ความหวังระบอบปชต. ภายใต้'รัฐธรรมนูญใหม่'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Monday, 31 August 2015 12:15
- Published: Monday, 31 August 2015 12:15
- Hits: 10483
ความหวังระบอบปชต. ภายใต้'รัฐธรรมนูญใหม่'
หมายเหตุ - เว็บไซต์ประชามติจัดงานเสวนา "ความหวังของระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่" โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายโคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล นายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นายศราวุฒิ ประทุมราช สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นายอธึกกิต แสวงสุข สื่อมวลชน นายชลัท ประเทืองรัตนา นักวิชาการผู้ชำนาญ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม
โคทม อารียา
ร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชูเรื่องพลเมืองเป็นใหญ่ มีเรื่องสมัชชาคุณธรรม สมัชชาพลเมือง ให้อำนาจหน้าที่คล้ายคณะกรรมการที่มาตรวจสอบดูเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม แต่อ่านดูแล้วหวาดผวาเหลือเกิน ถ้าคุณไม่ทำตามประเพณีถือว่าคุณผิดจริยธรรม สงสัยว่าประเทศไทยเป็นพหุนิยม มีหลายประเพณี โชคดีเอาตรงนี้ออกไป แต่ยังเขียนว่าตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างน้อย 2-3 มาตรา ให้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ จำนวนหนึ่งเป็นหน้าที่ กมธ.ยกร่างฯทำต่อ เหมือนมีภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่เราทักท้วงโดยเฉพาะเรื่องสมัชชาคุณธรรม ไม่ทราบว่าหลุดออกไปหรือกำลังจะผุด หลายเรื่องที่ท้วงติงก็หายไป
ส่วนที่เห็นว่าไม่ดีคือ ภาคที่ 4 หลักคิดของ กมธ.ยกร่างฯ คิดว่าต้องใช้อำนาจนำการปรองดอง หรือขับเคลื่อนการปฏิรูปใช้อำนาจนำ ก็จะเป็นอำนาจเก่าที่ชนะ ไม่ใช่อำนาจพลเมืองตามที่โฆษณาหรืออำนาจของประชาชนอย่างควรเป็นในระบอบประชาธิปไตย
ครม.ต่อไปต้องเป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐ ต้องเป็นไปในแนวยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ (คปป.) ถ้าไม่ทำ คปป.ยืนยัน 2 ใน 3 เสียงแล้ว ครม.ต้องทำตาม ถามว่าใครใหญ่กว่ากัน เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าถอยหลัง เป็นการปฏิรูปโดยใช้อำนาจนำ และอำนาจนั้นอยู่กับใครยังไม่เผยโฉม จะกลายมาเป็นอำนาจนั้นอยู่กับผู้มีอำนาจในปัจจุบันใช่หรือไม่ ต้องจับตาดู
เราอยากเห็นการปกครองของกฎหมาย แต่เขาใช้แนวคิดการปกครองโดยกฎหมาย ผู้มีอำนาจกลุ่มน้อยต้องการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครอง นัยยะคือว่า กฎหมายออกมาดีแล้วอย่ามาเปลี่ยน รัฐธรรมนูญฉบับ อ.บวรศักดิ์จะแก้ได้ยาก แล้วยังตั้งองครักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้เป็นการล็อกโครงสร้าง
นี่คือ การสืบทอดอำนาจผ่านการปกครองโดยกฎหมาย เป็นการออกแบบโครงสร้าง แล้วจะแก้อย่างไรถ้าโครงสร้างไม่ดี
คนที่ถูกลิดรอนอำนาจมากที่สุดคือนักการเมือง เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชน ผู้มาจากการเลือกตั้งถูกคานอำนาจทุกระดับ ในอำนาจการบริหารจะแต่งตั้งข้าราชการพลเมือง ก็ให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม แต่ถ้ารายละเอียดให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งโดยสมบูรณ์แล้ว รัฐมนตรีจะไปสั่งใครได้
มาตรา 285 คำสั่งของ คสช. อย่าลืมว่าเป็นการใช้อำนาจเด็ดขาด เผด็จการ การบอกว่าการใช้อำนาจแบบนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ ทำให้รัฐธรรมนูญนี้มีกลิ่นอำนาจนิยม ควรเขียนว่าให้ใช้ต่อไปต่อเมื่อไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนี้
ศราวุฒิ ประทุมราช
เกิดคำถามจากรัฐธรรมนูญว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพจะคุ้มครองพลเมืองคนไทยมากกว่าชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทยหรือเปล่า แรงงานข้ามชาติจะไม่ได้รับการบริการสาธารณสุขหรือความเป็นธรรมหรือเปล่า รัฐธรรมนูญระบุว่าคนต่างชาติจะเข้าถึงสิทธิทางสังคมและวัฒนธรรมได้เท่าที่รัฐมีกำลังจะบริการได้ การเขียนแบบนี้ขัดหลักการคณะกรรมการสิทธิเสรีภาพการเมืองและวัฒนธรรม รัฐจะอ้างว่าไม่มีเงิน ไม่มีงบประมาณไม่ได้ การเขียนในรัฐธรรมนูญแบบนี้เท่ากับขัดแย้งหลักการสากล
เวลาเราพูดถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีมนุษย์ รัฐไทยคุ้มครองทุกคนที่อยู่ในรัฐ เรื่องนี้เราต้องจัดสรรงบประมาณ แม้สิทธิมนุษยชนทางการเมืองจะแยกออกมาอยู่แล้วเป็นสิทธิของคนไทย แต่เมื่อเขียนแบบนี้เป็นการแบ่งแยกจะเกิดปัญหา
เวลาพูดเรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกาย ถ้าอ้างหลักการควรเพิ่มประเด็นการห้ามทรมาน การบังคับสูญหาย การลงโทษที่โหดร้าย แต่รัฐธรรมนูญนี้ไม่มี
การกำหนดให้มีการช่วยเหลือทางกฎหมายก็นับว่าเป็นเรื่องดี แต่อันที่ไม่ดีและเห็นว่ายากคือ มาตรา 285 คำสั่งต่างๆ ของ คสช.ประกาศใช้แล้วยังคงอยู่ เป็นปัญหาที่ไม่ได้หมกเม็ด ประกาศโต้งๆ เลย
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์
พยายามหาข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พบว่าเป็นวัตถุในการศึกษาทางนิติศาสตร์ ว่าตัวอย่างไม่ดีในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร
ไม่ได้มองว่านี่จะเป็นรัฐธรรมนูญถาวร ไม่ใช่รัฐธรรมนูญเปลี่ยนผ่าน 5 ปี คนร่างเขาต้องการใช้อย่างมากแค่ 5 ปี เป็นสถานการณ์ต้องคุมไว้ รัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ภาคต่อ
เราคงคาดหวังประชาธิปไตยจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้
มีไอเดียเรื่องระบบการเมืองการปกครองแบบผสม นักรัฐศาสตร์โยงไปถึงสมัยกรีกโรมัน การปกครองแบบคนเดียว เป็นกลุ่ม และคนหมู่มาก แต่ไทยมองว่าเป็นการเอาเผด็จการมาถ่วงกับประชาธิปไตย
ทางแก้ความขัดแย้งระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์กับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม เคยพยายามแก้กันแล้ว มีการเอาความไม่เป็นประชาธิปไตยไปอยู่ในรัฐธรรมนูญเลย คนจะฉีกรัฐธรรมนูญก็ไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ อาจเกิดนวัตกรรมใหม่ มีคนบอกว่าจะไม่จำเป็นต้องมีรัฐประหารอีกต่อไป เพราะเราสามารถเอานายกฯออก ประกาศกฎอัยการศึก ออกคำสั่งโดยไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ
เรื่อง คปป.อ้างว่าต่างประเทศเคยมีในโปรตุเกส แต่ความต่างคือสภานี้เป็นแค่ที่ปรึกษาประธานาธิบดีและมีอำนาจคล้ายศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิทักษ์หลักการรัฐธรรมนูญ แต่นี่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ยึดโยงกับประชาชน
ปธ.กมธ.ยกร่างฯบอกให้ดูรัฐธรรมนูญชุดนี้แบบดูนางงาม อย่าผ่าเอาไส้มาดู ผมนึกถึงชื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับหนองใน
ตอนรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 ก็เอาเรื่องสิทธิเสรีภาพมาขาย ใช้ได้ไม่เท่าไหร่ก็ฉีกทิ้ง เรื่องสิทธิเสรีภาพก็ไม่ต่างกับผักชีเอามาโรยหน้าให้ดูสวย การมีอยู่ของกรรมการ
สิทธิฯ ต้นทุนและการเสียโอกาสเสียไปไม่เสียหายกว่าเหรอ เรานำมาอาจสร้างองค์กรที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่า
อธึกกิต แสวงสุข
รัฐธรรมนูญบอกเลยว่าไม่เป็นประชาธิปไตยไปตลอดกาล เหมือนหอมหัวใหญ่ฉีดยาฆ่าแมลงมาเต็มที่ ปอกไปกี่ชั้นก็เจอยาพิษ ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะกลไกถูกบังคับไว้เยอะมาก
ชั้นที่ 1 การแก้ไขที่น่าสนใจ มาตรา 278 ว่าด้วยอำนาจ คสช. ในการเขียนร่างแรกอยู่ในมาตรา 309 ลอกมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 ครม.นี้ให้บริหารราชการแผ่นดินไปจน ครม.ใหม่มารับหน้าที่ คสช.พ้นตำแหน่งทั้งคณะพร้อม ครม. ถ้าย้อนไปดูปี 2550 ก็เขียนอย่างนี้
แต่ร่างที่ 2 มาตรา 278 เขียนใหม่ เพิ่มข้อความว่า ให้ คสช.และผู้ดำรงตำแหน่งพ้นตำแหน่งพร้อม ครม. และในระหว่างเวลาดังกล่าวให้หัวหน้า คสช.และ คสช.มีหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและแก้ไขเพิ่มเติม
ถามว่าทำไมต้องแก้ การเขียนอย่างนี้มีนัยยะทางกฎหมาย แปลว่า คสช.และมาตรา 44 จะมีอำนาจเต็มตลอดไป แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเป็นหลักในการปกครองประเทศไปจนกว่าจะเลือกตั้ง จน ครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่
ย้อนดูไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนเขียนบทเฉพาะการณ์ให้คณะรัฐประหารแบบนี้คือ รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ซ้อนอยู่ด้วยกัน รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีอำนาจมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวร
คนวิจารณ์เยอะแล้วว่า คปป.คือ รัฐซ้อนรัฐ คปป.มี 22 คน ตามมาตรา 260 จาก 5 ผบ.เหล่าทัพ นายกฯจากการเลือกตั้ง ประธานสภา ประธานวุฒิสภา อดีตนายกฯ อดีตประธานสภา อดีตประธานศาลฎีกา ไล่ดู
อดีตนายกฯที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างคุณชวน หลีกภัย โดยมารยาทคงไม่มาหรอก แล้วเหลือใคร เหลือ พล.อ.ประยุทธ์อยู่คนเดียว อีก 11 คนตั้งตามมติสภา แต่มีเพียง 3 คนที่มาจากการเลือกตั้ง โดย 19 คน
ตั้งขึ้นก่อน การบอกว่า 11 คน จะตั้งตามมติสภา จึงไม่ได้หมายถึงสภาเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง และ คปป.ไม่ได้อยู่แค่ 5 ปี สามารถอยู่ต่อได้
ถ้าประชามติผ่าน โดยที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ถึงตอนเลือกตั้งเราก็โหวตโนสิ นายบวรศักดิ์เขียนไว้ว่า ส.ส.ต้องมีเสียงเกินเสียงโหวตโน แต่ร่าง 2 แก้ว่า ถ้า ส.ส.ได้คะแนนน้อยกว่าโหวตโน ให้เลือกตั้งใหม่
แล้วต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้ใช้สิทธิ ถ้าผ่านประชามติมีการเลือกตั้งโดย คสช.ยังมีอำนาจอีก 5 ปี จะกระดิกอะไรไม่ได้ และเขามีโอกาสต่ออายุอีก 5 ปี
รัฐธรรมนูญล็อกไว้หมด ต่อให้ ส.ว.แต่งตั้งพ้นไปแล้ว สรรหา ส.ว.ใหม่ องค์ประกอบก็ยังคล้ายเดิม วุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีอำนาจถอดถอนรัฐบาล มีอำนาจเท่าศาลเลย ทั้งที่การถอดถอนนักการเมืองเป็นเรื่องทัศนคติทางการเมือง ไม่ใช่ศาล แต่นี่เอาแค่มติรัฐสภาก็ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต
ภาพที่จะเกิดขึ้น จะมีกระบวนการสร้างความปั่นป่วนบิดหลักการประชาธิปไตย แล้วศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีอำนาจมากกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีอำนาจตีความมาตรา 7 มีอำนาจขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยตีความจนไม่เป็นประชาธิปไตย กลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ใช้มาตรา 7
รัฐธรรมนูญนี้มีโครงสร้างอำนาจสองแบบคือ อำนาจเหนือการเลือกตั้ง เปิดพื้นที่ให้พวกประชาสังคมห้อยโหน ได้มีความหวังว่าตัวเองจะได้มีส่วนร่วมบ้าง ภาพนี้คือพยายามขายข้อดีล่อใจภาคประชาสังคม คือเรื่องสิทธิเสรีภาพภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น คงคิดว่าเป็นโอกาสเข้ามาทำอะไรดีๆ แต่สิ่งที่ทิ้งไปคือเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ภาคประชาสังคมทิ้งหลักการเลือกตั้งและดูถูกคนที่เข้าไปในระบบการเลือกตั้ง
ชลัท ประเทืองรัตนา
ภาคที่ 4 เรื่องการปฏิรูปและปรองดอง เขาอาจเห็นว่าเรื่องการปฏิรูปไม่เคยเกิดได้จริงในแง่ให้รัฐบาลรับไปปฏิบัติ เชื่อว่านักการเมืองอาจไม่ผลักดันจริง เลยร่างรัฐธรรมนูญบังคับให้ปฏิรูปและบังคับให้รักกัน อำนาจ คปป.ในภาวะปกติสามารถบังคับให้ ครม.ปฏิบัติตามได้ ต้องตั้งคำถามว่าเหมาะสมเพียงใด คปป.มีอำนาจการแต่งตั้งคณะกรรมการมากมาย แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสร้างความปรองดอง คณะการปฏิรูปด้านต่างๆ อยากให้เลือกโดยมีองค์ประกอบเหมาะสมมีความเชี่ยวชาญ ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมือง เพื่อให้เกิดการยอมรับ
แต่ส่วนดีมีหลายด้าน ทั้งด้านสังคม การกระจายอำนาจ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ถ้าเกิดขึ้นจริง เรื่องประกันสังคม เรื่องราชการ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มีกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมีกระบวนการไกล่เกลี่ย ดูมีความหวังแต่ต้องติดตามต่อ
เรื่องปรองดองคงเกิดได้ยาก ไม่สามารถใช้กฎหมายมาบังคับได้ ต้องใช้วิธีการหลากหลาย มีบันทึกข้อตกลงมากมายโดนฉีก และเรื่องทัศนคติ ต้องทำให้เกิดขึ้นจากการเรียนรู้แลกเปลี่ยนโครงสร้าง จะทำให้มีความเท่าเทียมก็ต้องทำผ่านการปฏิรูปสังคม ในระยะใกล้เรื่องการปรองดองคงเหนื่อย แต่เรื่องการปฏิรูปคงเห็นภาพขึ้นมา