ที่ปรึกษาคสช. แจงกรอบ-แนวทางการปฏิรูปประเทศ
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Monday, 11 August 2014 23:13
- Published: Monday, 11 August 2014 23:13
- Hits: 3787
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 10:40 น. ข่าวสดออนไลน์
ที่ปรึกษาคสช. แจงกรอบ-แนวทางการปฏิรูปประเทศ
หมายเหตุ : นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรอบอำนาจหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และขั้นตอนการปฏิรูป ไว้ในงานเส้นทางการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นประธานเมื่อวันที่ 9 ส.ค.
การดำเนินการคู่ขนานกับการทำงานของรัฐบาลคือ การแต่งตั้งสปช. ที่เป็นองค์กรใหม่เข้ามาคิดอ่าน เสนอแนะแนวทางปฏิรูปประเทศ โดยมีหน้าที่เสนอแนะเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ปฏิรูป ฝ่ายที่ลงมือปฏิรูปคือ รัฐบาล องค์กรต่างๆ ของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคเอกชน
สปช.ไม่ได้ผูกขาดความคิด ข้อเสนอแนะ สปช.เป็นเพียงเวทีทางการของสปช. 250 คนเท่านั้น บางคนขาดคุณสมบัติ มีข้อจำกัดต่างๆ ขอสมัครใจอยู่ข้างนอกก็ได้ แต่ควรมีเวทีให้มีการเสนอแนะด้วย
นอกจากสปช.แล้ว รัฐบาลก็ต้องส่งเสริมให้มีการปฏิรูปโดยวิธีการอื่น ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้รัฐบาลมี 3 หน้าที่
1.บริหารราชการแผ่นดิน 2.หน้าที่ปฏิรูปประเทศ ทั้งคิดเองทำเองหรือรับที่คนอื่นเสนอมาทำ และ 3.หน้าที่สร้างความปรองดองสมานฉันท์
กรอบเวลาทำงานของสปช.อยู่ภายใต้ข้อจำกัด 3 ข้อคือ 1.เป็นของใหม่ 2.ทำฝ่ายเดียวไม่ได้ และ 3.การมีเวลาทำงานน้อย 1 ปี จึงต้องมีเจ้าภาพเป็นทางการคือ สปช. ในการเสนอสิ่งต่างๆ ในเวลาอันสั้น ไม่อาจยกปัญหาในอดีตทั้งหมดมาพูดและแก้ได้ สปช.จึงต้องสกัดเอาสิ่งในปัจจุบันมาปฐมพยาบาลกันก่อน
มีคำถาม 5 ข้อว่าจะให้สปช.ทำอะไร เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ คือ 1.การปฏิรูปหมายถึงอะไร 2.ทำไมต้องมีการปฏิรูป 3.จะปฏิรูปกันอย่างไร 4.ต้องการให้ทำอะไร และ 5.มีความคาดหวังในผลสำเร็จในสปช.เพียงใด
การปฏิรูป รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่พูดถึงการปฏิรูปต้องการให้หมายถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เรื่องเล็กน้อยทำไม่นานก็เสร็จเรียกว่าปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ไม่ถึงกับยกระดับเป็นการปฏิรูป
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทำได้ทุกวัน แต่ถ้าจะยกระดับเป็นการปฏิรูปต้องทำให้สมกับปฏิรูป คือมาในแบบใหม่
ถามว่าจะปฏิรูปกันอย่างไร แม้จะมีการจัดตั้ง สปช.แล้ว แต่สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆ สามารถตั้งเวทีและเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศมายังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสปช.ได้ เพื่อประกอบการพิจารณาปฏิรูปประเทศ
ที่ถามว่าต้องการให้สปช.ทำอะไรนั้น สปช.มีลักษณะคล้ายกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แต่จำกัดหน้าที่ให้ทำ 2 เรื่อง คือ เสนอแนวทางปฏิรูปและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้ว
ในจำนวนกมธ.ยกร่าง 36 คน ให้สปช.เลือกคนไปนั่งเป็นเสียงข้างมากได้ถึง 26 คน ใช้เวลาร่าง 4 เดือน หรือ 120 วัน จากนั้นส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช.ดู หากไม่ชอบมาตราไหนก็แปรญัตติ
หากกมธ.ยกร่างเห็นด้วยก็แก้ หากกมธ.ยกร่างไม่เห็นด้วยกับสปช. กมธ.ยกร่างก็ชนะ และจากนั้นกมธ.ยกร่างตกแต่งร่างรัฐธรรม นูญเสร็จก็ต้องนำร่างมาถามสปช.อีกว่าจะรับหรือไม่รับเท่านั้น
ถ้ารับแล้วขอแก้มาตราไหนไม่ได้ ถ้ารับก็ผ่านทั้งฉบับ ถ้าไม่รับก็ตกทั้งฉบับ จะแก้รายมาตราไม่ได้ การชี้ขาดตรงนี้อยู่ที่สปช. 250 คน
ระหว่างที่กมธ.ยกร่างอยู่ สปช.ก็มีเรื่องให้ทำไม่เว้นแต่ละวันที่ต้องเสนอแนะแนวทางปฏิรูป 11 ด้าน ถ้าเสร็จไวอยากเพิ่มด้านอื่นๆ ก็เชิญ
แต่ 11 ด้านต้องการคำตอบ ซึ่งในใบสมัคร สปช.ให้กาว่าต้องการเป็นสปช.ด้านใด เมื่อได้รับเลือกเข้ามาแล้วก็สามารถเปลี่ยนใจได้ หรือถูกจับไปด้านใดด้านหนึ่ง ที่จะแบ่งเป็นกมธ.11 คณะ ซึ่งอาจไม่ใช่ด้านที่สมัคร
11 ด้านประกอบด้วย 1.ด้านการเมือง ต้องการเข้ามาเสนอแนะเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง การดำรงตำแหน่ง การสมัครส.ส. ส.ว. การแก้กติกา รวมทั้งเรื่องป้องกันการทุจริต การต่างประเทศ และความมั่นคง
2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน การเสนอว่าเข้าไปแล้วจะไปปฏิรูป กระทรวง ทบวง กรม ตั้งกระทรวงนั้น ยุบกระทรวงนี้ ตัด แยก กระทรวงนั้นกับกระทรวงนี้ หรือตัดกระทรวงท่องเที่ยวฯ ไปรวมกับกระทรวงวัฒนธรรม หรือเห็นว่าน่าจะตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำ กรมการขนส่งทางราง รวมทั้งดูเรื่องอัตรากำลัง คนล้นงาน อัตรากำลังไม่เพียงพอ
3.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เหมาะกับคนที่คิดปฏิรูปตำรวจ อัยการ ศาล คนที่รำคาญเรื่องสองมาตรฐาน กฎหมายเชย ล้าสมัย และคนที่รำคาญกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)
4.ด้านการปกครองท้องถิ่น เหมาะสำหรับคนปฏิรูป อบต. อบจ. เทศบาล การตั้งมหานคร จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ ดีไหม จะวางระบบอย่างไร อบจ.ควรยุบหรือไม่
5.ด้านการศึกษา เหมาะสำหรับคนสนใจเรื่องครู นักเรียน โรงเรียน การอบรมทุกรูปแบบ
6.ด้านเศรษฐกิจ ด้านนี้ใหญ่โตมากเพราะรวมถึงการปรับระบบโครงสร้างภาษีทุกชนิด เรื่องอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม โลจิสติก การขนส่ง
7.ด้านการพลังงาน หมายถึงปฏิรูปพลังงานทุกรูปแบบ ทั้งพลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานนิวเคลียร์
8.ด้านสังคม ปฏิรูปความอยู่ดีกินดี กินอิ่มนอนหลับ แก้ปัญหาความยากจน การคุ้มครองผู้บริโภค
9.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม การจัดการมลพิษ มลภาวะ สิ่งแวดล้อม การทำให้คนอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอย่างไร จะสร้างเขื่อนดีหรือไม่ดี
10.ด้านสื่อสารมวลชน การปฏิรูปทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี ระบบโทรคมนาคม ทุกรูปแบบ
11.ด้านอื่นๆ ไม่ใช่จับฉ่าย ไม่ใช่สัพเพเหระ หมายความถึงด้านดนตรี กีฬา ศิลปวัฒนธรรม ค่านิยม ศาสนา ขนบ คุณธรรม จริยธรรม ความมีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ จิตสาธารณะ รวมทั้งวัฒนธรรมทางการเมือง
สปช.มี 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ตัวแทนจังหวัด 77 คน ที่มาจากคณะกรรมการสรรหาจังหวัดละ 1 ชุด มีผู้ว่าฯ นายก อบจ. หัวหน้าศาล ประธานกกต.จังหวัด และ เอ็นจีโอรวม 5 คน
ผู้ที่จะได้รับการเลือกไม่มีการรับสมัคร แต่จะเป็นลักษณะแมวมอง ที่คณะกรรมการสรรหาต้องคัดว่าใครเป็นสปช.จังหวัดของเรา จังหวัดละ 5 คน แล้วส่งให้คสช.เลือกเหลือ 1 คนเท่านั้น และคสช.จะเลือกนอกเหนือ 5 คนนี้ไม่ได้
แมวมองมองอย่างไรแล้วแต่จังหวัด บางจังหวัดปิดประตูศาลากลางไม่พบหน้าใครทั้งนั้น ใครดีเด่นดังก็เสนอแล้วมาโหวต บางจังหวัดประกาศว่าใครสนใจส่งใบสมัคร หรือให้แนะนำตัวทีละคนแล้วแสดงวิสัยทัศน์
ล็อกอย่างเดียวคือ ห้ามผลัดกันเกาหลัง ในคณะกรรมการสรรหา คุณเลือกผม ผมเลือกคุณ ไม่ได้ เขียนว่ากรรมการสรรหาจะถูกเลือกเป็นสปช.ไม่ได้ จะห้ามคู่สมรสด้วยซ้ำไปแต่ก็ไม่ได้ห้าม แต่หากเป็นคู่สมรสหมด ท้าทายกับคสช.ขนาดนั้นให้รู้ไป
สปช.อีกประเภทเป็นส่วนของอาชีพและผู้ที่สนใจ 173 คน เปิดกว้างทั้งประเทศ ไม่เกี่ยวกับภูมิลำเนา เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ ไม่ต้องจบปริญญา ยังทำงานได้ เป็นข้าราชการก็ได้ จึงจำเป็นต้องสมัคร
โดยให้องค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรเป็นผู้เสนอชื่อ อาทิ สมาคม มูลนิธิ องค์กร องค์การ รัฐวิสาหกิจ กระทรวง ทบวง กรม สภา มหาวิทยาลัย อปท. เทศบาล อบต. อบจ. ให้เสนอชื่อได้ และไม่ต้องเสนอคนที่เป็นสมาชิกในองค์กรตัวเองเท่านั้น แต่เสนอคนดีที่ไหนก็ได้....
ปฏิรูป-เปิดให้กว้าง
บทนำมติชน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้จัดงาน "เส้นทางการปฏิรูปประเทศไทย" ที่สโมสรทหารบก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการสำหรับการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่จะเริ่มดำเนินการจากช่วงนี้เป็นต้นไป ใช้เวลาประมาณ 50 วัน ดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. คาดหมายว่าในวันที่ 2 ตุลาคม น่าจะนำรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 250 รายชื่อ ขึ้นทูลเกล้าฯได้ อะไรคือ บทบาทหน้าที่ของสภาปฏิรูป นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ได้กล่าวในงานเดียวกันว่า สปช.เป็นองค์กรใหม่ที่จะเข้ามาคิด เสนอแนะแนวทางปฏิรูปประเทศ โดยมีหน้าที่เสนอแนะเท่านั้นไม่ได้มีหน้าที่ปฏิรูป ฝ่ายที่ลงมือปฏิรูปคือ รัฐบาล องค์กรต่างๆ ของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะรัฐบาลต้องส่งเสริมให้มีการปฏิรูป ในอดีตรัฐธรรมนูญจะระบุว่า ครม.มีแค่อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน แต่ฉบับนี้กำหนดให้รัฐบาลมี 3 หน้าที่คือ 1.บริหารราชการแผ่นดิน 2.หน้าที่ปฏิรูปประเทศ ทั้งคิดเอง ทำเอง หรือรับที่คนอื่นเสนอมาทำ และ 3.หน้าที่สร้างความปรองดองสมานฉันท์ นายวิษณุ ยังกล่าวว่า แม้จะมีการจัดตั้ง สปช.ขึ้นมาแล้ว แต่ทางสถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆ สามารถตั้งเวทีที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความคิดให้ตรงกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรเพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศมายังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ สปช.ก็ได้ เพื่อ สปช.จะได้นำไปประกอบการพิจารณาในการปฏิรูปประเทศ ยืนยันว่า สปช.ยินดีที่จะรับฟังโดย สปช.จะเป็นศูนย์กลาง เมื่อ สปช.เสนอแนะสิ่งใดมาหน่วยราชการมีหน้าที่รับไปดำเนินการ เชื่อว่า คสช.และผู้เกี่ยวข้องคงมีความตั้งใจจริงในการปฏิรูปประเทศ และออกแบบให้ สปช.มีหน้าที่คิดและเสนอแนะในเรื่องการปฏิรูป เท่ากับเป็นมันสมองของปฏิบัติการ แนวคิดและข้อสรุปในการปฏิรูปจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่พิจารณาจากกระบวนการให้ได้มาซึ่งแนวคิดต่างๆ แล้ว ยังไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร มีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งอาจไม่เป็นผลดี หรือเป็นอุปสรรคในการระดมความคิดถ้าหวังผลให้การปฏิรูปช่วยนำพาประเทศออกจากวิกฤต ยิ่งจะต้องเปิดกว้าง รับฟังความเห็นต่าง ความคิดใหม่และความคิดอิสระของฝ่ายต่างๆ มิเช่นนั้นก็ยากที่ผลของการปฏิรูปจะเป็นที่ยอมรับของสังคมวงกว้าง |