แกะรอยคดีข้าว-เชือดยิ่งลักษณ์
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Tuesday, 22 July 2014 10:49
- Published: Tuesday, 22 July 2014 10:49
- Hits: 3501
22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:09 น. ข่าวสดออนไลน์
แกะรอยคดีข้าว-เชือดยิ่งลักษณ์
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานกระทำผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
เป็นการลงมติวันเดียวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุญาตน.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปยุโรปพร้อมกับด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย ระหว่างวันที่ 20 ก.ค. - 10 ส.ค. ตามที่ร้องขอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.
ด้วยเหตุผลที่ผ่านมา อดีตนายกฯ หญิงร่วมมือกับ คสช.เป็นอย่างดี เพียงแต่เมื่อไปถึงประเทศใดขอให้รายงานตัวต่อสถานทูตประเทศนั้นๆ
แต่แล้วช่วงบ่ายของวันนั้น ป.ป.ช.ตั้งโต๊ะแถลง ประกาศมีมติ 7 ต่อ 0 เชือดอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ทำให้เกิดการทุจริตโครงการระบายข้าวและการรับจำนำข้าว ส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินการสั่งฟ้องคดีต่อศาล
นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกป.ป.ช. แถลงว่าไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ คสช.ระงับการเดินทางออกนอกประเทศของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจยับยั้ง แต่เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดที่จะพิจารณา เนื่องจากเป็นคดีอาญา
พร้อมกับสอดแทรกความเห็นแนบท้ายว่า แม้มติที่ออกมาจะไม่เกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และไม่ขอก้าวล่วงการพิจารณาของอัยการ แต่ส่วนตัวอยากให้อัยการสั่งฟ้องคดีนี้
ก่อนเสนอแผนระยะยาวเป็นชุด
"อนาคตอยากให้เขียนกฎหมายห้ามบุคคลที่อยู่ระหว่างการไต่สวนหรือสอบสวนคดีทุจริต เดินทางไปต่างประเทศเพื่อป้องกันการหนีคดี ขณะที่หน่วยงานในระบบยุติธรรมควรเชื่อมโยงเรื่องดังกล่าว โดยแจ้งไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองให้ร่วมตรวจสอบด้วย"
ยุทธศาสตร์ถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณเปิดเกมเร็ว จนคอการเมืองในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กตามอ่านตามแชร์กันแทบไม่ทัน
ในส่วนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ รุ่งขึ้นเปิดแถลงตอบโต้ป.ป.ช.ทันที
ระบุว่าการไปต่างประเทศครั้งนี้เป็นการเดินทางส่วนตัว มีกำหนดการไปกลับชัดเจน เตรียมการล่วงหน้าก่อนที่ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดอย่างเร่งด่วนผิดปกติ ยืนยันเดินทางกลับประเทศไทยตามกำหนด ไม่หนีคดีแน่นอน
อดีตนายกฯ หญิงตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการยุติธรรมว่า เป็นไปตามหลักนิติธรรมสากลหรือไม่ เนื่องจากการพิจารณาเร่งรีบ รวบรัด ใช้เวลาแจ้ง ข้อกล่าวหาเพียง 21 วัน จากนั้นชี้มูลความผิดอาญาด้วยเวลา 140 วัน ซึ่งที่ผ่านมาป.ป.ช.ไม่เคยปฏิบัติลักษณะนี้กับคดีอื่นๆ เช่น คดีโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งป.ป.ช.ใช้เวลาดำเนินการยาวกว่า 4 ปีแล้ว
อีกทั้งเห็นว่า คดีนี้มีพฤติการณ์รวบรัดเป็นกรณีพิเศษในการเลือกรับฟังพยาน ตัดสิทธิการเสนอพยานบุคคลของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ไม่รอผลการพิสูจน์เรื่องสต๊อกข้าวให้เสร็จสิ้น รวมถึงไม่ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการลงบันทึกบัญชีที่วันนี้ยังมีข้อขัดแย้งของอนุกรรมการปิดบัญชี
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันด้วยว่า การระบายข้าวนั้น ไม่เกี่ยวกับตนเอง ซึ่งไม่มีโอกาสหักล้างประเด็นนี้เลย แต่ป.ป.ช.กลับนำเข้ามาชี้มูลด้วย ที่ผ่านมาเคยขอให้สอบพยานเพิ่มแต่ได้รับการปฏิเสธ จึงเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา
สําหรับ โครงการจำนำข้าวภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในช่วง 2 ปีกว่า 3 ฤดูกาลผลิต ตามรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว พบว่ามีผลขาดทุนสูงขึ้นกว่าเท่าตัว หรือขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาท
โดยระหว่างทางของโครงการเกิดปัญหาทุจริตแทบทุกขั้นตอน ก่อให้เกิดภาระรายจ่ายกับรัฐบาลที่สูงขึ้น ตั้งแต่การสีแปรสภาพ การขนส่ง การเก็บรักษาข้าว ข้าวเสื่อมสภาพ ขายข้าวขาดทุน ข้าวสูญหาย ลุกลามจนถึงขั้นไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาได้กว่า 130,000 ล้านบาท
จากนั้นมีการร้องให้ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง เริ่มจาก 5 มิ.ย. 2556 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส. ประชาธิปัตย์ขณะนั้น ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นประธาน
28 ม.ค. 2557 ป.ป.ช.ตั้งกรรมการไต่สวนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา วันที่ 18 ก.พ.
ระหว่างนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหา โพสต์เฟซบุ๊กถามหาความยุติธรรม รวม ถึงส่งทนายความมารับทราบข้อกล่าวหาแทนในวันที่ 27 ก.พ.
กระทั่ง 31 มี.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางเข้าชี้แจงต่อป.ป.ช.ด้วยตัวเอง โต้แย้งข้อกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และไม่ระงับยับยั้งโครงการ พร้อมขอเบิกพยาน 11 ปาก แต่ป.ป.ช.อนุญาตให้เพียง 3-4 ปาก
ต่อมาพยานที่เป็นบุคคลสำคัญทยอยให้ปากคำต่อป.ป.ช. เริ่มจาก 9 เม.ย. นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ วันที่ 10 เม.ย. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ซึ่งยืนยันว่านายกฯ ไม่ได้ละเลยปล่อยให้เกิดการทุจริตรับจำนำข้าว
17 เม.ย. พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง อดีตรักษาการเลขาธิการนายกฯ วันที่ 18 เม.ย. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และรมว.คลัง ซึ่งยืนยันว่าควบคุมทุกขั้นตอนในโครงการอย่างเข้มงวด
และ 26 เม.ย. นายนิวัฒน์ธำรงชี้แจงป.ป.ช.อีกครั้งว่า ข้าว 2.9 ล้านตันไม่ได้หาย การระบายข้าวใช้หลักการเดียวกับรัฐบาลก่อน
วันที่ 8 พ.ค. ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 และเป็น การส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดกฎหมาย ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวโดยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270
ซึ่งได้แยกสำนวนการถอดถอนส่งไปยังวุฒิสภา หากมีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์จะถูกเว้นวรรค 5 ปี ส่วนคดีอาญานั้นที่ประชุมมีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปจนกว่าจะสิ้นกระแสความ
กระทั่ง 17 ก.ค. ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามมาตรา 157 ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
ล่าสุด นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ประกาศแล้วว่า จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลคดีนี้เป็นการเฉพาะ เพราะเป็นคดีใหญ่ และซับซ้อน
เป็นความเคลื่อนไหวอันรวดเร็วของกระบวนการยุติธรรม พอเหมาะพอเจาะก่อนอดีตนายกฯหญิงจะเดินทางออกนอกประเทศ...
วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 20:01 น. ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 21 ก.ค. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้สัมภาษณ์ข่าวสดว่า หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ใช้เวลาทำสิ่งที่ไม่มีโอกาสได้ทำในขณะที่รับใช้บ้านเมืองในหน้าที่รัฐมนตรีในรัฐบาลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีโอกาสให้คำปรึกษาแก่ลูกชายที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ในแง่คิดด้านต่างๆ มีโอกาสพาครอบครัวไปกราบบรรพบุรุษที่จังหวัดระนอง มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนญาติมิตรที่มีความปราถนาดีต่อส่วนรวม และต่อกันและกัน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการบ้านการเมืองเพื่อไม่ให้ต้องเป็นที่ไม่สบายใจของใครต่อใคร ดีใจกับชาวนาที่ได้รับชำระเงินค่าจำนำข้าวด้วยวิธีการระดมเงินจากสถาบันการเงินตามแนวทางเดียวกับที่ผมเคยพยายามทำ แต่ทำไม่สำเร็จด้วยเหตุผลที่ผู้คนทั่วไปก็ทราบดีกันอยู่ ผมติดตามข่าวสารบ้านเมืองด้วยจิตอันเป็นกุศลหวังเห็นบ้านเมืองมีความสงบสุขปรองดอง อย่างไรก็ตาม สามสี่วันที่ผ่านมาก็รู้สึกทุกข์ใจ เมื่อเรื่องราวอันเป็นกระบวนการของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผมทำงานอยู่ด้วย และเคยทำหน้าที่ในระดับนโยบายทั้งโดยตรง และโดยอ้อมมาโดยตลอด จบลง เพราะผมหมดหน้าที่พร้อมกับ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากเหตุ รับทราบการโยกย้ายข้าราชการท่านหนึ่ง เมื่อเกือบสามปีก่อน ความทุกข์ที่ว่าเกิดเมื่อเห็นการลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้กล่าวโทษทางอาญา ต่อ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แต่เพียงผู้เดียว) ทั้งๆ ที่ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายจำนำข้าว ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อเข้ารับหน้าที่ โดยกระบวนการพิจารณา ของ ป.ป.ช. ที่กำลังถูกสังคมตั้งคำถามว่า มีการดำเนินการรวบรัดเร่งรีบ อย่างไม่เป็นปกติหรือไม่ ความบกพร่องใดๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นก็ถูกเหมารวมเป็นความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแต่เพียงผู้เดียวไปเสียทั้งหมด พยานที่ผู้ถูกกล่าวหาเสนอไป ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นคนดีมีความเป็นธรรมตามสมควร ก็ไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด ความทุกข์ที่ต่อเนื่องตามมาด้วยการอ่านความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก ตามระบบ "วาทกรรม" อันเป็นงานถนัดของอดีตนักการเมืองคนหนึ่ง ในลักษณะฉายหนังบิดเบือนซ้ำซาก ที่สื่อมวลชนบางฉบับนำมาถ่ายทอด ทำให้ผมได้สติว่า การที่ผมจะอยากเห็นส่วนรวมมีความสงบสุขก็ไม่ได้แปลว่าผมมีหน้าที่หยุดคิด หยุดพูด ผมขอยืนยันว่าการดูแลชาวนาผู้ปลูกข้าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และรัฐบาลต่างๆในอดีตก็ดำเนินการมาตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปีทั้งด้วยวิธีการรับจำนำ และวิธีการอื่นๆ ทุกวิธีมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน บางวิธีที่ดูคล้ายกับไม่มีการทุจริต ไม่ต้องรับข้าวเข้าคลังสินค้า ไม่ต้องใช้เงินหมุนเวียน ไม่ต้องรับซื้อ ไม่ต้องขายออก ให้เห็นยอดขาดทุน เช่นโครงการประกันราคาข้าว กลับเป็นโครงการที่มีโอกาสทุจริตสูงเพราะไม่มีข้าวให้ตรวจสอบ เพียงแต่สามารถลงทะเบียนว่าปลูกข้าว ทั้งๆ ที่มีพื้นที่จำนวนมากไม่ได้ปลูกข้าวจริง ก็มารับเงินชดเชยส่วนต่างราคาได้ คนที่ทุจริตกลุ่มนี้จะยิ่งพอใจเมื่อราคาข้าวในตลาดยิ่งต่ำ เพราะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาตลาด กับราคาประกันมากขึ้น จนเคยมีกรณีร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. มาก่อน การร้องเรียนเรื่องโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ฯพณฯยิ่งลักษณ์ เสียอีก โครงการรับจำนำข้าวก็เป็นโครงการที่มุ่งดูแลชาวนา ซึ่งข้อดีก็มีมากอย่างต่อเนื่องทั้งการลดช่องว่างระหว่างคนรวย กับชาวนาในชนบท จนช่วยลดความกดดันทางสังคม ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้จากภาษีประเภทต่างๆ ให้แก่ประเทศ แต่ก็ต้องทำงานหนัก ทำงานให้สุจริต เพราะหากมีการทุจริตก็จะปรากฎเป็นหลักฐานให้ดำเนินการเอาผิดกับบุคคลที่กระทำผิดเป็นการเฉพาะแต่ละเรื่อง แต่ละเวลาได้ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการเอาผิดต่อบุคคลที่ทุจริตอย่างจริงจัง แต่ที่น่าสนใจคือ ป.ป.ช.ยังไม่พบและพิสูจน์การกระทำผิด และระบุผู้กระทำผิดตามกระบวนการของ ป.ป.ช. ในแต่ละเรื่องดังกล่าวเลย ความทุกข์ยังคงเพิ่มขึ้น ชนิดวันต่อวัน เมื่ออ่านข้อเขียนของคนมีปากกาในคอลัมน์หนึ่งของหนังสือพิมพ์ขายดีฉบับหนึ่ง ที่เขียนให้เข้าใจว่า มีพยานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา คือ ฯพณฯยิ่งลักษณ์ คนหนึ่งให้การ เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี โดยระบุ เป็นถ้อยคำให้การต่อ ป.ป.ช.ในเครื่องหมายคำพูดว่า "แนวทางในโครงการรับจำนำข้าว ผมไม่ได้คิดเอง แต่นายกฯใส่แฟ้มมาให้ ผมก็ดำเนินการตามนั้น ทำอะไรนายกฯก็รับรู้หมด... หลายเรื่องผมไม่เห็นด้วย ผมก็จะสั่งให้เขียนเป็นหมายเหตุเอาไว้ท้ายบันทึกการประชุม แต่ก็ไม่มีใครดำเนินการตาม" ผมมั่นใจว่า ไม่มีพยานที่ให้การกับ ป.ป.ช. ในถ้อยคำดังกล่าว หรือแม้แต่จะมีความหมายใกล้เคียงกับถ้อยคำดังกล่าว เพราะถ้อยคำดังกล่าวไปเป็นความจริงให้พยานคนใดไปกล่าวเช่นนั้นได้ ในขณะเดียวกันไม่มี ท้ายบันทึกการประชุมอะไร ไม่ว่าของ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) หรือของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะไปถูกบันทึกโดยพยานคนใด ให้ใคร ไม่ปฏิบัติตาม เอาล่ะครับหากมีพยานคนใดให้การในลักษณะ หรือความหมายดังกล่าวผมขอเรียกร้องให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีกับพยานคนนั้นๆ ในข้อหาให้การเท็จ เพราะบันทึกคำให้การทั้งเป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นเสียงข้องผู้ให้การย่อมถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามหากไม่มีการให้การในลักษณะดังกล่าว ป.ป.ช.ก็ควรกล่าวโทษกับคนมีปากกาของหนังสือพิมพ์ขายดีฉบับนั้น ไม่ให้เป็นความเสื่อมเสียแก่ ป.ป.ช. และยังช่วยผดุงรักษาสื่อมวลชนโดยรวมให้มีคุณภาพด้วย |