เช็กกระแส'หนุน-ค้าน' เดินหน้าปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Saturday, 06 June 2015 10:08
- Published: Saturday, 06 June 2015 10:08
- Hits: 8333
เช็กกระแส'หนุน-ค้าน' เดินหน้าปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ- เป็นความเห็นของกลุ่มต่างๆ กรณีกลุ่มสมาชิก สปช.นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอแนวคิดให้ทำประชามติสอบถามประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ หากจะให้มีการเดินหน้าปฏิรูปอย่างน้อยเป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม จากนั้นจึงจัดการเลือกตั้งทั่วไป
วิทยา แก้วภราดัย
แกนนำ กปปส.
ไม่เป็นไร หากอยู่แล้วสามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ ไม่เช่นนั้นการรัฐประหารก็เสียของเปล่าๆ สู้จัดการกับระบอบทักษิณให้สิ้นซากเลยดีกว่า ส่วน กปปส.เองไม่ถือว่าถูกแช่แข็ง การเคลื่อนไหวอะไรเพราะบรรลุภารกิจแล้ว เหลือแต่รัฐบาลไปสานต่อเอาเอง
การจะต่ออายุรัฐบาลนี้ต้องไม่ให้เสียของ เสียเวลา การปฏิรูปการเมืองที่ป้องกันระบบการทุจริตเลือกตั้ง การคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ ที่สำคัญต้องล้างระบอบทักษิณให้สิ้นซากจะได้ก้าวข้ามไปเสียที เพราะตัวปัญหาของประเทศและความขัดแย้งทั้งหมดคือตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่อย่างนั้นหากรัฐบาลนี้จบไป ก็เข้ามาเป็นปัญหาอีก วนเวียนแบบนี้อีกไม่สิ้นสุดสักที
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นคนที่ใช้อำนาจรัฐได้เต็มที่ที่สุด เพราะสามารถสั่งตำรวจและทหารได้ หากสามารถดำรงความซื่อสัตย์สุจริตได้ บ้านเมืองก็ดีขึ้น เพราะรัฐบาลที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ส่วนปัญหาเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายอ้างว่าเป็นเพราะรัฐบาลนี้เข้ามา คนพูดต้องออกมาบอกด้วยว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ไม่ใช่แค่อ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดี เพราะมันไม่ดีทั่วโลก
เรื่องโรดแมป อย่าไปวางธงว่าต้องเลือกตั้งวันไหน ปีไหน ต้องมองว่าจะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ตอนไหนต่างหาก วันนี้บ้านเมืองสงบเราก็สบายใจ แต่ถ้าวันไหนทำชั่ว ทุจริตคดโกงเหมือนที่ผ่านมา กลไกทางสังคมก็จะเข้าจัดการเอง ไม่ใช่เรื่องยากที่จะจัดการกับรัฐบาลทหาร เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเลือกตั้งจัดการยากกว่ารัฐบาลทหารอยู่แล้ว เพราะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งก็จบ ไม่ต้องบอกว่าที่ได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ โกงหรือไม่โกงเขามารึเปล่า
วิทยา แก้วภราดัย, จาตุรนต์ ฉายแสง, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ, ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์, เอกชัย ไชยนุวัติ
จาตุรนต์ ฉายแสง
คณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย
คนเหล่านี้ก็มีความคงเส้นคงวาดี คือมีความตั้งใจ และต้องการที่จะทำในสิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร และคิดว่าต้องปฏิรูปให้เสร็จก่อนค่อยมีการเลือกตั้ง แต่ว่าโรดแมปของ คสช.ไม่เป็นอย่างนั้น นั่นคือมีเวลาจำกัดก่อนการเลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถทำสิ่งที่พวกเขาคิดเอาไว้ได้ จึงพยายามเสนอให้ขยายเวลา แต่ปัญหาคือ สิ่งที่ทำ ที่เรียกว่าการปฏิรูปไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการทำให้บ้านเมืองล้าหลัง วุ่นวาย เพราะไม่มีทิศทางที่ชัดเจน คนที่ทำเรื่องการปฏิรูปเองก็มีความเห็นที่แตกต่างกันด้วย
ปัญหาอีกอย่างคือ คนที่ทำการปฏิรูปทึกทักเอาเองว่าคนส่วนใหญ่ต้องการ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานอะไรแสดงชัดเจนเลยว่าเรื่องไหนคือการปฏิรูปที่ประชาชนยอมรับ ส่วนในการที่จะยืดเวลาออกไป ก็จะกระทบโรดแมปที่ประกาศต่อชาวโลกไว้ มีปัญหาต่อความเชื่อมั่นและความเชื่อถือ และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งโอกาสของประชาชนเสนอความต้องการของตนผ่านการเลือกตั้งจะช้าออกไป บางคนเสนอว่าต้องการให้นายกฯอยู่อีก 2 ปี บางฝ่ายก็เสนอให้ สนช. สปช. อยู่ 2 ปีก็มี ดูเหมือนผลัดกันชงผลัดกันกิน เพื่อให้ไปในทิศทางอย่างนี้ เป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง ความคิดที่ให้มีการไปทำประชามติหากจะต่ออายุก็ต้องมีการแก้ไขโรดแมป เท่ากับต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แน่นอนว่าจะต้องมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ถ้าถามผม ผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ถ้าต้องการทำกันจริงๆ ก็ต้องทำอย่างที่มีคนเสนอ คือทำประชามติ ซึ่งตรงนี้มีสิทธิที่จะทำได้ ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็ไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ถ้าจะทำประชามติเพื่อถามว่าจะให้อยู่ต่ออีก 2 ปีหรือไม่ แต่ควรไปถามว่าให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วหรือให้มีการคืนอำนาจมากกว่า ควรถามให้ประชาชนมีทางเลือก
ที่สำคัญ ที่เสนอกันอยู่นี้เป็นการทึกทักกันเอาเองว่าประชาชนต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ และไม่เปิดโอกาสให้คนที่เห็นต่างได้แสดงความคิดเห็น ถ้าถามผม ก็จะบอกว่าแนวคิดการปฏิรูปนั้น ผิดมาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นการกระทำของคนส่วนน้อยและไม่ฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย จึงไม่อาจเกิดการปฏิรูปได้ตั้งแต่ต้นแล้ว
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
แกนนำ นปช.
ภารกิจตามโรดแมปของ คสช.มีเรื่องเดียวที่จะทำเสร็จได้ตามเวลา คือรัฐธรรมนูญ ส่วนการปฏิรูปคงต้องใช้เวลาอีกมาก ทุกสังคมมีการเคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้ทำทุกเรื่องตามที่ สปช.คิดกันไว้เสร็จแล้ว แต่ในอนาคตก็ยังต้องมีปัญหาให้ปรับแก้กันต่อไป ดังนั้น คสช.ควรผลักดันให้รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตย แล้วคืนอำนาจตามสัญญาเพื่อให้การปฏิรูปเดินหน้าต่อโดยอำนาจรัฐที่มาจากประชาชน
ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อข้อเสนอให้อยู่ปฏิรูปต่ออีก 2 ปี มีผลกระทบโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของ คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์เอง หลังจากนี้คำยืนยันว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามโรดแมปจะถูกตั้งคำถามจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่หนักไปกว่านั้นคือ ความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ว่าจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วจะถูกทำลายลงไปด้วย การค้าการลงทุนจะยิ่งหดตัว สภาพเศรษฐกิจที่วิกฤตอยู่แล้วจะหนักขึ้นไปอีก
ข้อเสนอเพื่ออยู่ในอำนาจต่อมีเพียงวิธีเดียวคือ ชวนแม่น้ำ 5 สายลงเลือกตั้ง ประกาศนโยบายปฏิรูปให้ประชาชนพิจารณา หากเป็นแบบนั้นอย่าว่าแต่ 2 ปีเลย จะอยู่ 4 ปีแล้วเลือกตั้งต่ออีกกี่สมัยก็ไม่มีใครว่า ในเมื่อคนดีของประเทศไหลไปรวมกันบนเรือแป๊ะอยู่แล้ว โอกาสชนะถล่มทลายจึงสูงมาก
แต่การถืออำนาจพิเศษแล้วไปถามประชาชนว่าจะให้อยู่ต่อหรือไม่ ประชามตินั้นจะชอบธรรมได้อย่างไร
หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่เคลิ้มไปกับข้อเสนอของคนบางกลุ่มที่ต้องการต่อท่ออำนาจ สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดความเสียหายร้ายแรงในอนาคต หรือถ้าจะเดินอย่างนั้นก็ขอให้ตระหนักว่า ผู้ปกครองต้องการฟังเสียงของประชาชน วางปืนในมือท่านลงสิ แล้วจะรู้ความจริง
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
การปฏิรูปนี้หมายถึงอะไร และมีเนื้อหาสาระด้านใดบ้าง หากหมายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและยกร่างกฎหมายลูก จะมีหลักประกันอะไรให้กับประชาชนว่า ถ้าครบ 2 ปีที่ปฏิรูปเสร็จแล้ว คนไทยจะหันหน้ามากอดกัน ปรองดองกัน
การที่สมาชิก สปช.บางกลุ่ม ชื่นชมตบมือเชียร์ให้นายกฯอยู่ต่อ ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะคนพวกนี้ล้วนมาตามอำนาจแต่งตั้งของ คสช.ทั้งสิ้น ก็ต้องเชียร์ให้นายกฯอยู่ต่อ เพื่อที่พวกเขาจะได้อยู่ต่อไปด้วย แต่ขอเตือนนายกฯให้ระวัง นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ ที่ออกมาเชียร์เรื่องนี้ ระวังจะเข้ารกเข้าพง เพราะปัญหาหลักที่จะเกิดหากอยู่ยาวนอกจากต่างประเทศแล้วคนที่จะเชื่อมั่นนายกฯคือคนชั้นกลางและข้าราชการประจำที่มีเงินเดือน ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนและคนหาเช้ากินค่ำที่ไร้รายรับประจำ เมื่อถึงขาลงมันจะลำบาก จนต้องฆ่าเสืออย่างที่นายกฯ
การเสนอให้ทำประชามติถามความเห็นประชาชนพ่วงกรณีนี้ กับการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหมือนการส่งสัญญาณให้ฉีดโรดแมปที่วางไว้แล้ว เมื่อเบอร์ 1 ในรัฐบาลพูด คนในสังคมต้องฟัง จากเดิมวางโรดแมปว่าจะเลือกตั้งปลายปี 2558 เลื่อนมาเป็นกุมภาพันธ์ 2559 อ้างทำกฎหมายลูก แล้วเลื่อนมาเป็นพฤษภาคม 2559 บอกว่าไม่ทัน จนถึงอ้างทำประชามติเลื่อนมาเป็นกันยายน 2559 สัญญาณล่าสุด คืออยู่ต่ออีก 2 ปี หรืออยู่ยาว
จึงขอเตือนในฐานะกัลยาณมิตรที่ไม่เคยวิจารณ์นายกฯเลย แต่เที่ยวนี้ต้องเตือนให้ดัง ขอให้ระวังคนรอบตัวให้ดี คนยิ่งสูงจะยิ่งหนาว เพราะคนรอบข้างไม่มีใครกล้าเตือน มีแต่ประเภท ดีครับผม เหมาะสมครับนาย ใช่ครับท่าน ทั้งนั้น
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์
คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
เรื่องปฏิรูปคงไม่สามารถทำได้ใน 1-2 ปี เพราะต้องออกกฎหมายใหม่ ปรับองค์กร ต้องลงทุน ต้องเป็นกระบวนการที่ปรับเปลี่ยนค่อนข้างมาก เกรงว่าที่พูดกัน 1-2 ปีอาจไม่ทัน ฉะนั้น ถ้าจะทำแบบเต็มที่คิดว่าต้อง 4-5 ปี แต่จะรอไหวหรือ ใครจะรอเลือกตั้ง คิดว่าแรงกดดันคงมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะเขาถือว่ากลับเข้าสู่ประชาธิปไตย ต้องมีการเลือกตั้ง มีสภา
การปฏิรูปนั้นควรทำอยู่แล้ว แต่จะก่อนหรือหลังเลือกตั้งก็ว่าไป แต่สิ่งที่กลัวกันคือ เมื่อมีรัฐบาลเลือกตั้งก็จะไม่จริงจังกับเรื่องการปฏิรูป จึงคิดกันว่าควรปฏิรูปก่อนแล้วค่อยมีรัฐบาลเลือกตั้งดีไหม แต่ส่วนตัวคิดว่าหากรอให้การปฏิรูปเสร็จอย่างเป็นเรื่องราวจริงๆ คงต้องใช้เวลานาน อาจจะรอไม่ได้ ฉะนั้น พูดง่ายๆ ว่าถ้าอยากเดินตามโรดแมป แม้มีประชามติก็อาจจะยืดไปไม่เกิน 1 ปีอาจพอได้ ส่วนเรื่องการปฏิรูป สปช. สภาปฏิรูปก็ทำเท่าที่ทำได้ในเวลาที่มี จนกระทั่งจะมีเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นปลายปีหน้า และมีรัฐบาลเลือกตั้งปีถัดไป เวลาที่มีคงเพียงพอในการปูพื้นเท่านั้นในการปฏิรูป เช่น ทำแผนให้เรียบร้อย ทำยุทธศาสตร์ของชาติให้ได้เป็นรูปเป็นร่าง กฎหมายบางกฎหมายก็อาจพอออกได้ จึงไม่จำเป็นต้องรอให้ปฏิรูปเสร็จ ทำเท่าที่ทำได้ เมื่อมีรัฐบาลเลือกตั้ง หากปูพื้นไว้ดีเรื่องการปฏิรูป มีแนวทาง ความชัดเจน มีกฎหมายที่สำคัญออกมาก่อนหน้า รัฐบาลเลือกตั้งคงเห็นดีเห็นงามด้วยและไม่ขัดขวาง
เอกชัย ไชยนุวัติ
นักวิชาการอิสระ
ผู้เสนอข้อเสนอนี้ ไม่ได้มีที่มาหรือมีความยึดโยงใดๆ กับเสียงของประชาชน แต่มาโดยการยึดอำนาจและแต่งตั้งเข้ามา ดังนั้น ในแง่ของความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยสากล ผู้เสนอจึงไม่ใช่ตัวแทนโดยชอบธรรมของประชาชนในแง่ของอำนาจที่เป็นอยู่จริง
ในทางสังคมทั่วไปยิ่งมีความพยายามให้เกิดความล่าช้าในการคืนอำนาจอธิปไตยกลับมายังประชาชน ยิ่งทำให้ 1.คนไทยมีความอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ 2.ต่างชาติที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยในไทยยิ่งกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ และ 3.ทำให้ฝ่ายของรัฐบาลที่แล้วดูมีความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลปัจจุบัน
ในด้านเศรษฐกิจ สหภาพยุโรป 27 ประเทศมีข้อบังคับที่จะไม่ร่วมลงทุนกับรัฐบาลที่ยึดอำนาจ สหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถเจรจาการค้าอย่างเป็นทางการได้ คงเหลือแต่จีน รัสเซีย ที่ดำเนินสัมพันธ์ได้ ส่วนญี่ปุ่นก็ทำได้แต่ไม่ค่อยเต็มที่ จึงเห็นว่ายิ่งอ้างปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จะยิ่งเป็นเป็นผลร้ายจากทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะตอนนี้ คนไทย ไม่มีความแน่นอนในอนาคตของประเทศ จึงทำให้หลายๆ คนไม่ต้องการใช้จ่ายเงิน
สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
หากรัฐบาลจะกำหนดกรอบการทำงานโดยให้มีการปฏิรูปประเทศให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่การเลือกตั้ง ในส่วนของเอกชนมองว่าก็สามารถทำได้ เพราะเอกชนต้องการให้ประเทศเกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง แม้ต้องใช้เวลา เพราะผลจากการปฏิรูปก็เชื่อว่าจะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า มีอนาคตที่มั่นคง
ส่วนการบริหารด้านเศรษฐกิจก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากการเลือกตั้งช้า ทอดเวลาออกไปแต่สามารถบริหาร จนทำให้เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตมากขึ้น ชัดเจน ก็เป็นเรื่องที่เอกชนรับได้ แต่หากไม่สามารถบริหารเศรษฐกิจได้ รัฐบาลก็ควรทบทวน เพราะผลงานทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือวัดความสามารถในการบริหารงานได้ดี ซึ่งเป็นเรื่องเดียวเท่านั้นที่เอกชนกังวล
สมเกียรติ อนุราษฎร์
รองประธานหอการค้า
ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลไม่ควรกำหนดระยะเวลาที่จะอยู่เพิ่มอีก 2 ปี แต่ควรกำหนดระยะเวลาตามเป้าหมายของแผนโรดแมปที่เคยวางไว้ คือเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ก็ให้มีการเลือกตั้งตามแผนเดิม หรือหากมีจัดให้มีการทำประชามติภายหลังจากร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ถือเป็นการสิ้นสุดอายุของรัฐบาลชุดนี้ เพราะอย่าลืมว่า การที่รัฐบาจะอยู่ต่อไปนานๆ คงไม่สามารถทำได้และไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เนื่องจากประชาคมโลกส่วนใหญ่คงไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการทำการค้าการลงทุนและการส่งออกของภาคเอกชนโดยตรง และอาจก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมาได้ในอนาคต