอแนวทางให้เปลี่ยนจากการใช้บัตรแสดงตน เป็นการแสดงอัตลักษณ์บุคคล เช่น การสแกนม่านตาหรือสแกนลายนิ้วมือแทน เพราะไม่สามารถฝากบัตรแทนกันได้ โดยจะนำเรื่องนี้เสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวตอบข้อหารือของสมาชิกในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเห็นชอบร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการถึงกรณีที่แม้ว่าสมาชิกอยู่ในห้องประชุมแต่ฝากให้เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันเพียงสั้นๆ ว่า"ผิดแน่ๆ ครับ"
เลขาธิการสภาฯ พ้อถูกตัดลดงบซื้อเครื่องสแกนลายนิ้วมือ จึงยังเกิดปัญหาเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน
นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาการกดบัตรลงคะแนนแทนกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า ขณะนี้พบว่าเกิดขึ้นใน 3 กรณี คือ 1.มี ส.ส.บางคนเสียบบัตรค้างไว้ และมีคนมากดลงมติแทน 2.มีส.ส.บางคนเบิกบัตรสำรองไปให้คนอื่นมาเสียบบัตรลงมติแทน ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้เข้าร่วมการประชุม และ 3.มีการเสียบบัตรแทน เนื่องจากเครื่องลงคะแนนไม่เพียงพอ ซึ่งกรณีนี้เกิดจากปัจจุบัน ส.ส.ใช้ห้องประชุมของ ส.ว.จึงทำให้เครื่องลงคะแนนของสมาชิกมีเพียง 318 เครื่อง ไม่ถึง 498 เครื่อง ตามจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือเท่ากับว่าขาดไป 180 เครื่อง ดังนั้นจึงทำให้ ส.ส.ต้องใช้เครื่องในการลงคะแนนร่วมกัน
นายสรศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกเสียดายที่ก่อนหน้านี้รัฐสภาแห่งใหม่ถูกออกแบบสำหรับแก้ไขปัญหาการกดบัตรลงคะแนนแทนกัน โดยตั้งใจจะใช้เครื่องลงคะแนนแบบสแกนลายนิ้วมือ แทนวิธีการเสียบบัตรแบบเดิม
แต่ปรากฏว่าในปี 2560 - 2561 เมื่อถึงเวลาต้องตั้งงบประมาณสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว รัฐบาลกลับตัดลดงบประมาณจากที่เสนอขอไป 8,000 ล้านบาท เหลือเพียง 3,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตัดลดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องดังกล่าว ประกอบกับมีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไปร้องเรียนถึงการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว จึงทำให้สภาฯ ต้องตัดงบประมาณส่วนนี้ออกไป
อนาคตใหม่เสนอแนวทางแก้ปัญหา ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ลดการทุจริตลงคะแนนเสียงในสภาฯ
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยช่วงแรกได้เปิดให้ส.ส.หารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน นายไกลก้อง ไวทยาการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้หารือเพื่อขอให้เร่งแก้ไขปัญหาการใช้บัตรลงคะแนนแทนกันของ ส.ส.ว่า ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร อยากเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้บัตรลงคะแนนแทนกันเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะเฉพาะหน้า ซึ่งปัจจุบันมีโปรแกรมแสดงผลการลงคะแนนที่จะแสดงชื่อและตำแหน่งของที่นั่งของส.ส. โดยพฤติกรรมการเสียบบัตรแทนจะสามารถระบุได้ว่าบัตรนั้นถูกกดลงคะแนนตำแหน่งใด แต่ข้อเสียของระบบนี้ ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ ดังนั้นควรมีโปรแกรมบันทึกการลงคะแนน เพื่อที่เวลามีปัญหาจะนำมาตรวจสอบ ส่วนระยะกลาง เมื่อย้ายการประชุมสภาฯ ไปห้องประชุมแห่งใหม่หรือห้องพระสุริยันต์ ควรติดกล้องวงจรปิด และระยะยาวในปี 2564 ควรมีระบบยืนยันตัวตนร่วม เช่น การพิมพ์ลายนิ้วมือ
"ประธานสภาฯ จะต้องไม่ปล่อยให้ปัญหานี้เป็นวงจรความด่างพร้อยของรัฐสภา คนเรามีดี มีชั่ว ถ้าเราออกแบบที่ดี จะทำให้ลดการทุจริตได้" นายไกลก้อง กล่าว
ขณะที่ประธานสภาฯ กล่าวขอบคุณสำหรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของนายไกลก้อง และจะหาโอกาสหารือกับนายไกลก้องต่อไป
ด้านนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ที่มีต้นตอจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ใช้ระยะฟักตัวถึง 14 วัน และไม่แน่ใจว่าตนหรือส.ส.ในห้องประชุมสภาฯ อาจติดเชื้อไวรัสนี้ก็เป็นได้ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลใส่ใจในเรื่องนี้ด้วย เพราะยังไม่เห็นรัฐบาลจะดำเนินการอะไร แก้ปัญหาเฉพาะแต่ฝุ่น PM2.5 ซึ่งเมื่อเห็นวิธีการแก้ปัญหาฝุ่นแล้วก็รู้สึกกังวล และไม่แน่ใจศักยภาพในการแก้ไขปัญหานี้ของรัฐบาล
ชวน คาดส่งศาลรธน.ตีความปมส.ส.เสียบบัตรโหวตงบฯ แทนกันได้ภายในวันนี้
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร คาดว่า ในวันนี้ (23 ม.ค.) จะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขั้นตอนการตราร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่กรณีมีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน หลังจากทางฝ่ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำการตรวจสอบรายชื่อส.ส.ที่เข้าชื่อทั้งหมดว่าถูกต้องหรือไม่แล้วเสร็จ
"ต้องรีบ อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถวินิจฉัยอะไรแทนศาลรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณาไม่นานคงจะรู้ผล เพราะศาลฯทราบดีว่าจะต้องรีบพิจารณาเรื่องนี้" นายชวน กล่าว
ส่วนการแก้ไขปัญหาเสียบบัตรแทนกันในอนาคตนั้นนายชวน กล่าวว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้จะเป็นบทเรียน สำหรับทุกพรรคการเมืองและทุกคน แต่เชื่อว่าพรรคการเมืองไม่มีใครเจตนาให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น แต่มันเกิดขึ้นเพราะมีสมาชิกบางคนไม่ระวัง ทั้งที่ได้ย้ำไปแล้วว่าวันเด็กนั้น ส.ส.ไปร่วมกิจกรรมไม่ได้ เพราะติดภารกิจพิจารณางบประมาณ
"ต้องยอมรับว่าสภาฯแห่งนี้ยังไม่พร้อมสำหรับการประชุม ส.ส. เนื่องจากที่นั่งยังไม่มีที่นั่งประจำของตัวเอง เพราะยังต้องยืมห้องประชุมจันทราของวุฒิสภาใช้ และหากส.ส.มีที่นั่งประจำก็จะทราบว่าใครลงคะแนนอย่างไร เพราะเป็นเครื่องประจำเหมือนกับห้องประชุมวุฒิสภาตอนนี้ก็รู้ว่าใครนั่งตรงไหน แต่เหนือสิ่งอื่นใดมันขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล"นายชวนกล่าว
ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน เข้าชื่อยื่นประธานรัฐสภาส่งศาล รธน.วินิจฉัยกระบวนการพิจารณางบปี 63 ปมเสียบบัตรแทนกัน
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจำนวน 90 คนเข้าชื่อกันตามเงื่อนไขไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภา ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เนื่องจากมีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม
"วิปรัฐบาลมีหน้าที่ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อเกิดเหตุอันควรสงสัยภายใน 3 วันหลังวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ วิปรัฐบาลจึงตัดสินใจยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาโดยทันที เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว" นายวิรัช กล่าว
ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในหนังสือที่ยื่นต่อประธานรัฐสภาระบุขอให้วินิจฉัยใน 3 ประเด็นได้แก่ 1.) กระบวนการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 120 หรือไม่ 2.) หากมีปัญหา จะมีปัญหาทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตรา และ 3.) จะดำเนินการในแต่ละกรณีต่อไปอย่างไร
ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐด้วยนั้น นายวิรัชกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าคลิปดังกล่าวอยู่ในกระบวนการลงมติเรื่องอะไร แต่เมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) ที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐได้ย้ำว่าต้องอยู่ในห้องประชุมตลอดเวลา
ส่วนการแสดงความรับผิดชอบหากร่างกฎหมายตกทั้งฉบับนั้น นายวิรัช กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ แต่ต้องเข้าใจว่า เครื่องลงมติมีเพียง 350 เครื่อง แต่จำนวนสมาชิกมีถึง 500 คน จึงต้องสลับกันเสียบบัตร ส่วนที่มีคลิปบุคคลคนเดียวกันเสียบบัตรแทนกันหลายใบก็ต้องไปดูตามข้อเท็จจริง
ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. เปิดเผยว่า ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 84 คน ได้ร่วมกันทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้มีการตรวจสอบว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่เช่นกัน เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการตรากฎหมายน่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากมีการวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องเป็นอันตกไป ซึ่งจะนำไปเปรียบเทียบกับกรณีที่สภาฯ ไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จนเป็นเหตุให้ต้องตีตกไปไม่ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศของรัฐบาล แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล จึงไปคาดหวังให้ยุบสภาหรือให้รัฐบาลลาออกไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องกระบวนการของสภาฯที่ต้องหาทางออก ส่วนเรื่องการนำบัตรผู้อื่นมาลงคะแนนแทนจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้จะต้องตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริง
นิพิฏฐ์ จี้พรรคภูมิใจไทยเสียสละ แก้ปัญหาปมเสียบบัตรแทน หลังเปิดหลักฐานมัด"นาที"
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงยืนยันว่าจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ามีการกดบัตรแทนกันอย่างแน่นอนอย่างน้อย 2 คนคือนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และนายฉลอง เทิดวีระพงศ์ ส.ส. พัทลุง พรรคภูมิใจไทย และจะส่งผลให้ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
นายนิพิฏฐ์ ได้เปิดหลักฐานเป็นตั๋วสายการบิน และภาพของนางนาที เดินทางไปประเทศจีน ที่เมืองเจิ้นโจว เมื่อวันที่ 11 มกราคม ผ่านจุดตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 15.28 น. ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันที่นางนาทีลงมติเห็นชอบมาตรา 49 ของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยเชื่อว่านางนาที จะเดินทางออกจากรัฐสภาก่อนหน้านั้น ไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง และเมื่อตรวจสอบย้อนหลังยังพบการลงมติของนางนาที ตั้งแต่มาตรา 45 - 48 ด้วย
"ยืนยันว่า มีข้อมูลแค่นี้ เพราะคนที่เดินทางไปกับคุณนาที และหน่วยงานที่คุณฉลองไปร่วมกิจกรรมโพสต์ภาพบนเฟซบุ๊ก หากผมมีข้อมูลมากกว่านี้จะตรวจสอบมากกว่านี้ ส่วนเรื่องที่ผมแถลงนั้นต้องการจะบอกกับประชาชน ฐานะที่ผู้แทนไม่ได้ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ได้ยื่นต่อประธานสภาฯ ให้ตรวจสอบการกดบัตรแทนกัน"นายนิพิฏฐ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นว่ามีวิธีการที่จะทำให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่เป็นโมฆะโดยพรรคภูมิใจไทยต้องยอมเสียสละอวัยวะเพื่อรักษาร่างกาย เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้
"ทั้งนายฉลองและนางนาที ต้องมารับสารภาพว่าไม่ได้กดบัตรลงมติเองในมาตราไหนบ้าง เพื่อที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้แยกออกมาว่า ร่างพ.ร.บ.นี้มีปัญหาเฉพาะมาตราไหนบ้าง แต่ไม่กระทบกับเสียงส่วนใหญ่ซึ่งเห็นชอบในร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ แต่ถ้าทั้งสองคนไม่ยอมรับก็จะทำให้เข้าข่ายกับคดีที่ศาลเคยวินิจฉัยและศาลคงไม่มีทางออกอื่นนอกจาก ให้ร่างพ.ร.บ. งบประมาณฯ เป็นโมฆะ"
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ทางเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสรุปรายงานการตรวจสอบกรณีเสียบบัตรแทนกัน ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 แล้วว่ามีการเสียบบัตรแทนกันจริง และไม่พบว่ามีการเสียบบัตรค้างไว้ข้ามคืน
โดยในเบื้องต้นมีความเห็นร่วมกันกับฝ่ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า ถ้าจะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องไม่มีปัญหา ซึ่งขณะนี้มีเวลาอีก 3 วัน ที่สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของทั้งสองสภาจะสามารถเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ภายใน 3 วัน หลังจากวุฒิสภามีมติเห็นชอบ
ส่วน ส.ส. ควรจะเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ไม่อยากชี้นำเรื่องนี้ เพราะเป็นสิทธิของ ส.ส. ที่จะเข้าชื่อ ส่วนกรณีเสียบบัตรแทนกันจะทำให้ร่างกฎหมายตกทั้งฉบับหรือไม่นั้น เคยเกิดขึ้นกรณีพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของ ประเทศ ปี 2557 ซึ่งนอกจากการเสียบบัตรแทนกันแล้วยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นเหตุให้ร่างกฎหมายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ต้องพิจารณาที่ข้อเท็จจริง พร้อมย้ำว่าควรทำเรื่องให้ชัดเจน ดีกว่าปล่อยให้เคลือบแคลงสงสัย
ส.ว.มติเอกฉันท์ ผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563
ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ด้วยคะแนน 225 ต่อ 0 งดออกเสียง 8 โดยรัฐบาลพร้อมนำข้อคิดเห็นข้อแนะนำ ข้อเสนอรวมทั้งความห่วงใยที่สมาชิกเสนอแนะ ไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานของส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการใช้เงินงบประมาณให้มากที่สุด
โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นตัวแทนรัฐบาลกล่าวขอบคุณส.ว.ที่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ขับเคลื่อนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์และเชิงพื้นที่ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เสริมสร้างศักยภาพทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนและกระจายผลประโยชน์สู่ประชาชนโดยตรงอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
นอกจากนี้ ขอขอบคุณกรรมาธิการวิสามัญที่ให้ความสำคัญและเสียสละเวลาให้ความร่วมมือพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ. งบประมาณอย่างเต็มที่จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี รวมทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการรัฐบาลจะนำมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานและการจัดสรรทรัพยากรมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
"มั่นใจว่า นโยบายมาตรการและงบประมาณที่ผ่านการพิจารณาจะนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์และแผนงานที่ดี โดยรัฐบาลจะกำกับดูแล เพื่อให้การใช้งบประมาณมีความโปร่งใส บรรลุผลสำเร็จตามนโยบายที่ให้ไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่นคั่ง และยั่งยืนตามความมุ่งหวังของรัฐบาลและบรรดาสมาชิกวุฒิสภาทุกท่านต่อไป"
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)