อนิจจัง อนัตตา ของ 'ร่า'? รัฐธรรมนูญ 36 มหาปราชญ์
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Thursday, 17 September 2015 08:21
- Published: Thursday, 17 September 2015 08:21
- Hits: 11025
อนิจจัง อนัตตา ของ 'ร่า'? รัฐธรรมนูญ 36 มหาปราชญ์
แม้กระบวนการของการ "ร่าง" รัฐธรรมนูญ
จะเป็นเรื่องในทาง "โลกย์" อย่างที่เรียกกันว่าเป็น "โลกียะ" กระนั้น ก็สามารถมองอย่างเป็น "โลกุตระ" ได้
โลกียะ เท่ากับ เกี่ยวกับ "โลก"
นั่นก็คือ ทางโลก 1 เนื่องในโลก 1 เรื่องของชาวโลก 1 ยังอยู่ในภพสาม 1 ยังเป็นกามาวจร รูปาวจร หรืออรูปาวจร 1
โลกุตระ เท่ากับ พ้นจาก "โลก"
นั่นก็คือ เหนือโลก 1 พ้นวิสัยของโลก 1 ไม่เนื่องในภพทั้งสาม 1
ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้สามารถมองเห็นกระบวนการของการ "ร่าง"
รัฐธรรมนูญมิได้จำกัดเพียงในกรอบแห่ง "โลกียะ" หากแต่เหยียบเข้าสู่พรมแดนแห่ง "โลกุตระ"
1 มองเห็นถึงกระบวนการของ "อนิจจัง"
เป็นการเปลี่ยนจากนามธรรมแห่งมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 ไปสู่รูปธรรมอันปรากฏผ่านแนวทางของการร่าง
จากนั้น ก็ผ่านจากมือ "กรรมาธิการ" ไปสู่ "สปช."
จาก "คสช." ไปยัง "กรรมาธิการ" จาก "กรรมาธิการ" ไปสู่ "สปช." รูปแห่งร่างรัฐธรรมนูญยังดำรงอยู่ แต่กระบวนการในทางความคิดแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
ในที่สุด 1 ก็นำไปสู่ภาวะแห่ง "อนัตตา"
กล่าวในทางธรรมอันสัมพันธ์กับธรรมชาติ เรื่องของ "อนิจจัง" มิได้ค้นพบโดย
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากแต่ดำรงอยู่ในทางความคิดมาก่อนหน้านี้แล้ว
ในกลุ่มนักปราชญ์กรีกก็มีการพูดถึง
อย่าลืมอุปมาอันคมคายของปราชญ์กรีกที่ว่า ภายในสายน้ำมีการแปรเปลี่ยน ระหว่างก่อนหน้านี้กับเดี๋ยวนี้มิได้เป็นสายน้ำเดียวกัน
นั่นก็คือ กระบวนการไหลเรื่อยแห่ง "สายน้ำ"
ในกลุ่มของนักปราชญ์จีนอย่างเช่น เล่าจื่อ ปรมาจารย์แห่งลัทธิเต๋าก็ยอมรับในจุดต่างแห่งหยางกับหยิน ภายในจุดต่างนั้นก็มิได้ดำรงอยู่อย่างเสถียร
หากแต่มีการแปรเปลี่ยน พลิกผัน
กระนั้น จุดต่างอย่างสำคัญขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือ 1 ยอมรับในความเป็นอนิจจัง ไหลเรื่อยอย่างเป็นนิรันดร์
ขณะเดียวกัน 1 พัฒนาไปสู่ขั้นแห่ง "อนัตตา"
สภาวะแห่งอนัตตามิได้หมายความว่า "ไม่มี" หรือ "ไม่เหลืออะไร" เพียงแต่เป็นการมีอยู่เหลืออยู่อย่างมิได้เป็น "ของเรา"
เช่นเดียวกับ "ร่าง" รัฐธรรมนูญซึ่งถูก’คว่ำ’ ไปแล้ว
จากความเป็นจริงในทางธรรมเช่นนี้เท่ากับหมายความว่า สิ่งที่’36 มหาปราชญ์’ได้กระทำเอาไว้เสมอเป็นเพียงร่องรอย 1 ในทางความคิด
เป็น "ร่องรอย" อันดำรงอยู่อย่าง ‘อิสระ’
หากมีความพยายามจะนำมาสถาปนาอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในประเด็น 1 นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการของการเลือกตั้ง
1 สมาชิกวุฒิสภา 200 เป็นเลือกตั้งเพียง 77 เป็นลากตั้ง 123
1 องค์กรอิสระมากด้วยอำนาจ วางกลไก เครือข่ายเอาไว้อย่างยุบยับ รวมทั้งที่รวมศูนย์อยู่ในรูปของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.)
ก็ดำรงอยู่เหมือนกับเป็น ‘สินสงคราม’
เพราะในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 กันยายน ได้ลงมติด้วย 135 ต่อ 105 และงดออกเสียง 7 ให้ปฏิเสธไปแล้ว
สะท้อนว่า "ร่าง" นั้นมิได้เป็นของ ‘กรรมาธิการ’
สะท้อนว่า ‘ร่าง’ นั้นหมดพันธะไม่เพียงแต่ต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ หากกระทั่ง’คสช.’ ก็มิอาจอ้างกรรมสิทธิ์ได้
หากคนใน’คสช.’ รู้ว่าตนได้ ‘สั่งการ’ อะไรออกไป
ทั้งหมดนี้คืออาการแห่ง "อนิจจัง" และ "อนัตตา" ของร่างรัฐธรรมนูญ
อาการเศร้าหมองจาก 105 คนที่ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ สะท้อนความอาวรณ์ ถวิลหา ต่อสิ่งที่เคยอยู่ในมือ
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมิได้มีเพียง 105 คนเท่านั้นที่สูญเสีย หาก 36 มหาปราชญ์ก็สูญเสีย ยิ่งกว่านั้น คสช.และรัฐบาลก็มิอาจไขว่คว้ามาอยู่ในมือได้
จากมาแล้วหายไป เหมือนรอยเท้าของนกในพาหิรากาศ….
มติชนออนไลน์ : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558