ฐานะ เกียรติภูมิ ของ 'ร่าง'รัฐธรรมนูญ ทาง'การเมือง'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Monday, 07 September 2015 11:34
- Published: Monday, 07 September 2015 11:34
- Hits: 20712
ฐานะ เกียรติภูมิ ของ 'ร่าง'รัฐธรรมนูญ ทาง'การเมือง'
มติชนออนไลน์ :
ไม่ว่า 'ร่าง'รัฐธรรมนูญ ฉบับ '36 มหาปราชญ์' จะ 'ผ่าน'หรือ 'ไม่ผ่าน'การรับรองจากที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ
แต่ "ร่าง" นี้ก็ได้ "แปรสภาพ" ไปแล้ว
ตัวอย่าง 1 ซึ่งแจ่มชัดเป็นอย่างยิ่งคือจำนวนของ สปช.ที่แสดงตนว่าจะไม่ให้การยอมรับต่อ'ร่าง' รัฐธรรมนูญ ดำเนินไปในลักษณะที่เรียกว่า
พัฒนาเชิง 'ปริมาณ' จาก 'น้อย'ไปหา'มาก'
ในเบื้องต้น ไม่ว่า นายประสาร มฤคพิทักษ์ ไม่ว่า นายสิระ เจนจาคะ ออกมาแถลงอย่างหมิ่นหยามว่า มีจำนวนเพียงหยิบมือหนึ่ง
ไม่น่าจะเกิน 40 ด้วยซ้ำ
แต่ยิ่งใกล้ถึงวันที่ 6 กันยายน ปริมาณกลับเพิ่มทวีขึ้นในลักษณะ "ก้าวกระโดด" ไต่ไปอยู่ในระดับที่ต้องใช้คำว่าสูสี
นั่นหมายถึงจำนวนใกล้ 100 หรือเหยียบ 140
กระแสการวิพากษ์วิจารณ์อันดังกระหึ่มจากหลายภาคส่วนถึงลักษณะ "เผด็จการ" ลักษณะ "สืบทอดอำนาจ" ต่างหากที่เข้ามาครอบงำและส่งผลสะเทือน
สถานะของ "ร่าง" รัฐธรรมนูญจึง "แปรสภาพ"
การแปรสภาพของ "ร่าง" รัฐธรรมนูญส่งผลกระทบโดยตรงต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า "36 มหาปราชญ์" อย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้
ความฮึกเหิมของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จางคลายลง
อาการยิ้มเหยียดที่มุมปาก พร้อมอาการแวววาวด้วยความผยองผ่านดวงตา เริ่มไม่ปรากฏให้เห็น ไม่ว่าผ่านทางจอโทรทัศน์ ไม่ว่าบนหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์
เพียงการวิจารณ์จากราชบัณฑิตระดับ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ก็ต้องเหนื่อย
ทั้งนี้ แทบไม่ต้องประเมินบทบาทและความหมายของนักกฎหมายมหาชนระดับ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งกลุ่มนิติราษฎร์
แสงแห่งสปอตไลต์ฉายจับไปยัง "คปป."
คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ อันเป็นการถอดพิมพ์เขียวของ คสช. และมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไปสถาปนา
เป็นการปกครองโดย "ระบอบรัฐประหาร" ชั่วนิจนิรันดร
ผลเฉพาะหน้าในทางสังคมก็คือ "ร่าง" รัฐธรรมนูญอยู่ในสภาพอันเรียกได้ว่า "เสียของ" และพลอยทำให้ "36 มหาปราชญ์" ที่ดำรงอยู่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องกลายเป็น "ของเสีย" ไปด้วยโดยอัตโนมัติ
1 ในแม่น้ำ 5 สายจึงกลายเป็น "น้ำเน่า"
อาจกล่าวได้ว่าการดำรงอยู่ของ "ร่าง" รัฐธรรมนูญนับแต่ส่งมอบให้ สปช.เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม กระทั่งวันที่ 6 กันยายน ได้กลายเป็น "กระแส" ใหญ่ในทางสังคม
เป็นกระแสอันมาจาก "ปัญญาประดิษฐ์" ของ "36 มหาปราชญ์"
เป็นกระแสอันมาจากภาระหน้าที่โดยพื้นฐานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอันเป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายของ คสช.ที่จะต้องดำเนินการไปตามธง
"อยู่บนเรือแป๊ะ ก็ต้องตามใจแป๊ะ"
เป็นแป๊ะเจ้าของเรือ เป็นแป๊ะซึ่งทำคลอดคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกเสียจาก "คสช."
หากเป็น "เรื่องดี" เท่ากับ "คสช." หน้าบาน
แต่เมื่อ "ร่าง" รัฐธรรมนูญนี้ถูกก่นด่าจากทุกสารทิศ มากด้วยฉายานานาสารพัด แม้กระทั่ง "ร่าง" รัฐธรรมนูญ "ฉบับไม่เต็มใบ"
นั่นหมายถึง "มลทิน" แปดเปื้อน "คสช." ไปด้วย
จึงประเมินและสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะ "ผ่าน" หรือ "ไม่ผ่าน" จาก สปช. "ร่าง" รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยากที่จะมีที่ยืนอยู่ได้อย่างองอาจ สง่างาม
ยากที่จะสามารถผ่าน "ประชามติ" ได้ท่ามกลางเสียงชโยโห่ร้องด้วยความยินดี
เป็น "ร่าง" รัฐธรรมนูญเสียของ และอยู่ในฐานะ "ของเสีย"
ทั้งๆ ที่อำนาจของ คสช.มีอย่างล้นเหลือ ทั้งๆ ที่อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
ปรากฏการณ์ต้าน "ร่าง" รัฐธรรรมนูญ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างไร ไม่เพียงแต่ดำรงอยู่เฉยๆ หากแต่ดำรงอยู่อย่างมีสถานะและมีผลสะเทือนในทาง "สังคม" อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง
เป็น "พลังเงียบ" อันกระหึ่มขึ้นอย่าง "อึกทึก" ครึกโครม...