กระสวน การเมือง กระบวนต้าน รัฐประหาร ลีลา ทหาร ตำรวจ
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Monday, 30 June 2014 10:37
- Published: Monday, 30 June 2014 10:37
- Hits: 4681
วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
กระสวน การเมือง กระบวนต้าน รัฐประหาร ลีลา ทหาร ตำรวจ
ตลอด 1 เดือนภายหลังการรัฐประหารนับแต่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม เป็นต้นมา ด้าน 1 เราเห็นการออกมาต่อต้าน แสดงความไม่เห็นด้วยในรูปแบบต่างๆ
ขณะเดียวกัน ด้าน 1 เราก็เห็นปฏิบัติการของตำรวจ ของทหาร
การโรมรัน พันตู ระหว่างฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหว กับ ฝ่ายที่รักษากฎหมาย รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎอัยการศึก จึงดำเนินไปด้วยความเข้มข้น
เข้มข้นกระทั่ง พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน มากด้วยความมั่นใจ
มากด้วยความมั่นใจว่า กระบวนการต่อต้านถดถอย น้อยลง จากที่เคยมีเป็นพัน เป็นร้อย และเหลือเป็นสิบ
ซึ่งก็เป็นความจริง
กระนั้น ภายในภาวะถดถอย น้อยลงของฝ่ายซึ่งออกมาเคลื่อนไหว ก็ปรากฏบางแง่บางมุมอันควรพิจารณากันอย่างละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษ
ละเอียดรอบคอบเพื่อเป็น บทเรียน
ต้องยอมรับว่า ความเฉียบขาดของตำรวจและทหารในการตั้งรับทำให้ฝ่ายซึ่งออกมาเคลื่อนไหวอยู่ในภาวะแทบขยับอะไรไม่ได้มากนัก
เพราะขืนขยับก็ต้องถูกจับ
กระนั้น ภายในการบริหารจัดการเรื่องนี้ก็มีข้อน่าสังเกตเหมือนกันว่า ไปๆ มาๆ เป็นฝ่ายเคลื่อนไหวถูกจำกัดกรอบเพราะฝีมือของตำรวจและทหาร หรือเป็นเพราะว่าตำรวจและทหารกำลังเต้นไปตาม เกม อันฝ่ายนั้นจัดวางและกำหนดกันแน่
เพราะเอาเข้าจริงๆ ฝ่ายต่อต้านก็ไม่ได้ทำอะไรมาก
เพียงปล่อยข่าวผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ว่าจะทำอย่างนั้น ว่าจะทำอย่างนี้ ฝ่ายตำรวจและทหารต่างหากที่ตระเตรียมอย่างขนานใหญ่กระทั่งกลายเป็นเรื่องอึกทึกครึกโครม
ทั้งๆ ที่เข้าลักษณะ จรยุทธ์ มากกว่าจะเป็น แบบแผน
จุดละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์เข้าจับกุมหนุ่มตุ้ยนุ้ยฟังเพลงชาติฝรั่งเศสพร้อมกับกินแซนด์วิชและอ่านหนังสือ 1984
ทำให้เห็นว่าเพียง 1 ภาพ 1 คนนั้นเสียงดังเป็นอย่างมาก
เพราะไม่เพียงแต่ห้ามอ่านหนังสือ ห้ามกินแซนด์วิช หากแต่ยังมีการลากถูลู่ถูกังไปตามพื้นปรากฏออกไปทั่วโลก
กระทั่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ออกมาเตือน
ให้พิจารณาเป็นกรณีว่า มีความจำเป็นที่ต้องเข้าจับกุมทันทีหรือไม่ เพราะอยู่ท่ามกลางสาธารณชน
ย่อมมากด้วยความอ่อนไหว ย่อมมากด้วยความละเอียด
จำนวนคนเคลื่อนไหวต่อต้านมี ปริมาณ น้อยลงอย่างแน่นอน แต่ความครึกโครมยังดำรงอยู่
ที่ดำรงอยู่มิใช่เพราะว่ามีการต่อต้านขยายตัวออกไป ตรงกันข้าม ที่ดำรงอยู่เพราะกระบวนการบริหารจัดการของตำรวจเป็นด้านหลัก ทหารเป็นด้านเสริมในแต่ละคราว
มากด้วยความละเอียด มากด้วยความอ่อนไหว...
วิเคราะห์ ....ย่างก้าวคสช. ก่อนเข้าสู่'สเต็ปที่2' มรสุมจาก'นอกรั้ว'
.
โจทย์หิน คสช. แรงสะท้อน ภายนอก แรงกด ต่างประเทศ
(ที่มา:มติชนรายวัน 26 มิ.ย.57)
ขณะที่สถานการณ์ในประเทศเหมือนจะ "เอาอยู่" เพราะถึงจะยังมีปฏิกิริยาต่อต้านการรัฐประหาร แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใหญ่ที่ถึงขั้นเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
สมรภูมิที่ คสช. ตกเป็นรองมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้น และยังไม่มีทีท่าว่าสามารถตีตื้นขึ้นมาได้ คือแนวรบด้านต่างประเทศ
หลังจากที่สงวนท่าทีหรือแสดออกเป็นนัยๆ ว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม
ในช่วงสัปดาห์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ปฏิกิริยาของรัฐบาลประเทศมหาอำนาจ-โดยเฉพาะตะวันตก ต่อไทย เพิ่มความร้อนแรงมากขึ้น
รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ "แสดงความกังวล" ผ่านทั้งกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตสหรัฐในไทยมาโดยตลอด
ก็แถลงว่าลดอันดับประเทศไทยในบัญชีประเทศที่มีการ "ค้ามนุษย์" ลงระดับ 2 ไปสู่ระดับ 3
ตามหลังจากที่หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนของอังกฤษ ที่เข้ามาฝังตัวทำข่าวการค้ามนุษย์ในเมืองไทยอยู่ 6 เดือน เพิ่งเสนอข่าวใหญ่ไปก่อนหน้าไม่กี่วัน
ล่าสุด ก็คือคำแถลงของสหภาพยุโรป (อียู) ที่รวมความได้ว่าเป็นการ "ลดระดับความสัมพันธ์" ของทั้งสองฝ่ายลงมา
และยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการหรือผลกระทบที่ติดตามมาจะมีอะไรอีก
24 มิ.ย. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก โฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีที่อียูออกมาตรการระงับความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้า คสช. เน้นย้ำให้สร้างความเข้าใจกับต่างประเทศต่อไปตามที่ได้ทำมา ผ่านช่องทางของทุกกระทรวง
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานโฆษก คสช. กล่าวว่า ผิดหวังกับแถลงการณ์ดังกล่าว และอยากเรียกร้องให้อียูทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ประกาศ
"ผมคิดว่า อียูควรมองกลับไปดูความขัดแย้งในสังคมไทยที่ผ่านมา และมองดูโรดแมปที่ คสช. ดำเนินการ รวมถึงกรอบเวลา ซึ่งทางอียูเองต้องให้เวลาเราพอสมควร เพราะความขัดแย้งของไทยยาวนานกว่า 10 ปี
"หากจะแก้ไขก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร"
วันเดียวกันในที่ประชุม คสช. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในการประชุมว่า ปัจจุบันงานของ คสช.มีหลายเรื่องที่ต้องเดินหน้าไปด้วยความรวดเร็ว ต้องลดขั้นตอนลง เพราะการดำเนินงานของ คสช.ยังมีปัญหาในการขับเคลื่อน
แม้สหรัฐและยุโรปจะมีท่าทีคัดค้านการเข้าบริหารงานของ คสช.อยู่บ้าง แต่เราก็ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของประเทศไทยด้วย
ท่าที "ไม่อ่อน-ไม่แข็ง" ของหัวหน้า คสช. ถูกตีความไปตามความเชื่อและความชอบของแต่ละฝ่ายที่จับจ้อง
แต่ที่ไม่พึงละเลยก็คือ การพิจารณายุทธศาสตร์ในการ "รับศึกนอก" ของ คสช. นั้น จะพิจารณาเฉพาะคำพูดของหัวหน้า คสช. หรือคณะโฆษกไม่ได้
หากจะต้องนำความเคลื่อนไหวที่เป็นจริงเข้ามาประกอบ
อาทิ การที่หัวหน้า คสช.ลงมาพบปะกับหอการค้าต่างประเทศด้วยตนเอง
การที่โฆษก คสช. เชิญทูตทหารประจำประเทศไทยเข้าประชุมชี้แจงแล้ว 2 ครั้ง
หรือการที่ พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค ไม่เหนื่อยหน่ายกับการชี้แจงสื่อต่างประเทศสารพัดสำนัก
แม้ปฏิกิริยาตอบรับจะไม่เป็นที่น่าชื่นใจเท่าใด
แต่ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ คสช. คาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้อยู่แล้ว ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
11 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ร่วมประชุมกับเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทย ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐ ออสเตรเลีย รวม 23 คน เพื่อนำข้อมูลไปสร้างความเข้าใจกับประเทศต่างๆ
พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่าการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองในครั้งนี้อาจจะมีบางประเทศที่ไม่เห็นด้วย และเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกประเทศเห็นชอบด้วยทั้งหมด และไม่ใช่เรื่องที่ไทยจะไปต่อต้านหรือประท้วงประเทศที่ไม่เห็นด้วย
แต่ต้องมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจกับประเทศเหล่านั้นให้ได้
ศึกหนักต่างประเทศยังตึงมือ แต่หลบก็ไม่ได้ หนีก็ไม่ได้
มีแต่ต้องเดินหน้าไปเผชิญด้วยสติและการทำการบ้านที่ละเอียดครบถ้วน...........
วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 01:50 น. ข่าวสดออนไลน์
รายงานพิเศษ ปฏิกิริยาของชาติตะวันตกทั้งจากสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู)
อันเนื่องมาจากการเข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย แม้ยังไม่รุนแรงถึงขั้น "คว่ำบาตร" แต่ก็ไม่อาจเพิกเฉย คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำอย่างไรเพื่อลดแรงกดดันจากต่างชาติ ? อัครพงษ์ ค่ำคูณ ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ปฏิกิริยาจากต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติ หากมหาอำนาจฝั่งตะวันตกผู้กำหนดระเบียบโลกอย่างประชาธิปไตยนิ่งเฉย ก็จะส่งผลต่อสถานะการมีอำนาจนำของประชาคมโลกของเขาเอง เมื่อดูในรายละเอียดที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาทบทวนความสัมพันธ์ทางการค้า อาทิ งดเว้นการนำเข้าอาหารทะเล อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการถูกปรับลดระดับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การให้ความช่วยเหลือในแง่ความมั่นคง เป็นต้น ยังไม่ใช่มาตราการที่รุนแรงจริงจัง ผลกระทบที่ได้รับคือธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนเงินช่วยเหลือกองทัพก็แค่หลักร้อยล้านบาท ยังไม่ถึงขั้นคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงหมายถึงการชะลอหรือยับยั้งข้อตกลงที่เคยเจรจากัน และจะไม่คุยกันถึงอนาคตความสัมพันธ์และความร่วมมือ จนกว่าชาวไทยได้มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง การปรับลดระดับความสัมพันธ์นี้ก็คล้ายกับกรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่เกิดขึ้นเมื่อไรเราก็เพียงแค่ปิดด่าน แต่ความร่วมมือด้านอื่นๆ ก็ยังมีอยู่ พอสถานการณ์ปกติก็เปิดด่านค้าขายข้ามผ่านกันตามปกติ ในระยะสั้นผลกระทบน่าจะยังไม่มาก แม้สัดส่วนการค้าขายระหว่างไทยกับอียูและอเมริกามีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 50 ของการค้าทั้งหมด แต่ไทยขยายการค้ากับประเทศที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ ทั้งจีน อินเดีย และอาเซียน ที่มีสัดส่วนการค้าขายรวมกันประมาณร้อยละ 35 ประกอบกับมูลค่าการลงทุนของไทยในต่างประเทศที่ค่อนข้างสูง ก็ยังเชื่อว่าจะสามารถผ่านสถานการณ์ในระยะนี้ไปได้ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจต้องมีความเสรีเป็นธรรม โดยเฉพาะกับการลงทุนของบริษัทต่างประเทศ หากเกิดความไม่โปร่งใสในการบริหารเมื่อไร บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ก็มีพลังในการหว่านล้อมให้มหาอำนาจตะวันตกลดระดับความร่วมมืออีกได้ หนทางออกจากปัญหามีทางเดียวคือคืนการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องหลักที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจและไม่ไว้ใจต่อประเทศคู่ค้าและนักลงทุนชาวต่างประเทศ และนำมาสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องรอง จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดท่าทีการบริหารประเทศให้ชัดเจน ทั้งเรื่องตัวผู้นำว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งเองหรือไม่ จะใช้ระยะเวลาเท่าไรกว่าจะมีการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจแก่คนในประเทศและต่างประเทศ ที่จะสามารถกำหนดยุทธวิธีในด้านต่างๆ ตั้งแต่การใช้ชีวิต ตลอดจนถึงการทำการค้าขายได้ต่อไป จรัญ มะลูลีม หัวหน้าภาคสาขาวิชาการระหว่างประเทศ รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแสดงให้เห็นตลอดว่าสหรัฐอเมริกามี 2 มาตรฐาน เพราะในขณะที่สหรัฐ วิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารในไทย ทั้งที่การรัฐประหารครั้งนี้สามารถอธิบายได้ว่าเพื่อยับยั้งความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และพรรคการเมืองไม่อยู่ในสถานะหรือมีอำนาจพอที่จะแก้ไขได้ แต่ในขณะเดียวกันนั้น สหรัฐเองก็หนุนการรัฐประหารในประเทศอียิปต์ ประเทศแอลจีเรีย เนื่องจากผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้แก่อเมริกาได้ แสดงให้เห็นว่า แนวคิดการต่างประเทศของสหรัฐจะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ การวิจารณ์ไทยหรือลดระดับความสัมพันธ์ก็เพื่อต้องแสดงให้ประเทศในอาเซียน เห็นว่าอเมริกาสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งในทางปฏิบัตินับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐเข้าแทรกแซงประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20 ประเทศทั่วโลก สุดท้ายนำมาซึ่งความโศกเศร้าสูญเสียมากมาย เหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งคว่ำบาตรอิหร่าน ก่อนที่อเมริกาจะค่อยมาหาทางประนีประนอม สำหรับ ประเทศไทยการเข้ามาของ คสช.แล้วสหภาพยุโรปและอเมริกาวิพากษ์วิจารณ์ก็เพราะไทยมีระบบตลาดเสรีมาช้านาน แนวทางการชี้แจงมีความจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ ไม่ใช่การตัดขาดหรือตอบโต้ เพราะหากมีการบอยคอตสินค้ารุนแรงขึ้นก็จะเป็นไทยที่มีปัญหา คสช.ควรใช้วิธีการอธิบายชี้แจงเหตุผลถึงเหตุจำเป็นที่ต้องจัดการปัญหาด้วยวิถีทางการทูตมากกว่าความโกรธเคือง โดยการอธิบายชี้แจงที่ดีควรต้องย้ำว่า ท้ายสุดของกระบวนการแก้ปัญของประเทศจะมีการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ เชื่อว่า ที่สุดสถานการณ์ในประเทศไทยจะสามารถคลี่คลายได้เหมือนในกรณีที่อเมริกาเคยโกรธอินเดียและปากีสถานมาก เมื่อมีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ท้ายสุดอเมริกาก็กลับมามีความสัมพันธ์ดังเดิมกับ 2 ประเทศนี้ เนื่องจากให้ความช่วยเหลือกองทัพสำหรับการบุกอัฟกานิสถาน เพราะนโยบายการต่างประเทศสหรัฐวางอยู่บนหลักของผลประโยชน์แห่งชาติ วรากรณ์ สามโกเศศ นักเศรษฐศาสตร์ มุมมองความเข้าใจและประสบการณ์ของชาวตะวันตกต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีสูงมาก โดยเฉพาะชาวอเมริกัน ดังนั้น ระดับการยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับ ส.ส.มีต่อกันสูงมาก ทำให้ ส.ส.เหล่านี้ต้องผลักดันเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐ ออกมาตรการกดดันไทย หากมองในภาพกว้างของระดับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ที่เป็นมหามิตรกันมานานนับตั้งแต่สงครามเย็น ถามว่าสหรัฐอยากออกมาตรการกดดันระงับการช่วยเหลือไทยในด้านต่างๆ จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผูกสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียเพื่อถ่วงดุลกับมหาอำนาจอย่างจีน เพราะสหรัฐมีมิตรแท้จริงเพียงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์และไทยเท่านั้น การออกมาปฏิเสธยังไม่ย้ายสถานที่ซ้อมรบคอบร้าโกลด์ของทูตสหรัฐ ก็น่าจะตอบคำถามข้างต้นได้เป็นอย่างดี ขณะที่ท่าทีของบรรดาประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปที่ออกมา มองว่าความเป็นประชาธิปไตยน่าจะเป็นเรื่องรองจากสิทธิมนุษยชน การงดเว้นนำเข้าอาหารทะเล เกิดปัญหาจากสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างประเทศในไทย หาก คสช.สามารถจัดการแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ก็น่าจะดีขึ้น และไม่มีผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีก มาตรการกดดันต่างๆ ที่ออกมาจากฝั่งตะวันตกขณะนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องน่าตระหนกตกใจแต่อย่างใด เป็นการแสดงตามบทบาทของตัวเอง อีกทั้งในระดับการทูตแล้วการเจรจาพูดคุยไม่ได้มีแค่ทางสาธารณะ แต่ยังมีทางลับที่ยังคงพูดคุยเจรจาต่อกันอยู่ เชื่อว่าสภาวะที่ไทยถูกดันจากชาติตะวันตกจะเกิดเพียงแค่ระยะสั้นๆ แล้วสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย โดยคาดจะเป็นการดำเนินการช่วงระยะที่ 2 ของโรดแม็ป คสช. ซึ่งจะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาล ซึ่งแม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่ภาพที่สะท้อนออกไปจะสามารถทำให้รัฐบาลสหรัฐนำไปใช้อธิบายกับพลเมืองตนเองได้ว่าไทยเริ่มปรับเปลี่ยนเส้นทางเดิน หันกลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว ดังนั้น มาตรการการกดดันจึงสามารถผ่อนเบาลงได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากความเป็นมหามิตรระหว่างไทย-สหรัฐ นั่นเอง |