WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

002สนช. เห็นชอบวาระ 3 ร่างกฎหมายส.ส. ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส. ออกไป 90 วัน
     สนช. เห็นชอบวาระ 3 ร่างกฎหมายส.ส. ถึง 213 เสียง ต่อ 0 ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส. ออกไป 90 วัน ใช้เวลาพิจารณานานถึง 1 ชั่วโมง
     ผู้สื่อข่าวรายงานจากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ว่า สนช. ได้ลงมติในเวลา 23.00 น. โดยมีประเด็นสำคัญที่มาตรา 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แก้ไขเนื้อหาให้บังคับใช้กฎหมาย 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากต้นร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
     จากนั้นที่ประชุมจึงได้พิจารณามาตราอื่นๆ รายมาตรา อาทิ มาตรา 35 ที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิของผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากได้ตัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการ พนักงาน ลูกจ้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ราชการฝ่ายรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา (กร.) การตัดสิทธิการได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง และตัดสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บริหาร ผู้ช่วยและที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น มีกำหนดเวลา 2 ปี แต่ยังมีผู้คัดค้านเนื่องจากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญและขู่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ขณะที่มาตรา 75 เกี่ยวกับข้อห้ามมิให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติให้จัดแสดงมหรสพงานรื่นเริงระหว่างหาเสียงได้ จากเดิมที่ห้ามไว้และยังห้ามรณรงค์โหวตโนด้วย โดยฝ่ายเสียงข้างน้อยเห็นว่า เป็นการเหลื่อมล้ำ ไม่เกี่ยวกับนโยบายพรรค ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า การให้จัดมหรสพต้องมีไว้ แต่จะให้กกต.ไปวางหลักเกณฑ์ให้อยู่ในวิสัยตามควรแก่กรณี ไม่ใช่ให้จัดได้โดยเสรี
     ภายหลังจาก สนช. พิจารณาทุกมาตราเสร็จสิ้น จึงเริ่มมีการลงมติวาระที่ 2 เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว 90 วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 196 ต่อ 12 เสียง และงดออกเสียง 14 เสียง
      ส่วนในมาตรา 35 ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วย ด้วยคะแนน 118 ต่อ 92 งดออกเสียง 13 แต่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง และผู้บริหารท้องถิ่นแก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนมาตรา 75 ที่ประชุมเห็นชอบห้ามจัดแสดงมหรสพงานรื่นเริงระหว่างหาเสียง โดยตัดประเด็นของกรรมาธิการฯทิ้งไป
     จากนั้นเวลาประมาณ 23.00 น. ที่ประชุมจึงได้มีมติ 213 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายลูก ส.ส. ในวาระที่ 3 โดยสรุปใช้เวลาการประชุมไปยาวนานถึงเกือบ 14 ชั่วโมง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

นายกฯ ยันไม่ได้ส่งสัญญาณให้สนช.ขยายเวลาใช้ร่างกม.ลูกส.ส. ย้ำรัฐบาลทำงานตามโรดแมพ

        พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ในโอกาสครบความสัมพันธ์ 25 ปี อาเซียน-อินเดีย ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยกล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผ่านวาระ 3 ให้ขยายเวลาการประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วันว่า ได้รับทราบเรื่องนี้จากข่าวแล้ว ก็เป็น มติ สนช.ที่ตนเองคงไม่ไปก้าวล่วง เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย หากไปยุ่งเกี่ยวกันมากอาจทำให้ทุกอย่างล้มตามกันไปหมด ดังนั้นขอให้ไปฟังเหตุผลของ สนช.ว่าคืออะไร ส่วนตัวก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์และหลักการที่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย พร้อมยืนยันว่าการทำงานของรัฐบาลนั้นมีโรดแมพ

         ขณะที่หลายคนอาจมองว่า นายกรัฐมนตรีได้ส่งสัญญาณเรื่องนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คงไม่สามารถส่งสัญญาณอะไรได้ ตนเองก็จะทำหน้าที่ในช่วงระยะเวลาที่มีอยู่ การที่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ให้เป็นเรื่องขั้นตอนทางกฎหมาย และขอความเข้าใจจากประชาชน จากนักการเมือง พรรคการเมืองด้วย โดยขอให้ทำให้ส่วนของทุกคนให้ดีที่สุดให้ได้รับความเชื่อมั่นจากทุกคนทุกฝ่าย เพราะทุกคนมีโอกาสเข้ามาสู่กระบวนการเลือกตั้งทั้งสิ้น ซึ่งนักการเมืองพรรคการเมืองต้องทำให้ประชาชนยอมรับ ไม่ทำอะไรที่ให้เกิดความเสียหายในอนาคต

         นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับการเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่นั้น ยังไม่ถือว่าเป็นข้อยุติ เพราะเป็นเรื่องของกลไกทางกฎหมาย แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังคงทำหน้าที่ของตนเอง ตามแนวทางที่วางไว้

         "ในเมื่อทุกคนอยากจะเลือกตั้ง หรือถึงเวลาเลือกตั้งแล้วก็ไม่ได้ไปขัดแย้งอะไร แต่อยากให้คำนึงว่าเมื่อเลือกตั้งมาแล้วสถานการณ์บ้านเมืองจะสงบหรือไม่ เหตุการณ์เดิม ๆ จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และใครที่จะเข้ามาสู่การบริหารราชการแผ่นดินในวันหน้า ซึ่งก็ยังไม่ทราบตอนนี้ สิ่งที่คิดตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพ จะทำอย่างไรให้ได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีธรรมาภิบาล จึงขอฝากประชาชนทั้งประเทศช่วยกันคิด อย่ามองด้านใดด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว ขอให้มองทุกปัญหา และต้องเตรียมมาตรการรองรับไว้ทั้งหมด เพราะทุกคนอยู่ในห่วงโซ่ประชาธิปไตย" นายกรัฐมนตรี ระบุ

         พร้อมฝากไปยังสื่อโซเชียลให้พิจารณาด้วยว่าประเทศชาติสำคัญที่สุด ความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การบริหารประเทศอย่างเป็นระบบต้องมียุทธศาสตร์ชาติ และขออย่าทำลายศักยภาพภายในของกันเองด้วยความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน จากเรื่องภายในของเราเอง

สนช.ผ่านร่างกม.ลูกส.ส. วาระ 2-3 เลื่อนบังคับใช้ออกไป 90 วัน ส่งผลไทม์ไลน์เลือกตั้งขยับเป็นช่วงต้นปี 62

     การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วาระ 2-3 เมื่อวานนี้ ใช้เวลาอภิปรายรายมาตรา รวมจำนวน 178 มาตรา เป็นเวลายาวนานร่วม 12 ชั่วโมง ก่อนจะมีการลงมติเห็นชอบ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน ซึ่งจะส่งผลให้โรดแมพการเลือกตั้งถูกขยับไปเป็นช่วงต้นปี 62 จากเดิมคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพ.ย.61 ขณะที่จะมีการขยายเวลาเปิดคูหากาบัตรเลือกตั้งเป็นในช่วงเวลา 7.00-17.00 น.

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมสนช.มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ตามที่กรรมาธิการ (กมธ.) ได้มีการแก้ไขถึง 30 มาตรา ก่อนจะมีการลงมติเห็นชอบประเด็นสำคัญที่กรรมาธิการแก้ไข อาทิ มาตรา 2 เห็นชอบให้ขยายเวลาการบังคับใช้ร่างกฎหมายดังกล่าวหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน โดยเห็นชอบให้ขยายเวลา ด้วยคะแนน 203 เสียง ต่อ 7 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง  และเห็นชอบ ขยายเวลา 90 วัน ด้วยคะแนน 196 เสียง ขยายเวลา 120 วัน ด้วยคะแนน 12 เสียง งดออกเสียง 14  เสียง

                ทั้งนี้ การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้พรรคการเมือง มีเวลาเตรียมความพร้อมก่อนเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลให้โรดแมพการเลือกตั้ง ต้องขยับไปจากเดิมตามกรอบเวลาที่น่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.61 ไปเป็นช่วงเดือนก.พ. หรือมี.ค.62

                นอกจากนี้ ยังมีมติเสียงข้างมากไม่ตัดสิทธิผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สำหรับบุคคลที่ต้องการสมัครรับราชการ พนักงานหรือลูกจ้างส่วนราชการสังกัดรัฐสภา แต่ยังคงตัดสิทธิการได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่นบางตำแหน่งเพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 2 ปีไว้อยู่ เว้นแต่มีเหตุอันสมควร ใน มาตรา 35 ที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเพิ่ม

                ขณะเดียวกันสนช. ยังมีมติเห็นชอบห้ามรณรงค์โหวตโน และเห็นชอบให้พรรคการเมืองจัดแสดงมหรสพ งานรื่นเริง ประกอบการหาเสียงได้ เพื่อจูงใจให้ประชาชนรับฟังการหาเสียงมากขึ้น แต่เพื่อป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบให้จำกัดวงเงินไม่เกินร้อยละ 20 ของงบหาเสียงของเขตและของพรรคตามที่กรรมการการเลือกตั้งกำหนด

                สนช. ลงมติเห็นชอบขยายเวลาในการเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งจากเดิม 08.00 น. ถึง 16.00 น. เป็นตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 17.00 น.  หลังจากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 213 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง

                สำหรับ ขั้นตอนหลังจากนี้ ประธาน สนช. จะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาว่ามีประเด็นใด ที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะต้องส่งความเห็นกลับมาถึง สนช. ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมาย เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาอีกครั้ง หรือหากไม่มีประเด็นใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประธานสนช. จะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป

วิษณุ คาดหัวหน้า คสช.กำหนดโรดแมพสุดท้าย-เคาะวันเลือกตั้งราว มิ.ย.61 พร้อมเชิญทุกพรรค-กกต.หารือ

            นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านกฎหมายของรัฐบาลแก่สื่อมวลชน ในกิจกรรม ‘สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า’หัวข้อ ‘กฎหมายหลายรส กับอนาคตประเทศไทย’และแถลงเรื่อง ‘แผนปฏิรูปประเทศไทย’ว่า คาดว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเรียกประชุมหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อกำหนดโรดแมพสุดท้ายของประเทศ ได้ภายในเดือนมิ.ย.61 นี้ ซึ่งจะเป็นโรดแมพที่ชัดเจนที่สุด พร้อมทั้งกำหนดวันเลือกตั้งหลังกระบวนการในส่วนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้วเสร็จ

                ทั้งนี้ นายวิษณุ ประเมินว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณากฏหมายเกี่ยวกับเลือกตั้งแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้ แต่หากมีข้อทักท้วงเพิ่มเติมจะมีการตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณา คาดใช้เวลาประมาณ 1 เดือนแล้วเสร็จราวเดือน ก.พ. จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอน นำขึ้นทูลเกล้าฯ ราวเดือน มี.ค.และรอรับการโปรดเกล้าฯ ประมาณ 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ภายในเดือน มิ.ย.เมื่อมีผลบังคับใช้เริ่มกระบวนการเลือกตั้งนับหนึ่งไป 150 วัน ซึ่งช้าที่สุดการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.พ. 62

                นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังเดินหน้าในการปฎิรูปกฎหมายที่ล้าหลังหรือไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งมีมากกว่า 7,000 ฉบับ โดยจำเป็นที่จะต้องยกเลิกกฎหมายบางฉบับ และปรับปรุงให้ทันสมัย ซึ่งก็จะทยอยดำเนินการต่อไป โดยเรื่องนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยเฉพาะกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจด้วย เช่น พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนของประเทศ นอกจากนี้ ยังใช้กลไกลทางกฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะการตั้งศูนย์อำนวยการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ที่บูรณาการทุกหน่วยงานในการปราบทุจริต ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

                อีกทั้ง ได้ดำเนินการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจิตโดยตรง ที่ทำให้การพิจารณาคดีทุจริตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งให้ความมั่นใจว่าจะสามารถบังคับใช้กับทุกคน ไม่เลือกว่าจะเป็นผู้มีอำนาจหรือไม่ ถึงแม้ว่าวันนี้จะมีเล็ดลอดการตรวจสอบไปได้ แต่มีตัวอย่างในอดีตให้เห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ช้าหรือเร็ว ความผิดก็จะปรากฎ และถูกดำเนินการตามกฎหมายทั้งสิ้น

                ส่วนกรณีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการของเอกชนไทยที่ก่อตั้งองค์กรทุจริตในประเทศ และได้เข้าไปเป็นสมาชิกขององค์กรนานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนเช่นเดียวกัน จึงถือเป็นกรณีของเอกชนกับเอกชน ไม่ใช่การดำเนินการของรัฐบาล และรัฐบาลก็ไม่ได้เป็นสมาชิก ดังนั้นเรื่องนี้ไม่กระทบกับภาครัฐของประเทศ ในขณะที่การตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาลจากองค์กรต่างประเทศก็ยังเป็นไปตามปกติ

                ทั้งนี้ นายวิษณุ พร้อมด้วยนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้โชว์เอกสารแผนปฎิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน ที่ยังไม่รวมคณะกรรมการปฎิรูปการศึกษา และคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่ย่อมาจากผลการสรุปการปฎิรูปในแต่ละด้านว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังนับถอยหลังสู่การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ 11 ด้าน บวก 2 คณะ คือ ตำรวจและการศึกษา โดยทุกคณะได้ร่างพิมพ์เขียวเสร็จแล้ว ถือว่าเป็นการยกร่างที่ 1 จนเป็นแผนปฏิรูปที่ชัดเจนที่ระบุไว้ว่าการปฏิรูปแต่ละด้านมีประเด็นและกิจกรรมมีอะไรบ้าง พร้อมทั้งระบุระยะเวลาที่ต้องดำเนินการไว้ชัดเจน รวมถึงหน่วยงานใดดำเนินการ และใช้งบประมาณเท่าไร อย่างไร

                ซึ่งจากนี้ไปประมาณเดือน ก.พ.จะเสนอแผนให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และในเดือน มี.ค. หรือ ต้นเม.ย. จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อพิจารณาและประกาศใช้ โดยจากนี้ไปจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหรือสื่อพร้อมกับเปิดเวทีวิพากษ์วิจารณ์ โดยจะนัดแถลงเป็นกลุ่ม เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยให้ประธานแต่ละคณะแถลงข่าวทุกช่องทางการสื่อสาร

                นายวิษณุ กล่าวว่า เบื้องต้นได้ตรวจสอบความสอดคล้องแผนปฏิรูปประเทศกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำหรือประเทศที่มีรายได้สูง และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเน้นการพัฒนาด้านโครงสร้างและเชื่อมโยงระหว่างแผนหรือนโยบายรัฐบาล และฝากเรื่องการประชาสัมพันธ์ของทุกแผนปฏิรูปว่า ประชาชนได้อะไรจากการปฏิรูปครั้งนี้ และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่การเชิญประชาชน หรือหน่วยงานรัฐ หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับจะเปิดเวทีเฉพาะของแผนปฏิรูปโดยเน้นการพบปะพูดคุยเฉพาะเช่น ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม

                ทั้งนี้ แผนปฏิรูป 11 ด้าน มีการนำเสนอข้อเสนอแนะ ทั้งที่เป็นข้อเสนอใหม่ ต้องใช้เวลาในการศึกษาเพิ่มเติมด้วย และบางข้อเสนอเป็นงานประจำของหน่วยงานเฉพาะอยู่แล้วที่ต้องไปดำเนินการ หรือบางข้อเสนอเกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมาย สามารถรวบรวมได้ จำนวน 119 ฉบับ บางส่วนเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ และปรับปรุงกฎหมายเดิม โดยจะเร่งดำเนินการต่อไป

                สำหรับ ข้อเสนอของแต่ละคณะที่น่าสนใจ เช่น คณะปฏิรูปการเมือง เน้นการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม แบบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง โดยจะให้มีโรงเรียนประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นด้วยการบรรจุเป็นหลักสูตรพิเศษสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา โดยไม่ได้เป็นการตั้งโรงเรียนใหม่ขึ้นมา, คณะปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน เน้นการให้บริการภาครัฐที่ทันสมัยตอบโจทย์ชีวิตประชาชน ด้วยการนำระบบดิจิทัล e–government มาใช้ให้มากขึ้น รวมถึงให้ทบทวนความเป็นนิติบุคคลใหม่ของทุกหน่วยงานภาครัฐ  20 กระทรวง และ 140 กรม เพราะเมื่อมีสถานะเป็นนิติบุคคลเกิดปัญหาตามมา เช่น งบประมาณเหลือจ่ายไม่สามารถแบ่งหรือจัดสรรให้ต่างกรมหรือต่างกระทรวงได้

                คณะปฏิรูปกฎหมาย เน้นการปฏิรูปกฎหมายที่ช่วยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงให้ทบทวนกฎหมายทั้งหมด และให้ออก พ.ร.บ.กลางเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การออกกฎหมายใหม่ ต้องมีการพิจารณาถึงความจำเป็นเท่านั้น, คณะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เน้นการให้ความช่วยเหลือด้านความเป็นธรรม, คณะปฏิรูปเศรษฐกิจ เน้นการแข่งขันลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน โดยมีแนวคิดการตั้งสำนักงานแก้ปัญหาความยากจน, คณะปฏิรูปสิ่งแวดล้อม เน้นการดูแลทรัพยากรธรรมชาติทั้งระบบ

                คณะปฏิรูปสาธารณสุข เน้นการให้บริการสุขภาพแบบถึงตัวประชาชน และเสนอให้ตั้งแพทย์ครอบครัวขึ้นทุกตำบล เน้นการรักษาพยายามประชาชนถึงบ้านโดยเน้นคนจนที่ขึ้นทะเบียนบัตรสวัสดิการของรัฐบาล, คณะปฏิรูปสื่อสารมวลชน เน้นดุลยภาพเสรีภาพกับการกำกับด้วยความชอบธรรม หรือเสรีภาพบนความรับผิดชอบ, คณะปฏิรูปสังคม เน้นการสร้างบทบาทชุมชนให้เข้มแข็ง, คณะปฎิรูปพลังงาน เน้นส่งเสริมโซลาร์ฟาร์ม และคณะปฏิรูปการทุจริต เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเบาะแสการทุจริต

                นายวิษณุ ยังย้ำว่า การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามแนวทางปฎิรูปประเทศ จะถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การพิจารณากฎหมายจะใช้ที่ประชุมร่วม 2 สภา เพื่อออกกฎหมายให้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว

                ส่วนคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนนั้น นายวิษณุ ชี้แจงว่า เป็นคำสั่งหนึ่งของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีทุกกระทรวง หน่วยงานราชการ โดยมี รมว.มหาดไทยเป็นเลขานุการชุดนี้ และมีคณะกรรมการในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน โดยจะลงไปขับเคลื่อนการทำงานแนวทางประชารัฐให้ลงถึงพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และถือเป็นแผนปฎิรูประเทศในด้านหนึ่ง

เพื่อไทย แถลงการณ์คัดค้านเลื่อนเวลาบังคับใช้กม.ลูกส.ส. 90 วัน ชี้เปิดช่องสืบทอดอำนาจ ขัดรธน.

                พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามที่คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.... ได้มีมติเสียงข้างมากแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 2 ของร่างกฎหมายดังกล่าว โดยให้กฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ในวันที่ 25 มกราคม 2561 นั้น

                พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การมีมติของคณะกรรมาธิการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยมีวาระทางการเมืองแอบแฝง เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและทำเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มผู้มีอำนาจ เปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจและอยู่ในตำแหน่งต่อไป เป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรม และขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และขาดเหตุผลรองรับอย่างสิ้นเชิง

                "พรรคเพื่อไทยจึงขอคัดค้าน และไม่เห็นด้วยต่อการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน หรือจะกี่วันก็แล้วแต่ และขอเรียกร้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย หยุดทำร้ายประเทศด้วยกระบวนการโกงกฎหมายอีกต่อไป และเร่งคืนอำนาจให้กับประชาชนตามโรดแมพที่ประกาศไว้"

                แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุเนื้อหาว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ใช้กลไกและเทคนิคหรืออภินิหารทางกฎหมาย หลายครั้งที่ทำให้เข้าใจได้ว่าต้องการอยู่ในอำนาจให้ยาวนานที่สุด เริ่มตั้งแต่การที่ สปช. มีมติล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่าง ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ทำให้นายบวรศักดิ์  ต้องออกมาพูดถึงเหตุผลของเรื่องดังกล่าวทำนองว่า เพราะเขาต้องการอยู่ยาว ต่อมาเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ได้วางกลไกในรัฐธรรมนูญให้ระยะเวลาของการเลือกตั้งยึดยาวออกไป เช่น การจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญของ กรธ. ก็ใช้เวลาถึง 240 วัน ไม่รวมระยะเวลาการพิจารณาของ สนช. และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง ต่างกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้กำหนดให้จัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับจากวันที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ (ไม่ต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้)

                ขณะเดียวกัน คสช. ก็ใช้อำนาจในการออกประกาศ และคำสั่ง ห้ามพรรคการเมืองดำเนินการทางการเมืองตั้งแต่เมื่อมีการยึดอำนาจการปกครองเป็นต้นมา นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับมีผลใช้บังคับแล้ว ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ขณะที่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 90 วัน และดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. ภายใน 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ใช้บังคับ เมื่อพิจารณากรอบเวลาดำเนินการแล้วจะแตกต่างกันอย่างมาก นอกจากนี้ถ้า คสช. และ กรธ. เห็นว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญก็ต้องจัดให้มีกฎหมายทั้ง 4 ฉบับก่อน แต่กลับได้รับการพิจารณาหลังสุด ทั้งที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ได้ให้ความสำคัญต่อกฎหมายทั้ง 4 ฉบับไว้เป็นลำดับต้นๆ

                เมื่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้แล้วซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ คงเป็นพรรคการเมืองต่อไป และรับรองสมาชิกพรรคให้เป็นสมาชิกพรรคต่อไป และได้กำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานด้านธุรการของพรรคเพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้ง แต่ คสช. และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับตีความว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองมีผลใช้บังคับอยู่ ทำให้พรรคการเมืองไม่อาจปฏิบัติตามกฎหมายได้ แทนที่ คสช. จะยกเลิกประกาศและคำสั่งดังกล่าว

กลับออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ยกเลิกสมาชิกพรรคและสาขาพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมและกำหนดเงื่อนไขและกรอบเวลาดำเนินการของพรรคการเมืองเสียใหม่ ซึ่งมีแต่เกิดผลเสียต่อพรรคการเมืองเดิม ขณะเดียวกันกลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองที่เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของผู้นำ คสช. โดยมิได้ให้ความสำคัญว่า คำสั่งดังกล่าวจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรคและพรรคการเมืองอย่างไร

                ทั้งนี้ ระหว่างมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของ สนช. คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กลับเสนอให้มีการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 90 วัน โดยอ้างเรื่องเงื่อนไขและกรอบเวลาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 จะเป็นปัญหาต่อพรรคการเมือง ซึ่งพรรคเห็นว่ามติดังกล่าวขาดความชอบธรรมและเหตุผลรองรับ ดังนี้ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ที่กำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับแล้วนั้น ถือว่ามีความสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับเงื่อนเวลาดังกล่าว การที่ กมธ. กำหนดให้ขยายระยะเวลาการมีผลใช้บังคับของกฎหมายออกไป 90 วัน ถือเป็นการจงใจที่จะฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมิใช่เป็นการใช้อภินิหารทางกฎหมายเท่านั้นแต่ถือเป็น “การโกงกฎหมาย" ทีเดียว

                ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ไม่มีข้อใดที่ กมธ. จะยกเป็นข้ออ้างเพื่อขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไปได้ แต่ตรงกันข้ามเมื่อดูตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้อ 8 ที่กำหนดให้วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บังคับเป็นเงื่อนไขสำคัญของการยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งรวมถึงประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ด้วย ดังนั้นการเลื่อนระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไป 90 วัน จะทำให้การปลดล็อคพรรคการเมืองเพื่อจัดประชุมใหญ่ เพื่อแก้ไขข้อบังคับ การเลือกกรรมการบริหาร และจัดตั้งสาขาพรรค รวมถึงการรับสมัครสมาชิกพรรคใหม่ต้องเลื่อนออกไปอีก 90 วัน ด้วย, การขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไป 90 วัน จะส่งผลกระทบหลายด้านตามมา ประการแรก ทำให้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป พรรคการเมืองยังไม่สามารถดำเนินกิจการของพรรคการเมืองได้ และประชาชนก็ยังถูกห้ามชุมนุมทางการเมืองต่อไป ประการที่สอง พรรคการเมืองก็ยังไม่สามารถที่จะประชุมเพื่อแก้ไขข้อบังคับ เลือกกรรมการบริหาร และจัดตั้งสาขาพรรค รวมถึงดำเนินการอื่น เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งได้ จนกว่าจะครบเวลา 90 วัน ที่ขยายออกไปและ คสช. ยกเลิกประกาศทั้ง 2 ฉบับแล้ว

                การขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป ทำให้ คสช. สนช. รวมถึง องค์กรในเครือข่ายของ คสช. ได้อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง และได้รับผลตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดินในหลายตำแหน่ง เปิดโอกาสให้หัวหน้า คสช. ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใช้ทรัพยากรของรัฐในการหาเสียงล่วงหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ

                อีกทั้ง การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการตั้งพรรคเพื่อสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนนอกต่อไป เพราะนอกจากกลุ่มการเมืองนี้จะได้ประโยชน์จากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 โดยสามารถจัดประชุมจัดหาสมาชิก หรือผู้มีอุดมการณ์ร่วมกัน การเตรียมผู้สมัคร ซึ่งอาจรวมถึงการหาเสียงล่วงหน้าได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 แล้ว การขยายเวลาไปอีก 90 วัน ย่อมทำให้กลุ่มการเมืองนี้ มีเวลาเตรียมการสำหรับส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งถึงหนึ่งปีเต็ม ขณะที่พรรคการเมืองเดิมยังไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ จนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และจะยกเลิกประกาศและคำสั่งดังกล่าวได้ ต่อเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งแล้ว เมื่อมีการยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายต่อไปเท่าใดก็จะมีผลกระทบต่อพรรคการเมืองเดิมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

                เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คสช. และแม่น้ำ 5 สาย พยายามทุกวิถีทางที่จะใช้อำนาจและกระบวนการทางกฎหมายที่พวกตนสร้างขึ้นทั้งหมด รวมทั้งอำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในการออกคำสั่งที่มีผลกระทบต่อการจัดการเลือกตั้งและต่อพรรคการเมืองโดยตรงเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับ คสช. และกลุ่มการเมืองที่สนับสนุน คสช. ขณะที่พรรคการเมืองเดิมไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองใดได้เลย ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นย่อมมิได้เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมตามหลักการสากลอย่างแน่นอน

                การที่หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ต่อประชาชนและนานาชาติและยืนยันคำประกาศดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 การเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งออกไปจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ทั้งในประเทศ และต่อนานาชาติอย่างมีนัยสำคัญ

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!