WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เกมลึก-แก้ร่าง รธน. พลิกหลายตลบ ฉายรอยร้าวภายใน

1เกมลก

 

เกมลึก-แก้ร่าง รธน. พลิกหลายตลบ ฉายรอยร้าวภายใน

            หลังจากคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เสนอปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไปเมื่อไม่นานนี้ ปฏิกิริยาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ก็สะท้อนอาการแปลกๆ ออกมา

                เป็นอาการในทำนอง ฟ้องให้สาธารณชนเห็นว่า ข้อเสนอของ ครม.นั้นเป็นฉันใด

                เพราะข้อเสนอที่ ครม.เสนอมามีนัยยะทางอำนาจการบริหารอธิปไตย โดยเฉพาะอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี

                และอาจจะรวมไปถึงองค์กรตรวจสอบอย่างศาลรัฐธรรมนูญด้วย

                โดยที่ข้อเสนอในการปรับแก้ดังกล่าวเบี่ยงเบนอำนาจที่ กรธ.คิดไว้เดิมให้กลับคืนไปสู่อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งถูกตีความในระยะใกล้เคียงนั้นว่า

                เป็นการสืบทอดอำนาจ

                สืบทอดอำนาจต่อไปอีก 5 ปี

                ปฏิกิริยาของนายมีชัย และ กรธ.ที่แสดงออกเช่นนั้น ปลุกให้สื่อมวลชนเบนไมค์ไปสอบถามความเห็นจาก คสช.

                ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

                กลายเป็นเป้าหมายในการหาคำตอบ

                และแทบจะในทันทีที่มีคำถาม พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ก็ประสานเสียผลักดันในข้อเสนอ

                สนับสนุน ส.ว.สรรหา และสนับสนุนให้มีบทเฉพาะกาลก่อนใช้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นเวลา 5 ปี

                แม้นายมีชัยจะขอ ลายลักษณ์อักษรจากผู้เสนอความเห็นก็ไม่ใช่อุปสรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะหลังจากนั้น คสช.ก็ส่ง ข้อเสนอกลับไปให้

                เป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นหลังจากแม่น้ำ 4 สายประชุมหารือกัน

                สรุปว่า ควรเลือกตั้ง ส.ส. 2 แบบ คือ ระบบเขตและบัญชีรายชื่อ โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

                สรุปว่า ส.ส.เขตควรกำหนดเขตใหญ่ 3 คน แต่ให้ประชาชนเลือกผู้สมัครในเขตนั้นเพียงคนเดียว แล้วนำคะแนนมากสุดมาเรียงลำดับที่ 1-3

                สรุปอีกว่า ส.ว.มี 250 คน และใช้วิธีสรรหาหรือแต่งตั้ง

                ในจำนวน ส.ว.ทั้งหมด ควรมีปลัดกลาโหม ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. รวม 6 คนเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง

                มีอำนาจหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้

                สุดท้ายคือ ไม่ต้องการให้เปิดเผยชื่อนายกรัฐมนตรีให้ทราบก่อน

                ทุกอย่างควรบรรจุอยู่ในบทเฉพาะกาล ระยะ 5 ปี

                หลังจากนายมีชัยรับข้อเสนอของ คสช.แล้วได้นำเข้าสู่ที่ประชุม กรธ. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม และต่อเนื่องไปถึงวันที่ 22 มีนาคม

                ที่ประชุมมีมติปรับเปลี่ยนข้อเสนอของ คสช.

                มีจุดใหญ่คือ แบ่งที่มาของ ส.ว. 250 คน ออกเป็น 2 แบบ

                แบบหนึ่ง 200 คนให้มาจากการสรรหา อีกแบบหนึ่ง 50 คนได้มาด้วยการเลือกจากกลุ่มอาชีพตามวิธีการเดิมของ กรธ.

                ไม่ระบุให้ปลัดกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ รวม 6 เก้าอี้เป็น ส.ว.

                ส่วนอำนาจหน้าที่วุฒิสภาก็ไม่ให้อภิปรายไม่ไว้วางใจ

                จากจุดใหญ่ที่ กรธ.สรุปก่อนเดินทางไปร่างรัฐธรรมนูญที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีในวันที่ 29 มีนาคม ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากแม่น้ำ 4 สายที่เหลือ

                มีรายงานข่าวระบุว่า กรณีดังกล่าว คสช.ไม่พอใจ เพราะหากปล่อยให้ ส.ว.ปรับเปลี่ยนไปตาม กรธ.กำหนด เป้าหมายเดิมที่ คสช.จะดูแลประเทศต่อไปอีก 5 ปีก็มีอุปสรรค

                ทั้งนี้เพราะเมื่อไอเดียตั้งองค์กรอย่างเช่น คปป. ในรัฐธรรมนูญตามร่างที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เสนอไม่อาจใช้ได้

                คสช.จึงหวังว่า ส.ว.จะเป็นองค์กรที่ช่วยทำหน้าที่เช่นนั้นในยามวิกฤต

                แต่เมื่อ ที่มาและ สัดส่วนของ ส.ว. รวมถึง อำนาจหน้าที่ถูกเปลี่ยนแปลง

                ความมั่นใจของ คสช.จึงสั่นสะเทือน

                ในห้วงเวลานี้จึงฉายภาพรอยร้าวระหว่าง คสช. กับ กรธ. ขึ้นมาให้เห็น

                นอกจากนี้ยังเห็นปฏิกิริยาของแม่น้ำสายที่เหลือ

                โดยเฉพาะปฏิกิริยาจาก นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่ออกมาจี้ กรธ.ให้ทบทวนการเปลี่ยนแปลงข้อเสนอ คสช.

                คล้ายกับว่าแม่น้ำ 4 สายมีจุดยืนเคียงข้าง คสช.

                เหลือเพียง กรธ.มีจุดยืนเช่นไร?

                อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเพียง 1 วัน ทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย เมื่อนายมีชัยและ กรธ.ส่งสัญญาณถอย

                กรธ.ออกมาแถลงอีกครั้งว่า การสรรหา ส.ว. 250 คนนั้นให้กำหนดโควต้า ปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ รวม 6 เก้าอี้ล็อกไว้ที่ คสช.เสนอ

                ส่วนการสรรหา ส.ว. ทั้ง 250 คน แม้ 200 คนจะมาจากการแต่งตั้ง อีก 50 คนมาจากการเลือกจากกลุ่มอาชีพ

                แต่ทั้ง 250 คนต้องผ่านการกลั่นกรองของ คสช.ในรอบสุดท้าย

                กล่าวคือ ส.ว.จำนวน 50 คนที่มาจากกลุ่มอาชีพนั้น ให้เลือกมา 200 คน แล้วส่ง คสช.คัดเหลือ 50 คน

                เท่ากับว่า คสช.กินรวบ !

                ขณะที่อำนาจของ ส.ว.นั้น ได้กำหนดไว้ว่า ในยามวิกฤตสามารถร่วมโหวตกับ ส.ส. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้

                ในกรณีวิกฤตนี้ รัฐสภาต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

                และนายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.

                ประเด็นดังกล่าวจึงปลุกให้คนคาดการณ์ไปล่วงหน้าว่า เป็นการเปิดทางให้ คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี

                ผลการประชุมของ กรธ.ครั้งนี้ สอดคล้องกับปฏิกิริยาของนายพรเพชร และ พล.อ.ประวิตร ในวันเดียวกันนั้น

                เป็นปฏิกิริยาจากการจี้ทบทวน เป็นการ ไฟเขียวให้ กรธ.ตัดสินใจ

                แล้วผลการตัดสินใจก็ออกมาตรงใจ คสช.

                ผลจากการตัดสินใจของ กรธ.ครั้งนี้ ตอกย้ำให้สังคมมองเห็นเจตนาของ คสช.ที่ต้องการ สืบทอดอำนาจ

                สืบทอดอำนาจต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปีเพื่อการปฏิรูป

                ขณะเดียวกันก็มองเห็นรอยร้าวภายในแม่น้ำ 5 สาย โดยเฉพาะรอยร้าวของ กรธ.กับแม่น้ำอีก 4 สาย

                เป็นรอยร้าวที่มองเห็นความแตกต่างทางความคิดระหว่าง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย กับบทเฉพาะกาลที่ คสช.เสนอ

                เป็นรอยร้าวที่พัวพันกับอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน และการตรวจสอบการบริหาร

                เป็นรอยร้าวของ คนกันเอง

                และถือเป็นรอยร้าวที่เพิ่มขึ้น เพราะลำพังร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ก็สร้างความแคลงใจกับฝ่ายการเมืองมาเยอะแยะ

                ทั้งบทเฉพาะกาล และร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการก่อเกิดปัญหาเชิงสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแจ่มแจ้ง

                การก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพประชาชน ย่อมสร้างรอยร้าวกับประชาชนในอนาคต

                ขณะเดียวกันก็สร้างรอยปริแยกจากโลกขั้วประชาธิปไตย

                ล่าสุด สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) ออกแถลงการณ์

                แนะนำ กรธ.ให้ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ 11 ประเด็น

                โดยเฉพาะการคงอำนาจ ม.44 ไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่นั้น โอเอชซีเอชอาร์แนะนำให้ตัดทิ้ง

                ความเคลื่อนไหวนี้ เท่ากับยูเอ็นประกาศตัวมาเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญไทยอย่างแจ่มแจ้ง

                ดังนั้นประเมินสถานการณ์ พบว่า จากการร่างรัฐธรรมนูญล่าสุด แม่น้ำ 5 สาย มีปัญหากับฝ่ายการเมืองในประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ที่จับจ้องมองนั้น ก็ยังอยู่

                การนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไปทำประชามติ จึงเป็นปัญหาต่อไปของคสช. จะทำให้ประชามติผ่านพ้นไปได้อย่างไร

                คำถามนี้เริ่มดังขึ้นด้วยความห่วงใย ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นสากล อาจะกรทบต่อการบริหารงานของคสช.

                รวมทั้งขั้นตอนการ 'ลงจากหลังเสือ'ที่ตระเตรียมไว้ก็อาจไม่ได้ใช้ เพาะวันเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์ ให้เห็นว่า ทางลงเริ่มแคบ และยากลำบากมากขึ้้นเรื่่อยๆ

ที่มา                 มติชนรายวัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!