เศรษฐกิจ การเมือง ธรรมชาติ เนื้อแท้ ′ทุน′ ศึกษากรณีซัมซุง
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Friday, 29 May 2015 15:31
- Published: Friday, 29 May 2015 15:31
- Hits: 8032
เศรษฐกิจ การเมือง ธรรมชาติ เนื้อแท้ ′ทุน′ ศึกษากรณีซัมซุง
เป็นอันว่า 'ซัมซุง'บรรษัททุนข้ามชาติจากเกาหลีใต้ 'ย้าย'ฐานการผลิตโทรทัศน์ออกจากไทยไปเรียบร้อยแล้ว
เป้าหมายอยู่ที่ 'เวียดนาม'
แถลงล่าสุดจาก นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ไม่เพียงแต่ทุนข้ามชาติจากเกาหลีใต้เท่านั้น หากทุนไทยก็ตระเตรียมเดินแนวทางเดียวกับซัมซุง เป็นอุตสาหกรรมในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มสิ่งทอ
เป้าหมายอยู่ที่ 'เวียดนาม'
เหตุปัจจัย 1 ที่มีการย้ายฐานการผลิตมาจากเวียดนามมีอัตราค่าแรงถูกกว่าในเชิงเปรียบเทียบ
เหตุปัจจัย 1 มาจากสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP
ที่สำคัญเป็นอย่างมากเวียดนามสามารถเจรจาและเตรียมลงนามการตกลงทางการค้าเสรีหรือ FTA กับสหภาพยุโรปในเร็วๆ นี้
ขณะที่ของไทยยัง 'ค้างเติ่ง'ไม่มีการขยับขับเคลื่อน เพราะรัฐบาลของสหภาพยุโรปไม่ยอมเจรจากับรัฐบาลที่มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
"รัฐประหาร" นั้นเองที่เป็น "ขวากหนาม"
บทเรียนจากกรณีของซัมซุง ซึ่งเป็นทุนข้ามชาติจากเกาหลีใต้ และจากกรณีของกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเป็นทุนไทยคืออะไร
1 คือลักษณะและธรรมชาติของ "ทุน"
ธรรมชาติของทุนไม่ว่าจะเป็นทุนจากเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นทุนไทยก็คือ ไม่มีสัญชาติหากแต่ดำเนินไปอย่างลอดรัฐ ข้ามชาติ
ที่ไหนมี "ประโยชน์" มากกว่าก็พร้อม "ไหล" ไป
1 เหมือนกับว่าโดยพื้นฐานเศรษฐกิจดำเนินไปในลักษณะเป็นโครงสร้างระดับอย่างที่เรียกว่าฐานราก การเมืองและวัฒนธรรมเป็นเงาสะท้อนวิถีดำเนินของเศรษฐกิจ แต่ในเงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง การเมืองและวัฒนธรรมก็สามารถกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจได้
สภาพของประเทศไทยนับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา อันถือว่าอยู่ในยุคแห่งรัฐประหาร
ระบบรัฐประหารจึงส่งอิทธิพลอย่างสำคัญต่อวิถีดำเนินของเศรษฐกิจ
ไม่ว่าฝ่ายวิเคราะห์วิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าฝ่ายวิเคราะห์วิจัยของธนาคารทหารไทย หรือแม้กระทั่งฝ่ายวิเคราะห์
วิจัยของโนมูระก็ออกมายอมรับตรงกันว่า ภาวะไม่แน่นอนในทางการเมืองมีผลต่อตลาดทุนและการลงทุนภาคเอกชนอย่างลึกซึ้ง
บางแห่งถึงกับเน้นลงไปยังประเด็นของ "การเลือกตั้ง"
พลันที่มีการตั้งข้อสงสัย แคลงใจและกังขาต่อ "ร่างรัฐธรรมนูญ" ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ระยะเวลาของการเลือกตั้งตามที่กำหนดในโรดแมปอาจคลาดเคลื่อน
มิได้เป็นในตอนต้นปี 2559 อาจเป็นปลายปี
นามของรัฐธรรมนูญอาจมิใช่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2558 หากแต่จะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559
ก็บังเกิดภาวะ "หวั่นไหว" อย่างกว้างขวาง
นั่นหมายถึงว่า แนวโน้มและความเป็นไปได้ที่ความสัมพันธ์ปกติระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหภาพยุโรปอาจต้องเป็นในปี 2559 หรือในปี 2560
นั่นหมายถึง ข้อตกลง FTA ต้องยืดออกไป
ขณะเดียวกัน ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องอันเกี่ยวกับ "การค้ามนุษย์" ทั้งโจทย์เก่าซึ่งค้างคาและโจทย์ใหม่เกี่ยวกับกรณีของโรฮีนจาเสริมเติมเข้ามาอีก จึงเท่ากับนำความอ่อนเปราะให้เกิดขึ้นทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ในเรื่องเกี่ยวกับ "เทียร์ 3"
สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้การค้าระหว่างประเทศแปรเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้การส่งออกของประเทศต้องติดลบแล้วติดลบอีกอย่างต่อเนื่อง
"การเมือง" จึงสะท้อนถึง "เศรษฐกิจ"
หน้าที่ของรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาลจากการรัฐประหาร คือ ความแน่นอน
เป็นความแน่นอนในข้อกฎหมาย เป็นความแน่นอนในประด็นที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ ที่มาของอำนาจบริหาร เพราะหากเหล่านี้ไม่แน่นอนย่อมทำให้ขาดความมั่นใจ ขาดความเชื่อมั่น
เมื่อไม่มั่นใจ เมื่อไม่เชื่อมั่น "เครดิต" ย่อมโยกเยก คลอนแคลน
(ที่มา:มติชนรายวัน 26 พ.ค.2558)