- Details
- Category: รัฐสภา
- Published: Thursday, 09 October 2014 23:40
- Hits: 4273
สนช.ผ่านร่าง กม.ให้สิทธิข้าราชการเลือกออกจาก กบข.ไปรับบำเหน็จบำนาญ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)มีมติให้ความเห็นชอบวาระที่ 3 ร่าง พ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ด้วยคะแนนเสียง 203 เสียง งดออกเสียง 5 ทั้งนี้ เมื่อร่าง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ผู้รับราชการก่อน 27 มี.ค.40 จะสามารถกลับไปเลือกใช้สิทธิบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ได้
ประกอบไปด้วย ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ ในปี 2557 / ข้าราชการบำนาญทหารที่รับเบี้ยหวัดบำเหน็จ บำนาญ /ข้าราชการที่ลาออกทุกประเภทแล้วกลับมารับราชการใหม่ / ข้าราชการที่ลาออกไปจากศาลปกครอง / ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และพนักงานมหาวิทยาลัยของรัฐ
ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะขอใช้สิทธิกลับไปรับบำนาญ จะสามารถแสดงความจำนงได้ตั้งแต่วันที่ราชกิจจานุเบกษาระบุให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ถึง 30 มิ.ย.558 แต่หากผู้ที่แสดงความประสงค์ไว้ถึงแก่ความตาย สิทธิการกลับไปรับบำนาญจะยุติลงเพราะผูกติดกับระบบบำนาญที่จะสิ้นสุดลงเมื่อเสียชีวิต
นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เปิดเผยว่า มีข้าราชอยู่ในข่ายได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายนี้หลายแสนคน โดยหลักเกณฑ์ต้องเคยเป็นข้าราชการและเปลี่ยนใจกลับมาเลือกรับบำนาญ เพื่อประโยชน์และให้ความเป็นธรรม เพราะอาจจะมีทั้งคนที่ต้องการเปลี่ยนหรือใช้ระบบเดิมก็ได้
“ตอนนี้ข้าราชการเดิมบางส่วนรับบำเหน็จบำนาญ บางส่วนเลือกรับเงินจาก กบข. กฎหมายนี้ออกมาคนที่เคยเป็นข้าราชการเคยมีสิทธิแล้วเลือกรับ กบข. สามารถกลับมาเลือกรับบำนาญได้ เพื่อเป็นประโยชน์ แก่คนที่มีสิทธิ หลังกฎหมายบังคับใช้ คนเหล่านี้จะสามารถยื่นเรื่องใช้สิทธิได้”นายนรนิติ กล่าว
ด้านนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้มีการเพิ่มเติมสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับเดิมใน 3 ส่วน คือ การขยายกลุ่มบุคคลผู้มีสิทธิ ระยะเวลาการใช้สิทธิ และหลักเกณฑ์การคืนเงิน
ทั้งนี้ เดิมกลุ่มผู้มีสิทธิ ประกอบด้วย ข้าราชการ ผู้รับบำนาญ ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะให้สิทธิประโยชน์ยิ่งขึ้นจากเดิม โดยเพิ่มกลุ่มบุคคลที่มีสิทธิกลับไปรับบำเหน็จบำนาญ อีก 5 กลุ่ม ได้แก่ (1) ข้าราชการตุลาการศาลปกครองที่เคยรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค.40 และลาออกจากราชการเนื่องจากได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครอง (2) ข้าราชการที่เคยรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค.40 ซึ่งลาออกจากราชการและกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.40 และไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.58
(3) ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เคยรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค.40 และมีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (4) พนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ และ (5) ผู้รับบำนาญซึ่งเคยเป็นข้าราชการใน 4 กลุ่มข้างต้น
สำหรับ ระยะเวลาการใช้สิทธิ ผู้มีสิทธิทุกกลุ่มสามารถแสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.58 โดยข้าราชการยื่นเรื่องแสดงความประสงค์ได้ที่ส่วนราชการที่ปฏิบัติราชการอยู่ ผู้รับบำนาญยื่นได้ที่ส่วนราชการผู้เบิกบำนาญ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ยื่นได้ที่ส่วนราชการส่วนท้องถิ่นผู้เบิกบำนาญ และพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ยื่นได้ที่ส่วนราชการผู้เบิกบำนาญของพนักงานมหาวิทยาลัย
ในส่วนของการคืนเงิน ในกรณีของผู้รับบำนาญ เมื่อยื่นเรื่องแสดงความประสงค์แล้ว ส่วนราชการผู้เบิกบำนาญจะแจ้งให้ทราบว่าจะได้รับเงินเพิ่มหรือคืนเงินให้แก่ทางราชการ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การคืนเงินไว้ว่า ในกรณีที่คืนเงินทั้งจำนวน ให้คืนได้ภายในวันที่ 30 มิ.ย.58 ในกรณีที่จะแบ่งชำระเงินเป็นงวด สามารถชำระได้ภายหลังวันที่ 30 มิ.ย.58 ถึงวันที่ 30 ก.ย.58 ซึ่งกรมบัญชีกลางจะแบ่งงวดการชำระเงินเป็น 3 งวด ทั้งนี้ ต้องชำระให้ครบจำนวนภายในวันที่ 30 ก.ย.58 ซึ่งกรมบัญชีกลางได้แจ้งหลักเกณฑ์และวิธีการให้ส่วนราชการและผู้รับบำนาญทราบต่อไป
นายมนัส กล่าวว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางเตรียมพร้อมในการให้ใช้สิทธิเลือกออกจาก กบข.เกือบ 100% แล้วทั้งในด้านหลักเกณฑ์และระบบปฏิบัติการ และภายในเดือน ต.ค.และ พ.ย.นี้ กรมบัญชีกลางจะให้ความรู้กับส่วนราชการเพื่อปฏิบัติงานในเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้แก่กลุ่มผู้มีสิทธิ นอกจากนี้ได้ประสานงานกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบำนาญในการประมาณการยอดเงิน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว
อินโฟเควสท์