สถานะ การเมือง ของ พรรคการเมืองใหญ่ หลัง รัฐประหาร
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Tuesday, 08 July 2014 11:33
- Published: Tuesday, 08 July 2014 11:33
- Hits: 3862
วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
สถานะ การเมือง ของ พรรคการเมืองใหญ่ หลัง รัฐประหาร
สภาวะ เงียบงัน ของพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย อย่างพรรคประชาธิปัตย์
หรือพรรคขนาดกลางอย่าง พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล
ประการ 1 อาจเพราะประกาศและคำสั่งของคสช.ให้ยุติบทบาทชั่วคราว ประการ 1 อาจดำเนินไปในลักษณะกบดานและรอคอย
รอคอยว่าเมื่อใดคสช.จะยกเลิกประกาศและคำสั่ง
รอคอยว่าเมื่อใดรัฐธรรมนูญจะประกาศและบังคับใช้ อันหมายถึงการยกเลิกกฎอัยการศึกซึ่งค้ำคอในเรื่องการชุมนุมเกิน 5 คน
ทันทีที่ปี่กลองเลือกตั้งเริ่ม พรรคการเมืองก็เริ่มเต้น
ความเชื่อเช่นนี้เป็นความเชื่อทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ ไม่ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2501 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 ไม่ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2519 หรือเมื่อเดือนกันยายน 2549
นั่นก็คือ เล่นไปตามบท เล่นไปตามกติกา
อย่างไรก็ตาม รัฐประหาร 2 ครั้งซ้อน โดยเฉพาะรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กับ รัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
แตกต่างไปจากรัฐประหารอื่นๆ ก่อนหน้านั้น
รัฐประหารอื่นๆ ก่อนหน้านั้นเป็นรัฐประหารอันดำริ ริเริ่มและลงมือดำเนินการโดยคณะทหารแท้ๆ เพื่อจัดการกับรัฐบาลในขณะนั้น
เป็นเรื่องของ ทหาร กับ นักการเมือง
แต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มีการเคลื่อนไหว ประชาชน นำร่องจนกระทั่งสุกงอมทหารจึงเทกแอ๊กชั่น และรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นการเคลื่อนไหวของ นักการเมือง โดยการจัดตั้งมวลชนนำร่อง
กระทั่งสุกงอม ทหาร จึงออกมา เทกแอ๊กชั่น
ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 รู้กันอยู่ว่ามีพรรคการเมืองบางพรรคทำตัวเป็น อีแอบ ส่งคนเข้าร่วมการเคลื่อนไหว
แต่พอถึงก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 มีความเด่นชัด
เด่นชัดว่าพรรคการเมืองใดนำคนของตนออกมาเล่นการเมือง ข้างถนน ไม่ปิดบังอำพรางเป้าหมายเพื่อเล่นงานรัฐบาลอันเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม
กระทั่ง ทหาร เกรงว่าเหตุจะบานปลายจึงออกมายึดอำนาจ
รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จึงเปิดตัวคู่ปรปักษ์อันเป็น พรรคการเมือง อันเป็น นักการเมือง ออกมาอย่างล่อนจ้อน
แล้วพรรคการเมืองจะเล่น บท อย่างไรต่อไป
การตัดสินใจทำรัฐประหารของกองทัพจึงเท่ากับเป็นการออกมาจัด ระเบียบ ใหม่ทางการเมือง
คำถามอยู่ที่ว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่อันเป็นคู่ปรปักษ์ที่ใช้เวลาเกือบ 10 ปีโจมตีและกล่าวหากันอย่างรุนแรงนั้นจะยังดำรงสถานะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ใหม่
จะร้องเพลงเดิม หรือร้องเพลง ไม่เหมือนเดิม........
คิดเห็นอย่างปลอดภัย
วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 บทนำมติชน
ขณะนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เปิดโอกาสให้มีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป ล่าสุด พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเตรียมข้อมูลการปฏิรูปประเทศ ได้สรุปเบื้องต้นว่า ผลการรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้มีชื่อเสียง ฝ่ายการเมือง และพรรคการเมืองที่เคยเสนอเรื่องปฏิรูป และรวบรวมความเห็นได้ 368 เล่ม นอกจากนี้ยังเปิดเว็บไซต์ อีเมล์ รวมถึงโทรศัพท์เพื่อรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ปรากฏว่า มีผู้เสนอความเห็นเข้ามากว่า 2,000 ความเห็นสรุปประเด็นออกมา 11 ประเด็น และอาจจะมีมากกว่านี้ โดยเรื่องเร่งด่วนที่สุด คือ ปฏิรูปการเมือง ต่อต้านการทุจริต ปฏิรูประบบราชการ กระบวนการยุติธรรม รวมถึงการกระจายอำนาจ
ขณะที่ความเคลื่อนไหวขององค์กรที่ได้รับมอบหมาย เช่น สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดเสวนาระดมความคิดเห็นมาหลายครั้ง มีประเด็นและข้อเสนอแนะเบื้องต้นในหลายประเด็น ส่วนสภาพัฒนาการเมืองผลักดันวิธีการแก้ปัญหาการทุจริต ซึ่งระบุว่าใกล้จะเสร็จและส่งให้ คสช.เป็นข้อมูลต่อไป เช่นเดียวกับศูนย์ปรองดองเพื่อการปฏิรูป ซึ่ง พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯ ขีดเส้นเสร็จสิ้นกระบวนการระดมความเห็นในเวทีปรองดองและส่งต่อไปยัง คสช.ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยข้อมูลทั้งหมดจะส่งต่อไปที่สภาปฏิรูป ซึ่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. ยืนยันว่าจะใช้วิธีการสรรหา และจัดตั้งให้เสร็จภายในเดือนกันยายน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงว่า คสช.มีเจตนาจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ในบรรยากาศการมีส่วนร่วม จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่าเมื่อเข้าไปมีส่วนร่วมแล้วจะได้รับความปลอดภัยในการคิดการนำเสนอ เพราะไม่เช่นนั้นข้อมูลที่ คสช.จะได้รับอาจไม่ใช่ความคิดเห็นหรือความต้องการที่แท้จริง อาจเป็นเพียงข้อคิดเห็นเพียงเพื่อรักษาตัวให้ปลอดภัยเท่านั้น ดังนั้น การ ?เชิญตัว? การเรียกรายงานตัว การควบคุมตัว ผู้ที่เสนอความคิดเห็น หรือแสดงความคิดเห็น ท่ามกลางบรรยากาศที่ต้องการความคิดเห็น อาจส่งผลต่อความเที่ยงตรงในการคิดเห็น แม้ความคิดเห็นนั้นจะไม่ได้เป็นความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับหมายเรียก ได้รับการเชิญให้ไปพบ หรือถูกควบคุมตัวก็ตาม