สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ มองร่าง รธน.สร้างรัฐบาลเป็ดง่อย ดันทุรังมีแต่ปัญหา ตกไปไม่เสียดาย
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Monday, 27 April 2015 17:51
- Published: Monday, 27 April 2015 17:51
- Hits: 7170
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ มองร่าง รธน.สร้างรัฐบาลเป็ดง่อย ดันทุรังมีแต่ปัญหา ตกไปไม่เสียดาย
มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองและสภาปฏิรูปการเมือง ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ 'มติชน' ถึงข้อกังวลในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา
เหตุผลที่มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีปัญหา
เชื่อว่า กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีความตั้งใจในการร่างรัฐธรรมนูญที่ดีให้กับประเทศ ถ้าดูในภาพรวมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มีความโดดเด่นหลายประการ ประการแรกคือการให้อำนาจกับพลเมือง ซึ่งถือเป็นฉบับเดียวในโลกที่ยอมให้มีสภาตรวจสอบภาคพลเมือง หมายถึงสภาพลเมืองในทุกจังหวัด แม้จะยังไม่ทราบถึงวิธีการทำงานและจะมีที่มาอย่างไร แต่ในแง่ของหลักการถือว่ามีความโดดเด่น ประการที่ 2 มีการกำหนดแนวทางการปฏิรูปไว้ในภาคที่ 4 ของรัฐธรรมนูญในทุกมิติ เมื่อรัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศขับเคลื่อนตามประเด็นที่มีการทำไว้แล้ว ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก
อะไรคือข้อกังวล
วัตถุประสงค์ที่เป็นเรื่องน่ากังวลคือเจตนารมณ์ที่ต้องการจะให้มีรัฐบาลผสม มีรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็ง หรืออาจจะเรียกว่าเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอก็ได้ โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยนั้นมีบทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เรามีรัฐบาลเข้มแข็งมากจนก่อให้เกิดวิกฤต ดังนั้นผู้ร่างซึ่งมีประสบการณ์จากการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสม
ทีนี้การที่จะได้มาซึ่งรัฐบาลผสม กมธ.ยกร่างฯจึงเห็นว่าการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมจึงน่าจะเป็นทางออก ส่วนตัวผมนั้นไม่ว่าจะใช้ระบบเลือกตั้งแบบใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่ต้องการ เช่น อังกฤษ ใช้การเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว ใครมีคะแนนสูงอันดับ 1 ก็ได้รับเลือกตั้งไป เขาก็ใช้มานานแล้วไม่เห็นมีปัญหา ส่วนฝรั่งเศสบอกว่าคนได้รับเลือกตั้งต้องได้เสียงเกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ถ้ารอบแรกไม่ถึงครึ่งก็ต้องเลือกรอบที่ 2 ขณะที่เยอรมันนั้นใช้แบบสัดส่วนผสม เพราะได้รับบทเรียนจากรัฐบาลของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แต่สำหรับผมแล้วจะดูที่ผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง ดูว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วเกิดอะไรขึ้น เพราะหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่ดีควรออกแบบให้สอดคล้องกับประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หมายถึงประชาชนเลือกฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ซึ่งในบางประเทศยังกำหนดว่าฝ่ายตุลาการยังต้องมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของประชาชน
หลักที่สำคัญคือเลือกฝ่ายบริหารโดยต้องทำให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเอกภาพในทางนโยบายเพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความสำเร็จ มีคนบอกว่าระบอบประชาธิปไตยกินได้ไหม คนยากคนจนได้ประชาธิปไตยแล้วกินได้หรือไม่ หายหิวไหม ก็มีคนอธิบายกลับมาว่ากินได้ ทำให้ประชาชนไม่ยากจนได้ แต่ก็ต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ดี โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชนทำให้ประชาชนมีการศึกษา จากนั้นก็จะอยู่ดีกินดีเลิกจน ซึ่งหลายประเทศทำสำเร็จ เท่าที่ได้ศึกษามาไม่มีประเทศใดในโลกนี้ ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาแล้วประสบความสำเร็จโดยการใช้รัฐบาลผสม ไม่มีเลย
ทำไมจึงคิดว่ารัฐบาลผสมเป็นอุปสรรค
ก็เพราะมีจุดอ่อน 1.การไม่มีเอกภาพในด้านนโยบาย รัฐบาลผสม ถ้าพรรคแกนนำมีเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง จะทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กมีอำนาจต่อรองสูง พรรคเหล่านี้จะต่อรองผลประโยชน์เต็มที่ ถ้าอยากได้เขามาร่วมรัฐบาลก็ต้องยอมประนีประนอมผลประโยชน์ ยิ่งถ้ามีพรรคขนาดใหญ่ 2 พรรค แย้งกันเป็นรัฐบาล พรรคขนาดกลางและเล็กก็จะยิ้มไว้เลย เพราะต้องดูว่าพรรคไหนจะให้ประโยชน์ได้มากกว่า พรรคที่ให้ประโยชน์มากกว่าก็จะสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ เรื่องเหล่านี้ไม่ต้องไปดูไกล ดูแค่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง จึงไม่มีกระทรวงสำคัญเหลือไว้ให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดูแลเลย
2.การเป็นรัฐบาลผสมจะมีอุปสรรคมากคือการไม่เป็นเอกภาพด้านนโยบาย เพราะทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลยืนยันที่จะใช้นโยบายของพรรคตัวเองในการดูแลกระทรวงที่รับผิดชอบ และหวังว่าอนาคตประชาชนจะเลือกเขามากขึ้นด้วย การจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องแบ่งโควต้า เช่น ส.ส. 6 ต่อ 1 ตำแหน่งรัฐมนตรี
ถ้ารัฐบาลบริหารประเทศแล้วไม่มีเอกภาพ มันจะขับเคลื่อนประเทศได้อย่างไร เพราะปัญหาสำคัญของประเทศจะต้องใช้พลังมากทีเดียว เมื่อคนเป็นนายกฯหรือพรรคแกนนำไม่สามารถควบคุมทิศทางนโยบาย มันจะบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร เพราะหากไปยุ่งกับเขา (พรรคร่วม) ก็จะบอกว่าเดี๋ยวขอถอนตัวนะ ตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพราะอำนาจฝ่ายบริหารเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ถ้ารัฐบาลผสมซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ บกพร่อง ก็จะทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงตามไปด้วย ทำให้ประเทศไทยเหมือนเป็ดง่อย และจะเป็นเป็ดง่อยอย่างถาวรที่เราไม่มีโอกาสเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศใดได้อีกแล้ว
บรรดาพรรคการเมืองก็จะเข้ามาใช้อำนาจสมรู้ร่วมคิดกับข้าราชการประจำเพื่อหาผลประโยชน์ การทุจริต คอร์รัปชั่นก็จะแพร่ระบาด ศักยภาพการพัฒนาประเทศก็จะยิ่งถดถอย นี่เป็นประเด็นที่เรียกว่าเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทุกส่วนดีหมด แต่ประเด็นที่จะก่อให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอมันก็จะทำร้ายการพัฒนาประเทศในระยะยาว
หากบอกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน
หลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย จะดีได้ก็ต่อเมื่อ 1.มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง 2.เมื่อมีรัฐบาลที่เข้มแข็งแล้ว จะทำอย่างไรเมื่อมีการประพฤติมิชอบแล้วต้องเอาออกได้ง่าย ต้องสร้างกลไกการตรวจสอบรัฐบาลที่เข้มแข็งให้มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาการตรวจสอบมีอยู่ 2 วิธี คือ 1.การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องนี้ถ้ารัฐบาลเขามีเสียงข้างมากเกินครึ่ง อภิปรายทุกครั้งเขาก็ชนะ การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกระบวนการตรวจสอบที่ไร้ประสิทธิภาพมากที่สุด จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลแตกคอ
2.การถอดถอน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยถอดถอนได้สำเร็จเลย ก็แสดงว่ามันใช้งานในประเทศไทยไม่ได้ สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือการถอดถอน ผมจะบอกว่ามันไร้สาระก็คงไม่ดี แต่เป็นกลไกที่ไม่มีความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ผมว่ากลไกอะไรก็แล้วแต่ที่สร้างมาแล้วใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ เสียเวลาเปล่าๆ ซึ่งประเทศที่ใช้ระบบแบ่งแยกอำนาจเขาไม่ใช้กันเลย เขาไม่มี เพราะเขาเห็นว่ามันไร้สาระ
ดังนั้น เราจึงต้องสร้างกลไกใหม่ ผมเสนอให้ ส.ส. 1 ใน 10 เข้าชื่อกันเสนอต่อประธานวุฒิสภา ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญไต่สวนการกระทำมิชอบของรัฐบาล หรือการกระทำมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยต้องดำเนินการจัดตั้งโดยเร็ว เชิญอดีตอัยการสูงสุดคนหนึ่งมาเป็นประธาน เพราะอัยการสูงสุดมีประสบการณ์ในการสอบสวน เพื่อให้มั่นใจว่าสำนวนการสอบสวนมีมาตรฐาน และเมื่อการสอบสวนชี้มูลว่ามีการกระทำความผิดอาญา ให้ประธานวุฒิสภาส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา ลักษณะนี้จะทำให้รัฐบาลที่ประพฤติมิชอบ ทุจริต ต้องเจอแบบนี้
ที่บอกว่า ส.ส. 1 ใน 10 ก็เพื่อให้ทำง่าย ไม่ยากให้มันทำยาก และไม่สามารถก่อกวนรัฐบาลได้เพราะต้องมีข้อมูลหลักฐาน ถ้าเสนอแล้วไม่มีข้อมูลหลักฐานก็ต้องยกคำร้องไปในที่สุด ดังนั้นจะมีผลก็ต่อเมื่อรัฐบาลมีความผิดจริงๆ เราต้องสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และหากเป็นช่วงที่มีวิกฤต อาจจะต้องระบุว่าต้องไต่สวนโดยด่วน รัฐบาลที่เข้มแข็งต้องมีกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ประเทศก็จะเดินหน้าไปได้
ในภาพรวมที่เห็นว่ามีปัญหาการอธิบายของ กมธ.ยกร่างฯสมเหตุสมผลหรือไม่
ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง สำหรับ กมธ.ยกร่างฯ ต้องมองด้วยว่าเหตุผลของคุณนั้น คนอื่นๆ เขาเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าคุณดันทุรังโดยที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็มีปัญหา คนเราเมื่อเสนอเหตุผลไปแล้วถ้าคนอื่นเขาเห็นด้วยก็จบ เมื่อมีคนจำนวนมากคัดค้านแล้วยังใช้ต่อไปก็มีปัญหา เราไม่อาจบอกได้ว่าข้อเสนอของใครไม่มีเหตุผล แต่ต้องดูว่าข้อเสนอนั้นได้รับการยอมรับด้วย สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หากยังเป็นแบบนี้ จะตกไปก็ไม่เสียดาย ไม่มีปัญหา ตราบใดที่รัฐธรรมนูญต้องการสร้างรัฐบาลที่เป็นเป็ดง่อย ผมก็จะไม่รับ ผมมีจุดยืนของผม และถ้าจะต้องตั้ง กมธ.ยกร่างฯขึ้นใหม่ ก็ไม่มีปัญหา ทำไมถึงคิดว่าประเทศนี้มีคน
คนเดียวที่สามารถทำงานได้ ทำไมไม่เคารพความสามารถของคนอื่นด้วย ในเมื่อคุณทำงานไม่สำเร็จก็ให้คนอื่นเข้ามาทำงานต่อ ทำไมต้องยึดติดที่ตัวเองขนาดนั้น