นักการเมือง-อาจารย์ วิพากษ์ไอเดียงสปท.ง เสียง 3 ใน 5 โหวตนายกคนนอก
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Wednesday, 25 November 2015 15:34
- Published: Wednesday, 25 November 2015 15:34
- Hits: 13289
นักการเมือง-อาจารย์ วิพากษ์ไอเดียงสปท.ง เสียง 3 ใน 5 โหวตนายกคนนอก
หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการและนักการเมือง จากกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะมีข้อเสนอถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯคนนอกได้แต่ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 และหากภายใน 30 วันยังเลือกนายกฯไม่ได้ให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่
- มติชนออนไลน์ :
-
กรณีนายกฯคนนอกที่ไม่ได้มาจาก ส.ส.ต้องมีเสียงสนับสนุนของ ส.ส. 3 ใน 5 ส่วนตัวมองว่าเป็นการพยายามทำให้เห็นว่าวิถีทางของนายกฯคนนอกนั้นมายาก ทั้งที่จริงแล้วเป็นการไปทำให้วิธีการนั้นผิดธรรมชาติ อันที่จริง หากได้เสียงข้างมากของสภาก็ควรได้เป็นนายกฯแล้ว
อีกทั้งการกำหนดให้ต้องได้เสียง ส.ส. 3 ใน 5 นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะต้องพร้อมอกพร้อมใจกัน เปรียบเสมือนข้อเสนอของ สปท. นี้เป็นเพียงไม้ประดับเท่านั้น คือเหมือนเอาไว้ตกแต่ง คิดว่าให้ ส.ส.ตัดสินไปเลยก็ได้ คือเสียงเกินครึ่งก็ได้ เพราะหากจะมีนายกฯคนนอกจริงๆก็ต้องได้เสียงคู่คี่มากจริงๆ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ
ถามว่าเหมาะกับประชาธิปไตยไหม ส่วนตัวคิดว่าไม่เหมาะ ประเทศไทยไม่เคยกำหนดอะไรเช่นนี้ แต่ถ้าถามเรื่องมันสามารถป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ต่อให้อยู่เฉยๆ ก็ลุกขึ้นมาฉีกก็มี
ไม่มีวิธีป้องกันหรอก
รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท
อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
เงื่อนไขของ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ของ สปท.จะคล้ายๆ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ จะเปิดช่องทางให้ประเทศไทยมีนายกฯคนนอกที่ไม่ใด้มาจาก ส.ส. ต้องมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด เรื่องนี้ดิฉันไม่เห็นด้วยเท่าไร
แต่เท่าที่ติดตามข่าวเรื่องที่มานายกฯคนนอก ทั้งในร่างของ กรธ.และแนวคิดของนายบวรศักดิ์นั้น จะเห็นว่าไม่เหมือนกัน ของ กรธ.เขาจะให้เสนอชื่อมาเลย จะเลือกใครก็ได้ ตรงนี้เข้าใจว่า กรธ.ไม่ได้พูดถึงกรณีที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ถ้าร่างของนายบวรศักดิ์นั้น สไตล์จะคล้ายๆ กับที่ กมธ.การเมือง สปท.เสนอมา
ส่วนตัวก็ไม่ได้ติดใจอะไรมากนัก เพียงแต่ว่าเรื่องสำคัญคือ ต้องพูดหรือกำหนดให้ชัดเจนว่า กรณีอย่างไรบ้าง ที่จะเรียกว่าวิกฤต
ที่ไม่ติดใจอะไรในประเด็นนายกฯคนนอก เพราะส่วนตัวเห็นว่า มันไม่สามารถช่วยอะไรได้ เนื่องจากถ้าเรามองย้อนกลับไปในอดีต สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประเทศเราเกิดวิกฤตอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งวิกฤตเช่นนั้น จะเห็นว่าเขาสามารถถูกยึดอำนาจได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นจึงไม่คิดว่า ถ้าบ้านเมืองเกิดวิกฤตขึ้นจริงๆ ส.ส.จะอยู่ทำงานในสภาจนถึงการโหวตโดยใช้เสียง 3 ใน 5 เพื่อให้มีนายกฯคนนอกเข้ามาบริหารประเทศ แต่ถ้าจะเขียนเป็นกลไกเพื่อควบคุม แก้ปัญหาในอนาคต ก็เขียนได้ ไม่มีปัญหา
ส่วนอำนาจการถอดถอนของ ส.ว.นั้น ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว จริงๆ ถ้าถามความเห็นของดิฉัน ประเทศไทยควรมีสภาเดียวก็พอแล้ว ประเทศเราถ้าจะมี ส.ว.แล้วคุณสมบัติและการได้มาจะเหมือนกับ ส.ส.คือประชาชนเลือกตั้งเข้ามาในสภา ไม่ต้องมีก็ได้
แต่ถ้าจำเป็นจะต้องมี ส.ว.ต่อไป อำนาจก็ควรจะมีแค่การกลั่นกรองกฎหมาย หรือทำงานตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลด้วยการตั้งกระทู้ถามก็เพียงพอ ไม่ควรให้มีอำนาจถอดถอน
นอกจากนี้ การเสนอยกเลิก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์นั้น ต้องดูหลักการและข้อเท็จจริง เมื่อก่อนที่เรากำหนดให้มีปาร์ตี้ลิสต์ เพราะอยากได้คนที่มีความสามารถหลากหลายเข้ามาทำงานด้านการเมือง แต่ปัจจุบันเรามองว่าปาร์ตี้ลิสต์เป็นพวกอีแอบ เป็นพรรคพวกนายทุน ตรงนี้ถ้าจะยุบหรือยกเลิกปาร์ตี้ลิสต์ ก็ไม่มีปัญหาอะไร
แต่อยากบอกข้อเท็จจริงให้ทราบว่านายทุนเขาไม่ได้อยากเป็น ส.ส.มากนัก แต่ส่วนใหญ่อยากเป็นรัฐมนตรี ดังนั้นถ้าจะนำเสนอให้ยกเลิกแค่ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อป้องกันพวกอีแอบ ต้องเสนอว่าห้าม ส.ส. เป็นรัฐมนตรีด้วย
สำหรับกรณีที่เสนอว่า การเลือกนายกฯในสภา ภายใน 30 วัน ถ้ายังไม่ได้นายกฯ จะต้องยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ ข้อเสนอนี้เห็นว่าถ้าเรามีสภาขึ้นมาแล้ว ส.ส.ในสภาจะเลือกนายกฯกันขึ้นมาจนได้ ไม่ต้องห่วงกังวล แต่ถ้าเลือกไม่ได้ก็อาจจะถือว่าเป็นวิกฤต ก็ไปเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ แต่ต้องเขียนกติกาตรงนี้ให้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องไปเลือกตั้งใหม่ เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา การเลือกตั้งใหม่ก็ไม่มีหลักประกันว่าผู้สมัคร ส.ส.เขาจะได้กลับเข้ามาในสภาอีก
ดังนั้น จึงเชื่อว่าสภาจะสามารถเลือกนายกฯได้ใน 30 วัน แต่ถ้าไม่ได้ นั่นก็อาจถือว่าเป็นวิกฤตใช่หรือไม่ ต้องบอกให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม อยากฝากบอกไปยัง กมธ.การเมือง ว่า ถ้าไม่ได้ลงมาเป็นผู้เล่นเองก็ไม่ควรเสนอหรือเขียนอะไรให้มันออกมาดูยุ่งยากมากนัก
สามารถ แก้วมีชัย
อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ
การที่กำหนดให้นายกฯมาจากคนนอกได้แต่ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภาก็เหมือนร่างของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคณะก่อน เมื่อครั้งที่แล้ว
ผมไม่เห็นด้วยกับการที่กำหนดว่าหากไม่สามารถเลือกนายกฯได้ ให้ยุบสภาภายใน 30 วัน เพราะเป็นเรื่องที่ฝืนครรลอง เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้า กรธ.ไม่เขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก และก็คงไม่เกิดปัญหา แต่เพราะไปเขียนรัฐธรรมนูญพิสดารก็เลยทำให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ ที่ถามว่าการยุบสภาต้องใช้อำนาจใครยุบนั้นก็ต้องบอกว่า ไม่ต้องให้ใครมายุบ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนให้ยุบก็ต้องยุบโดยรัฐธรรมนูญกำหนดนั่นเอง
ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น
นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์
ต้องดูทิศทางการเมืองในระยะยาว ตั้งแต่ร่างของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงร่างนี้ มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ กองทัพหรือทหารพยายามหาทางลงจากอำนาจ เขาคงประเมินว่าคงจะอยู่ในอำนาจต่อไปอีกระยะหนึ่งตามโรดแมป เรื่องนายกฯคนนอกหรือเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เมื่อคราวที่แล้ว เป็นความพยายามทางการเมืองของทหารที่จะสืบทอดอำนาจตัวเอง
การให้ ส.ส.โหวตเลือกนายกฯคนนอก โดยกระบวนการรัฐสภาสามารถทำได้ ในอดีตเราก็เคยทำมาแล้ว สิ่งที่น่าสังเกตคือ ผู้ที่จะเข้ามาเป็นนายกฯโดยให้สภาเลือก คิดว่าสุดท้ายแล้วจะมีอิทธิพลของกองทัพ เป็นบรรยากาศอำนาจของกองทัพมาปกคลุมกระบวนการเหล่านี้ ถ้าร่างนี้เกิดขึ้นจริง
ตรงนี้เป็นดีลทางการเมืองที่ทหารเองพยายามประนีประนอมกับฝ่ายการเมืองอยู่พอสมควร ถึงได้ออกมาเป็นรูปการณ์แบบนี้
แต่สุดท้ายแล้วประเด็นหลักคือเป็นความพยายามของทหารที่จะสืบทอดอำนาจตัวเอง
ตัวเลข 3 ใน 5 ตรงนี้ยังไม่นิ่งเพราะยังเป็นข้อเสนออยู่ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าไม่เกิดการประนีประนอมหรือมีการเจรจาทางการเมือง ระหว่างอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับนักการเมือง คุยเรื่องตัวเลขไปก็ไม่เกิดประโยชน์เพราะปรับได้อยู่ตลอด
สิ่งที่จะดูทิศทางการเมืองได้ดีที่สุด ต้องดูว่าแต่ละฝ่ายมีความมุ่งหวังอย่างไร ในด้าน คสช.เขาต้องหาทางลงแล้ว สถานการณ์ตอนนี้ยิ่งบีบให้เขาต้องลงจากอำนาจให้สวยที่สุดและเจ็บตัวน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
เรื่องนายกฯคนนอกเป็นความพยายามโยนหินถามทางของทาง คสช.ว่าสังคมหรือนักการเมือง ฝ่ายการเมืองที่มีบทบาทอยู่ในประเทศไทยตอนนี้จะมีความเห็นในทิศทางอะไร แต่เสียงก็ยังแตกอยู่ บางคนยอมรับ บางคนไม่ยอมรับ
ในระยะยาว ยังไงตัวนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง ถ้าการเป็นนายกฯคนนอกเกิดการไม่ยอมรับทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองของไทยตอนนี้เป็นการเมืองแบบมวลชนแบ่งข้าง แบ่งฝ่าย โมเดลนายกฯคนนอกแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลยในระยะยาว เพราะเราขัดแย้งกันจนใครจะมาเป็นคนกลาง
ถ้าประชาชนเลือกพรรคการเมืองเข้าไป ก็คาดหวังว่าคนที่อยู่ในพรรคการเมืองเสียงข้างมากจะเป็นนายกฯ กลับกลายเป็นว่าพรรคที่ตัวเองเลือกไปในรัฐสภาไปโหวตให้ใครไม่รู้ที่คนไม่ได้เลือกหรือไม่ได้คาดหวังว่าจะให้เขามาเป็นนายกฯ อาจเกิดปมปัญหาทางการเมืองขึ้นมาอีกว่า ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งจะรับเรื่องนี้ได้หรือเปล่า
ถ้าดูจากบริบทการเมืองไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่ายากที่จะทำให้โมเดลนายกฯคนกลางเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ
เหตุผลที่บอกว่าเพื่อออกจากวิกฤตหรือป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญยามหาทางออกไม่ได้ คิดว่าเป็นข้ออ้างทางการเมืองที่เขาเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งจริงๆ แล้วแก้ไม่ได้ สิ่งที่เขาพูดขัดแย้งกับสถานการณ์ทางการเมืองในไทยตอนนี้ คนแบ่งฝ่ายหมดแล้ว อยู่ที่ว่าในระยะยาวฝ่ายไหนจะอ่อนแรงทางการเมืองไปเท่านั้นเอง อาจจะใช้เวลายาวหน่อย แต่คิดว่าโมเดลนี้ไม่เวิร์ก ต่อให้เข็นกันจนสำเร็จ ระยะยาวก็ไม่เวิร์กอยู่ดี เพราะจะเกิดปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองตามมาเยอะมาก
ส่วนข้อเสนอเรื่องที่หากเปิดประชุมสภาผู้แทนฯไป 30 วันแล้วยังเลือกนายกฯกันไม่ได้ ให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ มีความพยายามวางยาเบื่อกับระบบรัฐสภาเอาไว้ เป็นวิธีคิดที่ค่อนข้างแยบยล เขาพยายามทำลายรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากอยู่ตลอดเวลา
ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนั่งดูยังไงก็รู้ว่าทุกคนมีธงอยู่แล้ว โมเดลที่พูดมายังไงก็หนีไม่พ้นความพยายามทำให้ระบบรัฐสภาอ่อนแอ
เลือกนายกฯไม่ได้ใน 30 วันแล้วยุบสภา คำถามก็คือยุบไปทำไม จะเลือกตั้งใหม่ให้เปลืองงบประมาณเหรอ คนเลือกเข้ามาแล้ว เพิ่งเลือกตั้งกันไปแล้วจะมาเลือกอะไรอีก
สิ่งที่มองเห็นได้อย่างเดียวคือเป็นความพยายามที่จะสอดไส้วางยาเบื่อระบบรัฐสภาของไทยให้เกิดปัญหามากที่สุด แล้วจะได้ใช้เป็นข้ออ้างว่า นี่ไง เสรีประชาธิปไตยมันไม่เวิร์กสำหรับไทย แล้วก็เป็นข้ออ้างไปใช้ระบอบอื่นแทน
ถามว่าทำไมไม่เปลี่ยนระบบไปเลยตรงๆ คำตอบคือเปลี่ยนไม่ได้ ตอนนี้คนส่วนหนึ่งไม่เอาเสรีประชาธิปไตย แต่ส่วนหนึ่งเอา เขาก็ไม่กล้าที่จะทุ่มลงไป เพราะกลัวกระแสตีกลับเหมือนกัน