นายกฯ คนที่ 29 กับโรดแมประยะ 2 และภาระที่วางรอ
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 24 August 2014 12:18
- Published: Sunday, 24 August 2014 12:18
- Hits: 3562
นายกฯ คนที่ 29 กับโรดแมประยะ 2 และภาระที่วางรอ
วิเคราะห์
เป็นอีกความคืบหน้าของการเมืองไทยในยุค คสช. เมื่อ
สนช.ลงมติท่วมท้น เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 แบบม้วนเดียวจบ ไร้คู่แข่ง
หลังจากโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับตำแหน่งแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องดำเนินการตั้ง ครม.ไม่เกิน 35 คน
ตัวบุคคลใน ครม.ชุดนี้ จะมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน ทางหนึ่ง จากกลุ่มที่ปรึกษาด้านต่างๆ ของหัวหน้า คสช.
ที่มีบทบาทในการจัดทีมเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นหัวใจของ ครม.ชุดนี้ ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ผสมผสานกับตัวบุคคลที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการทาบทามเอง
มีทั้งนายทหารระดับสูง จาก ผบ.สูงสุด กองทัพบก แม่ทัพเรือ และแม่ทัพอากาศ และอดีตข้าราชการระดับสูง
พล.อ.ประยุทธ์ได้เคยกล่าวถึงรัฐบาลชุดนี้ว่า จะเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล แต่มีอำนาจเต็ม
การบริหารงานน่าจะเริ่มต้นได้ทันที หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ นำ ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับหน้าที่
ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คือบริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ และสร้างความสามัคคี สมานฉันท์ ในหมู่ประชาชน
ตามโรดแมป คสช.จะควบคุมอำนาจการปกครองเป็นเวลาเบ็ดเสร็จ 15 เดือน นับจาก 22 พ.ค. 2557
3 เดือนแรก เป็นการบริหารภายใต้ คสช. และ 12 เดือน ภายใต้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล
เท่ากับว่า ขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ที่จะใช้เวลา 12 เดือน
คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพิ่งชี้แจงต่อทูตและกงสุลไทยประจำประเทศต่างๆ คาดหมายว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ และนำเข้าขอความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในเดือน ก.ค. 2558
จากนั้น จะมีการเลือกตั้งใน 60 วัน ประมาณเดือน ต.ค. 2558
ดังนั้น 12 เดือนของว่าที่นายกฯตู่ น่าจะมีงานเร่งด่วนเต็มมือ
ทั้งจะต้องดูแลงานประจำ ได้แก่ การประคองสภาพ
เศรษฐกิจ ริเริ่มโครงการลงทุนต่างๆ ดำเนินงานทางการทูตและการเมือง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประเทศต่างๆ ปรับเปลี่ยนกฎหมาย ฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ เรียกนักท่องเที่ยว
กลับมา
ขณะเดียวกัน ยังต้องดำเนินการปฏิรูป แก้กฎหมายเพื่อกำหนดกติกาการเมือง ป้องกันการคอร์รัปชั่น ภารกิจสำคัญ ยังได้แก่ ดูแลการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้เป็นกลไก สกัดกั้นไม่ให้เกิดการ "เสียของ" หรือ "สูญเปล่า"
ดังที่ได้มีการกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
ตัวอย่างของมาตรการที่กำลังปรึกษาหารือกัน ก็คือ การจะให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อสร้างสมดุลใหม่ทางการเมือง ลดอำนาจของพรรคการเมืองใหญ่
ซึ่งอาจจะไปไกลถึงขั้นให้เสนอชื่อ "ครม." พ่วงไปด้วย เพื่อให้ประชาชนเลือกไปพร้อมกัน
แม้ 3 เดือนแรกของ คสช.จะเป็นไปอย่างไร้อุปสรรค แต่การบริหารงานตามโรดแมปในระยะ 1 ปีที่เหลืออยู่จะ
ราบรื่นแค่ไหน ยังสงสัย
เพราะภายในขั้วการเมืองเดียวกันของ คสช.และรัฐบาลเอง ก็มีความขัดแย้งในระดับหนึ่ง
อุณหภูมิระหว่างแนวคิดที่จะกวาดล้างระบอบทักษิณให้สิ้นซากในฉับพลัน กับแนวคิดค่อยเป็นค่อยไปของ คสช. เริ่มระอุขึ้นเรื่อยๆ
จะเห็นว่า คสช.เอง ตั้งใจที่จะลอยตัวเหนือความขัดแย้ง แม้ว่าจะใช้อำนาจและกฎหมายเล่นงานคนเสื้อแดงอย่างหนัก เพื่อปรามมิให้เกิดกองกำลัง หรือประกาศพื้นที่เสื้อแดง รวมถึงคดีความเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูง
แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะดึงคนและแนวคิดแบบอนุรักษนิยมสุดโต่งของเสื้อเหลืองมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบดขยี้ขั้วการเมืองตรงกันข้าม ไปจนถึงการปฏิรูปพลังงาน การปฏิรูป ปตท.
รวมถึงแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยหยิบเอาโครงการพัฒนาระบบราง ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญ อยากให้ถนนลูกรังหมดก่อน กลับมาปัดฝุ่นดำเนินการต่อในเวลาอันรวดเร็ว
โดยเฉพาะในการแต่งตั้ง สนช. ที่บรรดาแกนนำ กปปส.หลายคนหมายมั่นปั้นมือจะรับบำเหน็จรางวัล
สุดท้ายอกหักไปตามๆ กัน เพราะ คสช.เลือกใช้บริการของข้าราชการ อดีตผู้เข้าร่วมหลักสูตรอบรมความมั่นคง อย่าง วปอ.หรือวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร มากกว่า
ด้วยแนวทางของ คสช.ดังกล่าว ทำให้น่าจับตาว่า ดุลอำนาจทางการเมืองภายใน "ชนชั้นนำ" เดิม กำลังเปลี่ยน
แปลงไป
จนเกิดการเปรียบเทียบบารมีในระดับผู้หลักผู้ใหญ่ของกลุ่มอำนาจ
หลังจากกลุ่มเดิม ดำเนินการในปี 2549 จนเกิดการเสียของมาแล้ว ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่
สุดท้าย ก็ต้องไปวัดผลกันตรงจุดที่ว่า แนวทางของ คสช.จะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ และ คสช.จะถอยจากอำนาจได้อย่างสง่างามหรือไม่
อุปสรรคสำคัญ ที่จะส่งผลอย่างมากต่อเป้าหมายของ คสช. ก็คือ เมื่อเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ย่อมต้องเผชิญแรงต้านโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
ยิ่งนานไป แรงต้านก็จะแรงและเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้จะมีโรดแมปชัดว่าจะคืนอำนาจใน 1 ปี แต่เงื่อนไขใน
การคืนอำนาจ ก็อาจเป็น "ชนวน" ต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารได้เหมือนกัน
โดยเฉพาะ คือ รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่กำหนดกรอบล่วงหน้าเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อสกัดกั้นนักการเมืองบางกลุ่ม
นอกจากนี้ ปัญหาของประชาชน ที่ฝากความหวังไว้กับ คสช.ว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาให้ หากจัดการไม่ได้ เสียงชื่นชมอาจ
แปรเปลี่ยนได้เหมือนกัน
อย่างปัญหาราคาพืชผล ตั้งแต่ยางพารา ผลไม้ตามฤดูกาล ที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก และกำลังจะตามมาด้วยเรื่องข้าว
ทั้งหลายเหล่านี้ วางรอวัดฝีไม้ลายมือของนายกฯคนที่ 29 อยู่
นายกฯคนที่ 29
วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557
บทนำมติชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.ได้ลงมติเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 191-0 จาก สนช.เข้าประชุม 194 คน งดออกเสียง 3 คน ได้แก่ ประธานและรองประธาน ลาประชุม3 คน หลังจากนี้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.จะนำชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย งานหนักวางเรียงรายรอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีสถานะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่สองของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย และมีปัจจัยที่เป็นคุณแก่การแข่งขันหลายประการ แต่ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง ทำให้เกิดการหยุดชะงัก การเข้ามาของ คสช. ต้องการลดความขัดแย้ง ปฏิรูปประเทศ เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาพที่ถ่วงรั้งความก้าวหน้าของประเทศเอาไว้ จึงต้องเร่งแก้ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง นับเป็นงานที่ท้าทาย และต้องแก้ปัญหาอย่างถูกจุดด้วยความทุ่มเทด้วย ก่อนหน้านี้ คสช.ได้ทำหน้าที่เป็นรัฐบาล ใช้อำนาจเด็ดขาดแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ การจ่ายเงินค่าข้าวคืนให้ชาวนาในโครงการจำนำข้าว การทบทวนและอนุมัติโครงการลงทุนที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการคมนาคม การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน การจัดการปัญหาพลังงาน ที่กลายเป็นประเด็นเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมือง เพื่อลดการเผชิญหน้ากล่าวหาโจมตีระหว่างฝ่ายที่เห็นต่าง ทำให้หลายปัญหาคลี่คลาย การทะเลาะเบาะแว้งหายไป โดยการใช้อำนาจของ คสช.ไม่ต้องเผชิญกับการโต้แย้งคัดค้านเหมือนรัฐบาลในสภาพปกติ อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจพิเศษ ไม่สามารถทำได้ตลอดไป ระบอบการเมืองสมัยใหม่ที่เป็นสากล ต้องมีการตรวจสอบ ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะต้องให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนตามสมควร การมีนายกรัฐมนตรี และกำลังจะมีคณะรัฐมนตรี จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าประเทศไทยได้ขยับเข้าใกล้สภาพปกติมากขึ้น ดังนั้น นายกฯและรัฐบาลใหม่ น่าจะพิจารณาผ่อนคลายข้อห้ามต่างๆ ให้ประชาชนได้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น เมื่อเป้าหมายของ คสช.อยู่ที่การคืนความสุขให้ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ก็ควรจะใช้กระบวนการประชาธิปไตย มาบริหารและปฏิรูปประเทศ |
|