WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ชี้ชะตา ร่างรธน. หนทาง'คดเคี้ยว' สู่งานใหญ่'คืนอำนาจ'

4-5จด

ชี้ชะตา ร่างรธน. หนทาง'คดเคี้ยว' สู่งานใหญ่'คืนอำนาจ'

มติชนออนไลน์ : วิเคราะห์

ผ่าน-ไม่ผ่าน คำถามกระหึ่มถึง "ร่างรัฐธรรมนูญ" หลายฉายาที่สภาปฏิรูปแห่งชาติหรือ สปช. จะโหวตชี้ชะตาวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ย.นี้

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นผลงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน 

ตลอดเวลาของการยกร่าง มีข่าวเกรียวกราวมาเป็นระยะๆ

ถึงขนาดมีกรรมาธิการสตรีคนหนึ่งลาออกไป คือ นางทิชา ณ นคร 

ไฮไลต์ของร่างรัฐธรรมนูญมีอยู่ 4-5 จุด 

ได้แก่ การให้ "คนนอก" เป็นนายกฯได้ ส.ว.ข้างมากมาจาก "สรรหา" โดย ครม.เป็นคนตั้งกรรมการสรรหา 

การตั้ง คปป.หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง 22 คน 

ปัญหาของ คปป.อยู่ที่การมีอำนาจพิเศษ ทั้งในร่างปกติและในบทเฉพาะกาล 

ในบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้ คปป.ในวาระเริ่มแรกใช้รัฐธรรมนูญ มาจากนายกฯคนที่มีอำนาจอยู่ก่อนเลือกตั้ง และผู้นำอำนาจต่างๆ ยกคณะไปนั่งเป็น คปป. 

กลายเป็น "ซุปเปอร์รัฐบาล" หรือรัฐบาลอีกชุดที่ซ้อนอยู่ มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน 

ยังมีปมประเด็นเกี่ยวกับการตั้งกรรมการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่เคยมีบทบาทอย่างสูงในช่วงรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งจะทำให้องค์กรเหล่านี้ มีความพิเศษนอกเหนือจาก 3 อำนาจอธิปไตย ไม่น้อยกว่าสมัยรัฐธรรมนูญ 2550 

ด้วยเนื้อหาระดับเรียกแขกวีไอพีเหล่านี้ ทำให้เกิดความเห็นต่างขึ้นมา 2 ฝ่ายทันที

ฝ่ายเห็นด้วย ก็คือกลุ่มที่สนับสนุนการล้มรัฐบาลเพื่อไทย สนับสนุนการชัตดาวน์ จนกระทั่งนำมาสู่รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 และปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

       โดยเชื่อว่า นี่คือวิธีเดียวที่จะถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณ และทุนสามานย์ 

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็คือ พรรคการเมือง กลุ่มปัญญาชน นักวิชาการ ที่เห็นว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มุ่งสืบทอดอำนาจ กวาดล้างขั้วการเมืองตรงข้าม 

       แนวโน้มการลงมติของ สปช.ในวันที่ 6 กันยายน แม้จะเห็นว่าความคึกคักในการแสดงความเห็นคัดค้าน มาจาก สปช.กลุ่มของ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายวันชัย สอนศิริ นายเสรี สุวรรณภานนท์ 

แต่ "พลังเงียบ" ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ใน สปช. ต่างหาก จะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของร่างรัฐธรรมนูญตัวจริง

สมาชิก สปช.247 คน แม้จะมาจากการสรรหา แต่สุดท้าย ผ่านการจิ้ม-เคาะ จาก คสช. 

ดังนั้น การตัดสินใจลงมติ จะเป็นภาพสะท้อนความต้องการของ คสช.นั่นเอง

       สำหรับ คสช. ไม่ว่า สปช.จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีอะไรต้องสูญเสียมากนัก ยังไงๆ ก็ได้อยู่ยาวไปถึงปี 2559-2560 

แต่ในทางการเมือง การไฟเขียวให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน จะเป็นภาพที่ดีกว่าสำหรับ คสช.และ สปช. เพราะเสียเงินเสียทองเสียเวลามากมาย หากโหวตคว่ำก็เท่ากับที่ผ่านมาสูญเปล่า 

การไฟเขียวให้ผ่าน ยังนำไปสู่การลงประชามติ ให้ประชาชนตัดสิน เป็นขั้นตอนที่มีความหมาย และกล่าวอ้างได้ว่าเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย 

       ดังนั้น โอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะ "ผ่าน" ในวันที่ 6 ก.ย. จึงสูงยิ่งกว่าโอกาสตกม้าตาย หรือไม่ผ่าน 

      มองทะลุวันที่ 6 ก.ย.ออกไป หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็จะต้องแต่งตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

น่าจะใช้เวลาอีกไม่น้อย และคงจะตามมาด้วยปัญหามากมาย 

แต่หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน สปช.ไป จะเห็นขั้นตอนต่างๆ ที่ชัดเจนกว่า

       โดยร่างรัฐธรรมนูญจะไปเข้ากระบวนการเตรียมลงประชามติ ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.

การลงประชามติจะให้ผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งประเทศ มากาบัตรว่าจะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่

จะเป็นงานใหญ่ใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาท 

        คาดหมายว่า จะเกิดบรรยากาศของการถกเถียง โต้แย้ง และขัดแย้งกันอีก จากฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน 

        รัฐบาล โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้เตือนว่า การใช้ไลน์ คลิป โซเชียลมีเดีย เพื่อรณรงค์ ปลุกระดมเพื่อชี้นำ เพื่อคัดค้านหรือสนับสนุน ร่างรัฐธรรมนูญนั้นทำไม่ได้ 

        ขณะที่ กกต.ก็เตรียมนำประกาศเกี่ยวกับการลงประชามติเข้าขอความเห็นชอบจาก สนช. หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านในวันที่ 6 ก.ย. โดยเตือนเรื่องการคัดค้านหรือสนับสนุนว่า ยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัด ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองด้วย 

      ยังน่าสงสัยว่า ภายใต้บรรยากาศที่มีข้อจำกัด การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นไปในแนวทางใด 

สรุปรวบยอดคร่าวๆ ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไปถึงขั้นประชามติ ผลจะออก 2 หน้า คือผ่านหรือไม่ผ่าน

ถ้าผ่านประชามติ จะเป็นขั้นตอนของการร่างกฎหมายลูก ไปเลือกตั้งใหญ่ประมาณเดือน ก.ย.หรือ ต.ค.2559 

การเมืองในเวลานั้น หากพิจารณาจากบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะยุ่งยากอยู่ไม่น้อย 

ถ้าไม่ผ่านประชามติก็ต้องตั้งกรรมการมายกร่างใหม่อีกคล้ายกรณี สปช.ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ

       ดูจากวันนี้ เส้นทางไปสู่การคืนอำนาจ ดูคดเคี้ยวเลี้ยวลด

และใช้เวลายาวนาน 

       ไม่รวบรัดฉับไวเหมือนตอนยึดอำนาจ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สภา และองค์กรต่างๆ ในเวลาอันรวดเร็ว 

      สถานการณ์เหล่านี้ จะอยู่ภายใต้รัฐบาลที่เพิ่งจัดทัพใหญ่ ทั้งปรับ ครม.เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ โยกย้ายทหาร 3 เหล่าทัพ จัดแถวตำรวจและกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และยังผุด "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป" มาแทน "สภาปฏิรูปฯ" ที่สิ้นสภาพหลังวันที่ 6 ก.ย. เป็นแผงอำนาจอันเข้มแข็ง

      แผงอำนาจนี้จะเข้มแกร่งรับมือสถานการณ์ต่างๆ ได้หรือไม่ ขึ้นกับหลายปัจจัยที่ซับซ้อน รวมถึงการแก้ปัญหา สร้างผลงาน สร้างความพึงพอใจให้กับคนส่วนใหญ่ได้หรือไม่

      ขณะที่แรงกดดันจากมหาอำนาจ จากต่างประเทศให้ประเทศไทยคืนสู่สภาพปกติ แข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ 

ความพยายามร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเนื้อหาดังที่กล่าวมา จะทำให้รัฐบาลเข้มแข็งขึ้น ผลักดันการปฏิรูปได้อย่างสบายมือ หรือจะออกมาในทางตรงกันข้าม

      น่าจะได้เห็นจากสัญญาณที่ปรากฏชัดขึ้นและมากขึ้นเรื่่อยๆ ในเวลาต่อไปนี้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!