มองสนช.เห็น'บิ๊กตู่' รักษา'โรดแมป'มุ่งเป้า'ไม่เสียของ'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 03 August 2014 21:26
- Published: Sunday, 03 August 2014 21:26
- Hits: 4315
มองสนช.เห็น'บิ๊กตู่' รักษา'โรดแมป'มุ่งเป้า'ไม่เสียของ'
วิเคราะห์
คํ่าวันที่ 31 กรกฎาคม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. จำนวน 200 คน
สนช.ที่ปรากฏชื่อ 200 คน จำแนกแยกย่อยออกเป็น กลุ่มทหาร จำนวน 92 คน อาทิ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส. พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ รอง เสธ.ทบ. พล.ร.อ.กําธร พุ่มหิรัญ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเสนาธิการทหารบก พล.ท.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ พล.ต.ชัยยุทธ พร้อมสุข ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า เป็นต้น
กลุ่มข้าราชการ 39 คน อาทิ นายกิตติ วะสีนนท์ อดีตเอกอัครราชทูต ประจำกรุงลอนดอน นายชาญวิทย์ วสยางกูร
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายดิสทัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รักษาราชการแทนเลขาธิการ นายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ อดีตที่ปรึกษาด้านกฎหมาย มท. นายปรีชา วัชราภัย อดีตเลขาธิการ ก.พ. นายภาณุ
อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
กลุ่มอดีต ส.ว.และ สนช. 32 คน อาทิ นายตวง อันทะไชย อดีต ส.ว.สรรหา นายธานี อ่อนละเอียด อดีต ส.ว.สรรหา พล.อ.
ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา นางนิพัทธา อมรรัตนเมธา อดีต ส.ว.ปทุมธานี นายบุญชัย โชควัฒนา อดีต ส.ว.สรรหา พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ อดีต ส.ว.สรรหา นายพีระศักดิ์
พอจิต อดีต ส.ว.อุตรดิตถ์ นายมณเฑียร บุญตัน อดีต ส.ว.สรรหา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา 2 สมัย พล.อ.
สมเจตน์ บุญถนอม อดีต ส.ว.สรรหา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล อดีต ส.ว.ปัตตานี และอดีต ส.ว.สรรหา เป็นต้น
กลุ่มมหาวิทยาลัย 12 คน อาทิ นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายทวีศักดิ์
สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายนิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายรัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
กลุ่มตำรวจ 7 คน อาทิ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และน้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. เป็นต้น
กลุ่มธุรกิจ 8 คน อาทิ นางกอบกาญจน์ สุริยสัตย์
วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ประเทศไทย จำกัด นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) ประธานสมาคมธนาคารไทย นายสุพันธุ์
มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าไทย เป็นต้น
กลุ่มองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 6 คน อาทิ นายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน อดีต สนช. ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง เป็นต้น
และยังมีบุคคลที่ถูกจัดอยู่ในประเภทอื่นๆ อีก 4 คน รวมทั้งสิ้น 200 คน
จาก สนช.ทั้ง 200 คน ที่ปรากฏ สะท้อนภาพความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้พอสมควร
ประการแรก สะท้อนให้เห็นการดำเนินการตามแผนงานหรือโรดแมปที่วางไว้ นั่นคือภายในเดือนกรกฎาคมจะแต่งตั้ง สนช. ซึ่งการดำเนินการได้ตรงเวลาดังกล่าว สามารถทำให้คนไทยและชาวต่างชาติเชื่อมั่นในคำมั่นสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์วางโรดแมปคืนความสุขเอาไว้แต่แรก
ประการที่สอง สะท้อนให้เห็นเจตนาในระยะเวลาที่ คสช. คงมีอำนาจว่า ต้องการมอบการบริหารราชการแผ่นดินให้อยู่ในมือกลุ่มข้าราชการ ทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ และข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้ว
ทั้งนี้ เพราะในบรรดา สนช.ทั้ง 200 คน ปรากฏว่าสมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการหรืออดีตข้าราชการ จะมีบุคคลที่มาจากเอกชนเพียงหยิบมือเดียว
อย่างไรก็ตาม ในบรรดาข้าราชการทั้งหมดที่เป็น สนช. ข้าราชการที่กุมเสียงข้างมากย่อมเป็นฝ่ายทหาร
และในระหว่างเหล่าทัพด้วยกัน สนช.ที่มาจากกองทัพบก มีมากที่สุด
ดังนั้น ด้วยจำนวนดังกล่าว ทำให้การขับเคลื่อนกฎหมายของ คสช.ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นไปด้วยความราบรื่น
นอกจากนี้ การแต่งตั้งข้าราชการเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ยังสอดรับกับคำสั่งนานาคำสั่งที่ คสช.บังคับใช้ เช่น การสรรหาสมาชิกส่วนท้องถิ่น หรือการควบคุมการใช้งบประมาณ ซึ่ง คสช.ใช้กลไกข้าราชการเข้าไปจัดการทั้งสิ้น
มีข้อน่าสังเกตว่า การแต่งตั้ง สนช.ครั้งนี้ ไม่มีคู่ขัดแย้งทางการเมืองเข้ามามากนัก และผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคนก็ไม่ปรากฏชื่อ ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าหลายคงต้องรับภารกิจในสภาปฏิรูป และอีกหลายคนต้องทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
แต่ไม่ว่า จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใด ทุกคนยังหนีไม่พ้นการควบคุมอย่างใกล้ชิดจาก คสช. ทั้งควบคุมโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราว และการควบคุมด้วยกลไกกองทัพ และข้าราชการที่ส่งลงไปในองค์กรสำคัญ
ทั้งหมดที่ดำเนินการไป ยังเกาะกุมยุทธศาสตร์ที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ตอกย้ำในช่วงวันแถลงข่าวอธิบายรัฐธรรมนูญชั่วคราว
ยุทธศาสตร์ที่ว่า ต้องทำให้ดี เพื่อไม่ให้เสียของ....
วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
โรดแม็ป คสช. ต่างจาก คมช. เด่นชัด อ่านได้จาก สนช.
อ่านกระบวนการทางการเมืองของ คสช. เทียบ คมช. จากการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 200 คนแล้ว
เห็นได้ชัด เห็นได้ในความแตกต่าง
การที่ข้าราชการทหารทั้งที่เรียกว่า ในประจำการ และ นอกราชการ รวมกันแล้วจำนวนมากถึง 105 คน
บ่งบอกทิศทางและความต้องการอย่างตรงไปตรงมา
พื้นฐานอย่างที่สุดก็คือ คสช.อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการความมั่นใจว่า การผลักดันกฎหมายใดๆ ก็ตามจะต้องเป็นไปตามที่ประสงค์
ไม่มีการบิดเบี้ยว ไม่มีการหักเห
นี่คือเจตจำนงตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อย่างที่ปรากฏผ่านบทเพลง คืนความสุขให้กับประชาชน อย่างตรงไปตรงมา
นี่คือจุดต่างทาง ความคิด กับเมื่อเดือนกันยายน 2549
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 นั้น อำนาจอยู่ในมือของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคปค. สั้นเป็นอย่างมาก
เพียง 1 เดือนก็มี รัฐบาล
ทั้งคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายเก่าของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
ถูกเชิญลงจากหิ้ง องคมนตรี ลงมาเป็น
ไม่ว่าการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าการจัดตั้ง คตส. เป้าหมาย 1 คือ การพยายามกำจัดอำนาจทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย 1 คือ การทำแผนบันได 5 ขั้นเพื่อมอบให้กับกลุ่มการเมืองอันเป็นเครือข่าย
คสช. จึงแตกต่างจาก คมช. ตรงนี้
ความพยายามในการอุดช่องโหว่อัน คมช. เคยทำให้การยึดอำนาจอยู่ในสภาพ เสียของ มาแล้วก็คือ คสช. ดำรงอำนาจอยู่ในมือของตนอย่างมั่นแน่ว
ไม่มีการเชิญ คนนอก เข้ามานั่ง เป็นใหญ่
รายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) การันตรีอย่างเป็นรูปธรรมว่า อำนาจ อยู่ในมือของใครอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ต่อจากนี้ก็ให้ดูว่าใครจะเป็น ประธานสนช.
ต่อจากนั้นก็ให้ดูว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเสนอชื่อและเลือกใครให้มาเป็น นายกรัฐมนตรี
นั่นคือ คำตอบ นั่นคือความเรียบโร้ยโรงเรียน คสช.
ประเด็นที่ควรติดตามและให้ความสนใจในเฟซต่อไปของ โรดแม็ป ก็คือ ขั้นตอนที่ 3 และ 4
ขั้นตอนที่ 3 คือ ขั้นตอนแห่งการร่างรัฐธรรมนูญ 1 เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 1 เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการเมืองที่ปรองดองและสมานฉันท์
นี่ย่อมมิใช่ขั้นตอนเพื่อ พรรคใดพรรคหนึ่ง เหมือน คมช. แน่นอน...
วันที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 13:46 น. ข่าวสดออนไลน์
ทหารติดเครื่อง เดินหน้าตั้งรัฐบาล