บิ๊กตู่-ปู-กรธ. 3 ปมการเมืองร้อน
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 01 November 2015 19:22
- Published: Sunday, 01 November 2015 19:22
- Hits: 13152
บิ๊กตู่-ปู-กรธ. 3 ปมการเมืองร้อน การเมืองไทยสงบนิ่งอยู่ได้ไม่นาน
หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.ประกาศเดินหน้าโรดแม็ปใหม่ 20 เดือนภายใต้สูตร 6-4-6-4
พร้อมตั้ง สปท. 200 คน กรธ. 21 คน ขึ้นมารับธงภารกิจปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญ ต่อจาก สปช.และกมธ.ยกร่างฯ เดิม
ทุกอย่างเหมือนเริ่มเข้ารูปเข้ารอย
แกนนำรัฐบาลคสช.แจกแจงโรดแม็ปใหม่
จะนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ผ่านการออกเสียงทำประชามติ และจัดการเลือกตั้งได้ประมาณกลางปี 2560
ไม่เพียงให้สัญญาไว้กับประชาชน คนไทย พล.อ.ประยุทธ์ยังยืนยันเป็นสัญญาต่อประชาคมโลก ในการประชุมยูเอ็นที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนี้อีกด้วย
แต่ล่าสุดการเมืองกลับมากระเพื่อมแรงอีกครั้งจากหลายประเด็นร้อนที่ปะทุขึ้นมาพร้อมกัน
ไม่ว่าประเด็นพล.อ.ประยุทธ์พูดถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศว่า ถ้ายัง ไม่สงบตนเองก็ต้องอยู่ต่อ ถ้าจะต้องปิดประเทศก็ต้องทำ
ไม่ว่าประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญที่เริ่มลงไปแตะเรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งเรียกแขกนักการเมืองและพรรคการเมืองได้ไม่น้อย
รวม ถึงคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เชื่อมโยงไปถึงการเคลื่อนไหวของแนวร่วมเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง ที่มีการนัดแนะกันไว้ในวันที่ 1 พ.ย.นี้
แต่ละเรื่องแต่ละประเด็นล้วนมีส่วนเชื่อมโยงเกี่ยวพันแยกจากกันไม่ออก
เริ่มจากประเด็นร้อนกลางสัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในการประชุมใหญ่สมาชิกแม่น้ำ 5 สายและหัวหน้าส่วนราชการ รวมกว่า 700 คน
เนื้อหาเดี่ยวไมโครโฟน 2 ชั่วโมง 15 นาที สรุปไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่จากเนื้อหาที่เคยพูดทุกคืนวันศุกร์
พล.อ.ประยุทธ์ ขอความร่วมมือทุกฝ่าย โดยเฉพาะตัวแทนพรรคการเมืองให้เป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกภาพร่วมกันเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ร่วมกันทำให้ สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประเทศปลอดภัยมั่นคง มีอนาคตที่ดี ยั่งยืน ประชาชนมีความสุข ให้ไทยยืนหยัดในเวทีโลกได้
ทุกคนต้องช่วย กันแก้ปัญหาเดิม ไม่สร้างปัญหาใหม่ ก้าวข้ามกับดักประชาธิปไตย ก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่บิดเบือนหลักการประชาธิปไตย ต้องยอมรับกติกา
เพื่อป้องกันไม่ให้มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก และขอให้ทุกคนกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ตัวเอง
ไม่ใช่หนีคดีและไปกล่าวหาประเทศไทยอยู่ที่ต่างประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ทุกคดีที่อยู่ระหว่างฟ้องร้องได้ยึดตามกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ใช้รังแกใคร
พร้อมกับเตือนไปถึง ผู้ที่จะออกมาเคลื่อนไหวต่างๆ ว่าอย่ากระทำผิดกฎหมาย อย่าเพิ่งเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะวันนี้ตนเองถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่
นายกฯ ยังย้ำให้แม่น้ำ 5 สาย ประสานทำงานร่วมกันเพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศและการปฏิรูป 11 ด้านสอดคล้องไปด้วยกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด
ต้องหาแนวทางบูรณาการ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งที่ดีและยุติธรรมที่สุด
แต่ประโยควรรคทองให้สื่อหลายฉบับจับมาเป็นประเด็นพาดหัว
"ฝ่าย การเมืองไม่ต้องระแวง ผมไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ แต่หากประเทศยังไม่สงบเรียบร้อย ผมก็ยังต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อไป หากจะต้องปิดประเทศก็ต้องทำ ที่พูดไม่ได้ท้าทาย หากจะเอาประชาชนออกมา คนที่พูดมากๆ หรือคนที่เป็นแกนนำจะโดนก่อนเพราะผมมีอำนาจอยู่"
สิ้นเสียงก็จุดกระแสการเมืองร้อนฉ่า
จน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายมั่นคง ต้องรีบออกมาเคลียร์กระแสไม่ให้ลุกลาม
อ้างที่นายกฯ พูดหมายถึงสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งรุนแรง เกิดเหตุวุ่นวาย ออกมาตีกันจนมีคนตาย ทำให้โรดแม็ปเดินต่อไปไม่ได้
ส่วน สถานการณ์ตอนนี้ ทางการข่าวไม่มีปัจจัย บ่งชี้ว่าเลวร้ายถึงขนาดนั้น ประเทศกำลังเดินไปได้ดี จึงอย่าไปคิดมาก หรือมองภาพให้เลอะเทอะ
อย่าง ไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่า คำขู่ของพล.อ.ประยุทธ์พูดขึ้นมาในห้วงเวลาตรงกับแนวร่วมเครือข่ายฝ่ายต่อ ต้านนัดแนะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ 1 พ.ย.
ใส่เสื้อแดงให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำลังประสบชะตากรรมถูกลากขึ้นเขียง สังเวยคดีจำนำข้าวทั้งทางอาญาและทางแพ่ง
ขณะ ที่ตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ออกเดินสายทำบุญในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลาง เรียกคะแนนความเห็นใจจากชาวบ้านได้เป็นกอบเป็นกำ
ล่า สุดเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เรียกโจทก์และจำเลย เข้าตรวจพยานหลักฐานเป็นที่เรียบร้อย
นัดเปิดไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ 14 ปาก นัดแรก 15 ม.ค. ถึง 23 มี.ค.59 และนัดไต่สวนพยานฝ่ายจำเลย 42 ปาก เริ่ม 1 เม.ย. ไปจนถึง 18 พ.ย.59
ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตัดสิน
ตัด ฉากข้ามไปยังการร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรธ.ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน คืบหน้าต่อเนื่องตามธงภารกิจ เริ่มมีสัญญาณเรียกแขกให้เห็น
กับแนวทางออกแบบระบบเลือกตั้งส.ส.แบบเขตและบัญชีรายชื่อ ที่กรธ. เรียกว่า "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม"
วิธี การ ประชาชนจะกาบัตรเลือกตั้งแค่ 1 ใบเพื่อเลือกส.ส.แบบเขต ส่วนคะแนนของผู้แพ้แต่ละเขต ให้นำไปใช้คิดคำนวณเป็นคะแนนของส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยคะแนนของส.ส.ที่ชนะแบบเขตจะไม่ถูกนำไปนับรวม
กรธ.ยกตัวอย่างเทียบ กับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีคะแนนผู้ลงสมัครแบบเขตที่แพ้ ทั้งสิ้น 17 ล้านเสียง ถ้านำไปหารกับ จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน ผลคือเสียงที่แพ้ 136,000 คะแนน จะได้ส.ส.บัญชี รายชื่อ 1 คน
จากนั้นก็ไปดูว่าแต่ละพรรคมีคะแนนที่แพ้แบบเขตพรรคละเท่าไร ก็จะได้ตัวเลขว่าพรรคนั้นจะมีส.ส.บัญชีรายชื่อได้กี่คน
กร ธ.อ้างว่าระบบเลือกตั้งส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสมนี้ ทำให้ทุกคะแนนเสียงประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สูญเปล่า รวมถึงคะแนนโหวตโน
แต่ทั้งนี้เป็นแนวคิดสวนทางกับพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค
พรรค ประชาธิปัตย์ระบุ การนำเฉพาะคะแนนคนแพ้ในระบบเขต มาคำนวณเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยไม่นำคะแนนของผู้ชนะมารวมนั้น ทำให้เกิดการบิดเบือนเจตนารมณ์ประชาชนผู้ลงคะแนน
ด้านพรรคเพื่อไทย เชื่อว่า ระบบเลือกตั้งสูตรใหม่ของกรธ. เจตนากระจายส.ส.ไปยังพรรคขนาดรองและขนาดเล็ก ตัดตอนพรรคเพื่อไทยไม่ให้ได้รับชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
เพื่อ บังคับทิศทางให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ส่งผลต่อไปถึงขั้นตอนการเลือกตัวนายกฯ ที่จะเกิดการสร้างอำนาจต่อรอง เป็นปัญหาไม่ลงตัวตามมา
ถึงเวลาสถานการณ์จะถูกบีบให้เข้าล็อกการมี นายกฯคนนอก ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจัดทำอยู่เขียนเปิดช่องไว้แล้ว
สืบต่อกันเนียนๆ พ้นจากข้อครหาทั้งหลายทั้งปวง...
วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น.