WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จุดต่าง การเมือง เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ทางใคร ทางมัน

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์


จุดต่าง การเมือง เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ทางใคร ทางมัน

     หากพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกปปส.อย่างไร พรรคเพื่อไทยก็มีส่วนในการสร้างความคึกคักให้กับนปช.อย่างนั้น

     นี่เป็นเรื่องที่ยากจะปฏิเสธลักษณะอันยึดโยงกันอยู่


     เพราะว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เคยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เพราะว่าคนอย่าง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย คนอย่าง นายถาวร เสนเนียม คนอย่าง นายวิทยา แก้วภราดัย

     ก็ล้วนเป็นส.ส.และยังเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อยู่

     เช่นเดียวกับ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็เคยเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

     มีก็แต่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ เท่านั้นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

     หากยอมรับในความเป็นจริงของความสัมพันธ์และยึดโยงระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับกปปส. และระหว่างพรรคเพื่อไทยกับนปช.ก็จะเข้าใจกลเกมทางการเมือง

     กลเกมที่ทั้ง สัมพันธ์ และเป็น อิสระ

     เหมือนกับว่า การออกมา เดินสาย เพื่อแสวงหาทางออกของประเทศของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเป็นการตีกรรเชียงออกจากการเคลื่อนไหวของกปปส.

     กระทั่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขู่ลั่น อย่าสะเออะ

     ในเบื้องต้น ผู้คนทั้งหลายก็มองอย่างนั้น มองว่าเป็นการเอาตัวรอดของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการสร้างภาพสดสวยของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

     แต่เมื่อ แถลง ออกมาก็ร้องฮ้อกันทั้งบ้านทั้งเมือง

     เป้าหมายยังต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกและเว้นวรรคทางการเมือง เป้าหมายยังเห็นว่าการผลักดันนายกรัฐมนตรี คนกลาง นายกรัฐมนตรีนอกรัฐธรรมนูญถูกต้องเหมือนๆ กับที่กปปส.และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

     ยิ้มเห็น แก้ม แย้มก็เห็น ไรฟัน

     เหมือนกับว่าการออกมายืนยันในเรื่องการเลือกตั้ง ยืนยันในเรื่องการยึดกุมรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยจะเป็นแนวทางอันแตกต่างไปจากนปช.

     แตกต่างในเรื่อง วิธีการ มิใช่ เป้าหมาย

     ยิ่งยืนหยัดในแนวทางการเลือกตั้ง ยิ่งเท่ากับเปิดโปง กกต. ว่ารับแผนมาจากกปปส.รับแผนมาจากพรรคประชาธิปัตย์

     ประวิงเวลา เตะถ่วง รอ สุญญากาศ ทางการเมือง

     รอสุญญากาศอัน ป.ป.ช. พยายามอย่างเต็มกำลัง รอสุญญากาศอัน ศาลรัฐธรรมนูญ พยายามอย่างเต็มกำลัง ประสานกับ กลุ่ม ส.ว.ลากตั้งที่เรียกว่า กลุ่ม 40

     เพื่อไทย ชงลูก ให้นปช. กระหน่ำ ซ้ำ

     จากนี้เมื่อมองผ่านม่านควันอันปรากฏผ่าน กปปส. อันปรากฏผ่าน นปช. ก็จะมองเห็นจุดต่าง

     คล้ายกับนปช.มี ระบอบทักษิณ คล้ายกับกปปส.ต้องการล้ม ระบอบทักษิณ แต่ถามว่าอะไรคือฐานกำลังอย่างแท้จริงของทั้ง 2 ฝ่าย

     1 มี ประชาธิปไตย 1 มี อำมาตยาธิปไตย

ทางออกประเทศ

 

บทนำมติชน

     ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว พร้อมกับรัฐมนตรีอีก 9 คน ที่ศาลฯมีคำสั่งให้ ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว จากการมีส่วนร่วมก้าวก่ายแทรกแซงโดยทางอ้อม ที่ได้ร่วมประชุม ครม.วันมีมติย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี
      ผลจากการตัดสินคดีนี้ มีรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งต้องพ้นสถานภาพ แต่ยังเหลือรัฐมนตรีอยู่รักษาการต่อไป 25 คน จึงมิได้ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เนื่องจากเป็นการตัดสินในกรอบหลักการรัฐธรรมนูญ โดยในส่วนของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าด้วยข้อกฎหมาย เหตุผล และการเร่งรีบตัดสินนั้น ศาลก็ต้องเป็นผู้รับไป
     นอกจากคดีสถานภาพรัฐมนตรี อีกคดีที่ส่งผลสะเทือนทางการเมือง ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรฐานมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และมีเหตุควรสงสัยว่าปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น การชี้มูลเรื่องนี้ มีเสียงโต้แย้งตามมาด้วยเช่นกัน ป.ป.ช.ก็ต้องรับเสียงสะท้อนต่างๆ เอาไว้ 
      คดีใหญ่ 2 คดีมีข้อยุติแล้วระดับหนึ่ง มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่านับจากนี้ บ้านเมืองจะเดินหน้าต่อในทิศทางใด เพื่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด คำตอบที่เป็นทางออกก็คือ การปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ ครม.ที่เหลืออยู่มีมติตั้งนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีแล้ว หน้าที่สำคัญของรัฐบาลรักษาการก็คือ ต้องจัดเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลที่สมบูรณ์เข้ามาบริหารประเทศเร็วที่สุด การขัดขวางการเลือกตั้งนั้น ส่งผลกระทบอย่างไร ทุกฝ่ายได้เห็นเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว หากขัดขวางตลอดจะนำไปสู่อะไรย่อมคาดหมายได้ ล่าสุดสหรัฐอเมริกาโดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศ ต่างแสดงท่าทีเรียกร้อง
     ไทยแก้ปัญหาด้วยวิธีสันติ ให้ประชาชนได้เลือกตั้ง เลือกผู้นำได้ตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นนักวิชาการในประเทศหลายสำนักที่สนับสนุนการใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นทางออกแก้ไขปัญหาขัดแย้ง การเลือกตั้งมิใช่เรื่องตลกขบขัน หากแต่เป็นวัฒนธรรมการหาข้อยุติ เป็นกระบวนการเดียวที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินชะตากรรมประเทศ แทนที่จะเป็นการตัดสินโดยคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

วันที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 22:59 น.  ข่าวสดออนไลน์ 


1,039 วัน ยิ่งลักษณ์

บทบรรณาธิการ

     ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยใช้เวลาเพียง 49 วันหาเสียง นำพรรคชนะเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.2554 และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

 
       ความน่าสนใจนี้เป็นที่จับตาจากนานาประเทศมานับแต่นั้น
 
       ไม่ว่าการเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศ หรือการเป็นน้องสาวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
 
       กระทั่งถึงการพ้นสภาพจากตำแหน่งจาก คำวินิจฉัยล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญ
 
      นับจากวันที่ 3 ก.ค. ถึงวันที่ 7 พ.ค. รวมกว่า 1,039 วัน การอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ยิ่งลักษณ์ มีทั้งผู้ปลาบปลื้ม และผู้ต่อต้าน
 
      เกือบจะเหมือนกับนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่มีทั้งคนรักและคนชัง
 
      แต่ที่ไม่เหมือนคือการเผชิญกับความเกลียดชังพิเศษที่มาพร้อมกับความพยายามพิเศษให้พ้นจากตำแหน่ง


    การพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 7 พ.ค. 2557 ไม่เหนือความคาดหมายของประชาชนคนไทยและนานาประเทศที่จับตาสถานการณ์ในไทยมาตลอด

 
      สุนทรพจน์ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวในการประชุมประชาคมประชาธิปไตย ครั้งที่ 7 ที่ประเทศมองโกเลีย เมื่อ 29 เม.ย. 2556 ชัดเจนราวกับรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า
 
      ถ้อยคำนั้นระบุว่า ถึงรัฐบาลจะคว้าชัยจากการเลือกตั้งในเดือนก.ค.2554 แต่ผู้ที่มีปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตยยังอยู่
 
      ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ดูได้จากวุฒิสภาครึ่งหนึ่งยังแต่งตั้งโดยกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง
 
      ยิ่งกว่านั้นกลไกองค์กรอิสระ ยังใช้อำนาจเกินขอบเขตแทนประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
 
        ดำเนินการเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่าเพื่อคนส่วนใหญ่ของสังคม
 
 
     สุนทรพจน์บนเวทีประชาธิปไตยดังกล่าวเคยถูกโจมตีจากคนกลุ่มหนึ่งว่าใส่ร้ายประเทศ บ้างตำหนิถึงขั้นว่า ขายชาติ
 
        โดยเฉพาะการกล่าวถึงการรัฐประหาร 2549 เชื่อมโยงกับการปราบปรามประชาชนกลางเมืองหลวงในปี 2553 
 
        รวมถึงการระบุว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในรัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหารได้ใส่กลไกที่ตีกรอบเพื่อจำกัดความเป็นประชาธิปไตย
 
       ณ ตอนนี้ สุนทรพจน์ดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่า ความจริงเป็นเช่นไร
 
       เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นตำแหน่งไปแล้ว ความวิตกในระบอบประชาธิปไตยจึงไม่อยู่ที่ตัวน.ส. ยิ่งลักษณ์อีก
 
        หากเป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น....
วันที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 22:54 น.  ข่าวสดออนไลน์ 


สำรวจคิวจัดหนัก 'นิวัฒน์ธำรง' รักษาการนายกฯ

 
รายงานพิเศษ
     การก้าวขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีของ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อยู่ในความสนใจของสายตาคนการเมือง

       ต่างมองว่าการเข้ามารับช่วงเก้าอี้ร้อนต่อจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้พ้นสภาพจากปมแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น นายนิวัฒน์ธำรงจะต้องเผชิญอุปสรรคและปัญหาใดบ้าง

    มีความเห็นและข้อแนะนำจากนักวิชาการดังต่อไปนี้ 

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
นักวิชาการกฎหมายมหาชน

     หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่ง มีประเด็นให้โต้เถียงหลายข้อ รวมถึงความกังวลว่าจะเกิดภาวะสุญญากาศ และการไม่สามารถใช้อำนาจของรักษาการนายกฯ คนใหม่ 

การกล่าวอ้างว่าการทูลเกล้าฯ ร่างพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งจะต้องเป็นน.ส.ยิ่งลักษณ์เท่านั้น และเมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ถูก ศาลสั่งพ้นตำแหน่งแล้ว นายนิวัฒน์ธำรงไม่อาจทูลเกล้าฯ ได้ เพราะไม่ได้เป็นส.ส.ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตำแหน่ง นายกฯ ต้องมาจากส.ส.

ข้อเท็จจริงคือ นายนิวัฒน์ธำรงดำรงตำแหน่งรักษาการ นายกฯ ที่ว่างลง ทำหน้าที่แทนบุคคลในตำแหน่งที่สิ้นสุดลง ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แม้ไม่ได้เป็นส.ส.ก็ดำรงตำแหน่งตามเงื่อนไขมาตรา 41 ได้ 

เป็นการใช้อำนาจในนามนายกฯ รักษาการ เหมือนน.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่การรักษาการของรักษาการ แบบที่มีผู้กล่าวอ้าง ซึ่งสร้างคำให้เกิดความสับสน ฉะนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์เคยมีอำนาจเพียงไร นายนิวัฒน์ธำรงก็มีอำนาจเพียงนั้น

ส่วนข้ออ้างว่าประเทศ ไทยเข้าสู่ภาวะสุญญากาศแล้ว ต้องทูลเกล้าฯ ขอนายกฯ มาตรา 7 แต่เนื่องจากตอน นี้ยังมีรัฐบาลรักษาการ ตั้งนาย นิวัฒน์ธำรงเป็นรักษาการนายกฯ และกระทรวงต่างๆ ก็ยังทำงานได้ตามปกติ

ถ้ารัฐบาลยอมรับคำวินิจฉัยโดยให้รัฐมนตรีที่จะพ้นจากรักษาการไปนั้น บางกระทรวงที่ไม่มีรัฐมนตรี ครม.ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีที่เหลือก็ต้องประชุมมอบหมายให้ รมช.ของกระทรวงนั้นปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทน 

หากไม่มีก็ให้ครม.มอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งรักษาราชการแทน ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 42

ประเด็นขณะนี้อยู่ที่ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะเป็นการขยายเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการละเมิดรัฐธรรมนูญนั้น หากทุกองค์กรยอมปฏิบัติตามก็จะเกิดประสิทธิภาพขึ้น

เมื่อคำวินิจฉัยเกิดความเสถียรก็เป็นรัฐประหารที่สมบูรณ์ ซึ่งรัฐบาลควรโต้ด้วยการไม่ยอมรับผลผูกพัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเหนือวัตถุแห่งคดีมาตั้งแต่ต้น 

และศาลรัฐธรรมนูญยืนยันเองว่า แม้รักษาการรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากตำแหน่งพร้อมนายกฯ หรือพ้นไปโดยผลทางกฎหมาย แต่รัฐมนตรีรักษาการก็ต้องดำรงตำแหน่งรักษาการต่อไป 

ซึ่งคดีตามคำร้องต้องยุติเพียงคำวินิจฉัยส่วนนี้ คือผู้ร้องได้ร้องให้วินิจฉัยให้นายกฯ และครม.ปัจจุบันพ้นไป ทว่ากลับมีการวินิจฉัยให้ครม.ชุดที่ 1 พ้นจากตำแหน่งอีก เท่ากับวินิจฉัยเกินคำขอ 

ซึ่งไม่มีฐานรองรับทางรัฐธรรมนูญเลย

ยุทธพร อิสรชัย 
คณบดีรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ปัญหาแรกที่นายนิวัฒน์ธำรงต้องเจอคือ อีกฝ่ายจะตีความอำนาจหน้าที่ว่าทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะการทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ว่ากรณีปฏิบัติหน้าที่รักษาการ นายกฯ สามารถทำได้หรือไม่ 

ถ้ายึดตามหลักกฎหมายสามารถทำได้แน่นอน เพราะผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ ก็คือการปฏิบัติหน้าที่ของรักษาการนายกฯ ถ้ารักษาการนายกฯ ทำสิ่งใดได้ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ ก็ทำได้ทั้งหมด 

พูดง่ายๆ คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำอะไรได้ นายนิวัฒน์ธำรง ก็ทำได้หมด หาก น.ส. ยิ่งลักษณ์ มีข้อจำกัดอะไรที่ห้ามกระทำ นายนิวัฒน์ธำรง ก็ต้องมีข้อจำกัดนั้นด้วย สรุปคือมีอำนาจเท่ากัน 

จึงคิดว่าการทำหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการ นายกฯ ของนายนิวัฒน์ธำรงไม่น่ามีปัญหา ทำได้ เหมือนน.ส.ยิ่งลักษณ์ทุกประการ ซึ่งเป็นไปตามหลักความต่อเนื่องการดำเนินงานของฝ่ายบริหารที่จะสะดุดไม่ได้ 

ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่มีเรื่องการรักษาการ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนปัญหาอื่นๆ ไม่น่าจะมีอะไรมากกว่านี้ นายนิวัฒน์ธำรงคงทำหน้าที่ผ่านพ้นไปได้ ซึ่งน่าจะอยู่ในตำแหน่งในระยะสั้นๆ

สาเหตุที่เกิดปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่นั้น มาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดการตีความที่แตกต่างของคนสองกลุ่มที่เห็นต่างกัน ส่วนตัวมองว่าทั้งสองกลุ่มควรนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส 

กปปส.ก็เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ตั้งคณะกรรมการภาคประชาชนขึ้นมา ขณะที่นปช.แม้จะไม่พอใจคำวินิจฉัยนัก แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็อาจกลับมาได้อีก ซึ่งการเลือกตั้งโดยเร็วจะเป็นทางออกของประเทศ ทุกอย่างต้องเข้าสู่ระบบเพื่อไม่ให้บ้านเมืองเสียหายมากไปกว่านี้

อาจมองว่าเป็นความคิดแบบโลกสวย แต่อยากให้ทุกฝ่ายคิดอย่างสร้างสรรค์ พูดคุยกันให้รู้เรื่องเพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง ไม่ใช่ความรุนแรงหรือความแตกหัก 

เพราะนั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ 
คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

การบังคับใช้กฎหมายต้องดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญประกอบด้วย อย่าเป็นศรีธนญชัย หรือเปิดพจนานุกรมหาความหมายกัน 

วิธีเลี่ยงวิกฤตความขัดแย้ง โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยไม่เคยเกิดแง่มุมทางกฎหมายเช่นนี้มาก่อน คือ ต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว ให้มีรัฐบาลของประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ สุญญากาศทางการเมืองก็จะไม่เกิดขึ้น ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในโลกที่มีเจตนารมณ์ให้การเมืองเกิดสุญญากาศ 

นายนิวัฒน์ธำรง ในฐานะรักษาการนายกฯ จึงสามารถทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งได้ ยกตัวอย่างกรณีที่นายกฯ ป่วย ก็ให้รองนายกฯ อาวุโสสูงสุดเข้ามาทำหน้าที่ทูลเกล้าฯ แทนได้ 

หรือในกองทัพ หากไม่มีนายพลก็ให้นายพันสั่งการแทน ถ้าไม่มีอีกก็นายร้อยเรื่อยไปจนถึงพลทหาร ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศ แต่ก็อาจสุ่มเสี่ยงให้มีคนไปฟ้องว่านายกฯ รักษาการไม่มีอำนาจ 

ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจก็ต้องระวังการตีความกฎหมายที่เคร่งครัดในตัวอักษรมากจนเกินไป อย่าลืมว่าสถานการณ์ที่ย่ำแย่ขนาดนี้เพราะคนกลุ่มหนึ่งพยายามคิดและทำให้เกิดสุญญากาศ ซึ่งถือว่าแย่ที่สุดที่เราจะนำไปสอนนักศึกษารัฐศาสตร์

อีกทั้งนายกฯ และรัฐมนตรีที่ยังอยู่ในตำแหน่งรักษาการก็ ไม่สามารถลาออกได้ตามที่ส.ว.สรรหาและพรรคประชาธิปัตย์กดดันว่า ในเมื่อไม่มีนายกฯ แล้ว ครม.ควรรับผิดชอบด้วยการ ลาออกไม่ได้ 

เราจะตีความกฎหมายเคร่งครัดบ้างอ่อนบ้างเพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองไม่ได้ การตีความแบบนี้มันวิปริต เข้าข้างตัวเองตามอำเภอใจมากเกินไป 

ขอย้ำว่าถ้าเมื่อใดตัวบทกฎหมายไปไม่ได้ ต้องกลับไปดูที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งนับตั้งแต่ฉบับแรกปี 2475 ก็ระบุชัดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคน ถามว่าวุฒิสภามีอำนาจตามกฎหมายใดมาเสนอนายกฯ

สิ่งสำคัญในโลกปัจจุบันคือการเลือกตั้ง แล้วประเทศไทยอยู่ส่วนไหนของโลกจึงจะไม่เลือกตั้ง ทุกอำนาจต้องได้รับการยินยอมจากประชาชน เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ เป็นฉันทานุมัติให้ผู้ที่จะเข้าไปใช้อำนาจ 

หลายคนอาจมองว่า การเลือกตั้ง 3,800 ล้านเป็นต้นทุนที่สูงเกินไป แต่ถ้าเราเอาไปหารผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 49 ล้านคน ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 77 บาทต่อคน 

คุ้มค่ามากกว่าที่เราต้องจ่ายไปในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาหรือไม่... 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!