เส้นทางวิบาก รธน. พิสดาร-ฝืน ปชต. โจทย์ยากของ กรธ.
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 27 September 2015 20:57
- Published: Sunday, 27 September 2015 20:57
- Hits: 20981
เส้นทางวิบาก รธน. พิสดาร-ฝืน ปชต. โจทย์ยากของ กรธ.
มติชนออนไลน์ :
วิเคราะห์
ดูเหมือนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รอบที่สองไม่ใช่ของง่ายๆ แบบปอกกล้วยเข้าปาก
เริ่มตั้งแต่การค้นหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. จำนวน 21 คน ซึ่งหลายคนตั้งเงื่อนไขเอาไว้เยอะ
อาทิ ขอดูตัวประธาน กรธ.ว่าเป็นใคร หรือดูว่าใครบ้างที่จะมาร่วมนั่งเป็น กรธ.
แม้แต่ตัวประธาน กรธ.ก็ยังไม่มีข้อยุติ จากเดิมที่มีชื่อผู้คนออกมามากมาย เช่น นายอมร จันทรสมบูรณ์ นายอานันท์
ปันยารชุน นายคณิต ณ นคร นายลิขิต ธีรเวคิน นายวิษณุ เครืองาม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ฯลฯ
กระทั่งล่าสุดมีชื่อเหลือเพียง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ นายวิษณุออกปากชวนให้มานั่งคุมงานร่าง รธน.
แต่นายมีชัยก็ยัง "ขอคิดดูก่อน" ซึ่งเป็นอาการที่เดาได้ว่ายังลังเล
หรือมีอีกกระแสข่าวหนึ่งคือกำลังหาทีมงาน
ทั้งนี้ นายมีชัยรับปากว่าจะให้คำตอบชัดเจนสิ้นเดือนนี้
กำหนดเวลาตัดสินใจสิ้นเดือนกันยายน ตรงกับเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กำหนดไว้
เสร็จสิ้นภารกิจประชุมที่สหประชาชาติจะกลับมาแต่งตั้ง กรธ.
ดังนั้นในห้วงเวลาอันกระชั้น และการเอ่ยชื่อผ่านสื่อจากปากนายวิษณุ จึงเชื่อว่าคนที่จะได้นั่งประธาน กรธ. คงไม่ใช่ใครที่ไหน
เขาคนนั้นคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นี่แหละ
ทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามนี้ ยกเว้นเสียแต่ว่านายมีชัยจะมีข้อเสนออื่นที่ดีกว่า
ภารกิจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งนี้ไม่ง่ายไปกว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ
ทั้งนี้ เพราะหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนไม่ผ่านการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เท่ากับว่ามีหลายปมในร่างรัฐธรรมนูญกลายเป็น "จุดเสี่ยง"
อาทิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. ซึ่งกลายเป็นชนวนสำคัญในการปลุกให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนคว่ำ
หัวใจสำคัญของ คปป. คือการยึดโยงอำนาจกับเหล่าทัพ ทำให้ฝ่ายทหารเข้ามาชี้แนวยุทธศาสตร์ และพร้อมจะมีอำนาจเหนือรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ หากประเทศก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤต
การตั้ง คปป.จึงเหมือนกับการวางอำนาจกองทัพแทรกเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ
ตอกย้ำให้ผู้คนเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะ "สืบทอด" อำนาจคณะรัฐประหารให้คงอยู่ต่อไป
อย่างน้อยก็ 5 ปี!
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการกัดเซาะพลังพรรคการเมืองและนักการเมืองให้ผุกร่อนลง อาทิ ลดจำนวนสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง เพิ่มอำนาจคณะกรรมการที่มาจากการสรรหาให้เหนือกว่าตัวแทนประชาชน ปิดหนทางแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แนวคิดตามรัฐธรรมนูญที่บั่นทอนบทบาทของตัวแทนประชาชนนี้ ยังลุกลามไปถึงบทบัญญัติของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
เป็นบทบัญญัติของกฎหมายพรรคการเมืองที่ต้องการ "ล้างไพ่"
บังคับให้ทุกพรรคเริ่มต้นจดทะเบียนกันใหม่
เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองใหม่หรือพรรคการเมืองใหม่เข้ามาสู้พรรคใหญ่เดิมอย่างเสมอภาค
หรือเปิดโอกาสให้นักการเมืองไปตั้งพรรคใหม่กันนั่นเอง
บทบัญญัติดังกล่าว นายวิษณุให้คำนิยามว่า "พิสดาร"
ทั้งร่างรัฐธรรมนูญที่ออกแบบแล้วโดนตีความว่า ต้องการให้ คสช. "สืบทอดอำนาจ" การควบคุมประเทศได้ต่อไป และการวางบทบัญญัติ "พิสดาร" ไว้เพื่อสกัดพรรคใหญ่เดิม ซึ่งย่อมหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบ
พรรคการเมืองใหญ่และเล็กต่างไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว
นักวิชาการเองก็ไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น
ทำให้ "การสืบทอดอำนาจ คสช." การสอดไส้ "อำนาจเบ็ดเสร็จ" ไว้ในรัฐธรรมนูญ และการสกัดพรรคการเมืองและนักการเมืองเดิมเริ่มถูกจับตามอง
จับตามองว่าจะโผล่เข้ามาอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ กรธ.จะร่างขึ้นหรือไม่
อย่าลืมว่า ทั้ง "การสืบทอดอำนาจ คสช." รวมถึงการสอดไส้อำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในรัฐธรรมนูญ กลายเป็น "ของเสีย" ในสายตาคนไทยไปแล้ว
เพราะการสืบทอดอำนาจ คสช.และการบรรจุอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น หมายถึงการเดินสวนทางกับประชาธิปไตย
ดังนั้น หาก กรธ.จะดื้อแพ่งดึงดันบรรจุองค์กรเฉกเช่น คปป.ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
หรือ กรธ.จะมีบทบัญญัติพิสดารออกมาเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
โอกาสสุ่มเสี่ยงในช่วงทำประชามติย่อมมีสูง
เสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง และเสี่ยงที่จะไม่ผ่านประชามติ
ขณะเดียวกัน กระแสโลกที่จับตาการ "คืนความสุข" ให้แก่ประเทศไทยเริ่มมีการแสดงออก
ในจังหวะที่ คสช.พยายามรักษาความสงบ โดยเริ่มเรียกนักการเมืองที่ออกมาให้สัมภาษณ์เข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ
มีนักวิชาการหลายคนได้รับโทรศัพท์ หรือมีทหารไปขอพบเนื่องจากให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมือง
การดำเนินการดังกล่าวเป็นข่าวบ้าง ไม่เป็นข่าวบ้าง
แต่สัมผัสได้ถึงการเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด
กระทั่งล่าสุดสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์
แถลงการณ์ฉบับนั้นสรุปได้ว่า ในช่วงเวลาที่ไทยกำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพเสรีภาพในการพูดและการชุมนุม การอภิปรายสาธารณะที่ทำได้อย่างเต็มรูปแบบและเสรีเท่านั้นที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จะสามารถได้ยินได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการปฏิรูปและความสมานฉันท์ที่แท้จริง
สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเชื่อว่า หลักนิติธรรมการปกป้องและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญแก่ความมั่นคงและความก้าวหน้า
และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทางการไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันของไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง
เฉกเช่นเดียวกับการปฏิเสธการผ่อนผันการตรวจสอบการแก้ปัญหาไอยูยูของไทย
เช่นเดียวกับการเขียนบทความของทูตอังกฤษวิจารณ์ประชาธิปไตยไทย
และเช่นเดียวกับท่าทีของทูตอเมริกาประจำประเทศไทยที่ตอกย้ำเรื่องประชาธิปไตยอย่างไม่รู้เบื่อ
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หาก คสช.ยังยืนยันยุทธศาสตร์ "สืบทอดอำนาจ" และลดอำนาจตัวแทนประชาชนอยู่เหมือนเดิม
คณะกรรมการ กรธ.ชุดนี้คงทำงานด้วยความเหนื่อยยาก
เพราะทั้งการ "สืบทอดอำนาจ" และกฎหมาย "พิสดาร" ที่ต้องการบั่นทอนพลังของพรรคการเมืองนั้นกลายเป็น "ของเสีย" ไปแล้ว
เป็น "ของเสีย" ที่คนในประเทศไทยเองก็เริ่มไม่เอา
และยังเป็น "ของเสีย" ที่โลกเขาไม่ต้องการอีกด้วย
ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นโจทย์ยาก ยิ่งถ้าต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใส่กลไกตามที่คนโจมตีกันทั่วบ้านเมือง
ยิ่งเพิ่มภาระหนักให้แก่ กรธ.เข้าไปอีก
ณ เวลานี้ จึงเป็นอีกห้วงเวลาที่น่าเฝ้ามอง
มองว่า กรธ.จะร่างรัฐธรรมนูญตอบสนองแนวทางของ คสช.ได้มากหรือน้อยประการใด....
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง คำตอบแห่งเสรีภาพ
คอลัมน์ โครงร่างตำนานคน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะไม่ใช่กระแสรุนแรงอะไร แต่น้ำเสียงที่ตั้งคำถามต่อโครงการ single gateway จุดชนวนให้เกิดความกังขาอยู่ไม่น้อยต่อทิศทางเสรีภาพประชาชนไทย
มีการให้ความรู้กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ว่า "Single Gateway" เป็นการให้ใช้ช่องทางเดียวในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจากเครือข่ายหนึ่งไปอีกเครือข่ายหนึ่ง
ที่เป็นเรื่องเป็นราวให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดตั้ง single gateway ตามนโยบายเร่งรัดโครงการสำคัญให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ 2558 โดยให้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนกันยายนนี้
เมื่อมติ ครม.นี้หลุดออกมาสู่ความรับรู้ของประชาชน
มีการหยิบเรื่องนี้มาพูดถึงในทำนองว่าจะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการใช้อินเตอร์เน็ตของประเทศไทย โดยรัฐบาลจะเป็นผู้เข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวด เหมือนที่รัฐบาลจีนและเกาหลีเหนือกระทำ
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ยังเตือนว่าเรื่องดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยชี้ให้เห็นปัญหาที่จะตามมาว่า
จะทำให้อินเตอร์เน็ตช้าลง และหากเกตเวย์ล่มจะล่มหมดทั้งประเทศ เพราะมีเกตเวย์เดียว
ทำผู้ใช้บริการเกตเวย์สามารถดักจับข้อมูลสำคัญของผู้ใช้ได้ง่ายๆ เพราะมีอยู่เจ้าเดียว
ผู้ให้บริการสามารถปิดกั้นข้อมูลที่ผู้ใช้บริการจะเข้าไปค้นหาได้อย่างรวดเร็ว
จะทำให้บริษัทต่างประเทศกังวลในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากความไม่แน่ใจด้านความปลอดภัยของข้อมูล
และที่สำคัญคือ จะเป็นข้อโจมตีว่ารัฐบาลมีแนวโน้มจะบริหารประเทศไปในทิศทางปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน
ในเรื่องนี้ แม้จะยังไม่มีการต่อต้านหรือโจมตีที่รุนแรงมากนัก แต่เริ่มมีการขยายวงการวิพากษ์วิจารณ์ออกไปอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ
จนมีแนวโน้มว่าจะเป็นเหตุให้ภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาโลกเสรีมีปัญหาเรื่องเสรีภาพ
ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ออกมาชี้แจงว่า ยังเป็นแค่แนวคิดของที่ให้ไปศึกษาเพื่อให้เกิดการรวมทรัพย์สินกับขีดความสามารถในการให้บริหารระหว่าง กสท.กับทีโอที ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้บริการ ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ
ส่วนข้อกังวลว่า หากใช้ซิงเกิลเกตเวย์แล้วเกิดการล้วงข้อมูลขึ้นจะเกิดความเสียหายทั้งประเทศ
"เราต้องระมัดระวังในการทำเรื่องนี้ ต้องมุ่งเน้นการให้บริการประชาชน ไม่ได้เน้นในเรื่องของการเข้าไปควบคุม" พล.อ.อ.ประจินกล่าว
ในเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้น เหมือนกับว่าปฏิบัติการในแนวคิดควบคุมเสรีภาพการสื่อสารของประชาชนนั้นไปไกลแล้ว จนใกล้จะถึงจุดที่การใช้เครือข่ายออนไลน์จะถูกควบคุมตรวจสอบอย่างเข้มงวด และปิดกั้นในสิ่งที่รัฐบาลเห็นว่าจะกระทบกับความมั่นคงอย่างจริงจัง โดยไม่ห่วงผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะตามมา
แต่ที่ พล.อ.อ.ประจินชี้แจง เหมือนกับเป็นคนละเรื่องกับความวิตกกังวล
เป็นแค่เรื่องรัฐบาลกำลังทดลองหาวิธีการทำให้บริการอินเตอร์เน็ตมีประสิทธิภาพมากที่สุด
เหมือนกับว่า รัฐบาลห่วงใจเสรีภาพของประชาชนเสมอ
ไม่ได้เป็นเหมือนรัฐบาลเกาหลีเหนืออย่างที่โจมตีกัน....