WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กระสวน การเมือง กระบวนต้าน รัฐประหาร ลีลา ทหาร ตำรวจ

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์


กระสวน การเมือง กระบวนต้าน รัฐประหาร ลีลา ทหาร ตำรวจ 

       ตลอด 1 เดือนภายหลังการรัฐประหารนับแต่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม เป็นต้นมา ด้าน 1 เราเห็นการออกมาต่อต้าน แสดงความไม่เห็นด้วยในรูปแบบต่างๆ 

      ขณะเดียวกัน ด้าน 1 เราก็เห็นปฏิบัติการของตำรวจ ของทหาร 

      การโรมรัน พันตู ระหว่างฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหว กับ ฝ่ายที่รักษากฎหมาย รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎอัยการศึก จึงดำเนินไปด้วยความเข้มข้น 

     เข้มข้นกระทั่ง พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน มากด้วยความมั่นใจ

      มากด้วยความมั่นใจว่า กระบวนการต่อต้านถดถอย น้อยลง จากที่เคยมีเป็นพัน เป็นร้อย และเหลือเป็นสิบ 

 ซึ่งก็เป็นความจริง 

      กระนั้น ภายในภาวะถดถอย น้อยลงของฝ่ายซึ่งออกมาเคลื่อนไหว ก็ปรากฏบางแง่บางมุมอันควรพิจารณากันอย่างละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษ

      ละเอียดรอบคอบเพื่อเป็น บทเรียน

      ต้องยอมรับว่า ความเฉียบขาดของตำรวจและทหารในการตั้งรับทำให้ฝ่ายซึ่งออกมาเคลื่อนไหวอยู่ในภาวะแทบขยับอะไรไม่ได้มากนัก

      เพราะขืนขยับก็ต้องถูกจับ

       กระนั้น ภายในการบริหารจัดการเรื่องนี้ก็มีข้อน่าสังเกตเหมือนกันว่า ไปๆ มาๆ เป็นฝ่ายเคลื่อนไหวถูกจำกัดกรอบเพราะฝีมือของตำรวจและทหาร หรือเป็นเพราะว่าตำรวจและทหารกำลังเต้นไปตาม เกม อันฝ่ายนั้นจัดวางและกำหนดกันแน่

      เพราะเอาเข้าจริงๆ ฝ่ายต่อต้านก็ไม่ได้ทำอะไรมาก

      เพียงปล่อยข่าวผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ว่าจะทำอย่างนั้น ว่าจะทำอย่างนี้ ฝ่ายตำรวจและทหารต่างหากที่ตระเตรียมอย่างขนานใหญ่กระทั่งกลายเป็นเรื่องอึกทึกครึกโครม

      ทั้งๆ ที่เข้าลักษณะ จรยุทธ์ มากกว่าจะเป็น แบบแผน

       จุดละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์เข้าจับกุมหนุ่มตุ้ยนุ้ยฟังเพลงชาติฝรั่งเศสพร้อมกับกินแซนด์วิชและอ่านหนังสือ 1984

      ทำให้เห็นว่าเพียง 1 ภาพ 1 คนนั้นเสียงดังเป็นอย่างมาก

      เพราะไม่เพียงแต่ห้ามอ่านหนังสือ ห้ามกินแซนด์วิช หากแต่ยังมีการลากถูลู่ถูกังไปตามพื้นปรากฏออกไปทั่วโลก

     กระทั่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ออกมาเตือน

      ให้พิจารณาเป็นกรณีว่า มีความจำเป็นที่ต้องเข้าจับกุมทันทีหรือไม่ เพราะอยู่ท่ามกลางสาธารณชน

      ย่อมมากด้วยความอ่อนไหว ย่อมมากด้วยความละเอียด

      จำนวนคนเคลื่อนไหวต่อต้านมี ปริมาณ น้อยลงอย่างแน่นอน แต่ความครึกโครมยังดำรงอยู่

      ที่ดำรงอยู่มิใช่เพราะว่ามีการต่อต้านขยายตัวออกไป ตรงกันข้าม ที่ดำรงอยู่เพราะกระบวนการบริหารจัดการของตำรวจเป็นด้านหลัก ทหารเป็นด้านเสริมในแต่ละคราว

        มากด้วยความละเอียด มากด้วยความอ่อนไหว...

วิเคราะห์ ....ย่างก้าวคสช. ก่อนเข้าสู่'สเต็ปที่2' มรสุมจาก'นอกรั้ว'

.

 

 


วิเคราะห์ (ที่มา:มติชนรายวัน 29 มิ.ย.57)


เข้าสู่เดือนที่สองของการเมืองภายใต้"คณะรักษาความสงบแห่งชาติ"หรือ คสช.

กระแสข่าวจาก คสช.ยืนยันความพอใจว่า 1 เดือนที่ผ่านมา คสช.สามารถคุมสถานการณ์ของประเทศได้ระดับหนึ่ง

มาตรการคืนความสุขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสงบในสังคม ถ่ายทอดฟุตบอลโลกให้ดูฟรี แจกตั๋วหนัง และอื่นๆ กลายเป็นตัวเลขในโพลที่น่าพอใจ

เป็นเชื้อเพลิงให้พุ่งตรงเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ตามโรดแมปบันไดสามขั้นของ คสช.ได้ไม่ยาก

ขั้นตอนที่สองจะเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้

เพื่อให้ทำหน้าที่รัฐสภา ซาวเสียง เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม ให้ประธานสภาฯ นำขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

แต่อุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่น้อย โดยเฉพาะจากนอกรั้วบ้าน


อุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นไฟต์บังคับของ "คณะรัฐประหาร" โดยแท้

ไม่ว่าคณะรัฐประหารยุคไหนๆ ก็หนีไม่พ้น ยังไงๆ ต้องเจอ

รสช.เมื่อปี 2535 ผ่านสถานการณ์นี้มาแล้ว คมช.เมื่อปี 2549 ถือว่าหนักหน่วงอย่างเงียบๆ

คราวนี้ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช.แห่งปี 2557 ก็หนีไม่พ้นเช่นกัน

นั่นคือ ท่าทีจากต่างประเทศ ที่ออกตัวแรงและรักษาระดับรุนแรงยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา

ที่ประกาศยกเลิกความช่วยเหลือและความร่วมมือทางทหาร

ถึงขนาดเสนอให้ยกเลิกการฝึกร่วมคอบร้าที่จัดติดต่อกันมาหลายปี

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐได้แถลงรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ที่ลดอันดับประเทศไทยลงไปอยู่ในระดับ 3 ในกลุ่มประเทศที่ได้ชื่อว่าไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ กม.ป้องกันการค้ามนุษย์ของสหรัฐ

แม้ภายหลังการแถลงรายงานดังกล่าว ทูตสหรัฐประจำประเทศไทย คริสตี้ เคนนีย์ ได้เข้าพบ พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. เพื่้อชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง และเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลก่อนๆ

แต่ภาระในการแบกรับความเสียหายและการแก้ไขปัญหาก็ตกอยู่บนบ่าของ คสช.อย่างปฏิเสธไม่ได้

ล่าสุด เป็นท่าทีของกลุ่มรัฐมนตรีต่างประเทศ ประชาคมยุโรป หรือ "อียู" ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารในไทย และเรียกร้องให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เลิกการเรียกคนมารายงานตัว ยุติการควบคุมตัวผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง และจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้มีรัฐบาลที่มาจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว

เป็นอีกเรื่องที่เขย่าสถานภาพของ คสช.

ท่าทีคัดค้านการรัฐประหารจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ล้วนแต่เป็นมิตรประเทศที่คบค้ามายาวนาน เป็นเรื่องที่ยากจะบิดให้เป็นเรื่องการแทรกแซงหรือมีเบื้องหลังอันสลับซับซ้อน

เหตุผลง่ายๆ ตรงไปตรงมา ก็คือ ประเทศต่างๆ ยึดถือเป็นมาตรฐานเหนียวแน่นว่า การรัฐประหาร แก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีทางการทหาร เป็นวิธีการที่ขัดแย้งและตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่อาจยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม คสช.ได้ใช้วิธีทางการทูต จับเข่าเจรจา ขอทำความเข้าใจ เน้นย้ำ "ความจำเป็น" ที่ต้องใช้ "ยาแรง"

ขยายการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศที่เห็นอกเห็นใจ อย่างจีน อาเซียน และประเทศในเอเชียด้วยกันอย่างเกาหลี ซึ่งแน่นอนว่าประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

พยายามอยู่ในกรอบที่ไม่ทำให้สถานการณ์เลยเถิด

ทำให้ความพยายามปลุกกระแสต่อต้านต่างประเทศ จุดไม่ติด

แต่ก็ตามมาด้วยการบ้านและภาระหนัก นั่นคือ การตามสกัดและแก้ไขผลเสียหายทางเศรษฐกิจและการเมืองที่จะเกิดจากมาตรการของต่างชาติที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

ไม่เฉพาะกระแสต้านจากมิตรประเทศ แต่จากกลุ่มที่เห็นต่างภายในประเทศเองก็ถือว่าเป็นภาระที่ต้องขบคิดเช่นกัน

ดังที่มีข่าวการประกาศจัดตั้งกลุ่มเสรีไทย เมื่อ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายจักรภพ เพ็ญแข หนึ่งในแกนนำที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

การไล่ปราบกลุ่มที่เห็นต่างคงไม่สะดวกง่ายดาย โดยเฉพาะในขณะที่ประเทศต่างๆ เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้เดินในเส้นทางเดียวกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ

อาจจะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กับการต่อต้านด้วยซ้ำไป

กลุ่มที่เห็นต่างไม่ได้มีเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเท่านั้น

แต่ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนการเข้ามาของ คสช. และเห็นว่า คสช.มัวแต่เล่นเรื่องเล็กๆ หาเสียงฉาบฉวย พร้อมกับเรียกร้องให้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตัดสินใจในเรื่องที่ทำได้ยากในสภาพปกติ ก็ยังมีเช่นกัน

เป็นแรงบีบที่มาจากหลายทิศหลายทาง ทั้งจากในประเทศ นอกประเทศ จากกลุ่มต่อต้านและกลุ่มสนับสนุน

ทำให้ย่างก้าวของ คสช.ต่อจากนี้ไปไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

สถานการณ์อาจเลวร้ายมากขึ้น หรืออาจดีขึ้น ล้วนแต่เป็นไปได้ทั้งสิ้น

ขึ้นกับหลักในการคิดว่า ปัญหาบ้านเมืองเป็นของใคร ผู้ที่จะตัดสินชะตากรรมของประชาชนควรจะเป็นคณะบุคคล หรือประชาชนโดยรวม

ซึ่งจะสะท้อนผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งการจัดทัพข้าราชการ การจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การตั้งนายกฯ การจัด ครม. และการปฏิรูปที่จะตามมา

เชื่อว่า ทุกฝ่ายรออ่าน 'สัญญาณ'จาก คสช.อยู่อย่างใจจดจ่อ................

โจทย์หิน คสช. แรงสะท้อน ภายนอก แรงกด ต่างประเทศ

(ที่มา:มติชนรายวัน 26 มิ.ย.57)   

   ขณะที่สถานการณ์ในประเทศเหมือนจะ "เอาอยู่" เพราะถึงจะยังมีปฏิกิริยาต่อต้านการรัฐประหาร แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใหญ่ที่ถึงขั้นเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

   สมรภูมิที่ คสช. ตกเป็นรองมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้น และยังไม่มีทีท่าว่าสามารถตีตื้นขึ้นมาได้ คือแนวรบด้านต่างประเทศ

   หลังจากที่สงวนท่าทีหรือแสดออกเป็นนัยๆ ว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม

   ในช่วงสัปดาห์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ปฏิกิริยาของรัฐบาลประเทศมหาอำนาจ-โดยเฉพาะตะวันตก ต่อไทย เพิ่มความร้อนแรงมากขึ้น

   รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ "แสดงความกังวล" ผ่านทั้งกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตสหรัฐในไทยมาโดยตลอด

     ก็แถลงว่าลดอันดับประเทศไทยในบัญชีประเทศที่มีการ "ค้ามนุษย์" ลงระดับ 2 ไปสู่ระดับ 3

      ตามหลังจากที่หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนของอังกฤษ ที่เข้ามาฝังตัวทำข่าวการค้ามนุษย์ในเมืองไทยอยู่ 6 เดือน เพิ่งเสนอข่าวใหญ่ไปก่อนหน้าไม่กี่วัน

     ล่าสุด ก็คือคำแถลงของสหภาพยุโรป (อียู) ที่รวมความได้ว่าเป็นการ "ลดระดับความสัมพันธ์" ของทั้งสองฝ่ายลงมา

    และยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการหรือผลกระทบที่ติดตามมาจะมีอะไรอีก

     24 มิ.ย. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก โฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีที่อียูออกมาตรการระงับความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้า คสช. เน้นย้ำให้สร้างความเข้าใจกับต่างประเทศต่อไปตามที่ได้ทำมา ผ่านช่องทางของทุกกระทรวง

     ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานโฆษก คสช. กล่าวว่า ผิดหวังกับแถลงการณ์ดังกล่าว และอยากเรียกร้องให้อียูทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ประกาศ

    "ผมคิดว่า อียูควรมองกลับไปดูความขัดแย้งในสังคมไทยที่ผ่านมา และมองดูโรดแมปที่ คสช. ดำเนินการ รวมถึงกรอบเวลา ซึ่งทางอียูเองต้องให้เวลาเราพอสมควร เพราะความขัดแย้งของไทยยาวนานกว่า 10 ปี

     "หากจะแก้ไขก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร"

      วันเดียวกันในที่ประชุม คสช. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในการประชุมว่า ปัจจุบันงานของ คสช.มีหลายเรื่องที่ต้องเดินหน้าไปด้วยความรวดเร็ว ต้องลดขั้นตอนลง เพราะการดำเนินงานของ คสช.ยังมีปัญหาในการขับเคลื่อน

     แม้สหรัฐและยุโรปจะมีท่าทีคัดค้านการเข้าบริหารงานของ คสช.อยู่บ้าง แต่เราก็ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของประเทศไทยด้วย

     ท่าที "ไม่อ่อน-ไม่แข็ง" ของหัวหน้า คสช. ถูกตีความไปตามความเชื่อและความชอบของแต่ละฝ่ายที่จับจ้อง

     แต่ที่ไม่พึงละเลยก็คือ การพิจารณายุทธศาสตร์ในการ "รับศึกนอก" ของ คสช. นั้น จะพิจารณาเฉพาะคำพูดของหัวหน้า คสช. หรือคณะโฆษกไม่ได้

     หากจะต้องนำความเคลื่อนไหวที่เป็นจริงเข้ามาประกอบ

     อาทิ การที่หัวหน้า คสช.ลงมาพบปะกับหอการค้าต่างประเทศด้วยตนเอง

     การที่โฆษก คสช. เชิญทูตทหารประจำประเทศไทยเข้าประชุมชี้แจงแล้ว 2 ครั้ง

     หรือการที่ พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค ไม่เหนื่อยหน่ายกับการชี้แจงสื่อต่างประเทศสารพัดสำนัก

     แม้ปฏิกิริยาตอบรับจะไม่เป็นที่น่าชื่นใจเท่าใด

     แต่ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ คสช. คาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้อยู่แล้ว ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง

    11 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ร่วมประชุมกับเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทย ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐ ออสเตรเลีย รวม 23 คน เพื่อนำข้อมูลไปสร้างความเข้าใจกับประเทศต่างๆ

    พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่าการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองในครั้งนี้อาจจะมีบางประเทศที่ไม่เห็นด้วย และเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกประเทศเห็นชอบด้วยทั้งหมด และไม่ใช่เรื่องที่ไทยจะไปต่อต้านหรือประท้วงประเทศที่ไม่เห็นด้วย

    แต่ต้องมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจกับประเทศเหล่านั้นให้ได้

    ศึกหนักต่างประเทศยังตึงมือ แต่หลบก็ไม่ได้ หนีก็ไม่ได้

    มีแต่ต้องเดินหน้าไปเผชิญด้วยสติและการทำการบ้านที่ละเอียดครบถ้วน...........

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 01:50 น.  ข่าวสดออนไลน์ 


นักวิชาการชั้นนำ เสนอวิธีลดแรงกดดันจากต่างชาติ

รายงานพิเศษ 

 
     ปฏิกิริยาของชาติตะวันตกทั้งจากสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) 

      อันเนื่องมาจากการเข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย 

      แม้ยังไม่รุนแรงถึงขั้น "คว่ำบาตร" แต่ก็ไม่อาจเพิกเฉย 

      คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำอย่างไรเพื่อลดแรงกดดันจากต่างชาติ ?

อัครพงษ์ ค่ำคูณ 
ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

      ปฏิกิริยาจากต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติ หากมหาอำนาจฝั่งตะวันตกผู้กำหนดระเบียบโลกอย่างประชาธิปไตยนิ่งเฉย ก็จะส่งผลต่อสถานะการมีอำนาจนำของประชาคมโลกของเขาเอง 

      เมื่อดูในรายละเอียดที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาทบทวนความสัมพันธ์ทางการค้า อาทิ งดเว้นการนำเข้าอาหารทะเล อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการถูกปรับลดระดับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การให้ความช่วยเหลือในแง่ความมั่นคง เป็นต้น 

     ยังไม่ใช่มาตราการที่รุนแรงจริงจัง ผลกระทบที่ได้รับคือธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนเงินช่วยเหลือกองทัพก็แค่หลักร้อยล้านบาท ยังไม่ถึงขั้นคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง 

     สิ่งที่เกิดขึ้นจึงหมายถึงการชะลอหรือยับยั้งข้อตกลงที่เคยเจรจากัน และจะไม่คุยกันถึงอนาคตความสัมพันธ์และความร่วมมือ จนกว่าชาวไทยได้มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง 

      การปรับลดระดับความสัมพันธ์นี้ก็คล้ายกับกรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่เกิดขึ้นเมื่อไรเราก็เพียงแค่ปิดด่าน แต่ความร่วมมือด้านอื่นๆ ก็ยังมีอยู่ พอสถานการณ์ปกติก็เปิดด่านค้าขายข้ามผ่านกันตามปกติ 

      ในระยะสั้นผลกระทบน่าจะยังไม่มาก แม้สัดส่วนการค้าขายระหว่างไทยกับอียูและอเมริกามีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 50 ของการค้าทั้งหมด แต่ไทยขยายการค้ากับประเทศที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ ทั้งจีน อินเดีย และอาเซียน ที่มีสัดส่วนการค้าขายรวมกันประมาณร้อยละ 35 

      ประกอบกับมูลค่าการลงทุนของไทยในต่างประเทศที่ค่อนข้างสูง ก็ยังเชื่อว่าจะสามารถผ่านสถานการณ์ในระยะนี้ไปได้ 

      ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจต้องมีความเสรีเป็นธรรม โดยเฉพาะกับการลงทุนของบริษัทต่างประเทศ หากเกิดความไม่โปร่งใสในการบริหารเมื่อไร บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ก็มีพลังในการหว่านล้อมให้มหาอำนาจตะวันตกลดระดับความร่วมมืออีกได้ 

      หนทางออกจากปัญหามีทางเดียวคือคืนการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องหลักที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจและไม่ไว้ใจต่อประเทศคู่ค้าและนักลงทุนชาวต่างประเทศ และนำมาสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องรอง 

      จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดท่าทีการบริหารประเทศให้ชัดเจน ทั้งเรื่องตัวผู้นำว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งเองหรือไม่ จะใช้ระยะเวลาเท่าไรกว่าจะมีการเลือกตั้ง 

      ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจแก่คนในประเทศและต่างประเทศ ที่จะสามารถกำหนดยุทธวิธีในด้านต่างๆ ตั้งแต่การใช้ชีวิต ตลอดจนถึงการทำการค้าขายได้ต่อไป 


จรัญ มะลูลีม 
หัวหน้าภาคสาขาวิชาการระหว่างประเทศ 
รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

      ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแสดงให้เห็นตลอดว่าสหรัฐอเมริกามี 2 มาตรฐาน เพราะในขณะที่สหรัฐ วิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารในไทย 

      ทั้งที่การรัฐประหารครั้งนี้สามารถอธิบายได้ว่าเพื่อยับยั้งความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และพรรคการเมืองไม่อยู่ในสถานะหรือมีอำนาจพอที่จะแก้ไขได้ 

       แต่ในขณะเดียวกันนั้น สหรัฐเองก็หนุนการรัฐประหารในประเทศอียิปต์ ประเทศแอลจีเรีย เนื่องจากผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้แก่อเมริกาได้ 

      แสดงให้เห็นว่า แนวคิดการต่างประเทศของสหรัฐจะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ การวิจารณ์ไทยหรือลดระดับความสัมพันธ์ก็เพื่อต้องแสดงให้ประเทศในอาเซียน เห็นว่าอเมริกาสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน 

     ซึ่งในทางปฏิบัตินับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐเข้าแทรกแซงประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20 ประเทศทั่วโลก สุดท้ายนำมาซึ่งความโศกเศร้าสูญเสียมากมาย เหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งคว่ำบาตรอิหร่าน ก่อนที่อเมริกาจะค่อยมาหาทางประนีประนอม 

     สำหรับ ประเทศไทยการเข้ามาของ คสช.แล้วสหภาพยุโรปและอเมริกาวิพากษ์วิจารณ์ก็เพราะไทยมีระบบตลาดเสรีมาช้านาน แนวทางการชี้แจงมีความจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ ไม่ใช่การตัดขาดหรือตอบโต้ เพราะหากมีการบอยคอตสินค้ารุนแรงขึ้นก็จะเป็นไทยที่มีปัญหา 

    คสช.ควรใช้วิธีการอธิบายชี้แจงเหตุผลถึงเหตุจำเป็นที่ต้องจัดการปัญหาด้วยวิถีทางการทูตมากกว่าความโกรธเคือง โดยการอธิบายชี้แจงที่ดีควรต้องย้ำว่า ท้ายสุดของกระบวนการแก้ปัญของประเทศจะมีการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ 

     เชื่อว่า ที่สุดสถานการณ์ในประเทศไทยจะสามารถคลี่คลายได้เหมือนในกรณีที่อเมริกาเคยโกรธอินเดียและปากีสถานมาก เมื่อมีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ 

     แต่ท้ายสุดอเมริกาก็กลับมามีความสัมพันธ์ดังเดิมกับ 2 ประเทศนี้ เนื่องจากให้ความช่วยเหลือกองทัพสำหรับการบุกอัฟกานิสถาน เพราะนโยบายการต่างประเทศสหรัฐวางอยู่บนหลักของผลประโยชน์แห่งชาติ

วรากรณ์ สามโกเศศ
นักเศรษฐศาสตร์

      มุมมองความเข้าใจและประสบการณ์ของชาวตะวันตกต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีสูงมาก โดยเฉพาะชาวอเมริกัน ดังนั้น ระดับการยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับ ส.ส.มีต่อกันสูงมาก ทำให้ ส.ส.เหล่านี้ต้องผลักดันเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐ ออกมาตรการกดดันไทย 
     หากมองในภาพกว้างของระดับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ที่เป็นมหามิตรกันมานานนับตั้งแต่สงครามเย็น ถามว่าสหรัฐอยากออกมาตรการกดดันระงับการช่วยเหลือไทยในด้านต่างๆ จริงหรือไม่ 
     โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผูกสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียเพื่อถ่วงดุลกับมหาอำนาจอย่างจีน เพราะสหรัฐมีมิตรแท้จริงเพียงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์และไทยเท่านั้น การออกมาปฏิเสธยังไม่ย้ายสถานที่ซ้อมรบคอบร้าโกลด์ของทูตสหรัฐ ก็น่าจะตอบคำถามข้างต้นได้เป็นอย่างดี 
     ขณะที่ท่าทีของบรรดาประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปที่ออกมา มองว่าความเป็นประชาธิปไตยน่าจะเป็นเรื่องรองจากสิทธิมนุษยชน การงดเว้นนำเข้าอาหารทะเล เกิดปัญหาจากสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างประเทศในไทย 
     หาก คสช.สามารถจัดการแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ก็น่าจะดีขึ้น และไม่มีผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีก 
      มาตรการกดดันต่างๆ ที่ออกมาจากฝั่งตะวันตกขณะนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องน่าตระหนกตกใจแต่อย่างใด เป็นการแสดงตามบทบาทของตัวเอง อีกทั้งในระดับการทูตแล้วการเจรจาพูดคุยไม่ได้มีแค่ทางสาธารณะ แต่ยังมีทางลับที่ยังคงพูดคุยเจรจาต่อกันอยู่ 
     เชื่อว่าสภาวะที่ไทยถูกดันจากชาติตะวันตกจะเกิดเพียงแค่ระยะสั้นๆ แล้วสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย โดยคาดจะเป็นการดำเนินการช่วงระยะที่ 2 ของโรดแม็ป คสช.
     ซึ่งจะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาล ซึ่งแม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่ภาพที่สะท้อนออกไปจะสามารถทำให้รัฐบาลสหรัฐนำไปใช้อธิบายกับพลเมืองตนเองได้ว่าไทยเริ่มปรับเปลี่ยนเส้นทางเดิน หันกลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว 
      ดังนั้น มาตรการการกดดันจึงสามารถผ่อนเบาลงได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากความเป็นมหามิตรระหว่างไทย-สหรัฐ นั่นเอง 

 



apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!