อดีตนายกฯ เสนอ 4 องค์ประกอบ เติบโตยั่งยืน-ลดเหลื่อมล้ำ-ยึดนิติธรรม- สมดุลอำนาจรัฐ-ปชช. พัฒนาปท.สู่บริบทใหม่
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Friday, 18 September 2015 16:18
- Published: Friday, 18 September 2015 16:18
- Hits: 11033
อดีตนายกฯ เสนอ 4 องค์ประกอบ เติบโตยั่งยืน-ลดเหลื่อมล้ำ-ยึดนิติธรรม- สมดุลอำนาจรัฐ-ปชช. พัฒนาปท.สู่บริบทใหม่
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หัวข้อ'สู่บริบทใหม่ของประเทศด้วยธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย' โดยได้เสนอองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศในบริบทใหม่ (New Normal) ได้แก่ 1. การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ 2.การก้าวไปสู่สังคมเปิดและมีส่วนร่วมของคนในสังคมด้วยการให้สิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดการพัฒนาประเทศ 3. การทำให้สังคมไทยปกครองด้วยหลักนิติธรรม และ 4. การปรับสมดุลในโครงสร้างเชิงอำนาจระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน
องค์ประกอบการข้อที่ 1 คือการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการที่ไทยจะต้องเน้นเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว มากกว่าที่จะสนใจเฉพาะตัวเลขจีดีพี แต่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงของประเทศ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การพัฒนาแรงงาน และการยกระดับการศึกษามากกว่าที่จะกระตุ้นระยะสั้นด้วยนโยบายประชานิยม เช่น รถคันแรก โครงการจำนำข้าว
องค์ประกอบข้อที่ 2 การนำไปสู่สังคมเปิดและการมีส่วนร่วมในสังคมจะต้องกระจายรายได้อย่างสม่ำเสมอ การให้สิทธิเสรีภาพและทัดเทียมแก่ทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกศาสนาและทุกพื้นที่ในสังคมในการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศเพื่อให้ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐตลอดเวลา นอกจากนี้การทำงานของสื่อนับว่ามีบทบาทสำคัญมากในการเป็นตัวกลางนำเสนอความคิดเห็นต่างๆ ให้เกิดความสมดุลและไม่บิดเบือน
องค์ประกอบที่ 3 การทำให้สังคมไทยปกครองโดยหลักนิติธรรม กฎหมายไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ลำดับขั้นตอนการทำงานของรัฐบาลต้องคงเส้นคงวา
"รัฐบาลไม่ควรดำเนินการตามอำเภอใจ จับกุมผู้คนที่คัดค้านนโยบายของตนและริดรอนสิทธิเสรีภาพที่บุคคลนั้นพึงมีตามกฎหมายมนุษยชน ของราษฏรทุกคนควรได้รับการปกป้องอย่างเคร่งครัดและเท่าเทียมกัน"นายอานันท์ กล่าว
องค์ประกอบที่ 4 คือ การกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ หัวใจของการกระจายอำนาจ คือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่งที่กระทบเขาโดยตรงมากที่สุด เพราะในแต่พื้นที่ แต่ละจังหวัด แต่ละภาคความต้องการในการแก้ปัญหาอาจจะเหมือนหรือต่างกัน ความสำเร็จของการกระจายอำนาจ ขึ่นอยู่กับกระบวนการกลั่นกรองและนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน และเป็นที่มาของบทบาทของภาคประชาสังคมที่สำคัญยิ่ง
"ดังนั้น เราจึงต้องเร่งปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อเสริมสร้างความสามารถของประชาชนในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่ดีของสังคม ทั้งนี้ มองว่าการศึกษาจะต้องเปลี่ยนจากการเน้นท่องจำไปสู่การคิดอย่างสร้างสรรค์ เริ่มต้นด้วยการให้ครูสอนน้อยลง ให้นักเรียนอ่านหนังสือหลากหลายมากขึ้น มีการคุยกันระหว่างครูกับนักเรียนมากขึ้น ไม่ใช่การเน้นหาคำตอบที่ถูกหรือผิด แต่เน้นให้เด็กกล้าคิด"นายอานันท์ กล่าว
นายอานันท์ กล่าวต่อว่าการปฏิรูประบบการศึกษาถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้ เพราะการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องเริ่มต้นการแก้ของตัวบุคคลต่อให้มีแก้กฎหมายดีเพียงใด แต่สุดท้ายกฎหมายก็ไม่เคยตามกลโกลของมนุษย์ได้ทัน
ทั้งนี้ องค์ประกอบทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมา เป็นบริบทของไทยที่ตั้งอยู่บนธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งธรรมาภิบาลเป็นกุญแจดอกสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจที่ดี ยกตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมาการกำกับดูแลกิจการในภาครัฐมีพัฒนาการที่น่าเป็นห่วง เห็นได้จากความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ขาดทุน ต้นตอของปัญหาเกี่ยวเนื่องโดยตรง ดังนั้นปัญหานี้จำเป็นต้องแก้ไขโดยเร็ว
"รัฐวิสาหกิจที่ไร้ประสิทธิภาพไม่เพียงจะบั่นทอนผลประกอบการของตัวเอง แต่จะเหนี่ยวรั้งธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ซึ่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่กำลังทำอยู่ รวมทั้งการจัดบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ จึงอาจเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ ความสำเร็จย่อมขึ้นอยู่กับความซื่อตรงและความสามารถในตัวบุคคลที่บริหารษรรษัทนี้ด้วย"นายอานันท์ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย