บาทก้าว ความคิด เกี่ยวกับ ประชาธิปไตย ในความพลิกผัน
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Saturday, 28 June 2014 08:41
- Published: Saturday, 28 June 2014 08:41
- Hits: 3811
วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
บาทก้าว ความคิด เกี่ยวกับ ประชาธิปไตย ในความพลิกผัน
ยิ่งวัน ความรู้สึกอันเกี่ยวกับ ประชาธิปไตย ยิ่งมากด้วยความสับสน ยิ่งมากด้วยความแตกต่างไปตามแต่มุมมองของแต่ละคน
ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต่างจากของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เท่านั้นไม่พอ ความรู้สึกและความคิดในเรื่องอันเกี่ยวกับ ประชาธิปไตย ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ของสหภาพยุโรป
ก็สะท้อนความต่างจากความรับรู้ในประเทศไทย
ขณะที่มีคนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยรับรู้และเห็นเป็นความชอบธรรมในการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจทำรัฐประหาร
โค่นรัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้ง
ความเห็นจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ความเห็นอันเป็นมติของรัฐมนตรีต่างประเทศ สหภาพยุโรป แสดงความสงสัย แสดงความกังขา
ต่อ รัฐประหาร ต่อ ประชาธิปไตย
หากประเมินจาก แถลง อันมาจาก พ.อ.วินธัย สุวารี อันมาจาก พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค ซึ่งเป็นโฆษกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
คล้ายกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ได้รับ ข้อมูล ไม่พอ
โอเค ของสหรัฐ โฆษกอาจจะเน้นไปในเรื่อง ความรับรู้ เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก โสเภณีเด็ก
แล้วสหภาพยุโรปเล่าเป็น ข้อมูล ในเรื่องอะไร
ความจริง กระบวนการรับรู้ ข้อมูล ของสหรัฐอเมริกาก็ดี ของสหภาพยุโรปก็ดี มิได้เป็นเรื่องของความรับรู้ในด้าน ข้อมูล แท้ๆ ประการเดียว ประการสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ บทสรุปอันแตกต่างกันในด้านความคิดอันเกี่ยวกับ ประชาธิปไตย
เป็นความรับรู้ ประชาธิปไตย ซึ่งไม่เหมือนกัน
ในยุคหนึ่ง สหรัฐอเมริกาอาจมีบทบาท ร่วม เป็นอย่างมากต่อการรัฐประหารและเห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้อง และพร้อมให้การสนับสนุน
อย่างเช่นรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2500
เพราะว่าเป็นการโค่นล้ม จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งหันเหไปเชื่อมความสัมพันธ์กับ นายปรีดี พนมยงค์ และเอนเอียงไปทางจีน
แต่มาถึงยุคของ นายบารัก โอบามา กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าสหภาพยุโรป แสดงความเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ รัฐประหาร เป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นที่อียิปต์ ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศไทย
นี่คือ การเปลี่ยนแปลง นี่คือกรอบคิดที่ไม่เหมือนเดิม
กระบวนการต่อสู้กับความคิดที่แตกต่างกันเช่นนี้สำหรับประเทศไทยมีหนทางเดียวคือ อดทน ชี้แจง
ขณะเดียวกัน ภายในความอดทนนั้นประเทศไทยก็ต้องเดินหน้าไปตาม โรดแม็ป อันแถลงไว้ด้วยความมั่นแน่ว จริงจัง
การทำเท่านั้นคือเครื่องพิสูจน์ทุกความเข้าใจผิด
อะไรคือสาเหตุ
วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557 บทนำมติชน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ?ภาคเอกชนกับอนาคตประเทศไทย? ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยขณะนี้อยู่บนทาง 2 แพร่ง คือ 1.เป็นคล้ายกับประเทศฟิลิปปินส์ที่ไม่มีการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ไม่แก้ไขการคอร์รัปชั่น หรือ 2.เป็นเหมือนประเทศอินโดนีเซียที่มีการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนได้ โดยนายสมคิดเห็นว่า ประเทศสมควรเดินไปตามแพร่งที่สอง พร้อมทั้งชักชวนให้ภาคเอกชนมีบทบาทร่วมกันคิด ผลักดัน กำกับ เสนอแนะและขับเคลื่อนให้ประเทศปฏิรูปไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยนายสมคิดเสนอให้มุ่งมั่น ตั้งใจแก้ปัญหาประเทศให้ดีขึ้น ใช้ผลงานแทนคำพูดตามที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศ และแสดงต่อสายตาสังคมโลก
คำปาฐกถาของนายสมคิดทำให้มองเห็นหนทางปฏิบัติ คือ แม้ไทยจะเผชิญหน้ากับวิกฤต แต่ก็เป็นโอกาสในการพัฒนา ขณะที่ต่างชาติใช้มาตรการกดดันไทยให้เลือกตั้งและกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว โดยสะท้อนภาพอันเป็นจุดบอดในสายตาของนานาชาติออกมา ส่วนประเทศไทยยืนยันในความจำเป็นที่ต้องรัฐประหาร และยึดคำมั่นสัญญาว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนตามโรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. วางเอาไว้หากคนไทยใช้โอกาสนี้ปฏิรูปตัวเอง ปฏิรูปประเทศ เพื่อรอวันที่จะมีการเลือกตั้งอีกครั้งก็น่าจะเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทั้งนี้ กระบวนการปฏิรูป เริ่มกำหนดหัวข้อการปฏิรูปออกมาบ้างแล้ว โดยมีความหลากหลาย แต่ละหัวข้อได้มาจากการระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน เบื้องต้นทราบว่าได้กำหนดประเด็นเอาไว้ถึง 11 ประเด็น
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละประเด็น จำเป็นต้องหาสาเหตุอันแท้จริงที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น โดยต้องตอบให้ได้ว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร และสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดปัญหาอะไรต่อเนื่อง การทุจริตคอร์รัปชั่น ความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ การใช้อำนาจไม่สมดุล ฯลฯ อะไรคือสาเหตุแท้จริงที่เกิดวิกฤต ที่จำเป็นต้องแก้ไขทันที เพื่อยุติความขัดแย้ง ซึ่งหากสามารถพบสาเหตุที่แท้จริงได้ การแก้ปัญหาก็ถูกทาง วิกฤตที่เกิดย่อมคลี่คลาย แต่ถ้าตั้งโจทย์ผิด แทนที่ปัญหาจะยุติ
ก็อาจขยายกลายเป็นวิกฤตเพิ่มได้ ดังนั้น สาเหตุของวิกฤตคืออะไรจึงมีความสำคัญ