ค้ามนุษย์ไม่สายเกินแก้ ชี้ช่องไทยกู้ชื่อ-แก้ปม'ค้ามนุษย์'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Wednesday, 25 June 2014 17:06
- Published: Wednesday, 25 June 2014 17:06
- Hits: 3892
วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:06 น. ข่าวสดออนไลน์
ค้ามนุษย์ไม่สายเกินแก้ ชี้ช่องไทยกู้ชื่อ-แก้ปม'ค้ามนุษย์'
รายงานพิเศษ
กรณีสหรัฐอเมริกาประกาศลดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยให้อยู่กลุ่มที่ 3 หรือเทียร์ 3 (Tier3) ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุด จากเดิมที่อยู่กลุ่ม 2
ประเด็นนี้อาจทำให้ไทยต้องเสียสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐด้านอื่นๆ รวมถึงความช่วยเหลือทางการเงินจากองค์กรระหว่างประเทศ
จะมีแนวแก้ปัญหาและกอบกู้ความน่าเชื่อถือกลับมาได้อย่างไร มีความเห็นจากนักวิชาการ อดีตส.ว. และเอ็นจีโอ ที่จับงานด้านนี้
สุนัย ผาสุก
ผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์
จริงๆ แล้วไทยถูกขึ้นบัญชีเฝ้าระวังเรื่องการค้ามนุษย์อยู่แล้ว เป็นประเทศที่ต้องเฝ้าจับตามองเนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา ตั้งแต่ปี 2010-2013 ก็อยู่ในบัญชีที่ 2 มาตลอด
โดยเฉพาะช่วง 2 ปีหลัง ไทยมีโอกาสตกมาอยู่บัญชีที่ 3 แต่ได้รับ การผ่อนผัน เนื่องจากมีการให้คำมั่นสัญญาจากรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะเร่งรีบกำหนดมาตรการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
จึงเห็นได้ชัดว่าปัญหานี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร แต่เป็นเรื่องที่เกิดความล้มเหลวอย่าง ต่อเนื่อง เป็นการลดอันดับโดยอัตโนมัติ เมื่อไทยอยู่ บัญชีที่ 2 เฝ้าระวังต่อเนื่องกัน แต่หลังจากนี้หากทำดี ก็กลับขึ้นไปใหม่ได้
ผลที่เกิดขึ้นจากการที่เราดีแต่พูดแต่ไม่มีเนื้องาน หรือปฏิบัติตามมาตรฐานได้อย่างเป็นรูปธรรม คือมีมาตรการออกมาแต่ไม่สอดคล้องกับความร้ายแรงของปัญหา งานที่ทำไม่ตอบโจทย์ปัญหา การมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เมื่อพบแล้วแทนที่จะลงโทษกลับปกป้อง
มาตรการที่คสช.ประกาศ เป็นหนึ่งในแนวทางที่ควรทำมานานแล้ว มาตรการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มีหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือการคุ้มครองดูแลเหยื่อ ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครองไม่ใช่ถูกดำเนินคดี
การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ที่เป็นช่องทางหนึ่งในการลดปัญหาการหลบหนีเข้าเมือง การกำหนดมาตรการเพื่อปิดช่องโหว่ทางกฎหมายในการเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าวหรือผู้แสวงหาการลี้ภัย
ต้องไม่พูดเฉพาะเรื่องของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย แต่ต้องพูดถึงโรฮิงยาด้วย เพราะเป็นกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ทุกขั้นตอน รวมถึงไม่ปกป้องคนผิด ทั้งนายจ้างและเจ้าหน้าที่ที่ต้องถูกดำเนินการ อย่างชัดเจน
ต้องตั้งใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ให้เกิดเป็นรูปธรรม และต้องตอบให้ตรงโจทย์คือเมื่อ เห็นว่าเกิดปัญหาแล้วต้องพยายามแก้ แต่ที่ผ่านมาเรากลับมีมุมมองว่าถ้ายอมรับว่ามีปัญหาจะทำให้ประเทศเสียหาย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิด
สุริชัย หวันแก้ว
ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การที่สหรัฐแถลงลดระดับปัญหาการค้ามนุษย์โดยให้ไทยอยู่อันดับเทียร์ 3 ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่เรื่อง ส่วนตัว แต่เป็นปัญหาที่เป็นเงื่อนไขระดับประเทศ หากคำนึงถึงแต่ระดับความสัมพันธ์โดยไม่มีการดำเนินการใดๆ อาจทำให้มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีไปทั้งคู่
ยกตัวอย่างเช่น เคยมีกรณีหนึ่งเกิดไฟไหม้โรงงานทอผ้าที่บังกลาเทศ มีคนในโรงงานทั้งเด็กและสตรีเสียชีวิต สหรัฐก็มีการประณาม ซึ่งไม่เพียงเท่านั้นสหรัฐยังประณามไปถึงบริษัทของประเทศตัวเองที่เป็นคู่ค้ากับโรงงานดังกล่าวว่าไม่มีความรับผิดชอบทางธุรกิจต่อสังคม
ในทำนองเดียวกันประเทศอื่นๆ แม้เป็นประเทศมหาอำนาจหรือประเทศใหญ่ๆ ก็ต้องถูกจัดอันดับในลักษณะเช่นนี้ หากขาดการจัดการเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์
ซึ่งสหรัฐมีการจัดอันดับนี้มาเป็นระยะเวลา 14 ปี ไม่ใช่เพิ่งมาทำแค่ 1-2 ปี ดังนั้น กรณีนี้ จึงมองว่าไม่ใช่เป็นการกลั่นแกล้งหรือตั้งแง่เพราะ ได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิด
แน่นอนเมื่อสหรัฐจัดอันดับให้ไทยไปอยู่เทียร์ 3 ต้องส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอาหารทะเล ที่ถือเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตได้รับความนิยมไปทั่วโลก และ มีแรงงานเกือบล้านคนที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง
เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ การตอบโต้ของกระทรวงการต่างประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของสหรัฐถือว่าค่อนข้างใจร้อนเกินไป ก่อนที่จะออกมาตอบโต้ในทันที เราควรพิจารณาก่อนว่าปัญหาที่เขากล่าวถึงเป็นจริงหรือไม่ และหากมีจริงเราปล่อยเรื้อรังมานานกี่ปี
ยกตัวอย่างกรณีจัดระเบียบแรงงานในประเทศ ยังมี การปล่อยข่าวลือจนแรงงานต่างชาติอพยพกลับประเทศ ไปกว่าแสนคนจนทำให้เศรษฐกิจในหลายจังหวัดต้องชะงักลง
อย่างกรณีนี้ ต้องพิจารณาว่า เราสื่อสารกับแรงงานที่ทำงาน ในประเทศเราได้ดีมากน้อยแค่ไหน ทำไมถึงมี ปัญหาให้เกิดข่าวลือจนมีผลกระทบขนาดนี้ จุดอ่อนที่ผ่านมาคือเราต่างพึ่งพาอาศัยแรงงาน เหล่านี้ แต่ไม่เคยมีการสื่อสารทำความเข้าใจ อย่างจริงจัง
ดังนั้น สิ่งที่ต้องการสะท้อนคือ ก่อนจะมีการตอบโต้ควรต้องปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจก่อน เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างประเทศเพียงหน่วยงานเดียว
ก่อนจะตอบโต้ต้องสอบถามกันเองก่อนว่าเป็นจริงตามที่ถูกกล่าวหรือไม่ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ตรวจสอบตัวเอง เป็นการแสดงออกอย่างประเทศที่มีวุฒิภาวะ
หากไม่เป็นจริงตามข้อกล่าวหาก็สามารถมีหลักฐานมาชี้แจง หรือถ้าเป็นจริงก็ต้องใช้โอกาสนี้ไปปรับปรุงข้อเสีย ไม่ใช่มีท่าทีในลักษณะชวนตี แต่ต้องเน้นหลักการการแก้ปัญหาร่วมกัน
เพราะมาตรการการกำหนดระดับเรื่องปัญหา ค้ามนุษย์นี้ เป็นพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ ที่สหรัฐทำอนุสัญญากับสหประชาชาติ
อโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์
อดีตประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรีฯ วุฒิสภา
ต้องยอมรับ 3-4 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการ พัฒนาต่อการแก้ปัญหานี้ ดังนั้น ที่สหรัฐลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยไม่ได้เป็นผลพวงจากการที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ
ปัญหาที่แท้จริงน่าจะเกิดจากฝ่ายปฏิบัติของไทยเอง ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่บางคน เชื่อว่าแม้จะจัดอันดับแต่ก็ ไม่มีผลอะไรมากในทางปฏิบัติ ทำให้เราไม่เอาจริงเอาจังใน การแก้ปัญหา
ตราบใดที่ไทยยังเพิกเฉย ต่อปัญหาการค้ามนุษย์แล้วอันดับคงที่อยู่ในบัญชีที่ 2 มา ระยะเวลาหนึ่งแล้ว ก็จะต้องถูกขยับไม่ดีขึ้นก็ต้องแย่ลง และปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกลดอันดับ คือ ที่ผ่านมาไทยมีแต่ความขัดแย้งภายในทำให้ละเลยประเด็นเหล่านี้
หลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ต้องร่วมมือกันทำงานอย่างต่อเนื่องต่อไป
จากที่คณะกรรมาธิการเคยทำวิจัยเรื่องกระบวนการค้ามนุษย์ พบว่าปัญหาเกิดจากความบกพร่องของระบบ เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลยให้มีเส้นทางผ่าน เป็น สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต่างชาติเพ่งเล็ง
วันนี้ไทยถูกลดอันดับลงมาในบัญชีที่ 3 แล้ว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสื่อสารสิ่งต่างๆ ที่ ไทยพยายามแก้ไขไปยังสหรัฐให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น และร่วมกันคิดว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้ไทยกลับไปอยู่ในบัญชีที่ 2 หรือดีกว่าเดิม
ต้องประสานงานกันอย่าง เข้มข้น ไม่ละเลย ให้ความสำคัญว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วภาพพจน์ของประเทศเสียหาย
หรืออาจตั้งองค์กรเพื่อแก้ ปัญหาการค้ามนุษย์ขึ้นเป็นกรณี พิเศษอย่างจริงจัง รวมถึงขอความ ร่วมมือไปยังประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา
การแก้ปัญหาการรับสินบน ของเจ้าหน้าที่เชื่อว่าจะเป็นอีกมาตรการที่ช่วยแก้ปัญหากระบวน การค้ามนุษย์ได้ หน่วยงานต้นสังกัดต้องมีการลงโทษ อย่างจริงจัง
เชื่อว่า ในอนาคตไทยจะขยับอันดับขึ้นมาได้ ดีกว่าบัญชีที่ 3 เพราะไทยไม่ได้เลวร้ายอะไรขนาดนั้น เพียงแต่ไม่ได้ปรับมาตรการให้ตรงตามเงื่อนไขของสหรัฐเท่านั้น
ค้ามนุษย์ไม่สายเกินแก้
วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557 บทนำมติชน
นอกจากข่าวร้าย กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2557 ลดอันดับประเทศไทยมาอยู่ในบัญชีต่ำสุด อยู่ในข่ายสุ่มเสี่ยงถูกลงโทษด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า รายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายก็น่าเป็นห่วงด้วยเช่นกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐจะประกาศเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากเมื่อปี 2556 ไทยมีชื่อปรากฏเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้าย แต่การแก้ปัญหามีความก้าวหน้ามาก อย่างไรก็ตาม หากปีนี้ไม่หลุดจากบัญชีอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยบางรายการ และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จะซ้ำเติมภาพลักษณ์ประเทศให้ดูเลวร้าย บ่อนทำลายเศรษฐกิจประเทศไปในตัว
ก่อนสหรัฐจะประกาศลดอันดับรายงานการค้ามนุษย์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แถลงผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ แสดงความกังวลต่อการจับกุม การใช้อาวุธต่อแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ขบวนการค้าแรงงาน ปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก พร้อมกับประกาศจัดระเบียบเพื่อดูแลสวัสดิภาพความเป็นอยู่ ป้องกันกลุ่มอิทธิพลพวกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงานเยี่ยงทาส การประกาศเอาจริงเอาจังแสดงว่าฝ่ายรัฐมีข้อมูล และรู้ว่ามีปัญหานี้อยู่จริง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลายเท่าที่ควร การแถลงเจตนารมณ์มุ่งมั่นแก้ไขอย่างจริงจัง จึงสมควรได้รับการสนับสนุนยิ่ง
การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก มีมานานแล้ว ปัญหานี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ก่อน คสช.เข้ามาบริหารบ้านเมือง แต่เพิ่งมาประกาศผลการจัดอันดับไทยอยู่ในบัญชีเลวร้ายเมื่อกองทัพเข้ายึดอำนาจบริหารได้ไม่ถึง 1 เดือนเต็ม อย่างไรก็ตาม ถือเป็นภาระรับผิดชอบของคณะผู้บริหารบ้านเมืองปัจจุบันที่ต้องจัดการแก้ปัญหานี้ให้ลุล่วง เรื่องนี้มีความสำคัญ มิใช่แค่เพียงอันดับ หน้าตาประเทศ หรือเศรษฐกิจแต่อย่างเดียวเท่านั้น หากความมุ่งมั่นตั้งใจแก้ปัญหา ยังเท่ากับแสดงออกซึ่งการเคารพต่อหลักการขั้นพื้นฐาน ให้ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าชนชาติใด ซึ่งถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ การที่หัวหน้า คสช.แถลงนโยบายจะจัดการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก ดูแลสวัสดิภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี เมื่อระดับผู้นำเล็งเห็น ให้ความสำคัญ ปัญหานี้คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง