สปท.ชงไอเดีย
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Tuesday, 10 November 2015 14:23
- Published: Tuesday, 10 November 2015 14:23
- Hits: 12993
สปท.ชงไอเดีย
- มติชนออนไลน์ :
หมายเหตุ - สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้ความเห็นถึงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะมีการประชุมวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้
นิกร จำนง
ผมเข้ามาเป็น สปท.ในนามตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา การเสนอแนะประเด็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญจึงจะเป็นประเด็นที่พรรคได้เสนอกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ไปแล้ว ซึ่งมีทั้งหมด 4 เรื่องหลัก ได้แก่
1.พรรคการเมือง ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้มีโอกาสกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างอิสระ ไม่ควรถูกปิดกั้น เพราะพรรคการเมืองถือเป็นตัวแทนของประชาชน
ส่วนเรื่องที่จะแก้ปัญหาโครงการประชานิยมนั้น ถ้าเป็นโครงการประชานิยมที่เขาปิดกั้น ก็ไม่ว่าอะไร การแก้ปัญหาตรงนี้อาจมีกลไกเข้ามาตรวจสอบโครงการประชานิย มของพรรคการเมืองก็ได้ แต่ถ้าเป็นนโยบายทั่วไปที่ไม่ใช่ประชานิยมก็ต้องให้อิสระ ประชาชนจะได้เห็นว่าการเลือกตั้งนั้นมีผลต่อความเป็นอยู่ของเขา วิธีนี้จะทำให้แก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงลดลง เพราะประชาชนสามารถคาดหวังในตัวพรรคการเมืองและนักการเมืองได้ พรรคการเมืองนั้นจะต้องทำตามนโยบายให้สำเร็จ เพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปประชาชนเขาก็จะเลือกพรรคนั้นอีก
นอกจากนี้ พรรคการเมืองไม่ควรเป็นสถาบันที่จะถูกยุบ ถ้ามีความผิดขึ้นมาก็ต้องลงโทษผู้ที่กระทำผิดเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ลงโทษพรรค เพราะว่าพรรคการเมืองเป็นของประชาชน การยุบพรรคถือเป็นการตัดขาดสิทธิของประชาชนด้วย
2.ที่มาของ ส.ส.ควรจะสังกัดพรรคการเมือง อยู่ภายใต้กรอบการดูแลของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง และควรมี ส.ส. 2 ประเภท คือ ส.ส.แบบเลือกตั้ง และ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ส่วนบัญชีรายชื่อก็ควรใช้เขตประเทศ อย่าแบ่งเขตเป็นโซน จะทำให้ถูกแบ่งแยกเป็นภาค ซึ่งไม่ดี เพราะประเทศควรจะเป็นหนึ่งเดียว
3.ที่มาของ ส.ว.ควรจะมีขอบเขตอำนาจ ถ้า ส.ว.จะมาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย หรือเสนอกฎหมาย เป็นสภาที่ปรึกษา ก็ควรใช้สภาร่วม ถ้ามีอำนาจแค่นี้ ส.ว.จะมาจากการสรรหาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ก็ได้ แต่ถ้า ส.ว.จะมีอำนาจถอดถอนคนที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ว.ก็ไม่ควรมาจากการสรรหา ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด การถอดถอนควรให้ระบบการเมืองจัดการ เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือให้สภาของเขาจัดการถอดถอนเอง
4.องค์กรอิสระ ควรจะมีสัดส่วนที่เหมาะสมในการสรรหา ไม่ใช่มาจากภาคใดภาคหนึ่ง เพราะปัจจุบันมาจากศาลล้วนๆ เช่นนี้ไม่เหมาะสม จะเป็นข้อครหาได้ พอมีความสงสัยในเรื่องนี้แล้วจะทำให้การตัดสินในคดีต่างๆ เป็นปัญหา ดูไม่น่าเชื่อถือ
นอกจากนั้น องค์กรอิสระควรมีอายุไม่มากนัก ไม่ควรเกิน 6 ปี เพราะการมีอายุงานมากพอสมควรอาจทำให้มีปัญหาการควบคุมการทำงานในด้านนั้นๆ และการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระ คณะกรรมการสรรหาควรมีความหลากหลาย ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหามาจากศาลเกือบทั้งหมด อาจทำให้มีปัญหาในเรื่องความน่าเชื่อถือ
วิทยา แก้วภราดัย
การประชุมเพื่อชี้แจงข้อเสนอเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ สมาชิก สปท.คงต้องฟังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงก่อนว่าความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปในทิศทางใดบ้าง และ กรธ.ต้องการรับฟังความคิดเห็นจากเราในประเด็นไหนบ้าง
ประเด็นหลักๆ ผมเห็นว่าคงเป็นเรื่องการเลือกตั้ง ที่มา ส.ส. ที่มา ส.ว. และที่มาของนายกฯ ผมคิดว่ากรอบที่ กรธ.นำเสนอมาเป็นกรอบที่ใช้ได้ การร่างรัฐธรรมนูญเราจะฟังแต่นักการเมืองมากไม่ได้ อะไรที่นักการเมืองได้เปรียบหรือเสียเปรียบเขาก็จะมีข้อโต้แย้งตลอด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะออกอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ จึงเห็นว่าแนวความคิดเริ่มต้นนั้นถูกต้องแล้วที่ไม่นำนักการเมืองมาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะอาจจะดูแต่เรื่องที่เป็นผลประโยชน์ให้กับตัวเอง
ประเด็นหลักของการปฏิรูปคือ ต้องทำให้กระบวนการการเลือกตั้งได้คนดี ซื่อสัตย์ สุจริตเข้าสู่สภา ทางที่ดีที่สุดคือการเลือกตั้งครั้งต่อไปต้องกำจัดการทุจริตเลือกตั้งให้หมด ต้องจัดการว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีการซื้อเสียง ทำอย่างไรไม่ให้มีการโกงการเลือกตั้ง ต้องหามาตรการป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงให้เจอ ถ้าเราแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้ ใครมีเงินมากกว่าก็จะเป็นผู้ได้เปรียบ
อย่าบอกว่าการซื้อเสียงเป็นวาทกรรม มันไม่ใช่วาทกรรม เพราะข้อเท็จจริงมีปรากฏขึ้น คนทั่วโลกไม่เข้าใจ แต่คนไทยเข้าใจหมดว่าซื้อเสียงขายเสียงคืออะไร ผมคิดว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องปรับปรุงองค์กร เราสร้างองค์กรมาจนใหญ่มาก มี กกต.ทั่วประเทศ ฝ่ายที่ศึกษาการปฏิรูปด้านการเมืองคงต้องมาดูกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป
วิธีการป้องกันการซื้อเสียง จากเดิมเราให้ กกต.เป็นผู้เสียหาย ป้องกันการซื้อเสียง ส่วนผู้เสียหายโดยตรงคือประชาชน เคยมีกรณีที่ประชาชนฟ้อง กกต.เรื่องทุจริต ปรากฏว่าศาลฎีกายกฟ้อง เพราะประชาชนไม่ใช่ผู้เสียหาย ต้องรัฐเป็นผู้เสียหาย ดังนั้นเราต้องมาแก้กระบวนการผู้เสียหาย
เรื่องร้ายแรงที่สุดในการทุจริตคือเรื่องซื้อสิทธิขายเสียง เพราะทั้งคนซื้อคนขายสมยอมกัน โดยไม่มีการจับได้เลย เพราะฉะนั้นต้องหามาตรการในการจับการซื้อขายเสียงให้ได้จริงๆ ผมคิดว่าถ้ารับฟังกันก็จะพบมาตรการที่แก้ไขได้จริง และมีความเป็นไปได้
สมมุติง่ายๆ เช่น การตั้งกองทุนปราบปรามการซื้อเสียง รัฐบาลตั้งกองทุนสัก 1 กองทุน โดยใครที่จับการซื้อสิทธิขายเสียงได้จะได้รางวัล ถ้าคนขายจับคนซื้อได้ คนขายก็ได้รางวัล หรือคนซื้อจับคนขายได้ก็จะได้รางวัล โดยต้องมีหลักฐานให้ดี ในระบบการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นกาบัตรเดียว หรือสองบัตร ถ้าป้องกันการซื้อเสียงไม่ได้ บัตรไหนก็ถือว่าเป็นมลทินหมด
ส่วนประเด็นที่มานายกฯจะต้องเปิดกว้างเอาไว้ เพราะที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึงมาตรา 7 ก็จะโดนด่า โดนประณามกัน ผมเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ใช้ได้อยู่ คือไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะให้ตั้งคนนอกเข้ามาได้เลย ต้องผ่านเสียงเห็นชอบในสภา
สำหรับ ที่มา ส.ว.ควรเปิดช่องไว้สำหรับการสรรหาในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ถ้าเมื่อไรที่เราเชื่อว่าประเทศไทยไม่มีการซื้อเสียงขายเสียงแล้ว ส.ว.สรรหาไม่ต้องมีก็ได้ ถามว่าเราเลือก ส.ว.มาทำไม ที่เราตั้งมี 2 สภา เพราะ ส.ว.ต้องมากลั่นกรองกฎหมาย นี่คือภารกิจหลัก ส่วนอำนาจการถอดถอนผมเห็นว่า 2 สภาก็อาจจะทำได้
เรื่องระบบพรรคการเมือง จะต้องทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนมากที่สุด เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชนกับพรรคให้มากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นระบบนายทุนมาเคาะกะลาเรียก หรือเอานักเลือกตั้งอาชีพเข้ามาอยู่กัน
เราเคยมีกฎหมายเรื่องกองทุนจากการเสียภาษีของประชาชน โดยที่ใครอยากบริจาคพรรคไหนก็ให้ระบุไว้ในการเสียภาษี และรัฐก็จะเป็นผู้มาจ่ายให้ ถ้าเราเพิ่มเงินตรงนี้ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมจริงๆ เรื่องนี้นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิก สปท.เสนอไว้ ผมก็เห็นว่าใช้ได้ อาจจะทำให้มีภาระผูกพันกับประชาชนบ้าง และพรรคการเมืองควรจะมีระบบมากกว่านี้ ไม่ใช่มาตั้งพรรคสองสาขา หรือส่งบัตรสมาชิกกันทางไปรษณีย์เหมือนที่ผ่านมา
เสรี สุวรรณภานนท์
เรื่องที่จะเสนอก็คงจะเป็นในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. และที่มานายกฯ หลังจากที่ได้ฟังการยกร่างของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่แล้ว กับแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และพิจารณาประกอบกับหลักการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าพอเวลาเขียนรัฐธรรมนูญทีเราก็จะมาคิดเรื่องใหม่ๆ กันทีหนึ่ง และเรื่องใหม่ๆ เหล่านี้บางเรื่องพิสูจน์แล้ว แต่บางเรื่องก็ยังไม่ได้พิสูจน์ แต่เราก็คิดว่ามันดีหรือเหมาะกับบ้านเมืองเรา
มันเหมือนเราพยายามสร้างสูตรสำเร็จของการเลือกตั้งอยู่ตลอด แต่ไปๆ มาๆ เมื่อใช้ไประยะหนึ่งมันก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จ เพราะมันจะมีข้อทักท้วง หรือมีปัญหา มีประเด็นเกิดขึ้นมาอยู่ตลอด
ดังนั้น น่าจะมาคิดว่าวิธีการที่เราจะสร้างสูตรสำเร็จอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงประเด็น การร่างรัฐธรรมนูญจึงน่าจะกำหนดเพียงแค่หลักการเอาไว้เท่านั้น ส่วนวิธีการเลือกตั้งน่าจะไปอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อได้พิสูจน์สักระยะหนึ่งว่าดีจริงหรือไม่ ใช้ได้จริงไหม แทนที่ไปคิดว่ามันดี แต่พอไม่ดีจริงก็แก้กันไม่ได้กลายเป็นปัญหาอยู่ตลอด
หลักการต่างๆ เหล่านี้น่าจะไปอยู่ในบทเฉพาะกาล ในช่วงเวลาที่จำกัด ไม่ควรไปอยู่ในเนื้อของรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ทดลองแล้วสักครั้งสองครั้งก็ไปเขียนในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ น่าจะดีกว่า และการเลือกตั้ง เวลาที่เราทดลองใช้ก็น่าจะสัก 2 ปี ไม่ควร 4 ปีเลย น่าจะมีการเลือกตั้ง 2 ปีสัก 2-3 ครั้งเพื่อพิสูจน์สิ่งที่กำลังคิดว่าดีจริงหรือ ใช้ได้จริงหรือไม่ ไม่อย่างนั้นประเทศไทยก็เป็นหนูทดลองยากันอยู่ตลอด
ส่วนเรื่องอื่นๆ ถ้าเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่าน เช่น ส.ว. ที่มานายกฯ ถ้าในช่วงเวลานี้เรายังไม่มั่นใจว่าอันไหนดีที่สุด เราก็เปิดช่องเอาไว้ก่อน รายละเอียดในช่วงของการแก้ปัญหาประเทศนั้นน่าจะไปอยู่ในบทเฉพาะกาลก่อน ดีกว่าไปตั้งเป้าเขียนแล้วเกิดความขัดแย้ง
ส่วนเรื่อง ส.ว.ก็ต้องดูโมเดลของเดิมด้วย แต่ถ้าไม่อยากให้มีอำนาจมากก็อย่าไปให้เรื่องถอดถอน ให้การถอดถอนไปอยู่ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพราะถ้าให้อำนาจ ส.ว. ทาง ส.ว.ก็จะถูกแทรกแซงอีก
สำหรับ เรื่ององค์กรอิสระ ต้องมีการจัดสรรอำนาจให้สมดุล ให้ถ่วงดุลและคานอำนาจกันได้ ไม่ใช่เทน้ำหนักไปที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมากจนเกินไป
นอกจากนี้ เรื่องกระบวนการยุติธรรมก็ต้องมีเสนอว่าต้องไม่สองมาตรฐาน ต้องสร้างมาตรฐานให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยอมรับนับถือ ประชาชนมั่นใจได้ และทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย เช่น มีศาลอำเภอ เป็นต้น
'เพื่อไทย"เสนอ"กรธ'3 ข้อโมเดล รธน.
มติชนออนไลน์ :วันที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
หมายเหตุ - พรรคเพื่อไทย (พท.) ส่งจดหมายเปิดผนึกข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ
1.ทำไมจึงต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศไปจากรัฐบาลประชาธิปไตย ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับ และจัดตั้งองค์กรหรือคณกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับใหม่เกิดมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นรัฐธรรมนูญที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากล เคารพในสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม สร้างดุลยภาพ ระบบตรวจสอบที่เหมาะสมและความรับผิดชอบของทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ให้การเคารพในอำนาจตัดสินใจของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการของรัฐของประชาชน เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และผลักดันการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าจะเป็นไปได้หรือ
รัฐประหารในปี 2549 ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 เห็นได้ชัดว่ามีกับดักมากมายในการบริหารประเทศ มีการสร้างองค์กรสำคัญต่างๆ โดยระบบสรรหา มิได้มีความยึดโยงกับประชาชน มีการยุบพรรคการเมือง การให้นายกรัฐมนตรีถึงสามคนพ้นจากตำแหน่ง การตัดสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นใดๆ ไม่ได้รับแจ้งข้อหาหรือมีสิทธิต่อสู้คดีตามครรลองของกระบวนการยุติธรรม
ก่อนรัฐประหารปี 2557 ศาลบางศาล องค์กรอิสระหลายองค์กรไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามหลักนิติธรรม มิได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนไปตามกรอบของประชาธิปไตยและกติกาของบ้านเมืองโดยปราศจากอคติ มีการบุกยึดสถานที่ราชการต่างๆ พรรคฝ่ายค้านก็ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเหมือนก่อนรัฐประหาร 2549 กลุ่มต่อต้านรัฐบาลขัดขวางการเลือกตั้งทุกวิถีทางจนนำไปสู่ความรุนแรงมีคนตายและบาดเจ็บ และมีการประกาศปิดหรือชัตดาวน์กรุงเทพมหานคร หลายองค์กรเป็นหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นศาลบางศาลหรือแม้แต่หน่วยงานด้านความมั่นคง กลับไม่ทำหน้าที่รักษากฎหมายอย่างที่พึงกระทำ
2.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องตอบโจทย์อะไร
การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารให้เหตุผลว่ากระทำไป "เพื่อให้สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี ตลอดจนเพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย" และยังมีประกาศฉบับที่ 33/2557 ขอความร่วมมือในการปฏิบัติของศาล องค์กรอิสระและองค์กรอื่น ในการงดแสดงความคิดเห็นที่อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด มีความสับสนหรือเกิดการแตกความสามัคคี
อีกทั้ง ได้กล่าวไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ว่า "ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วางกติกาการเมืองให้รัดกุม เหมาะสม ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเป็นธรรม"
ครั้นเมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กลับพบว่า 1.มีการสืบทอดอำนาจ ขัดหลักการประชาธิปไตยพื้นฐาน เช่น การสร้างระบบเลือกตั้งและกลไกจำกัดอำนาจการทำงานตามปกติของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก การกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 123 คน จาก 200 คน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เพื่อสืบทอดอำนาจ การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระและองค์กรต่างๆ ที่ถูกตั้งไว้ในช่วงการรัฐประหารและภายหลังการเลือกตั้ง เป็นกลไกที่มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ การเพิ่มองค์กรและคณะกรรมการใหม่ๆ ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอีกไม่น้อยกว่า 20 องค์กร การกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากมาก เป็นต้น
2.การอ้างหลักนิติธรรมและนิยามความหมาย แต่เนื้อหาหลักกลับทำลายหลักนิติธรรมทั้งหมด เช่น การกำหนดให้การใช้อำนาจในกรณีจำเป็นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ครอบคลุมได้ทั้งทางนิติบัญญัติและบริหาร และให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด การกำหนดให้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือหัวหน้า คสช. หรือการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่ง เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด และห้ามฟ้องร้องอีกด้วย 3.การจำกัดสิทธิของผู้เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง หรือเคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งมาแล้วในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ทั้งๆ ที่ผู้ที่เคยถูกถอดถอนหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองในอดีตเกือบทั้งหมดไม่มีโอกาสในการต่อสู้คดีและถูกลงโทษย้อนหลัง จึงเป็นการลงโทษซ้ำในความผิดที่เขาไม่ได้กระทำ และไม่มีการดำเนินกระบวนการพิจารณาตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด ในที่สุดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จนเกิด กรธ.ชุดปัจจุบันนี้ขึ้น ดังนั้น โจทย์สำคัญที่ต้องตอบคือ เราจะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล หรือจะร่างรัฐธรรมนูญโดยมีเป้าหมายทางการเมือง
3.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีและไม่ควรมีเนื้อหาสาระอะไร
ประธาน กรธ.ได้กล่าวบ่อยครั้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีความเป็นสากล ขณะเดียวกันต้องผสานความเป็นไทยเข้าไปด้วย พรรคเพื่อไทยขอเสนอว่า 1.รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นสากลคือ รัฐธรรมนูญที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และให้ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินใจทั้งในการเลือกตั้งทุกรูปแบบ และการมีส่วนร่วมอื่นๆ เช่น การลงประชามติ การเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมาย ฯลฯ อย่างแท้จริง องค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ศาลหรือองค์กรอิสระล้วนต้องมาจากประชาชนหรือเชื่อมโยงกับประชาชน 2.การจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ ในรัฐธรรมนูญตามหลักสากล ต้องเป็นไปอย่างมีดุลยภาพ มีความรับผิดชอบและถูกตรวจสอบได้ ไม่ให้องค์กรหนึ่งองค์กรใดอยู่เหนือองค์กรอื่น หรือกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง หรือการกำหนดให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอ จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.รัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับความเป็นไทยคือการเรียนรู้จากพัฒนาการรัฐธรรมนูญที่ตกผลึกเป็นเวลานานในช่วง 83 ปี โดยไม่ขัดแย้งกับหลักสากล เช่น การที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ประธานรัฐสภาต้องมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องสังกัดพรรคการเมือง การมีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการและองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ตีความและวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ระบบเลือกตั้งที่ประชาชนเข้าใจง่ายและสัมผัสได้ที่เคยปฏิบัติมาแล้ว
4.การบัญญัติให้ทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม เป็นสิ่งที่ดีและควรสานต่อ แต่ต้องมีวิธีการให้ประชาชนเข้าใจว่าหลักนิติธรรมที่ถูกต้องและเป็นสากลคืออะไร หลักนิติธรรมที่ถูกบิดเบือนเป็นอย่างไร ต้องกำหนดให้มีระบบและกลไกตรวจสอบศาลและองค์กรอิสระ การกำหนดให้บุคลากรระดับสูง ฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะ ไม่ใช่กำหนดแต่รัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาเช่นที่ผ่านมา การรายงานผลการดำเนินงานของศาลและองค์กรอิสระต่อรัฐสภา เป็นต้น 5.ต้องกำหนดห้ามการนิรโทษกรรมแก่ผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญและสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 และต้องกำหนดให้บทบัญญัติเช่นนี้เป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
6.ต้องกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญนี้ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ภายใน 180 วัน หรือ 1 ปี ต้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรงทั่วประเทศ มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม จากนั้นไปทำประชามติ หากผ่าน ก็ไปสู่การบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้นต่อไป 7.การตัดสิทธิเลือกตั้งนักการเมืองหรือบุคคลใดก็ตามที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าประพฤติมิชอบหรือทุจริตการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผล แต่ต้องชัดเจนว่ากรณีนั้นๆ เกิดขึ้นตามระบบปกติ ไม่ใช่ผลพวงของการรัฐประหาร และบุคคลผู้ถูกตัดสิทธิต้องถูกดำเนินคดีโดยชอบ และจะต้องไม่กำหนดให้เป็นโทษย้อนหลัง มิเช่นนั้นก็จะขัดกับหลักนิติธรรม 8.ควรกำหนดไม่ให้บุคคลที่แสดงตนไม่ว่าทางความคิดเห็นหรือการกระทำใดโดยชัดแจ้งว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยและการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญ หรือได้ตำแหน่งหรือผลประโยชน์ใดๆ จากการรัฐประหาร ดำรงตำแหน่งใดๆ ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
9.การที่ กรธ.ประสงค์จะร่างรัฐธรรมนูญให้มีความกระชับ ไม่ลงรายละเอียดที่ปลีกย่อย นับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องให้มีความชัดเจนและตรงไปตรงมาในหลักการและกรอบต่างๆ มิเช่นนั้นผู้ที่จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก อาจอาศัยความไม่ชัดเจนและการซ่อนเงื่อน ไปกำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก จนไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยที่เป็นสากล
10.การปฏิรูปประเทศ ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาไปอย่างยั่งยืนนั้น ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังซึ่งกันและกัน การวิพากษ์ตนเอง การยอมรับที่จะปรับปรุงตนเอง การไม่ใช้อคติและการมีท่าทีที่ดีต่อกัน