จับตา รธน. จับตา วิษณุ เสียงจริง คสช.
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Friday, 29 May 2015 15:33
- Published: Friday, 29 May 2015 15:33
- Hits: 7419
จับตา รธน. จับตา วิษณุ เสียงจริง คสช.
วงสนทนาไหนๆ ก็ตั้งข้อสงสัยว่า หน้าตารัฐธรรมนูญใหม่จะออกมาอย่างไร
มีรายงานข่าวระบุว่า แม้แต่ คสช.ก็กังวลใจ
ความกังวลใจนี้สะท้อนออกมาได้จากข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐบาล
25 พฤษภาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่หารือกันนานกว่า 3 ชั่วโมง ว่า
ครม.ส่งข้อเสนอแก้ไขและไม่แก้ไขให้ กมธ.ยกร่างฯกว่า 100-120 ประเด็น ไม่ใช่ 100 มาตรา เพราะบางมาตรามีหลายประเด็น
ใน 100 ประเด็นนั้น ครึ่งหนึ่งขอแก้ไขถ้อยคำที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อาทิ กับ แก่ แต่ ต่อ และ หรือ
อีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องกระทบต่อหลักใหญ่ของแต่ละมาตรา
เมื่อถามว่าเรื่องใหญ่ที่เสนอแก้ไขคืออะไร นายวิษณุกล่าวว่า การให้มีหรือไม่ให้มีองค์กรต่างๆ ซึ่งในฉบับยกร่างฯนั้นกำหนดให้มีองค์กร คณะกรรมการต่างๆ ที่ต้องตั้งขึ้นภายในเวลาหนึ่งมีอยู่มากเกือบ 30 องค์กร บางชุดก็เป็นคณะกรรมการ
ซึ่ง ครม.ทำความเห็นไปว่าส่วนหนึ่งเห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากควรนำไปเขียนในกฎหมายลูกหรือกฎหมายอื่นได้ อย่ามาเขียนในรัฐธรรมนูญ
เพราะหากเขียนในรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้นมา กลายเป็นภาระงบประมาณและมีกำหนดเวลาให้ทำ
อีกส่วนหนึ่งคือ เป็นหลักการบางอย่างที่ของเดิมเหมาะสมหรือดีกว่า เช่น หลักการที่ว่าหาก ครม.ยุบสภา สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งแล้วให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ต้องไปเขียนและอาจมีข้อเสียมากกว่าข้อดี
ยังมีประเภทที่ปฏิบัติได้ยากเพราะถ้อยคำยังเคลือบคลุมอยู่ เช่น กำหนดว่านักการเมืองหรือผู้นำภาครัฐ หมายถึงปลัดกระทรวง อธิบดี ข้าราชการ ต้องไม่ประพฤติผิดในประเพณี ศาสนา หลักธรรม ต้องพูดจาสุภาพ ไม่ทำอะไรที่เคลือบคลุมน่าสงสัย
ซึ่งคำเหล่านี้แปลว่าอะไรไม่ทราบ และจะทำให้เกิดการฟ้องร้องกันได้ง่าย
นายวิษณุกล่าวว่า ในที่ประชุมไม่ได้มีการเสนอเรื่องที่มาของนายกฯคนนอก
ขณะที่ที่มาของ ส.ส.และ ส.ว.ไม่ได้ไปแก้ไขอะไรเพราะถ้าแก้ต้องรื้อหลายมาตรา เพราะโยงกันหมด แต่ทราบว่ามีคนอื่นเสนอขอแก้ไขไปแล้ว
ทั้งนี้ ครม.เห็นว่าโดยทั่วไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีส่วนที่ดีอยู่มาก และบางบทคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเอาไว้ได้อย่างหลากหลายและกว้างขวาง
แต่เพื่อความสมบูรณ์ขอให้ กมธ.ยกร่างฯพิจารณาว่าควรปรับปรุงแก้ไขในบางส่วนหรือตัดทอน เพื่อให้ชัดเจน หรือนำไปใส่ในกฎหมายอื่นได้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญสั้นลง และแต่ละมาตราก็ไม่ยืดยาวไป บางเรื่องก็ให้ไปอยู่ให้ถูกหมวดหมู่
ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯมีเวลาที่จะพิจารณาเรื่องการแก้ไข 60 วันบวกอีก 30 วัน เป็น 90 วัน
เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯทั้ง 36 คนมั่นใจว่ายกร่างฯดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไข รองนายกฯกล่าวว่า ก็จะบอกว่าพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะสี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง มหาปราชญ์ยิ่งพลั้งได้
อย่างไรก็ตามยังเชื่อใจใน กมธ.ยกร่างฯหลายคนว่าจะรับฟังความเห็นที่ส่งไป
ซึ่งข้อนี้เป็นเหตุที่ คสช.ไม่ยอมส่งความเห็น เพราะถ้าส่งไปแล้ว กมธ.ยกร่างฯทำตามก็จะกลายเป็นใบสั่ง ถ้าไม่ทำตามก็จะกลายเป็นว่า ลองของ กระด้างกระเดื่อง
สุดท้าย คสช.อาจจะโกรธขึ้นมาก็ได้
ทำไมท่าทีของนายวิษณุจึงมีน้ำหนักควรแก่การพิจารณา
ประเด็นหนึ่ง เพราะการระบุเนื้อหาที่ชัดเจนตั้งแต่หลักการไปถึงรายละเอียด
ประเด็นหนึ่ง เพราะเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายที่ประสานงานใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และนายทหารคนอื่นๆ ของ คสช.อยู่ทุกวัน
ประเด็นหนึ่ง เพราะความเป็นญาติและ "ศิษย์พี่" ของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ต่อสายจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์"อาจารย์ใหญ่" ผู้เข้าไปนั่งเป็น 1 ใน 2 คสช.ที่เป็นพลเรือน
ประเด็นหนึ่ง ทั้งศิษย์พี่-ศิษย์น้องเพิ่งผ่านการท่องประเทศญี่ปุ่นมาด้วยกันหมาดๆ
ในช่วงที่กระแส "แก้รัฐธรรมนูญ" มาแรง
แรงทั้งจากซีก คสช. และจากสังคมวงกว้าง
(ที่มา:มติชนรายวัน 28 พ.ค.2558)