เหตุปัจจัยใดทำให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องอำลาจากการจัดงานระดมทุนใน "แปซิฟิก คลับ"ไปอยู่ในร่มเงาของ "ผ้าเหลือง"
หรือว่านี่คือ "วิถีไทย"
เพราะว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังควบขับธันเดอร์ เบิร์ด ออกจากทำเนียบรัฐบาลฝ่าชายแดนไทย-กัมพูชาไปกับ พ.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ
จากนั้นก็เคยเดินทางไป "บวช" ณ พุทธคยา
คำประกาศเชิญชวนจากพระสุเทพให้พุทธศาสนิกเข้าร่วมในการฝึกอบรม "อานาปนสติ" ณ สวนโมกขนานาชาติ
ถือว่าเดินตามแนวทางแห่ง "พุทธทาส"
ขณะที่ในความเป็นจริง ท่านพุทธทาสก็เดินตามรอยองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนการตรัสรู้เมื่อ 2 พันกว่าปีที่ผ่านมา
มีแต่ดำรงตนเป็นดั่ง "พุทธทาส" เท่านั้นจึงจะ "รอด"
ไม่ว่าในยุคแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ไม่ว่ายุคหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2500 ไม่ว่ายุคหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557
แนวทาง "ขุนหลวงหาวัด" มีความเด่นชัด
จะสามารถเข้าใจกระบวนการของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้มีความจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ต่อกระบวนการของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล
2 คนนี้มีความเหมือนในความต่าง
ต่างตรงที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล คือ ผู้สร้างปรากฏการณ์แห่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คือ ผู้สร้างปรากฏการณ์แห่ง กปปส.
เหมือนตรงที่ "ผล" ของการเคลื่อนไหวเป็นไปใน "ร่อง" เดียวกัน
การเคลื่อนไหวของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล นำไปสู่รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 การเคลื่อนไหวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำไปสู่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557
เท่ากับเป็นการ "ปูทาง" และสร้าง "เงื่อนไข"
ถามว่าหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับการปูนบำเหน็จจากการเคลื่อนไหวหรือไม่
1 ได้รับการขยายบทบาทของรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์"
1 เป็นบทบาทที่ไม่เพียงแต่จะออกอากาศทางเอเอสทีวีเท่านั้น หากแต่ยังได้พ่วงไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 น่าเสียดายที่ออกได้ไม่นานก็ถูกกดดันไม่ให้ถ่ายทอดผ่านทางช่อง 11
เท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
ล่วงมายังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 บทบาทของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณมีมากกว่า บทบาท ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล มีน้อยกว่า
แต่ความเหมือนอย่างยิ่งคือ ความเหมือนในเรื่อง "คดีความ"
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีคดีความจากเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล มีคดีความหลากหลายแนว
ทั้งแนว "เศรษฐกิจ" ทั้งแนว "การเมือง"
ระหว่างที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หันหน้า "เข้าวัด" คดีความทางเศรษฐกิจของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็เข้าสู่ขั้นเด็ดขาด
เมื่อศาลอุทธรณ์ยืนยันตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ผลที่ติดตามมาโดยฉับพลันทันใดก็คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ต้องถูกจำขังเพราะคำพิพากษามิได้ให้รอลงอาญา นับแต่วันอ่านคำพิพากษาเป็นต้นมาตราบกระทั่ง ณ วันนี้นายสนธิ ลิ้มทองกุล ยังอยู่ในเรือนจำ
เป็นผลจากคดีทาง "เศรษฐกิจ" มิใช่คดีทาง "การเมือง"
นายสนธิ ลิ้มทองกุล รับผลกรรมจากกาลอดีตของตนไปแล้ว แต่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังไม่ได้รับผลกรรมตามคำพิพากษา
ยังอยู่ระหว่างการรอ
หากไม่ศึกษากรณีของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และกรณีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็จะไม่เข้าใจ
ไม่เข้าใจว่าเหตุใดการเคลื่อนไหวโดยบริสุทธิ์ใจของเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานจึงถูกยับยั้ง ไม่เข้าใจว่าเหตุใดความทุกข์ยากของชาวสวนยางพาราที่ราคาดิ่งลงจึงมิอาจขยับขับเคลื่อนได้
นี่ล้วนเป็นผลจากอดีต นี่ล้วนเป็นเหตุและปัจจัยกัน..........