WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บาทก้าว คสช. โครงการ รถไฟ น้ำ ขยับ ขับเคลื่อน

บาทก้าว คสช. โครงการ รถไฟ น้ำ ขยับ ขับเคลื่อน

(ที่มา:มติชนรายวัน 2 ส.ค. 2557)

 

 



ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 2.2 ล้านล้านบาทโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 2.4 ล้านล้านบาทโดย "คสช."

ในทางยุทธศาสตร์ ต้อง"สนับสนุน"

เพราะเป้าหมายอย่างแท้จริงของเงิน 1.2 ล้านล้านบาท ของเงิน 2.4 ล้านล้านบาท คือการพัฒนาสิ่งที่เรียกในทางเศรษฐศาสตร์ว่า

"โครงสร้างพื้นฐาน"

ไม่เพียงแต่ในเรื่องของ "การคมนาคมขนส่ง" เท่านั้น หากแม้กระทั่งในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากร "น้ำ"

ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ

จากนี้เห็นได้ว่า โครงการบริหารจัดการทรัพยากร "น้ำ" กับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน "คมนาคมขนส่ง" มีความสัมพันธ์กัน

เป็นเรื่องที่จำเป็น เป็นเรื่องที่ต้องทำ

เพราะนี่คือ 1 การลงทุนใหญ่โดยภาครัฐเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อน ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญก็คือการทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจในการลงทุน

ใครมาเป็น "รัฐบาล" ก็ต้อง "ทำ"


จึงถูกต้องแล้วที่ "คสช." จะต้องมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมนำโครงการนี้มาจัดระบบแล้วเดินหน้า

และจะถูกต้องยิ่งหากเดินหน้าในเรื่อง "น้ำ"

ไม่ว่าแต่ละโครงการจะต้องใช้เงินมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่สามารถมาหารือและหาหนทางกันต่อไป

มิใช่เอาแต่ร้องๆ ว่า ทำไม่ได้ ทำไม่ด้าย

เหมือนที่หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์เคยออกโรง เหมือนที่หลายคนใน กปปส.กรอกหูมวลชนในที่ชุมนุม

เหมือนที่ตุลาการบางท่านบอกว่า ต้องรอให้ "ถนนลูกรัง" หมดไปก่อน

หากคนใน "คสช." คิดแบบเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ หากคนใน "คสช." คิดแบบเดียวกับคนใน กปปส. หากคนใน "คสช." คิดแบบเดียวกับตุลาการบางท่านหรือคนในคณะกรรมการ ป.ป.ช.บางคน

ก็ไม่ต้องทำอะไร

เมื่อหัวรถจักรจาก "ภาครัฐ" ไม่ขยับ ไม่มีการขับเคลื่อน "การลงทุน" ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่ "ภาคเอกชน" จะเกิดความมั่นใจ

เศรษฐกิจก็หยุดนิ่ง บังเกิดอาการงันและชะงัก


หาก "กระบวนทัศน์" ของผู้คนยังติดตั้งอยู่แต่ในกรอบของ "ฝ่ายค้าน" แบบพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่คนเป็นรัฐบาลจะขยับขับเคลื่อนอะไรได้

ไม่ว่ารัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ไม่ว่ารัฐบาล "คสช."

อาการหนักหนาสาหัสก็คือ ไม่เพียงแต่จะต่อสู้กันในเวทีแห่งรัฐสภา หากแต่ยังลากยาวไปยัง "องค์กรอิสระ"

ทั้ง "ป.ป.ช." ทั้ง "ศาลรัฐธรรมนูญ"

หากมองจากมุมของ "คสช." โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านเหมือนกับที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประสบมาแล้ว

ก็แทบไม่ต้องทำอะไร หรือถึงต้องการจะทำก็มิอาจทำได้

เพียงเสนอโครงการ 2.4 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนารถไฟทางคู่ พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องนำเรื่องไปยัง "ศาลรัฐธรรมนูญ" ก็ต้องนำเรื่องไปยัง "ป.ป.ช." รัฐบาล "คสช." ก็ต้องชะลอโครงการเอาไว้ก่อน

จนกว่าจะได้รับการการันตีจาก "องค์กรอิสระ"

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคแห่ง "คสช." ภายใต้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 

1 บทบาทพรรคประชาธิปัตย์ไม่ดำรงคงอยู่ 1 บทบาทขององค์กรอิสระก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม

"โครงการ" ก็เดินหน้าจนแทบจะเรียกได้ว่า "ฉลุย"


ไม่ว่าโครงการล้านล้านบาทเพื่อถนนและ "รถไฟ" ไม่ว่าโครงการล้านล้านบาทเพื่อพัฒนา "น้ำ"

ล้วนทำให้ 1 เศรษฐกิจมีการเคลื่อนไหว 1 สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน 1 อำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนโดยรวม

การริเริ่มของ "คสช." จึงเป็นคุณ.............

น้ำลด ตอผุด บทบาท ของ ′คสช.′ ′ความจริง′

(ที่มา:มติชนรายวัน 1 ส.ค. 2557)

 

 



เห็นข่าว นายชินวรณ์ บุณยเกียรติอดีตรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้อง คสช.ให้คืนความสุขแก่ชาวสวนยางพารา

แล้ว "ขำ"

ที่ขำมิใช่เพราะไม่เห็นในความลำบากของชาวสวนยางพารา หากแต่ "ขำ"ต่อการเรียกร้องของ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ

เช่นเดียวกับเห็น "อาการ" บางอาการอันเกี่ยวกับ "ข้าว"

พลันที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริการจัดการข้าว (นบช.) ออกมาระบุถึงรายงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้าวคงเหลือของรัฐ ระบุว่า

ร้อยละ 80 ของการตรวจสอบเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี ถูกต้อง

มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่ "ไม่ตรงกับที่แจ้งไว้และเสื่อมคุณภาพ"

ไม่เพียงแต่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เท่านั้นที่บังเกิดอาการ

"หุด-หิด"

หากแม้กระทั่ง "บางคน" ในคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้าวคงเหลือของรัฐ ก็ถึงกับระงับการแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กชั่วคราว

"อาการ" เหล่านี้ "สะท้อน" อะไร

ขอเริ่มจากสภาวะ "หุด-หิด" อันมาจากอดีต ส.ส.นักการเมืองในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์อันเกี่ยวกับราคายางพาราก่อน

ต้องขอบคุณ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ออกมายอมรับ

ต้องขอบคุณ นายเทพไท เสนพงศ์ ที่ออกมายอมรับ ต้องขอบคุณ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ที่ออกมายอมรับ

และเห็นความจำเป็นที่ "คสช." จักต้อง "คืนความสุข"

เพราะหากขุนพลนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์แสดงอาการนิ่งเฉยเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาว ย่อมมีโอกาส "กินตัว"

เพราะเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ราคายางอยู่ที่ 80 บาท/กิโลกรัม

เพราะสถานการณ์ครั้งนั้นได้นำไปสู่ "ชะอวด โมเดล" อย่างครึกโครม โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาหนุนหลังเต็มที่

กระทั่งนำไปสู่การปิดถนน "ชัตดาวน์" ภาคใต้ในเดือนกันยายน 2556

ข้อเรียกร้องของ "ชาวสวนยางพารา" ภาคใต้ในขณะนั้นก็คือ ต้องประกันราคาจาก 80 ให้ทะยานไปอยู่ที่ 120 บาทให้จงได้

เมื่อไม่ได้ดังใจก็นำไปสู่ "ประจวบ โมเดล" ซ้ำเป็นคำรบ 2

แล้วสภาวะ "หุด-หิด" ในอารมณ์อันเนื่องจากการตรวจสอบข้าวคงเหลือของรัฐตามโกดัง ไซโลต่างๆ หลังสถานการณ์ยึดอำนาจของ คสช.เป็นอย่างไร

ต้องยอมรับในความตรงไปตรงมาของ "คสช."

ผลการตรวจสอบกับ "ข้อมูล" อันได้รับการประโคมก่อนหน้านี้ว่า "เสียหาย" อย่างใหญ่หลวงมหาศาล

มีความ "ต่าง" กันในเรื่อง "ตัวเลข"

ทั้งนี้ เพราะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เสนอ "ปริมาณ" ที่มาก และเมื่อการตรวจสอบแสดงออกมาปรากฏว่า

เป็นปริมาณในลักษณะ "เกินจริง"

มิได้เกินจริงอย่างธรรมดา หากเป็นความเกินจริงอย่างชนิดที่เรียกว่า "เหลือเชื่อ"

ขณะเดียวกัน บางคนที่เล่นบท "คนดี" ไม่ว่าที่อยู่ในองค์กรอิสระ ไม่ว่าที่เป็นข้าราชการประจำ ก็ต้องประสบกับภาวะ

"นะจังงัง" ในเชิง "สถิติ"

ยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจรุกไล่จับกุมคนทุจริต ไม่ว่าที่จังหวัดปทุมธานีและรุกคืบไปยังอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ยิ่งทำให้ตัวตนที่หากินในเรื่องนี้มีความเด่นชัด

เด่นชัดว่าเรื่อง "ข้าว" ก็เป็น "การเมือง" เหมือนเรื่อง "ยาง"


บทบาทของ "คสช." จึงดำเนินไปในท่วงทำนองแห่ง "หลวงมุ่งกระแทกกลาง"อย่างเป็นจริง

นั่นก็คือ การเล่นบทเป็น "ผู้ตรวจสอบ" อาศัยความเป็นจริงมาแยกแยะระหว่างเรื่องลวงกับเรื่องจริง ไม่ลูบหน้าปะจมูก ไม่เข้าใครออกใคร ผิดก็ว่าผิด ถูกก็ว่าถูก

บทบาทเช่นนี้เท่ากับ "คืนความสุข" ให้อย่างเที่ยงธรรม..........

การบ้าน คสช. การบ้าน ก่อนรัฐบาล สานต่อ เศรษฐกิจ

(ที่มา:มติชนรายวัน 31 ก.ค.2557)

 

 



เมื่อเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศไป "เรียบร้อย" แล้วนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ตระหนักดีอยู่แล้วว่ามีภารกิจหลัก 2 ประการที่จะต้องดำเนินการให้ลุล่วงไป

หนึ่งคือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม ที่กัดกร่อนสังคมไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ให้ลดหรือหมดไป

หนึ่งคือสานต่องานด้านการบริหารเศรษฐกิจและการต่างประเทศ มิให้สะดุดหยุดลง


กล่าวเฉพาะประการหลัง

เมื่อปะเข้ากับข้อมูลข้อเท็จจริงที่ท่วมท้นทะลักออกมา

แนวทางการบริหารเศรษฐกิจของ คสช. ก็ดำเนินไปอย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง มิได้เหวี่ยงไปสุดขั้วตามแรงผลักดันหรือเสียงเชียร์

ประการหนึ่ง สังเกตได้จากการเลือกแนวทางการบริหารนโยบายพลังงานด้วย "กลไกตลาด"

แทนที่จะเป็นแนวทาง "ยึดคืน" อันทำให้กองเชียร์สุดเหวี่ยงทั้งหลายเกิดอาการหัวฟัดหัวเหวี่ยงอยู่ในปัจจุบัน

รอบคอบและระมัดระวังถึงขนาดที่ตีกลับข้อมูลที่เสนอมาเพื่อการตัดสินใจ ให้ไปรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมาแล้วหลายครั้ง

ประการหนึ่ง สังเกตได้จากการสานต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

ที่แม้จะล้มโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

แต่ก็กลับมาใหม่ด้วย "แพคเกจ" ระดับ 2.4 ล้านล้านบาท

คสช.อนุมัติกรอบยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ปี 58-65 รวมงบการลงทุน 2.4 ล้านล้านบาท 

29 กรกฎาคม คสช. อนุมัติเห็นชอบตามแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของไทยระยะเวลา 8 ปี ช่วงปี 2558-2565 ที่กระทรวงคมนาคมเสนอมา

เพื่อเตรียมนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการเรื่องนี้ได้ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งบริหารประเทศในช่วงปลายเดือนสิงหาคม

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย 5 แผนงาน ซึ่งยังไม่รวมโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ คสช.ให้มีการศึกษาเพิ่มเติม

วงเงินรวมประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท

แผนงานแรก การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง วงเงินประมาณ 6.7 แสนล้านบาท

เช่น โครงการรถไฟทางคู่ 17 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 4.7 แสนล้านบาท โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณทั่วประเทศ โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า และจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ เป็นต้น

ส่วนรถไฟความเร็วสูงอาจเลือกเอาบางโครงการที่มีศักยภาพและมีความจำเป็นในอนาคต อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 3.8 แสนล้านบาท อาจพิจารณาดำเนินการในระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท

หรือเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท อาจปรับแผนเป็นเส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-หนองคาย

เชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงในประเทศลาวและจีน


แผนงานที่สอง การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ใน กทม.และปริมณฑล วงเงินรวมประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

โดยโครงการสำคัญในแผนงานนี้คือโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง โดยโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล หรือโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย

รวมถึงโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,416 ล้านบาท

แผนงานที่สาม เพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศสู่ประชาคมอาเซียน วงเงินประมาณ 6.4 แสนล้านบาท

แผนงานที่สี่ พัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำเพื่อเพิ่มการขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้น 20% วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือปากบารา โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง

แผนงานสุดท้ายคือการพัฒนาท่าอากาศยาน งบประมาณ 8.9 หมื่นล้านบาท เช่น แผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2

วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท


ขณะที่ในการประชุมคณะกรรมการชุด พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ เมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อเสนอว่าในการลงทุนรถไฟทางคู่ที่ คสช.กำลังผลักดัน ควรสร้างรางขนาด 1.435 เมตร

โดยส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้การลงทุนรถไฟทางคู่สามารถรองรับการขนส่ง ทั้งคนและสินค้าได้ในเวลาอันรวดเร็วขึ้น

ใครเป็นรัฐบาล รัฏฐาธิปัตย์

แนวทางบริหารจัดการเศรษฐกิจก็ไม่เคยเปลี่ยน.........

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!