กว่าจะได้... ปธ.กลุ่มจี 77-ไอทียู รางวัลไทยในยูเอ็น
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Tuesday, 29 September 2015 14:41
- Published: Tuesday, 29 September 2015 14:41
- Hits: 12691
กว่าจะได้... ปธ.กลุ่มจี 77-ไอทียู รางวัลไทยในยูเอ็น
การเดินทางมาปรากฏตัวในเวทีสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ครั้งแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าร่วมการประชุมยูเอ็นระดับผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2015 และการประชุมสมัชชายูเอ็นสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เริ่มต้นด้วยความฮือฮาของสังคมไทยจากกรณีที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของจี 77 ให้ทำหน้าที่ประธานกลุ่มซึ่งจะครอบคลุมถึงการทำหน้าที่โฆษกจี 77 ตลอดปี 2559 อีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่จะรับหน้าที่ประธานจี 77 คือนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
ภายหลังจากข่าวปรากฏออกมา กองเชียร์รัฐบาลบอกว่า นี่คือความสำเร็จของรัฐบาลทหาร
ขณะที่ฝ่ายคัดค้านบอกว่า ไทยได้ตำแหน่งมาเพราะการหมุนเวียนไปตามภูมิภาคและตามตัวอักษรของประเทศสมาชิก
แต่การได้มาซึ่งเก้าอี้ประธานจี 77 เป็นอย่างไร ?
เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ "จี 77" ว่า เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่รวมตัวกัน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2507
ขณะนั้น ประเทศกำลังพัฒนา 77 ชาติรวมถึงไทย ร่วมลงนามในแถลงการณ์ฉบับแรกในช่วงท้ายการประชุมยูเอ็นว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือที่เราอาจคุ้นเคยกว่าในชื่อ "อังค์ถัด" ที่นครเจนีวา ตามรัฐมนตรีจี 77 ได้ร่วมกันลงนามใน "กฎบัตรแอลเจียร์"
จากนั้นได้มีการพัฒนาความร่วมมืออย่างใกล้ชิด จนขณะนี้มีประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 134 ประเทศแล้ว
ดังนั้น ปัจจุบันจี 77 จึงเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในยูเอ็นซึ่งมีสมาชิก 193 ประเทศ
บทบาทสำคัญของจี 77 คือการช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถแสดงออกและส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาร่วมกัน รวมถึงเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองในประเด็นเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สำคัญภายใต้ระบบของยูเอ็น และส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญอีกกรอบหนึ่งด้วย
เป็นเรื่องจริง การรับหน้าที่ประธานจี 77
หมุนเวียนไปตามภูมิภาค ประกอบด้วยแอฟริกา เอเชียและแปซิฟิก ละตินอเมริกาและแคริบเบียน
ในปีนี้แอฟริกาใต้ทำหน้าที่ประธานจี 77 ในนิวยอร์ก ดังนั้น หน้าที่ประธานในปีหน้าจึงเป็นของเอเชียและแปซิฟิก
แต่การได้มาซึ่งตำแหน่งประธานจี 77 ของไทย ไม่ใช่ได้มาแบบลอยๆ หรือได้มาแบบง่ายๆ ชนิดเรียงตามตัวอักษร
ก่อนประธานจี 77 จะตกเป็นของไทย ได้มี 2 ประเทศที่ประกาศลงชิงเก้าอี้นี้ คือ บังกลาเทศและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งประกาศก่อนไทยจะแสดงความสนใจในเก้าอี้ดังกล่าว แต่ด้วยการทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องของคณะทูตถาวรไทยประจำยูเอ็น และกระทรวงการต่างประเทศภายใต้การสนับสนุนและเห็นชอบของรัฐบาลไทย
ในที่สุดประเทศบังกลาเทศและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตัดสินใจหลีกทางให้ไทยรับหน้าที่สำคัญนี้
ได้มีผู้โพสต์ในเฟซบุ๊กระบุว่าไทยได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งประธานดังกล่าวนี้เมื่อเดือนมกราคม ปี 2557 ในระหว่างการประชุมที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่าไทยเพิ่งสมัครชิงตำแหน่งประธานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 และใช้เวลา 3 เดือนหาเสียงก่อนได้รับเลือก
นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ด้วยความที่จี 77 เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในยูเอ็น ดังนั้นจึงมีสำนักงานเพื่อประสานงานของจี 77 ในเมืองอื่นๆ ที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงานยูเอ็นด้วย อาทิ เจนีวา ไนโรบี ปารีส โรม และเวียนนา โดยมีนิวยอร์กเป็นเหมือนสำนักงานใหญ่ ในอดีตที่ผ่านมาไทยเคยทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม 77 ที่ไนโรบีในปี 2557 ซึ่งดูแลประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ไทยได้รับเลือกให้เป็นประธานจี 77 ที่นิวยอร์ก ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลประเด็นทั้งหมดในภาพรวม
นายเสข กล่าวว่า ไทยได้ประกาศเสนอตัวทำหน้าที่ประธานจี 77 ในนิวยอร์กเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 โดยชูประเด็นบทบาทด้านการพัฒนาของไทยที่มีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับมาโดยตลอดเป็นเหตุผลในการขอรับการสนับสนุนจากประเทศในกลุ่มเอเชียและแปซิฟิก โดยที่ประชุมกลุ่มเอเชียและแปซิฟิกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม มีมติเห็นชอบให้ไทยดำรงตำแหน่งสำคัญดังกล่าวนี้ ก่อนที่ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีจี 77 จะให้การรับรองเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา
สิ่งที่ได้มากับตำแหน่งประธานจี 77 คือความรับผิดชอบอันมากมายของไทย ในฐานะประเทศที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่อันสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาสำคัญของการนำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลัง ค.ศ.2015 ที่ผู้นำชาติสมาชิกยูเอ็นเพิ่งให้การรับรองไปสู่การปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกจี 77 ด้วยกันทั้งสิ้น
การทำงานของคณะทูตถาวรไทยในนครนิวยอร์กต่อจากนี้ไป จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและส่วนราชการไทย เพื่อให้การทำงานลุล่วง เป็นไปตามความคาดหวังของชาติสมาชิก
นั่นคือที่มาที่ไปของตำแหน่งประธานกลุ่มจี 77
ส่วนอีกกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหนึ่งในผู้นำที่ขึ้นรับรางวัลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู ในฐานะผู้นำที่ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ถือเป็นอีกความภาคภูมิใจของคนไทยที่ไทยพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ จนก่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงจัดโครงการแจกแท็บเล็ตก็ได้รับรางวัลเหมือนดั่งที่เป็นกระแส หากแต่ไอทียู ซึ่งเป็นผู้ได้จัดทำรายงานดัชนีชี้วัดด้านการพัฒนาไอซีทีมาเป็นประจำสม่ำเสมอ พบว่าในปี 2557 ผลการจัดอันดับด้านการพัฒนาไอซีทีของไทยปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 81 จาก 166 ประเทศทั่วโลก
ไทยปรับตัวสูงขึ้น 10 อันดับจากปี 2555 คือจากอันดับ 91 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 81
นอกจากนี้ การพัฒนาด้านไอซีทีของไทยยังอยู่ในอันดับที่ 10 ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และอันดับที่ 4 ในอาเซียน
ตามหลังเพียงสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซียเท่านั้น
ทั้งนี้ เหตุผลที่ได้รับรางวัล ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเปิดให้บริการเครือข่าย 3จี ทำให้การแข่งขันของผู้ประกอบการและการใช้เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด เมื่อมีเครือข่ายครอบคลุมกว้างขวางและทั่วถึงก็ทำให้สามารถสื่อสารและเชื่อมต่อได้ในทุกที่ทุกเวลา จึงมีโอกาสจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกในอนาคต
หากจะกล่าวโดยสรุป ทั้งตำแหน่งและรางวัลต่างเกิดจากการทำงานต่อเนื่องยาวนาน
หากการได้มาซึ่งเก้าอี้ประธานจี 77 และรางวัลไอทียู คือรางวัลของไทย
ผู้ที่สมควรได้รับการปรบมือให้ หนีไม่พ้นรัฐบาลและข้าราชการไทย ซึ่งทำงานต่อเนื่องมายาวนานจนเป็นที่ประจักษ์
ส่วนผู้ที่น่าจะภาคภูมิใจกับสิ่งที่ได้ก็คือ คนไทยทุกคนนี่เอง...
วีรชัย พลาศรัย บทบาทใหม่ปธ.กลุ่มจี77
คอลัมน์ คนตามข่าว
เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ณ นครนิวยอร์ก
เตรียมรับบทบาทอินเตอร์ นั่งเก้าอี้ประธานและโฆษกของกลุ่มจี 77 ในปีหน้า
หลังจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีจี 77 ครั้งที่ 39 มีมติเลือกไทยดำรงตำแหน่งประธานของกลุ่ม 77 หรือจี 77 องค์กรความร่วมมือระดับรัฐบาลของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มี 134 ประเทศเป็นสมาชิก
นับเป็นย่างก้าวสำคัญ ตั้งแต่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อ 50 ปีก่อน
เกิด 9 มิถุนายน 2503 ชื่อเล่น 'แสบ' หรือ ทูตแสบ
ปริญญาตรีและปริญญาโท มหาวิทยาลัยปารีส (นองแตร์) ปริญญาเอกจากซอร์บอนน์ ฝรั่งเศส
ลูกหม้อกระทรวงการต่างประเทศ ชีวิตราชการเริ่มจากตำแหน่งเลขานุการตรี กองแอฟริกาและกลุ่มอาหรับ ขยับเป็นอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 3 มีนาคม 2549, 15 กันยายน 2550 อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, 28 พฤษภาคม 2551 โยกเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง
คัมแบ๊กเก้าอี้อธิบดีกรมสัญญาฯ 19 สิงหาคม 2551 กระทั่ง 26 พฤษภาคม 2552 ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ และเอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2558
โด่งดังจากการเป็นหัวหน้าคณะต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยแถลงปิดคดีสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือนเมษายนปี 2556
ยืนยันนอกจากภารกิจหลัก ยังมีงานท้าทาย
ตั้งเป้าหมาย ผนึกสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาให้สอดคล้องต้องกัน
ฝ่าฟันปัญหาเศรษฐกิจคุกคาม...