สังเคราะห์ปม-ปัจจัย เหตุร่าง'รธน.'ล่ม
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Tuesday, 08 September 2015 14:13
- Published: Tuesday, 08 September 2015 14:13
- Hits: 13367
สังเคราะห์ปม-ปัจจัย เหตุร่าง'รธน.'ล่ม
มติชนออนไลน์ : เหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 กันยายน เป็นอีกเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในยุครัฐบาล คสช. เมื่อ 247 สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โหวต "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ ไปด้วยคะแนนเสียง 135 ต่อ 105 และงดออกเสียง 7 คน
ผิดความคาดหมายของหลายเสียงที่วิเคราะห์กันว่า "ยังไงก็ผ่าน สปช.อยู่แล้ว"
เป็นที่น่าสังเกตว่า เสียง "ไม่รับ" ในหมู่ สปช.เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงท้าย โดยเฉพาะไม่กี่วันก่อนการลงมติเห็นชอบ
*พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ* ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล แห่งสถาบันพระปกเกล้า และอดีตสมาชิก สปช. คือ 1 ใน 7 ที่ลงมติงดออกเสียง บอกว่าเป็น "เหตุผลส่วนตัว" ก่อนจะแจกแจงเป็นรายข้อ
ประการแรก ผมเป็น สปช.ลำดับที่ 248 พูดง่ายๆ จริงๆ ก็คือคนสุดท้าย เพราะคนที่ต่อผมไป คือ คุณเอกราช ช่างเหลา ที่ไม่รับ และอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่โหวตรับ ถ้าคะแนนเท่ากันก็อยู่ที่ผมเป็นคนตัดสินว่าจะเลือกผ่านหรือไม่ผ่าน
ประการที่สอง ผมดูว่ากรณีที่คะแนนไม่ผ่านมามาก เราจะต้องทำยังไง และกรณีผ่านมามากจะทำยังไง แต่ในเหตุผลส่วนตัว เราดูรัฐธรรมนูญแล้ว มีส่วนดีเป็นส่วนใหญ่ ส่วนไม่ดีที่อาจเกิดปัญหาในอนาคตก็มี ซึ่งส่วนไม่ดีเราอยากให้แก้ไขเหมือนกัน วิธีการแก้ไขก็ไม่สามารถที่จะเสนอให้แก้ไขได้ เพราะว่าเขารับข้อเสนอมาจากหลายที่
"ผมเลยต้องพิจารณาว่าถ้าเกิดแก้ไขไม่ได้จะทำอย่างไร ต่อไปก็จะมีปัญหาเรื่องปรองดองต่างๆ แค่เขียนเป็นตัวหนังสือคงทำอะไรไม่ได้ จะต้องขับเคลื่อนเรื่องการปรองดองอะไรต่างๆ เยอะ แต่พอก่อนจะถึงผมสัก 2 แถว ปรากฏว่าเสียงไม่รับเริ่มชนะแล้ว เริ่มคลายใจ ชนะขาดเลย ผมนั่งนับตลอดเวลา เขียนตัวเลขไว้และใส่ชื่อแต่ละคนที่โหวต นับตลอดเวลาและเห็นว่าเยอะมากเกินพอแล้ว"
พล.อ.เอกชัยอธิบายต่อว่า ดูแล้วเหตุผลของผมคล้ายที่ อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง พูดกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ดี แต่มีบางส่วนที่ควรแก้ไข ปล่อยไปแล้วจะมีปัญหา ผมเลยงดออกเสียง ไม่มีเสียงที่จะไปสนับสนุนตรงนั้น แล้วอีกอย่างหนึ่ง แม้ผมใส่เสียงสนับสนุนก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น
ผอ.สำนักสันติวิธีฯตั้งข้อสังเกตว่า เกิดข้อแปลกใจหลายข้อ ระหว่างโหวต ผมเห็นปลัด 2 กระทรวงเขาโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเห็นทหารทั้งหมดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่รับ ยกเว้นคนที่เป็นกรรมาธิการยกร่างฯเขารับ
และแปลกใจมากที่สุด มีทหารคนหนึ่งเป็นกรรมาธิการยกร่างฯแต่งดออกเสียง อันนี้น่าแปลกใจในตัวเขามากเลย เพราะเขาร่างมากับมือ แต่เขาไม่ออกเสียง คือไม่สนับสนุนนั่นแหละ เกิดอะไร
กลุ่มแรก กลุ่มทหารทั้งหมดกับตำรวจจะเป็นกลุ่มที่ไม่รับ กลุ่มใหญ่
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มการเมืองและยุติธรรมของผม เป็นกลุ่มที่เท่าๆ กับทหารและตำรวจ กลุ่มการเมืองที่ผมอยู่มีประมาณ 20 คน และกลุ่มยุติธรรม 10 กว่าคน เป็นกลุ่มที่ไม่รับ
กลุ่มสุดท้ายที่มาแรงคือกลุ่มที่มาจากต่างจังหวัด เดิมทีแรกๆ เห็นเหมือนกับเขายังรับอยู่ แต่ช่วง 3-4 วันหลัง ปรากฏว่าไปพลิกผันอย่างไรไม่รู้ ส่วนใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 ไม่รับ ก็เลยกลายออกมาเป็นคะแนนอย่างนี้
ส่วนกลุ่มปลัดกระทรวงและอธิบดี พล.อ.เอกชัยมองว่า น่าจะล่วงรู้ถึงความพอใจหรือไม่พอใจจากรัฐมนตรีอยู่แล้ว จึงออกมาเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่ารัฐมนตรีต้องการทางหนึ่ง แต่ปลัดกระทรวงออกมาอีกทาง ก็ดูยังไงชอบกล ไม่น่าเป็นไปได้
"พอเขาส่งสัญญาณอย่างนี้ ผมก็เริ่มเห็นแล้วล่ะ"
พลิกโผแบบเหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะ พล.อ.เอกชัยที่ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า "ยังไงก็ผ่านแน่นอน"
"ผมมองว่าจะผ่านมาตลอดเลย แต่คาดผิดมากเลย ก่อนโหวต 1-2 วัน ฟังเสียงใครก็จะไม่ผ่านซะส่วนใหญ่ เห็นเลย เยอะขนาดนี้เชียวเหรอ เช้าขึ้นมาเจอคุณวันชัย สอนศิริ ถามก่อนเลย เพราะคุณวันชัยบอกว่าจะไม่ผ่าน 137 คน แล้วแบ่งเป็นเกรดเอ เกรดบี ผมถามว่าตัวผมอยู่เกรดเอหรือเกรดบี (หัวเราะ) คุณวันชัยบอกว่า 'โอ๊ย พี่เป็นบิ๊กต้องอยู่เกรดบี เกรดเอเขาอยู่ใน 137 ไปแล้วแหละ'
แต่ก็เชื่อได้ว่าในเกรดเอ 137 คน มีคนเปลี่ยนแปลงไปทางโหวตรับ ทำให้อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นเกรดบีขึ้นมาแทนที่ ก็เลยออกมาอย่างนี้ ที่จริงไม่คาดคิดว่าจะชนะกันถล่มทลาย น่าจะชนะสักไม่เกิน 10 คะแนน ไม่น่าจะถึง 30 คะแนนอย่างนี้"
ส่วนเรื่องกระแสการล็อบบี้ อดีต สปช.บอกว่า มีการคุยกันโดยตลอดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
"มีเลี้ยงส่งก็ได้นั่งคุยกัน ผมก็ไปเยี่ยมสังสรรค์กับ 2-3 กลุ่ม เขาก็นั่งคุยกัน แต่เรื่องการทำแผนแล้วเดินสาย เขาก็อาจทำอย่างนั้นจริง แต่เขาเข้ามาไม่ถึงผม เขาอาจเห็นว่าผมเป็นคนเดินสายกลางมากกว่ามั้ง (หัวเราะ) ก็เลยไม่ค่อยกล้ามา ทหารก็ไม่กล้ามาบอกผม ไม่มีใครกล้าบอก"
การที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน พล.อ.เอกชัยมองว่าผลดี คือ สิ่งที่น่ากังวลในรัฐธรรมนูญจะได้ถูกแก้ไข และเป็นบทเรียนสำหรับคนที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างฯใหม่ที่จะนำความเห็นมาแก้ไข
"3-4 เดือนนี้น่าจะมีการเปิดพื้นที่พูดคุยกัน โดยเฉพาะกับกลุ่ม สปช.คณะต่างๆ เราจะได้เห็นความชัดเจนขึ้น เพราะว่ามีน้อยมากเลยที่ กมธ.ยกร่างฯจะคุยกับกรรมาธิการแต่ละคณะเป็นกิจลักษณะ มีบ้าง แต่ใน 8 เดือนมานี้น้อยมาก"
ส่วนข้อดีในรัฐธรรมนูญที่ตกไปแล้ว พล.อ.เอกชัยมองว่ามีกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คือส่วนการปฏิรูป ส่วนการปรองดองที่จะมาเขียนเป็นกฎหมายลูก ส่วนเศรษฐกิจที่มีเยอะมากพอสมควรที่เปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างใหม่ให้ดีขึ้น และส่วนสุดท้ายคือเรื่องสังคม เด็กเยาวชน และคนชราต่างๆ
ส่วนข้อเสีย คือ เรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (ศปป.) ที่เอา ผบ.เหล่าทัพ เอาอดีตนายกฯมาอยู่ใน คปป. น่าจะเป็นข้อที่ถูกโจมตีมากที่สุด และเป็นเงื่อนไขที่ถูกมองมากที่สุดว่าไม่เป็นประชาธิปไตย อันนี้ต้องถูกแก้ไข
บทเรียนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตกไป พล.อ.เอกชัยบอกว่า หากจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกน่าจะดี
"ผมดูที่ อ.เจิมศักดิ์ได้ให้ข้อเสนอไว้ ตอนนี้ไม่มี สปช.แล้ว แต่ว่าที่ผ่านมาเขาบอกว่าใน กมธ.ยกร่างฯเขาจะมีสภายกร่างฯ สภายกร่างฯจะช่วยกลั่นกรองแล้วโหวตทีละมาตราเลย แต่ต่อไปนี้ กมธ.ยกร่างฯจะไม่มีสภาแล้ว สภาขับเคลื่อนฯก็ไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ การตรวจสอบต่างๆ และให้ข้อคิดเห็นก็จะไม่มี
"การทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างฯชุดที่ผ่านมา ภายในไม่มีอะไรขัดแย้งกันมากเท่าที่เห็น อาจจะมีบ้างช่วงต้นที่คุณทิชา ณ นคร ได้ลาออกไป นั่นคือการไม่ยอมรับความคิดเห็นของเพื่อนๆ เขาก็ระมัดระวังในตอนหลังนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหา แต่อันหนึ่งที่มองเห็น คือ เขาประชุมลับเกินไป เลยทำให้ไม่มีจุดร่วมมาจากภายนอกเท่าที่ควร นี่เป็นจุดเสีย"
พล.อ.เอกชัยเสนอความเห็น ก่อนจะปิดท้าย
"ถ้าเกิดไม่มีฮิดเด้น ถ้าโปร่งใสแล้วเปิดให้เข้าฟังได้ อย่างนั้นน่าจะดี หรือถ่ายทอดออกไปได้เลยก็น่าจะดีเช่นกัน"