WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

มติรับ ไม่รับ ต่อ'ร่าง'รัฐธรรมนูญ ใต้ กฎอนิจจัง

มติรับ ไม่รับ ต่อ'ร่าง'รัฐธรรมนูญ ใต้ กฎอนิจจัง


(ที่มา:มติชนรายวัน 2 กันยายน 2558)


ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจโดย นายประสาร มฤคพิทักษ์ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจโดยนายสิริ เจนจาคะ

เข้าใจได้

เหมือนกับความมั่นใจของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ตัดสินใจกำหนดให้มีการเลือกตั้งอย่างเป็นสมัยทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550

เหมือนกับความมั่นใจของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตัดสินใจยุบสภาและกำหนดให้มีการเลือกตั้งอย่างเป็นสมัยทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554

เป็นความมั่นใจในทาง "การเมือง"

กล่าวสำหรับรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อันมีรากฐานมาจากกระบวนการรัฐประหารโดย คมช. เมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่น่าจะเป็นการตัดสินใจโดยเอกเทศของรัฐบาล หากแต่น่าจะดำเนินไปตามพิมพ์เขียวในทางการเมือง

อย่างที่รับรู้ว่า "บันได 4 ขั้น"

กล่าวสำหรับรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันมีรากฐานมาจากกระบวนการรัฐประหารที่ร่วมมือกันในสถานการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 การตัดสินใจก็เพราะประเมินอย่างรอบด้านแล้วว่า

 จะต้อง "กำชัย" จากกระบวนการ "การเลือกตั้ง"



ความมั่นใจของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ความมั่นใจของ นายประสาร มฤคพิทักษ์และความมั่นใจของ นายสิริ เจนจาคะ 

จึงมีรากฐานอย่างเดียวกัน

1 คือ ความมั่นใจใน "คสช."

เพราะว่าที่มาแห่งอำนาจของ คสช.คือ กองทัพ คือ การทำรัฐประหาร และ ณ กาลปัจจุบัน คสช.สามารถจัดขบวนแถวของกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จ

มี "รัฏฐาธิปัตย์" อยู่ในมือ

1 คือ ความมั่นใจว่าเนื้อหาของ "ร่าง" รัฐธรรมนูญจะเป็นหลักประกันอย่างมั่นคงในเรื่องการสืบทอดอำนาจได้อย่างแข็งแกร่ง ยั่งยืน

อย่างน้อย 5 ปี ทั้งยังสามารถต่อไปได้อีก 5 ปี

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมาก เมื่อ คสช.มีรากฐานอันมั่นคงอยู่กับกองทัพอยู่กับทหาร และได้ "ร่าง" รัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจมาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด จึงแทบไม่มีความหวาดกลัวอะไรต่อการเดินหน้าเข้าสู่ "ประชามติ"

โอกาสที่พรรคการเมืองและนักการเมืองจะต่อต้าน แข็งขืน ก็มีไม่มากนัก

ประกอบกับจุดอ่อนเปราะเป็นอย่างมากของนักการเมือง คือ ต้องการการเลือกตั้ง ไม่ว่ากฎกติกาจะเป็นอย่างไร การเลือกตั้งคือช่องทางที่จะได้มีบทบาทเข้าทำนอง "กำขี้ ดีกว่ากำตด"

 สถานการณ์การลงมติในวันที่ 6 กันยายนจึงน่าจะ "ฉลุย"

ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งอย่างเป็นสมัยทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคม 2550 มีองค์ประกอบเป็นจำนวนมากที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับ คมช.

1 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

1 แผนบันได 4 ขั้น อันไม่เพียงแต่ยุบพรรคไทยรักไทย เล่นงานกรรมการบริหารพรรค อันนำไปสู่การแยกตัวของบุคคลอย่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นต้น เข้าร่วมส่วนเป็นพันธมิตรในแนวร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์

นี่ย่อมเป็น "หลักประกัน" ชัยชนะต่อ "พรรคพลังประชาชน" อย่างแน่นอน

แต่แล้ว เมื่อการเลือกตั้งอย่างเป็นสมัยทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550 มาถึงชัยชนะกลับเป็นของพรรคพลังประชาชน

เช่นเดียวกับความมั่นใจของพรรคประชาธิปัตย์และกองทัพ

ภายหลังบดขยี้พรรคพลังประชาชน แยกเอาพรรคภูมิใจไทยมาเป็นพันธมิตร ประสานกับการบดขยี้คนเสื้อแดง ไม่ว่าเดือนเมษายน 2552 ไม่ว่าเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ย่อมเกิดความมั่นใจ

เดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นสมัยทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554

แต่แล้วการเลือกตั้งอย่างเป็นสมัยทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554 ชัยชนะกลับเป็นของพรรคเพื่อไทย กระทั่งเป็นกระดานหกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

นี่คือสภาพ "อนิจจัง" ในทาง "การเมือง"

อนิจจัง อันสะท้อนลักษณะไหลเรื่อย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

การลงมติในที่ประชุม สปช. วันที่ 6 กันยายน ด้านหลักคือความมั่นใจว่า "ร่าง" รัฐธรรมนูญ ผ่านฉลุยแน่นอน

แต่บรรยากาศก่อนการประชุม ก่อนการลงมติ ก็มากด้วย "ตัวแปร" ทุ่มโถมเข้ามาเป็นจำนวนมากกระทั่ง ความเงียบในเบื้องต้นยกระดับกลับกลายเป็น "กระแส" ในทางการเมือง "กระแส" ในทางสังคม

"ตัวแปร" เหล่านี้แหละคือภาวะ "ไหลเรื่อย" ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!