WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ทบทวน พิมพ์เขียว บันได 4 ขั้น ′คมช.′ ผ่านผล ′เลือกตั้ง′

ทบทวน พิมพ์เขียว บันได 4 ขั้น ′คมช.′ ผ่านผล ′เลือกตั้ง′

(ที่มา:มติชนรายวัน 11 ก.ค.57)

 

 



ถามว่าตอนที่ "คมช." ร่างแผนบันได 4 ขั้นนั้น และในแต่ละ "ขั้น"บันได คมช.กำหนดรายละเอียดของแผนเอาไว้อย่างไร

ความเป็นจริงในทางการเมืองได้ให้"คำตอบ" ในระดับ 1

นั่นก็คือ ระหว่างแผนบันไดขั้น 1 ถึงแผนบันไดขั้น 3 คมช.จะเป็นผู้ลงมือกระทำด้วยกำลังและอำนาจที่มีอยู่

อันเท่ากับเปิดทางสะดวกให้กับแผนบันไดขั้น 4

นั่นเห็นได้จากการจัดตั้ง "คตส."เพื่อเล่นงานนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม นั่นเห็นได้จากการยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหาร 111 คน

นั่นเห็นได้จากการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

อันไม่เพียงแต่เป็นฐานที่มาของกระบวนการ "การเลือกตั้ง" หากยังเป็นฐานที่มาแห่ง"กกต." เป็นฐานที่มาแห่ง "ป.ป.ช." และเป็นฐานที่มาแห่ง "ศาลรัฐธรรมนูญ"

ทุกอย่างล้วนสนองให้กับ "บันไดขั้น 4"

จะว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหาร "เสียของ" ก็ว่าไม่ได้เต็มปากเต็มคำนักเพราะที่ล้มเหลวนั้นเสมอเป็นเพียง "บันไดขั้น 4" เท่านั้น

กลไกอื่น "เวิร์ก" กลไกอื่น "ราบรื่น"


บันไดขั้น 4 ของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อันกำหนดโดย "คมช." นั้น คือ บันไดแห่งการเลือกตั้ง

โดยตั้งความหวัง 1 ไว้กับ พรรคประชาธิปัตย์

โดยตั้งความหวัง 1 ไว้กับแนวร่วมทางการเมืองอันเนื่องแต่สภาวะแพแตก กระจัดกระจายของพรรคไทยรักไทย

สัมผัสได้ในเบื้องต้นจาก พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย

เป้าหมายของ คมช. ก็คือ จะรวบรวมเอา 2 ส่วนนี้ผนึกรวมกับ พรรคชาติไทย พรรครวมใจไทย

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ออกมาทุกอย่างก็พังครืน

แม้พรรคพลังประชาชนจะได้ไม่ถึงครึ่ง กล่าวคือได้ 248 เสียง แต่จำนวนนี้ก็มากและเป็นพลังอันมหาศาลดูดดึงพรรคชาติไทยเข้ามา

เมื่อบันไดขั้น 4 หัก กลไก "อื่น" อันวางไว้ก็ยังเดินหน้า

1 คือกลไกเดิมอันได้แก่การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ไต่กระแสความรุนแรงถึงขั้นยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินดอนเมือง ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะเดียวกัน 1 กลไก "องค์กรอิสระ" ก็เดินหน้ายุบพรรคพลังประชาชน ส่งผลให้เกิดการแตกและแยกตัวอันกลายมาเป็นพรรคภูมิใจไทยในกาลต่อมา

บันไดขั้น 4 จึงสำเร็จในเดือนธันวาคม 2551


แม้โดยพิมพ์เขียวอันเรียกว่าบันได 4 ขั้นของคมช.ทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถเป็นรัฐบาลได้ตามเป้าหมาย

แต่ "สภาพ" ก็มิได้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น

อย่างน้อยก็เกิดการเคลื่อนไหวต้านขึ้น 2 ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรก ในเดือนเมษายน 2552 ครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

ส่งผลให้มีคนตายร่วม 100 ศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

ขณะเดียวกัน ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมวิธีการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็ตัดสินใจยุบสภาด้วยความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถได้ชัยชนะ

ล้างอายจากที่เคยพ่ายแพ้เมื่อเดือนธันวาคม 2550

แต่แล้วผลการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคประชาธิปัตย์ก็พ่ายแพ้อีก

เป็นการพ่ายแพ้ต่อพรรคเพื่อไทย เป็นการพ่ายแพ้ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรเช่นนี้เอง กลไก "อื่น" อันจัดวางเอาไว้ตั้งแต่รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 จึงต้องขับเคลื่อนอีกครั้ง

กระทั่งเป็นรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ในที่สุด


ผ่านบทเรียนจากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ผ่านบทเรียนจากรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ถามว่ากระบวนการรัฐประหารยังคิดจะใช้บริการ "เจ้าเก่า" ตามที่กำหนดไว้ในแผนบันไดขั้น 4 อยู่อีกหรือไม่ เพราะประสบการณ์ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง 2 หนมีความเด่นชัดยิ่ง

ว่ากลไกนี้ "เสื่อม" ว่ากลไกนี้ "ไร้" ประสิทธิภาพ  

ภารกิจ ปฏิรูป ข้อเสนอ คนดี เสียงค้าน คนดี

(ที่มา:มติชนรายวัน 10 ก.ค.57)

 

 



คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศเอาไว้อย่างชัดเจนว่าภารกิจที่เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งในการเข้ายึดอำนาจการปกครอง ก็เพื่อ "ปฏิรูป" ยกเครื่องประเทศ ให้เกิดความโปร่งใส สุจริต และมีประสิทธิภาพ

หนึ่งในจำนวนนี้ก็คือการปฏิรูปการเมือง

ที่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสรุปและนำเสนอข้อเท็จจริง-ความเห็นประกอบขึ้นมา

ความเคลื่อนไหวในองค์กรอิสระหลายแห่งจึงเต็มไปด้วยความคึกคัก

4 กรกฎาคม นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.รวบรวมมาตรการป้องกันการทุจริตเสนอให้ คสช. พิจารณาและสั่งการให้หน่วยงานของรัฐนำไปปฏิบัติ

รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการจัดทำนโยบายในการหาเสียงของพรรคการเมือง เพื่อป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน และการเพิ่มมาตรการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับชาติ ก่อนนำเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง

โดยคาดว่าจะนำเสนอต่อ คสช.ได้ในสัปดาห์หน้า

9 กรกฎาคม นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า จากการหารือระหว่าง ป.ป.ช. และ คสช. มีหมายหลักตรงกันคือการป้องกันปราบปรามการทุจริต ซึ่ง ป.ป.ช.จะเสนอผลักดันปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ให้ดีขึ้น

อาทิ เรื่องการยืดอายุความ เพราะเห็นว่าคดีที่มีอายุความ 15-20 ปียังน้อยเกินไป

รวมถึงกฎหมายติดตามทรัพย์สินคืน เพื่อให้อยู่ในมาตรฐาน


7 กรกฎาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์เลขาธิการ กกต. แถลงว่า ประธาน กกต. ได้ลงนามข้อเสนอแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งส่งไปยังคณะทำงานด้านการปฏิรูปของ คสช.

โดยกรณีการเลือกตั้ง ส.ส.นั้นยังคงให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ แต่เปลี่ยนจากเขตเดียวเบอร์เดียวเป็นแบบเขตใหญ่ และให้ ส.ส.ทั้งสองระบบมีจำนวนใกล้เคียงกัน ส่วน ส.ว.ให้คงไว้ แต่จะมีทั้ง ส.ว.สรรหา และ ส.ว.เลือกตั้งหรือไม่ ก็ได้เสนอจุดเด่นจุดด้อยให้พิจารณา

รวมทั้งแก้ไขเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง อาทิ การจะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 1 ปี เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งแล้วควรกำหนดให้มีวาระ 4 ปี แต่ต้องไม่ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ

ห้ามมิให้บุพการี บุตร บุญธรรม คู่สมรสตามกฎหมาย หรืออดีตคู่สมรส ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.ในคราววาระเดียวกัน เพิ่มลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ว่า ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง คดียาเสพติด และคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

หากเกิดปัญหาการขัดขวาง เกิดเหตุสุดวิสัยอันเป็นภัยร้ายแรง ให้ กกต.มีอำนาจในการเสนอเลื่อนขยายวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร โดยไม่ต้องมีการปรึกษาหรือขอความเห็นจากนายกรัฐมนตรี

เมื่อมีการยุบสภาหรือดำรงตำแหน่งครบวาระ ให้คณะรัฐมนตรีพ้นไปโดยปริยายไม่ต้องเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการ

โดยให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน


พลันเสียงค้านก็ดังขึ้นมาจากฝั่ง "คนดี" ด้วยกันอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานทีมกฎหมาย หรือนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค

ที่คัดค้านในประเด็นการกำหนดให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งติดต่อกันไม่เกิน 2 วาระ อย่างเอาจริงเอาจัง

บ่งบอกให้เห็นว่า ภารกิจในการปฏิรูปของ "คนดี" อาจจะไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อเกิดความขัดแย้งในผลประโยชน์

กระนั้น ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งข้อรังเกียจเฉพาะในส่วนที่เสียประโยชน์โดยตรง

แต่มิได้นำพาเรื่องหลักการ

อาทิ การให้อำนาจ กกต.เลื่อนเลือกตั้งได้เอง หรือการก้าวข้ามอำนาจบริหารด้วยการเสนอให้ยกเลิกรัฐบาลรักษาการ

ปล่อยให้ภาระในการคัดค้านประเด็นที่เป็นหลักยิ่งกว่าเหล่านี้

ไปอยู่กับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยแทน

อนิจจัง การเมือง ธานินทร์ เกรียงศักดิ์ พลิกผัน ไม่เที่ยง

(ที่มา:มติชนรายวัน 9 ก.ค.57)

 

 



เห็น "อาการ" กองเชียร์ คสช. ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เสนอว่าให้อยู่นาน-นานโดยไม่มีกำหนดเวลา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เสนอว่า

อยู่ตามความจำเป็น

"ใช้โอกาสนี้ในการแก้ปัญหาประเทศ และชี้ให้เห็นว่านักการเมืองทำให้ประเทศเสียหายอย่างไร

และจะวางหลักเกณฑ์อย่างไรไม่ให้นักการเมืองกลับมาทำเรื่องไม่ดีอีก"

เหน็ดเหนื่อยและหนักใจแทน แม้ว่าจะเป็น "ข้อเสนอ" อันมาจากความปรารถนาดี แม้ว่าจะเป็น "ข้อเสนอ"อันมาจากความรังเกียจ "นักการเมือง"

รังเกียจอย่างชนิด "เข้ากระดูกดำ"


ขอถามว่าถึงจะรังเกียจ "นักการเมือง" ลึกซึ้งมากเพียงใด แต่จะปฏิเสธบทบาทของนักการเมืองอย่าง นายบรรหาร ศิลปอาชา อย่าง นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

และอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้หรือ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มี "เวลา" ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะมี"โหร" บางโหรยกให้เป็น "อัศวินม้าข้าว" มาปราบยุคเข็ญก็ตาม

แต่ "เชน" เมื่อถึงเวลาก็ต้อง "โก"

ถามว่าเมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 ต้องการเวลาเท่าใด

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ให้คำตอบได้

คำตอบ 1 เห็นได้จากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้ข้าราชการ "ประจำ" เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างเต็มที่

เป็นบทบาทในฐานะ "วุฒิสมาชิก" เป็นบทบาทในฐานะ "รัฐมนตรี"

การเลือกตั้งเสมอเป็นเพียง "รูปแบบ" อย่างหนึ่ง เพราะวันเดียวกับการเลือกตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง"วุฒิสมาชิก"

เดือนมีนาคม 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็เป็น "นายกรัฐมนตรี"

แต่พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2523 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ต้องอำลาจากตำแหน่ง และรัฐสภาก็ลงมติให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

1 เป็นคะแนนเสียงจาก "วุฒิสภา"

1 เป็นคะแนนเสียงจาก "สภาผู้แทนราษฎร" โดยมี พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ แม้กระทั่งพรรคประชากรไทย ก็เทคะแนนให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อย่างท่วมท้นล้นหลาม

อยู่ได้เพียง 1 ปีก็ต้อง "จร"

ชะตากรรมของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็อีหรอบเดียวกันกับชะตากรรมของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

ถามว่า เวลาเท่าใดที่ นายธารินทร์ กรัยวิเชียร ต้องการ

คำตอบอ่านได้จากคำปรารภอันปรากฏผ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2519 คือ 12 ปี

แต่พอถึงเดือนตุลาคม 2520 ก็ต้อง "โก"

ที่น่าสนใจก็คือ 1 รัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเพราะคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ขณะเดียวกัน 1 รัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็ต้องไปเพราะคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

เป็น "ทหาร" ต่างหากที่ "โค่น"

เป็น "เปลือกหอย" ต่างหากที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ในฐานะรัฐบาลและในฐานะนายกรัฐมนตรี

อะไรคือเหตุผลของทหาร

ทหารต้องทำเพราะ "ประชาชน" ไม่พอใจ

ความต้องการพัฒนาประชาธิปไตยของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร จึงตกอยู่ในมือพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และตกอยู่ในมือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ตถตา เป็นเช่นนั้น

ทั้งหมดนี้ คือสภาวะอันเรียกว่าความขัดแย้ง ระหว่าง "ความปรารถนา" กับ "ความเป็นจริง"

บทเรียนที่ผ่านมา ความปรารถนาเป็นอย่าง 1 ความเป็นจริงกลับเป็นอีกอย่าง 1 เพราะว่าความเป็นจริงดำเนินไปอย่างมีพลวัต เลื่อนไหล แปรเปลี่ยน

เลื่อนไหล แปรเปลี่ยนอย่างเป็น "อนิจจัง"

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!