มองการเมืองไทย ผ่าน สภาปฏิรูปแห่งชาติ กับ พรรคการเมือง
- Details
-
Category: วิเคราะห์-การเมือง
-
Created: Monday, 18 August 2014 13:36
-
Published: Monday, 18 August 2014 13:36
-
Hits: 3398
18 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
มองการเมืองไทย ผ่าน สภาปฏิรูปแห่งชาติ กับ พรรคการเมือง
ท่าทีที่แตกต่างในเรื่องอันเกี่ยวกับ "สภาปฏิรูปแห่งชาติ" หรือ "สปช." ระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคชาติไทยพัฒนา
ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคชาติพัฒนา ตลอดจนพรรคพลังชล
พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา แจ่มชัดว่าไม่ส่งคนเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิก ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล แสดงความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมที่จะส่งคนเข้ารับการสรรหา
เข้าใจได้ และเห็นใจในกระบวนการของการตัดสินใจ
2 พรรคแรกเห็นว่าน่าจะปล่อยให้เป็นเรื่องของ คสช.เป็นเรื่องของการปฏิรูป 3 พรรคหลังเห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
กระนั้น สังคมก็มอง "ความนัย" มากยิ่งไปกว่า ที่เห็น
ถามว่าอะไรคือเป้าหมายอย่างแท้จริงของการปฏิรูป ไม่ว่าจะเสนอโดยกปปส.ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ว่าจะโดยการขานรับมาดำเนินการของคสช.
คล้ายกับว่าคำตอบ คือ "นักการเมือง"
แต่หากประเมินจากกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องเรื่อยมาถึงกระบวนการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ก็จะรับรู้ชัดยิ่งขึ้นว่านักการเมืองที่ว่า คือ นักการเมืองในพรรคเพื่อไทย
พรรคการเมือง "อื่น" จึงเสมอเป็นเพียง "เครื่องเคียง"
หรือหากจะจำแนกแยกแยะลงลึกไปยัง "รายละเอียด" มากยิ่งขึ้น หากมองผ่านพรรคเพื่อไทยไปยังพรรคพลังประชาชนไปยังพรรคไทยรักไทย เป้าหมายอันเป็นแก่นแท้จริงๆ ก็คือ เครือข่ายของสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ"
ความเป็นจริงนี้นับวันก็จะยิ่ง "เด่นชัด" ไม่ปิดบัง
ต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยมิอาจเป็นรัฐบาลได้หากไม่มี พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล เป็นพรรคร่วมรัฐบาล
เป้าหมายการปฏิรูปอาจหมายถึง "พรรคร่วมรัฐบาล" ทั้งหมด
แต่จริงๆ แล้ว ความเคียดแค้นชิงชังของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็จำกัดวงอยู่แค่พรรคเพื่อไทย แต่ยังเป็นมิตรกับพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล
หวังลึกๆ ว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลก็จะต้อง พึ่งพรรคเหล่านี้
ความน่าสนใจอยู่ที่พรรคชาติไทยพัฒนากลับเดินแนวเดียวกับพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พร้อมผละและตีจาก
ทั้งนี้ แทบไม่ต้องกล่าวถึงท่าที'พรรคภูมิใจไทย'
สถานการณ์รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จึงละม้ายรัฐประหารเดือนกันยายน 2549
นั่นก็คือ ไม่ว่าคสช. ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ หากต้องการเป็นรัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล และรวมถึงพรรคชาติไทยพัฒนา
และแน่นอน พรรคเพื่อไทยย่อมเป็น 'ฝ่ายค้าน'สถานเดียว....
18 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
ฝากการบ้านสนช.ถกงบ"58
รายงานพิเศษ คาดการณ์กันว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.จะประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ได้ในวันที่ 18 ส.ค. ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อให้ทันเริ่มปีงบประมาณ 2558 ในวันที่ 1 ต.ค. แต่การพิจารณาด้วยความเร่งรีบอาจทำให้เกิดข้อบกพร่องได้ นักวิชาการ อดีตกรรมการป.ป.ช. และฝ่ายการเมืองที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจึงฝากการบ้านถึงสนช.
สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการ ป.ป.ช. สถานการณ์ตอนนี้ ถือว่า ไม่ใช่ภาวะปกติของฝ่ายนิติบัญญัติในการพิจารณากฎหมายต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีแค่ สนช.ทำหน้าที่ดังกล่าวเพียงสภาเดียว และไม่มีฝ่ายค้านคอยทำหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดในร่างกฎหมายต่างๆ รวมทั้งการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่ใกล้จะพิจารณารับหลักการในเร็วๆนี้ เนื่องด้วยเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อาจทำให้เวลาในการ พิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณ"58 มีข้อจำกัด สนช.มีเวลากระชั้นชิด อีกทั้งการที่หลายฝ่ายมองว่าการที่ สนช.ได้รับการแต่งตั้ง มานั้น ทำให้ดูเหมือนคนเสนอกฎหมายและคนพิจารณาเป็นพวกเดียวกัน ดังนั้น การพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณ"58 ที่ต้องบริหารงบประมาณในวงเงินจำนวนมหาศาลนั้นต้องอยู่ที่จิตสำนึกของ สนช. หากมีจิตสำนึกที่ดีก็จะทำหน้าที่พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้อยู่ในความเหมาะสม และป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากให้สังคมมอง สนช.ในแง่ดีไว้ก่อน ต้องเชื่อว่า สนช.จะมีจิตสำนึกที่ดีที่จะพิจารณาจัดการเรื่องนี้ อีกทั้งก็ใกล้เวลาที่ สนช.จะนัดพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวาระที่ 1 จึงขอให้รอดูผลจากการปฏิบัตินั้นว่าจะออกมาเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจหรือคาดการณ์อะไรไปล่วงหน้า เพราะส่วนตัวก็ยังมองว่า สนช.จะทำงานออกมาได้ดี
พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. อดีตส.ว. ถ้าอยู่ในช่วงเวลาปกติการพิจารณากฎหมายของสภาต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีวาระในการพิจารณาถึง 6 วาระ แม้ว่าในชั้นวุฒิสภาจะไม่สามารถแก้ไขอะไรก็ตาม แต่ขณะนี้ มีแค่สภาเดียวคือ สนช. เป็นธรรมดาระยะเวลาในการพิจารณากฎหมายต่างๆ จะออกมาเร็ว ดังนั้นการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ก็น่าจะมีลักษณะคล้ายกับสภาปกติ ต่างกันแค่ช่วงเวลาที่จะเร็วกว่า เมื่อครั้งนี้ไม่มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบรายละเอียด กรรมาธิการวิสามัญต้องทำหน้าที่ดูรายละเอียดให้ดีที่สุด และต้องหวังให้ สนช.อย่าทำหน้าที่แบบสุกเอาเผากิน จะทำงานสนองนโยบายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากทำอะไรไม่ดีผลเสียก็จะเกิดกับตัว สนช.เอง อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ระบุว่า สนช.เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย จะทำอะไรต้องเกรงใจประชาชนที่กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด สิ่งที่น่ากังวล คือ ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ที่จริงพ.ร.บ. งบประมาณควรจะพิจารณาเสร็จไปแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ สนช.จะพิจารณาเป็นอันดับแรกและระบุว่าเป็นวาระเร่งด่วน เพราะ ก.ย.ก็จะสิ้นปีงบประมาณ เหลือเวลาแค่เดือนเศษๆ จึงต้องเร่งพิจารณาอย่างเต็มที่ ต้องอย่าลืมว่า ฝ่ายบริหารที่เสนอกฎหมาย โครงการ นโยบายต่างๆ เป็นข้าราชการประจำ และคนที่พิจารณาให้ความเห็นชอบคือ สนช.ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการประจำ เป็นไปได้ว่า อาจมีแนวคิดที่แตกต่างจากฝ่ายการเมืองที่จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดยิบ จึงน่าเป็นห่วงว่าบางกรณีอาจเป็นการใช้งบประมาณเกินความจำเป็น การพิจารณาตรวจสอบอาจไม่ถี่ถ้วนเท่าที่ควร ดังนั้น นอกจากจะหวังให้ สนช. หรือกรรมาธิการทำงานด้วยความรอบคอบแล้ว สังคมก็ต้องช่วยกันให้ความสนใจและร่วมกันตรวจสอบ เพื่อให้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ ถูกใช้ด้วยความเหมาะสมและเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองประธานกมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ"57 การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ครั้งนี้จะไม่มีการตรวจสอบโดยองค์กรที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเหมือนในสภาวะปกติ ซึ่งจะกลายเป็นจุดอ่อน แต่ก็มีหนทางทุเลาปัญหาดังกล่าวคือ ภายหลังจาก ครม.แถลงนโยบายต่อสนช.แล้ว ให้ ครม.ชี้แจงผ่านสื่อให้สังคมได้รับรู้มากที่สุดว่างบประมาณประจำปีที่จัดทำขึ้นนั้นยึดโยงกับนโยบายของรัฐบาลและจะเชื่อมโยงไปถึงประชาชนอย่างไร เผื่อไว้สำหรับเวลามีปัญหาเกิดขึ้นจะได้ไม่ต้องโทษไปยังข้าราชการ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่างบประมาณส่วนไหนเกิดจากการผลักดันของรัฐบาลเพื่อให้สอดรับต่อนโยบายโดยตรง ส่วนการทำงบประมาณปี 2558 ออกมาขาดดุล ก็เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้ามากำหนดแผนงานรองรับการจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามกำหนด ขอฝากถึงครม.ด้วยว่า การก่อหนี้ผูกพันในอนาคต แม้จะมีกฎหมายกำหนดเพดานหนี้สาธารณะอยู่ก็จริง แต่ในสภาวะไม่ปกติเช่นนี้รัฐบาลไม่ควรก่อหนี้จนเต็มเพดาน เพราะรัฐบาลนี้ไม่ได้รับฉันทามติจากประชาชนและจะส่งผลต่อการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำลังจะมีขึ้นนี้ควรคำนึงถึงวินัยทางการเงินการคลังของประเทศเป็นสำคัญ
นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ตามหลักการแล้วการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ต้องถูกเสนอมาจากรัฐมนตรีของแต่ละกระทรวง ในฐานะผู้รับผิดชอบร่วมกับข้าราชการจัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงการว่าจะมีอะไรแล้วต้องใช้เงินเท่าไร เสนอมาให้สภาเป็นผู้พิจารณา แต่เมื่อขณะนี้ยังไม่มีรัฐบาล คสช.ในฐานะผู้ทำหน้าที่รัฐบาลก็จะเป็นผู้เสนอมายัง สนช. เพื่อพิจารณารับหลักการวาระแรก ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง ในชั้นการแปรญัตติของกรรมาธิการก่อนเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 มองว่ารัฐมนตรีแต่ ละกระทรวงควรเข้ามาชี้แจงด้วยตนเอง เพื่อความชัดเจนของงบประมาณที่จะนำไปใช้และเพื่อความเข้มข้นเหมือนการทำงานในสถานการณ์ปกติ การพิจารณา งบประมาณในสภาวะเช่นนี้จะมีจุดแข็งคือ ไม่มีสมาชิกจากพรรคฝ่ายค้าน การคัดค้านจากสมาชิกอย่างไม่เป็นสาระนานหลายวัน ข้อเสนอตัดงบประมาณอย่างไม่มีเหตุผลจะไม่เกิดขึ้นเหมือนที่ผ่านมา การพิจารณาจะเป็นไปอย่างสมานฉันท์ปรองดอง งบประมาณจะผ่านการพิจารณาจากฝ่ายนิติบัญญัติได้รวดเร็วและเป็นไปตามเป้าหมาย ขณะเดียวกัน ก็จะมีจุดอ่อนจากการไม่มีฝ่ายถ่วงดุลตรวจสอบ การพิจารณาคงต้องทำให้รอบคอบมากขึ้น สนช.ที่มาจากกลุ่ม 40 ส.ว.ควรแสดงบทบาทช่วยเหลือการพิจารณาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ สมาชิก สนช.เองก็ต้องรับผิดชอบติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเข้มข้น เพราะหากเป็นสถานการณ์ปกติภาระเหล่านี้ ส.ส.และ ส.ว. ก็จะทำหน้าที่กันอย่างเข้มข้น ตั้งแต่กลั่นกรอง 2 ชั้น ชั้นละ 3 วาระ ตลอดจนตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาติดตาม สังคมอย่าเพิ่งรีบร้อนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและ สนช.เรื่องนี้ แต่อยากให้เชื่อมั่นกลไกของราชการที่ทำหน้าที่ ผลักดันการจัดทำงบประมาณประจำปีกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้สอดคล้องต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จากนั้นค่อยร่วมกันพิจารณาตรวจสอบว่าการใช้จ่ายนั้นเป็นอย่างไรต่อไป ...
|