บทบาท ความหมาย ต่อ 200 สมาชิกสนช.ใหม่ ปฏิรูป'การเมือง'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Monday, 04 August 2014 21:33
- Published: Monday, 04 August 2014 21:33
- Hits: 3897
วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 14:29 น. ข่าวสดออนไลน์
บทบาท ความหมาย ต่อ 200 สมาชิกสนช.ใหม่ ปฏิรูป'การเมือง'
ไม่ว่าจะ'ตั้งใจ'ไม่ว่าจะมิได้'ตั้งใจ' แต่การปรากฏขึ้นของรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีบทบาทและความหมายอย่างสำคัญ
1 บทบาทในการเปรียบเทียบกับสภาอันมาจาก'การเลือกตั้ง'
ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภาอันได้มาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภาอันได้มาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
ยิ่งกว่านั้นก็คือ'นักการเมือง'อันอยู่ใน'สภาผู้แทนราษฎร'
1 ภาพเปรียบเทียบนี้จะมีผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งและ กว้างขวางเป็นอย่างมากในทางการเมืองในอนาคตอันใกล้
ว่าประชาชนจะชอบสภาแบบไหน
จะชอบสภาอันมาจากการเลือกตั้งซึ่งถือว่าเป็น'แบบเก่า'จะชอบสภาอันมาจากการแต่งตั้งซึ่งถือว่าเป็น "แบบใหม่"
บทบาทของ "สนช.2557" จึงทรงความสำคัญ
อย่า ลืมเป็นอันขาดว่า ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของ "พันธมิตร" ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของ "กปปส." ก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557
คือ บทบาทในการเล่นงาน "นักการเมือง"
เป้า ใหญ่ในการโจมตีเบื้องต้นคือพรรคไทยรักไทย ต่อมา เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบเป้าใหญ่ในการโจมตีก็ขยายไปยังพรรคพลังประชาชนและ พรรคเพื่อไทย
ในฐานะอันเป็นเครื่องมือของ "ระบอบทักษิณ"
การเคลื่อนไหวเช่นนี้เหมือนกับว่า พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนาและพรรคการเมืองอื่นๆ จะรอดปลอดพ้นจากกระแสการโจมตี เพราะว่าเมื่อมาเป็น "กปปส." แกนนำส่วนใหญ่ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์
พรรคเหล่านี้ นักการเมืองเหล่านี้จะ "รอด" ปลอดพ้นได้หรือ
การปรากฏขึ้นของสมาชิกสนช.ไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 แตกต่างไปจากการเมืองยุคก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง
เป็น "การแต่งตั้ง" มิได้มาจาก "การเลือกตั้ง"
ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ เป็นการแต่งตั้งเพื่อให้เป็นฐานทางการเมือง ฐานทางนิติบัญญัติให้กับคณะรัฐประหาร
สังคมจึงเรียกร้องต่อ "สนช." เป็นอย่างสูง
เป็นความเรียกร้องในความแตกต่างไปจาก "นักการเมือง" ไปจากคนอันมาจาก "พรรคการเมือง"
เป็นความเรียกร้องต่อคุณภาพใหม่ในทางการเมือง
หากสมาชิกสนช.ชุดเดือนกรกฎาคม 2557 สามารถสร้าง "ภาพลักษณ์" ทางการเมืองใหม่ขึ้นมาได้
นั่น หมายถึง ทิศทาง "การปฏิรูป" จะดำเนินไปด้วยความราบรื่น ขณะเดียวกัน หากไม่สามารถสร้างภาพลักษณ์ใหม่ อันเป็นความหวังขึ้นมาได้ กระแสจะดำเนินไปอย่างชนิดตีกลับ
ตีกลับไปเรียกร้องการปฏิรูปจากนักการเมือง จากพรรคการเมือง...
ต้อนรับ 'สนช.'
บทนำมติชน
การแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 200 คน จากจำนวนที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้มีได้ 220 คน ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร เนื่องจากประกอบด้วยทหารเป็นสัดส่วนหลัก รองลงมาคือ ข้าราชการ ข้าราชการเกษียณ รัฐวิสาหกิจ จากนั้นคือ กลุ่มอดีต ส.ว.และอดีต สนช. นอกนั้นคือ อธิการบดี นักวิชาการ ตำรวจ นักธุรกิจ และอื่นๆ
เสียงวิจารณ์ระบุว่า สนช.ชุดนี้ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 7 ที่ระบุให้ สนช.ต้องหลากหลาย มาจากกลุ่มต่างๆ ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ และภาควิชาชีพ แต่ในครั้งนี้มีทหารมากเกินไป การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติควรเป็นเวทีของการถกเถียงแสดงเหตุผลในเรื่องต่างๆ ของบ้านเมืองและกฎหมายต่างๆ มิใช่พื้นที่รับคำสั่ง โดยมีผู้ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ชี้แจงเมื่อวันศุกร์ที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ตอนหนึ่งมีใจความว่า จะมีทหารมากหรือน้อยเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเป็นห้วงไม่ปกติ ถ้าปกติก็ทะเลาะกันเหมือนเดิม วันนี้ยังต้องบริหารราชการแบบไม่ปกติอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยชั่วคราวไปก่อน เราต้องการความเป็นเอกภาพและตอบสนองภารกิจหลัก คือ การปฏิรูปให้เป็นผลสำเร็จได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย
คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์และเสียงวิจารณ์ สนช.เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ สนช.ถือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เมื่อเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยก็ควรจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ แต่เมื่อการเมืองไม่ปกติจึงต้องใช้วิธีการสรรหาหรือแต่งตั้งซึ่งมีจุดอ่อนในตัวเองอยู่แล้ว เพราะผู้เลือกย่อมเลือกคนที่สามารถสนองตอบเป้าหมายที่ผู้เลือกต้องการได้ หรือถ้าเลือกคนดีมีความสามารถก็เป็นคนดีในทรรศนะของผู้เลือก ซึ่งคนอื่นอาจไม่เห็นด้วย ยิ่งทำให้เห็นว่า ในทางการเมือง วิธีการให้ประชาชนคัดเลือกตัวแทนโดยผ่านการเลือกตั้งที่โปร่งใสเป็นหนทางที่ลดการโต้แย้งได้ดีที่สุด ดังนั้นทิศทางของประเทศไทยมีแต่จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมุ่งกลับไปเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วเท่านั้น