วิเคราะห์
22 มิถุนายนครบ 1 เดือนการยึดอำนาจพอดี
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ประกาศยึดอำนาจภายหลังจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง กปปส. กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หมดทางออก
หลังจากวันนั้นถึงวันนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สามารถดำเนินการเป็นผลสำเร็จอย่างน้อย 3 ประการ
หนึ่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติสามารถยุติความขัดแย้งที่เผชิญหน้ากัน ด้วยปฏิบัติการเป็นขั้นตอน นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ประกาศใช้กฎอัยการศึก วันที่ 21 พฤษภาคม เรียกคู่ขัดแย้งเข้าเจรจา วันที่ 22 พฤษภาคม หลังจากยึดอำนาจแล้วได้ยุติการชุมนุมของ กปปส. และ นปช. ลงทันที
วันเดียวกันได้ประกาศเคอร์ฟิว และกระบวนการกวาดล้างอาวุธสงคราม การเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว สั่งปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชน ฯลฯ
การปฏิบัติการของฝ่ายทหารทำให้บรรดาฮาร์ดคอร์เงียบสงบ
สอง คณะรักษาความสงบแห่งชาติสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ทรุดฮวบไปในช่วง 6 เดือนให้ฟื้นกลับคืนมา โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจได้ระดมหน่วยงานทางเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่อุดตันให้ปลอดโปร่ง
ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินจำนำข้าว จำนวน 9.2 หมื่นล้านบาทให้แก่ชาวนา ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดให้กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 เสร็จสิ้นทันใช้วันที่ 1 ตุลาคม
หรือแม้กระทั่งการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า และได้ประชุมครั้งแรกแล้ว โดยอนุมัติงบประมาณ 18 โครงการ จำนวน 1.2 แสนล้านบาทไปแล้ว
ผลจากการดำเนินการทำให้ดัชนีทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นจนนักธุรกิจเบาใจลงไป
สาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติสามารถเข้าจัดการจัดระเบียบในเรื่องที่รัฐบาลปกติไม่สามารถดำเนินการได้ โดยขณะนี้ฝ่ายทหารได้เข้าดำเนินการจัดระเบียบวินจักรยานยนต์รับจ้าง จัดระเบียบรถตู้ และจัดระเบียบรถแท็กซี่ที่บริการอยู่ในสนามบิน
ผลการจัดระเบียบทำให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และดูเหมือนว่ากระบวนการจัดระเบียบจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไร้แรงต้าน
ขณะที่ประชาชนที่เคยได้รับความเดือดร้อนจากความไร้ระเบียบก็เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว
นอกจากการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง รถตู้สาธารณะ และรถแท็กซี่แล้ว ยังมีความพยายามจัดระเบียบรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการปรับปรุงเกี่ยวกับผลประโยชน์ของบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ความพยายามขีดเส้นราคาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ให้อยู่ที่ 80 บาท การแก้ปัญหายาเสพติด และอื่นๆ
แม้บางอย่างจะพบอุปสรรคสอดแทรก อาทิ ความพยายามจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว แต่ด้วยความตั้งใจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็ทำให้คนไทยมองเห็น
ผลการปฏิบัติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติใน 1 เดือนแรก จึงเป็นการก้าวย่างที่สำเร็จ
จะมีก็แต่มุมมองของต่างประเทศที่ยังกังขากับการยึดอำนาจของไทย ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ พยายามชี้แจงและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นานาชาติว่า การยึดอำนาจนี้จะกระทำในระยะสั้น
กระทำตามกรอบโรดแมป 3 ระยะที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้ คือ 2-3 เดือนใช้อำนาจแก้ขัดแย้ง แล้วมีรัฐบาล สภานิติบัญญัติ และสภาปฏิรูป ใช้เวลา 1 ปีแล้วจึงเลือกตั้ง
ขณะเดียวกันยังมีองค์กรอื่น อาทิ คณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย หรือเอพีอาร์ซี (Asian Peace and Reconciliation Council) ที่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นประธาน ซึ่งเพิ่งจัดการประชุมกันที่โปแลนด์ ได้ช่วยอธิบายความจำเป็นที่ไทยต้องเป็นเช่นปัจจุบันให้นานาชาติรับฟังด้วย
เท่ากับว่าจังหวะก้าวแรกดำเนินไปได้สวย !
อย่างไรก็ตาม จังหวะก้าวต่อไปยังต้องจับตามองว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะย่างก้าวไปเช่นไร
ประการแรก คือ การแต่งตั้งโยกย้าย และการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูป ซึ่งตำแหน่งมีน้อย แต่คนอยากเป็นมีมาก ขณะเดียวกันเป้าประสงค์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติคือขจัดความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง คืนความสุขให้ประชาชน
ดังนั้น การแต่งตั้งข้าราชการที่จะถึงวาระโยกย้ายในเดือนสิงหาคมถึงกันยายนเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในเดือนตุลาคมจะเป็นเช่นไร
ระดับ ผบ.เหล่าทัพที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รวมทั้ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ซึ่งจะเกษียณอายุราชการนั้น จะต่ออายุราชการหรือไม่
หากเกษียณอายุราชการใครจะมาสืบต่อ หากไม่เกษียณอายุราชการจะมีใครต่ออายุบ้าง
ข้าราชการระดับปลัดกระทรวง และอธิบดีในแต่ละกระทรวง ซึ่งมีทั้งขั้วอำนาจการเมืองเดิม และขั้วอำนาจการเมืองตรงกันข้ามกับการเมืองเดิม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเลือกใคร ด้วยวิธีการเช่นไร
ประการที่สอง คือ การริเริ่มโครงการใหม่ ซึ่งขณะนี้ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม ต่างอยู่ในมือของคณะรักษาความสงบแล้ว เพียงแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังไม่ตัดสินใจกับโครงการใด เช่น โครงการพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งล่าสุดจำกัดอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท จะดำเนินการหรือไม่อย่างไร
ประการที่สาม คือ การตัดสินใจดำเนินการโครงการใดไปแล้ว แต่ผู้ได้รับผลกระทบร้องเรียนขอให้ทบทวน เช่น กรณีการลดต้นทุนการปลูกข้าวที่จะใช้แทนโครงการจำนำข้าว หรือประกันราคาข้าวนั้น ท่าทีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเป็นเช่นไร
ทุกอย่างเป็นปัญหาที่รอการบริหาร เป็นจังหวะก้าวต่อไปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องประสบ
ท่ามกลางกระแสการยุแหย่ที่มักอ้างเหตุผล 'ระวังเสียของ'มาผลักดันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้วิธีไล่ล่าฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งเป็นวิธีคิดเมื่อปี 2549
ท่ามกลางภารกิจอันหนักอึ้งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องเผชิญ
ยังต้องจับตาดูว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยืนบนหลัก 'เป็นธรรม' และสามารถสร้าง 'สมดุล'ในด้านต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน
พ้นจากวันครบ 1 เดือน คสช.ไปแล้ว คนไทยคงได้เห็น