รธน.ชั่วคราว 'เปลือกหอย'แกร่ง 'กลไก'กัน'เสียของ'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 27 July 2014 21:11
- Published: Sunday, 27 July 2014 21:11
- Hits: 3570
รธน.ชั่วคราว 'เปลือกหอย'แกร่ง 'กลไก'กัน'เสียของ'
มติชนออนไลน์ : วิเคราะห์
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 นอกจากทำหน้าที่เป็นกฎหมายสูงสุด ก่อนมีรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่แล้ว
ยังเป็นลายแทงบ่งบอกถึงการเมืองไทยในอนาคตตามแนวคิดของ คสช. ด้วย
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หรือที่เรียกกันในอดีตว่า ธรรมนูญการปกครอง ฉบับนี้ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ยาวที่สุด เท่าที่เคยมีมา โดยมีถึง 48 มาตรา
เป็น 48 มาตราเพื่อรองรับเนื้อหาสาระที่มากขึ้น
ที่ผ่านมา ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว จะทำหน้าที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับย่อๆ
กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สภาที่จะมาทำหน้าที่รัฐสภา อำนาจหน้าที่ของรัฐบาล และ "อำนาจพิเศษ" ของนายกรัฐมนตรี พอสังเขป
พอให้รัฐบาลชั่วคราวทำหน้าที่ได้ระหว่างรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ไม่ธรรมดา และมีข้อกำหนดพิเศษหลายข้อ
ตั้งแต่การรับรอง และกำหนดอำนาจหน้าที่ของ คสช.หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
นายกฯมาจากมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ คสช.สามารถเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติปลดออกได้
รัฐธรรมนูญนี้ไม่ห้ามข้าราชการประจำมีตำแหน่งการเมือง และก็อย่างที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ตอบคำถามนักข่าวเมื่อ
วันที่ 22 ก.ค.ว่า รัฐธรรมนูญไม่ห้ามหัวหน้า คสช.ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
รวมถึงให้อำนาจพิเศษแก่หัวหน้า คสช.ในมาตรา 44
มาตรานี้เอง ที่ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามต่อทีมกุนซือ คสช. ที่ตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงรัฐธรรมนูญว่า เหมือนมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองชั่วคราว สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือไม่
และได้รับคำตอบว่า ไม่แรงเท่า และ คสช.คงจะใช้ในลักษณะสร้างสรรค์ ป้องกันวิกฤตต่างๆ รวมถึงป้องกันการปฏิวัติซ้อน
ข้อแตกต่างได้แก่ มาตรา 17 กำหนดให้ "นายกฯ" เป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดนี้
แต่มาตรา 44 ให้หัวหน้า คสช.เป็นผู้ใช้อำนาจเด็ดขาดนี้ ทำให้สถานะของหัวหน้า คสช.แตกต่างจากนายกฯทันที
ทั้งหมดนี้ คือการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว วางพื้นฐานอำนาจให้ คสช.เป็นเปลือกหอยที่แข็งแกร่ง ประคองรัฐบาล
ก่อนจะส่งไม้ให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำหน้าที่รองรับสนับ
สนุนแผนงานทางการเมืองในระยะยาวต่อไป
ฉากของการเมืองระยะยาว จะกำหนดโดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะต้องยกร่างโดยกรรมาธิการวิสามัญ 36 คน
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีความหล่อเหลาสวยงามอย่างไร สามารถเห็นล่วงหน้าได้ จากมาตรา 35 ที่กำหนดว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญถาวร คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุม 10 ประเด็น
8 ใน 10 ประเด็น เน้นไปที่การจัดตั้ง "กลไกที่มีประสิทธิภาพ"
อาทิ กลไกป้องกัน ขจัด และตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐและเอกชน และกลไกควบคุมการใช้อำนาจรัฐ กลไกที่จะห้ามผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าทุจริตประพฤติมิชอบ หรือเคยโกงเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด
กลไกให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง ทำหน้าที่ได้โดยอิสระ ไม่ถูกชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคล
กลไกสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนและทุกระดับ
กลไกป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
กลไกกำหนดการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า
กลไกป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้
และกลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่างๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป
ในวรรคสุดท้าย ยังให้ทบทวนความจำเป็นและความคุ้มค่าที่จะต้องมีองค์กรอิสระหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
น่าสนใจว่า "กลไกที่มีประสิทธิภาพ" ในทางปฏิบัติคืออะไร
"กลไก"เหล่านี้จะทำหน้าที่ควบคุมการเมืองให้ปลอดจากการทุจริต จากการใช้นโยบายประชานิยม และไม่ให้ทำลายหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ฟังดูเป็นหลักการที่ดี
แต่ในทางปฏิบัติ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่มการเมืองใด หรือเพื่อสกัดกลุ่มการเมืองใดหรือไม่ จะก่อกำแพงป้องกันไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ใช่หรือไม่
ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่สิ้นสภาพไป ก็มีการใช้ "กลไก" ที่ควบคุมการเมืองอย่างได้ผล คือ "องค์กรอิสระ" และ "องค์กรตามรัฐธรรมนูญ" โดยอ้างว่า เป็นการ "ตรวจสอบ"
แต่กลไกเหล่านี้ก็มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตและนำไปสู่ "ทางตัน" ของการเมืองในที่สุด
คำถาม คือ แนวคิดทำนองเดียวกันใน 2550 จะคืนชีพใหม่อย่างเข้มข้นแข็งแรงกว่าเดิมในรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่
หรือไม่
ข้อกำหนดในมาตรา 35 จึงเป็นครั้งแรก ที่มีการออกใบสั่งล่วงหน้าว่า รัฐธรรมนูญที่จะยกร่างขึ้นต้องอยู่ในแนวทางนี้
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน จะมาจากความเห็นชอบของ คสช. คงไม่มีปัญหาที่จะยกร่างให้ครอบคลุมตามมาตรา 35
แต่ถ้าเกิดผิดคิว ไม่เป็นไปตามมาตรา 35 ขึ้นมา คงได้เห็น ธรรมนูญถาวร ขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวกันบ้าง
การยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวอย่างละเอียดเที่ยวนี้ ได้รับคำอธิบายว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเปล่าหรือเสียของ เหมือนอดีตที่ผ่านมา คือรัฐประหาร 2549
แต่ต้องยอมรับเหมือนกันว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐประหาร 2549 เสียของ ก็เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 และองค์กร-กลไกต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ
ความพยายามกำหนดทิศทางของรัฐธรรมนูญ วางกรอบทางการเมืองในครั้งนี้ ก็คือความพยายามที่ไม่ต่างจากปี 2549
ปัจจัยหนึ่งของความสูญเปล่า-เสียของ ในปี 2549 มาจากการไม่ให้ความสำคัญกับ "เสียงข้างมาก" และใช้อำนาจพิเศษ ในนามของ "การตรวจสอบ" จนเกินเลย
ยังมีเวลาอีกพอสมควร ก่อนจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คสช.จะสร้างกลไกป้องกันการ "เสียของ" การ "สูญเปล่า" อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง...