สรุปสถานการณ์การเมือง ร้อนแรงตลอดทั้งปี 58
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Friday, 01 January 2016 12:12
- Published: Friday, 01 January 2016 12:12
- Hits: 12879
รายงานพิเศษ : สรุปสถานการณ์การเมือง ร้อนแรงตลอดทั้งปี 58
มติชนออนไลน์ : ปฏิทินความเข้มข้นทางการเมืองในปี 2558 เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือน "มกราคม" หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการจำนำข้าว ด้วยคะแนนเสียง 190-18 งดออกเสียง 8 คะแนน บัตรเสีย 3 คะแนน ส่งผลให้โดนโทษถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี นั่นนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของทุกแวดวงทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่า สนช.ตั้งขึ้นมาโดยคณะรัฐประหาร ดังนั้น การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ในครั้งนี้จึงเป็นเสมือนผลพวงจากการทำรัฐประหาร ที่จ้องทำลายฝ่ายตรงข้ามเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องออกเดินสายพบปะมวลชนทั่วประเทศในเวลาต่อมา
สถานะของรัฐบาลถูกท้าทายอย่างต่อเนื่องกระทั่งวันเสาร์ที่7กุมภาพันธ์ ที่สนามศุภชลาศัย ในกีฬาฟุตบอลประเพณี "จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" ครั้งที่ 70 ซึ่งนักศึกษาได้แสดงออกอย่างไม่มีใครคาดฝัน แม้จะมีการขอความร่วมมือจากรัฐบาลและ คสช.แล้วก็ตาม ครั้งนี้เกิดความวุ่นวายขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่เข้ามาปิดประตูเพื่อห้ามขบวนล้อการเมืองเข้าไป ทั้งยังยึดป้ายผ้าที่มีถ้อยคำที่เหมาะสม แต่เมื่อขบวนล้อการเมืองของธรรมศาสตร์เข้าสู่สนาม นักศึกษาได้กางป้ายผ้าผืนใหม่ ระบุข้อความเสียดสีการเมือง พร้อมแกะกระดาษออกจากหุ่นล้อการเมือง ทำให้ข้อความและเรื่องราวของหุ่นแต่ละตัวนั้นเปลี่ยนไป เช่น หุ่นคนปิดหน้าที่ระบุว่าเป็นกลุ่ม ISIS กลายเป็นหุ่นหน้าคล้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภาพทีวีจอดำ ก็กลายเป็นรายการคืนความสุข ที่มีการเปลี่ยนฉากหลังเป็นเทเลทับบี้ และหุ่นครูสอนค่านิยม 12 ประการ ก็เปลี่ยนเป็นคำว่า"ประชาธิปไตย" ที่ถูกขีดฆ่า กระแสดังกล่าวจุดติดต่อเนื่อง โดยหลังจากนั้นไม่นานกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ก็ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 300 คน เเละได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่สัญจรไปมา จนมีการควบคุมตัวแกนนำหลัก
กฎอัยการซึ่งรัฐบาลใช้ควบคุมความสงบเรียบร้อยมาตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ที่บางขณะกลับเป็นจุดอ่อนทำให้ฝ่ายตรงข้ามนำมาโจมตี เป็นผลให้องค์กรระหว่างประเทศออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก กระทั่งปลายเดือน"มีนาคม" พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ก่อนจะให้มือกฎหมายร่างประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก และเลือกใช้มาตร 44 ซึ่งให้อำนาจหัวหน้า คสช.จัดการทุกอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นเครื่องมือควบคุมดูแลสถานการณ์บ้านเมืองต่อไป และหลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็อาศัยอำนาจในมาตรา 44 นี้ จัดการหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การลงโทษข้าราชการที่ทุจริตทั่วประเทศ รวมทั้งถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยกเลิกกฎอัยการศึกได้ไม่นาน ต่อมาคืนวันที่ 10 เมษายน ได้เหตุระเบิดขึ้น ที่ห้างเซ็นทรัล อ.สมุย เป็นคาร์บอมบ์โดยรถกระบะที่ถูกปล้นมาจากยะลา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย โดยสันนิษฐานว่าคนร้ายต้องการข่มขู่สร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความหวั่นไหวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ซึ่งอยู่ในตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นกลุ่มผู้ที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มอำนาจเก่าที่เคยก่อเหตุในกรุงเทพฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังติดตามประกบตัวผู้อยู่ และขอให้เลิกจองเวรประเทศ เลิกสร้างสถานการณ์ขยายผลความกังวลของประชาชน เพราะเป็นการขัดขวางการเดินหน้าพัฒนาและแก้ไขปัญหาประเทศ
ในวันที่ 22 พฤษภาคม ถือเป็นวาระครบรอบ 1 ปีรัฐประหารโดย คสช. นอกจากจะมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์จากนักศึกษาแล้ว การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็เป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากได้มีการเผยแพร่คลิปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นภาษาไทย ถึงสถานการณ์ในเมืองไทย ความยาว 1.32 นาที โดย พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึงสถานการณ์การยึดอำนาจที่เกิดขึ้น รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ทหารว่าคงชอบประชาธิปไตยแบบพม่า พร้อมทั้งกล่าวโจมตีองคมนตรีว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร กระทั่งกระทรวงการต่างประเทศสั่งยกเลิกหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) เนื่องจากเห็นว่าการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณมีเนื้อหาบางส่วนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย
การเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากบรรดานักศึกษาเมื่อวันที่24มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นักศึกษาได้จัดกิจกรรมพร้อมกันหลายจุด และเช้าวันเดียวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะที่นายนัชชชา กองอุดม 1 ใน 8 นักศึกษาที่ถูกออกหมายเรียกจากเหตุการณ์ชุมนุมหน้าหอศิลป์ สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวออกจากโรงพยาบาลวิภาวดี ขณะเข้าพักฟื้นเนื่องจากมีอาการป่วย นำตัวไปที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยมีผู้เข้ามาให้กำลังใจจนล้นพื้นที่ หนึ่งในนั้นรวมถึง 7 นักศึกษาดาวดิน ต่อมาเกิดการรวมกลุ่มระหว่างนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมหน้าหอศิลป์กับกลุ่มดาวดิน โดยใช้ชื่อใหม่ว่า "ประชาธิปไตยใหม่" ซึ่งรวมตัวกันออกแถลงการณ์กดดันรัฐบาล แม้จะมีหมายเรียกจากศาลทหารแล้วก็ตาม นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ถูกจับกุมและฝากขังโดยศาลทหารในวันที่ 27 มิถุนายน ศาลทหารฝากขังผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ก่อนที่ศาลจะปล่อยตัวออกมาในเช้าวันที่ 8 กรกฎาคม
กระแสการปรับเปลี่ยนตำแหน่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งมีส่วนสำคัญจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะดีนัก และได้ปะทุขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม มีข่าวสะพัดว่า บิ๊กตู่ ต้องการปรับเปลี่ยน ครม.ในส่วนของงานด้านเศรษฐกิจ โดยต้องการให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่ในฐานะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ คสช.เข้ามารับตำแหน่งแทนหม่อมอุ๋ย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีข่าวสะพัดหลายด้าน
เรื่อยมาถึงวันที่ 20 สิงหาคม มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ โดย ครม.ประยุทธ์ 3 มีการปรับเปลี่ยนรวมทั้งสิ้น 19 ตำแหน่ง มีรัฐมนตรีที่หลุดออกไป 11 ราย ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯด้านสังคม นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข และนายกฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ
มีรัฐมนตรีใหม่เข้ามาจำนวน 10 ราย ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม หลังจากนั้นไม่นานหม่อมอุ๋ยถึงกับออกมาโวยเพราะไม่เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในครั้งนี้
กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาจนครบกำหนด 180 วัน และเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณารับหรือไม่รับ ซึ่ง สปช.ได้นัดประชุมวาระพิเศษในวันที่ 6 กันยายน โดยที่ประชุมมีคติ 135 เสียง ต่อ 105 เสียง ไม่เห็นชอบ ส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกตีตกไป พร้อมปิดฉาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการยกร่างชุดใหม่ 21 คน เพื่อมายกร่างฯให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน การโหวดตกของ สปช.มีหลายประเด็นที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะการโผล่ขึ้นมาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร สามารถจัดการภาวะวิกฤตของบ้านเมืองได้
ต่อมา "บิ๊กตู่" ได้ใช้อำนาจหัวหน้า คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมาทำหน้าที่เขียนรัฐธรรมนูญแทน กมธ.ชุดเดิม โดยคณะกรรมการร่างฯส่วนมากมาจากการคัดสรรโดยมือกฎหมายของรัฐบาลอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 5 ตุลาคม มีการประชุม คสช.เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง กรธ. และสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้คัดเลือก กรธ.ทีละคน จนเห็นชอบให้แต่งตั้ง กรธ. 21 คน มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช.เป็นประธาน และ สปท. 200 คน เข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปต่อ โดย กรธ.จะใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 180 วัน ทั้งนี้ หลังจากแต่งตั้ง กรธ.และ สปท.ใหม่ นายวิษณุ ก็เดินสายชี้แจงโรดแมป 6-4-6-4 ซึ่งเป็นโรดแมปใหม่ของรัฐบาล อันหมายความว่าจะใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน เข้าสู่การลงประชามติ 4 เดือน จัดทำกฎหมายลูกอีก 6 เดือน กระทั่งเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอีก 4 เดือน
เดือนพฤศจิกายน ประเด็นปัญหาโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ร้อนระอุขึ้นเมื่อมีการขยายผลการสอบสวนจากการเอาผิดกลุ่มคนผู้แอบอ้างเบื้องสูง โดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตโดยเฉพาะการเรียกเก็บค่าหัวคิวจากโรงหล่อ ร้อนมาถึงรัฐบาลเพราะโครงการดังกล่าวมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานก่อสร้าง เป็นผลให้นายทหารคนสนิทของ พล.อ.อุดมเดช ต้องหนีออกนอกประเทศ ท่ามกลางกระแสกดดัน ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งพรรคเพื่อไทยหรือมวลชนคนเสื้อแดง จนถึงขั้นเรียกร้องให้ พล.อ.อุดมเดช รับผิดชอบด้วยการลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี กระทั่งกองทัพบกได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน โดยในวันที่ 20 พฤศจิกายน พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แถลงผลสอบหลังจากไม่พบการทุจริต
หลังจาก 2 แกนนำเสื้อแดงอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โดนรวบตัวหลังนัดกันที่ตลาดมหาชัยเมืองใหม่ จ.สมุทรสาคร ระหว่างจะเดินทางไปตรวจสอบการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม ที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง จ.ราชบุรี "จ่านิว" หรือนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ ถูกรวบตัวระหว่างจะเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ด้วยเช่นกัน จากนั้นนักศึกษาที่ชื่อ "จ่านิว" ได้เคลื่อนไหวต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องความโปร่งใสในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ก็เปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบได้อย่างเต็มกำลัง จนมีเรื่องผิดใจกันระหว่าง พล.อ.อุดมเดช กับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เนื่องจาก พล.อ.ไพบูลย์ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบเช่นกัน ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับข้อมูลจากแกนนำเสื้อแดงแล้วแถลงข่าวว่า มีการทุจริตจริงและจะเอาคนผิดมารับผิดชอบ ซึ่งในเวลาต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งห้ามไม่ให้ทั้ง 2 คน ออกมาโต้เถียงกัน