ผ่าแผนโรดแม็ปเศรษฐกิจ'คสช.'เปิดแนวรบครั้งใหญ่
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 15 June 2014 12:04
- Published: Sunday, 15 June 2014 12:04
- Hits: 5243
วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:45 น. ข่าวสดออนไลน์
ผ่าแผนโรดแม็ปเศรษฐกิจ'คสช.'เปิดแนวรบครั้งใหญ่
รายงานพิเศษ ข่าวสด เศรษฐกิจ
บทบาทของ 'คณะรักษาความสงบแห่งชาติ'หรือ คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คงต้องยอมรับกันแล้วว่าไม่ได้มีเหลี่ยมมีคมในมิติทางด้านการเมืองเพียงอย่างเดียว
พลันที่ คสช.เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา "มิติทางด้านเศรษฐกิจ" กลับกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ คสช.นำออกมาใช้ "เรียกศรัทธา ฟื้นความเชื่อมั่น" ทั้งจากคนในประเทศ และนักลงทุนต่างชาติ เพื่อลดแรงเสียดทานจากการรัฐประหาร ที่ไม่ได้รับการยอมรับในสายตาประชาคมโลก และประชาชนบางส่วนในประเทศ
การเล่นบทบาทเชิงรุกของ คสช.ด้วยการชูประเด็นเศรษฐกิจถือว่าแหลมคมอย่างยิ่ง นั่นเท่ากับปลดชนวนระเบิดเวลา ที่หน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงสถาบันการเงินเอกชนประเมินว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2557 มีแนวโน้มจะ'ติดลบ'จากคาดการณ์เดิมที่ 3-4%
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอย คงหนีไม่พ้นปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อมาครึ่งค่อนปี ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภา กลายมาเป็นรัฐบาลรักษาการ ทำให้นโยบายที่ต้องอาศัยอำนาจคณะรัฐมนตรีอนุมัติต้องอยู่ในห้วงสุญญากาศ
ไล่เรียงตั้งแต่การอนุมัติเงินจ่ายให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ตลอดจนการต่ออายุสารพัดมาตรการเพื่อตรึงค่าครองชีพให้ประชาชน
ปมปัญหาเหล่านี้ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ดูย่ำแย่ปางตาย และเปราะบางจนคณะ คสช.คงไม่สามารถให้น้ำหนักมุ่งแก้เฉพาะปัญหาทางการเมืองอย่างเดียวได้ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่การเข้ามาคุมอำนาจบริหาร คสช.ก็ฟอร์มทีมกูรูด้านเศรษฐกิจทันที
ไล่ตั้งแต่แต่งตั้ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. มากำกับดูแลหน่วยงานฝ่ายเศรษฐกิจ แพ็กคู่ด้วย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ และเสริมทีมสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการดึง ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรมว.พาณิชย์ มานั่งเป็นกุนซือ ช่วยคัดกรองนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หลังจากฟอร์มทีมเศรษฐกิจได้ไม่นาน คณะ คสช. ชูแผนจัดทำ "โรดแม็ปเศรษฐกิจประเทศ" เป็นวาระ แห่งชาติ ซึ่งคสช.ต้องร่างพิมพ์เขียวให้แล้วเสร็จ ก่อนส่งต่อไปยังรัฐบาลชุดใหม่ให้เข้ามารับช่วงต่อ
ในห้วงที่ผ่านมาในการจัดทำโรดแม็ปประเทศนั้น ทีมเศรษฐกิจ คสช.เดินสายสั่งการไปทุกกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ และหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แผนออกมามีหน้ามีตามีทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ โรดแม็ปเศรษฐกิจประเทศได้ถูกจัดเป็น ระยะสั้นเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว มีหลักการคือการมุ่ง "สะสางและวางแผน" ที่เป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้ทันที เมื่อโฟกัสเฉพาะแผนระยะสั้น ล้วนเป็นมาตรการกระชากค่าครองชีพ ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน เพราะเป็นการลดภาระแบบเห็นเนื้อเห็นหนัง
ขณะเดียวกัน วางเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 3% ซึ่งหากต้องการให้ได้ตามเป้าต้องจัดหนักจัดเต็มกันช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือ โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558
ที่ท้ายที่สุดเคาะตัวเลขรายจ่ายที่ 2.575 ล้านล้านบาท เป็นการขาดดุลงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท กระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐที่นิ่งสนิทมานาน
สําหรับ แผนระยะสั้น มุ่งลดค่าครองชีพประชาชน เพิ่มเม็ดเงินจับจ่าย ถูกทยอยเข็นออกมาต่อเนื่อง เช่น การอนุมัติแผนการกู้เงิน 9.2 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงการคลังนำไปเบิกจ่ายให้กับเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในโครงการรับจำนำข้าว ที่ยังค้างอยู่ตั้งแต่ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทันที ส่งผลโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทันที 0.2%
การต่ออายุการลดอัตราจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในอัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี การลดอัตราจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการอัดสินเชื่อให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ช่วงปี 2557-2558 ในวงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ในส่วนของนโยบายพลังงาน ยังประกาศตรึงราคาก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือนที่อัตรา 22.63 บาทต่อกิโลกรัม และสั่งตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ออกไปไม่มีกำหนด
เบรกขึ้นภาษีสรรพสามิตดีเซล โดยให้ตรึงออกไปในอัตราจัดเก็บ 0.005 บาทต่อลิตร ขณะที่ภายหลังจากนั้นคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ยังรับลูกลดราคาดีเซลลงอีก 0.14 สตางค์ต่อลิตร
มาตรการระยะสั้นเหล่านี้ต้องบอกว่าทำการบ้านมากันเป็นอย่างดี ทำคะแนนชนิดที่เรียกว่าเกินความคาดหมาย
อย่างไรก็ตาม การสะสางปัญหาปากท้องโดยมุ่งนโยบายระยะสั้นเอาใจประชาชนในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรัฐบาลชุดที่ผ่านๆมา การเข้าไปแทรกแซงโครงสร้างกรณีพลังงาน แม้ทางหนึ่งช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบมากเกินไป แต่รัฐบาลที่ผ่านมาก็โดนข้อหา "บิดเบือนกลไกตลาด"
แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีใครกล้าจับให้เข้าร่องเข้ารอย สะท้อนราคาตามกลไกสะท้อนความเป็นจริง เนื่องจากหวั่นไหวเรื่องคะแนนเสียงนั่นเอง
น่าสนใจว่าหลังจากนี้ คสช.ที่มีอำนาจเต็มมือ จะตัดสินใจตรึงราคาแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรือตัดสินใจปรับขึ้นราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ส่วนมาตรการระยะปานกลาง-ระยะยาว เน้นไปที่โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในส่วนของกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งการลงทุนระบบขนส่ง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า ถนน โดยตัดรถไฟความเร็วสูงทิ้ง สอดคล้องกับบางส่วนในยุทธศาสตร์ใหม่ 3 ล้านล้านบาท โดยล่าสุดปรับลดงบประมาณลงเหลือ 2.4 ล้านบาท
ขณะเดียวกันโครงการน้ำถือว่ายังมีความจำเป็นกับประเทศที่พึงพาผลผลิตทางการเกษตร ที่ต้องวางโครงสร้างระยะยาว ยิ่งเฉพาะการล้มโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ทำให้ต้องติดตามกันต่อว่าทิศทางจะเป็นเช่นไรต่อไป
อีกประเด็นที่ต้องติดตามไม่แพ้กัน คือการปรับปรุงโครงสร้างภาษีขนานใหญ่ เพราะพูดถึงภาษีย่อมเป็นของแสลงของประชาชน แต่เมื่อประเทศจำเป็นต้องมีการลงทุน งบประมาณรายจ่ายต้องขยายตัวทุกปี การจัดเก็บรายได้ย่อมต้องเติบโตตามไปด้วยนั้น การวางเป้ารีดรายได้จะไปตกอยู่ที่กลุ่มไหน
กระทรวงคลังเล็งทบทวนพ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บภาษีสรรพสามิตที่มีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ในยุคที่ คสช.เห็นว่าการจัดสรรที่ดินทำกินยังมีปัญหา เกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ค่าเช่าที่มีราคาสูง กลไกด้านภาษีจะมีบทบาทมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีปัญหาในขณะที่ คสช.มีอำนาจเต็มทำให้ทุกฝ่ายต่างมุ่งหวังที่จะเห็นการใช้อำนาจในการมุ่งแก้ปัญหา และสร้างทางออกให้กับประเทศ
ดังนั้น โรดแม็ปฉบับ คสช.จะไปได้ไกลแค่ไหน คงถูกทุกฝ่ายจับตามองอย่างใกล้ชิด...
โปรเจ็กต์เศรษฐกิจ พิสูจน์ฝีมือ"คสช."
วิเคราะห์การเมือง ข่าวสด 15 มิ.ย. 57
ดังที่เห็นได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากโครงการ รับจำนำข้าว จากโครงการบริหารจัดการน้ำ จากโครง การกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐาน 2 ล้านล้าน
ฝ่ายที่เคยส่งเสียงคัดค้านโครงการต่างๆ เหล่านี้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนผ่านมาเป็นยุค คสช. เสียงเดียวกันเคยค้านก็เปลี่ยนเป็นสนับสนุน
อะไรทำไม่ได้ ก็ทำได้ทันที
หลังประกาศเข้ายึดอำนาจ 22 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์และคณะออกมาตรการมาแล้วหลายอย่าง ทั้งมาตรการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม ครอบคลุมในทุกมิติทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ต่างประเทศและด้านความมั่นคง
งานด้านความมั่นคงเป็นเรื่องที่ คสช.ให้ความสำคัญมากที่สุดในช่วง 20 วันแรก กระทั่งปัจจุบันมาตรการความมั่นคงได้คลายตัวลง
เริ่มตั้งแต่การปลดล็อกเคอร์ฟิวทีละจังหวัด สองจังหวัด เน้นที่แหล่งท่องเที่ยว ยกระดับเป็นประกาศยกเลิกทีเดียว 20 จังหวัด ก่อนจะประกาศยกเลิกทุกพื้นที่ทั่วประเทศในที่สุด
การประกาศปลดล็อกเคอร์ฟิว ทำให้บรรยากาศบ้านเมืองและการดำเนินชีวิตของประชาชนกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติ
ทั้งยังสอดรับกับจังหวะการประสานงานกับบริษัทเอกชนเจ้าของลิขสิทธิ์และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
คืนความสุขให้คอบอลทั่วประเทศ
ได้ดูการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ผ่านฟรีทีวี ช่อง 5 กับช่อง 7 ทุกนัดตลอดทัวร์นาเมนต์ ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.ถึง 13 ก.ค.
กล่าวกันว่าเป็น 1 เดือนเต็มๆ ที่ความสนใจของประชาชนถูกเบนออกไปจากการเมืองในสถานการณ์พิเศษ ขณะที่การออกประกาศเรียกบุคคลมารายงานตัวก็ได้เพลาๆ ลงไปแล้วเช่นกัน
ถ้าจะมี ส่วนใหญ่ก็เป็นคนในฝั่งตรงข้ามอดีตรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม สิ่งท้าทายฝีมือพล.อ.ประยุทธ์ และคสช.มากที่สุดตอนนี้ ไม่ใช่นโยบายด้านความมั่นคงซึ่งเป็นเรื่องที่กองทัพมีความถนัดเชี่ยวชาญอยู่แล้ว
แต่เป็นการวางนโยบายมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการเร่งรัดเบิก จ่ายงบประมาณปี 2557 และการวางกรอบยุทธศาสตร์การจัดทำ งบประมาณปี 2558
คสช.อนุมัติวงเงินงบประมาณปี 2558 ไว้ที่ 2.57 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีงบประมาณ 2557 ของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมกว่า 1,200 คน เพื่อชี้แจงรายละเอียดเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเองเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่ที่ทำให้หลายคนถึงกับตะลึงในใจโดยเฉพาะกลุ่มที่เคยร้องคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์
กรณีนายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคมออกมาระบุว่า ที่ประชุมแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช.และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธาน
มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 3 ล้านล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 2558-2565 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
โดยเป็นการพัฒนาโครง สร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งทั้งทางรถไฟ ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ แต่จะไม่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงอยู่ในแผนเหมือนของรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะยังไม่ใช่โครงการจำเป็นเร่งด่วน แต่หากในอนาคตจะมีการเสนอเพิ่มเติมในส่วนนี้ ก็ทำได้
สำหรับวงเงินรวมที่งอกขึ้นมาอีก 1 ล้านล้านบาทนั้น เป็นในส่วนของการลงทุนพัฒนาการขนส่งทางอากาศที่ไม่ได้มีบรรจุในร่างพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทฉบับรัฐบาลยิ่งลักษณ์
สถานะของ คสช.ตอนนี้เทียบเท่าได้กับการเป็นคณะรัฐมนตรี หรือครม. โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่เสมือนเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ถืออำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ
แต่สิ่งแตกต่างระหว่างการเป็นรัฐบาลพิเศษกับรัฐบาลปกติซึ่งมีที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตยคือ
รัฐบาลพิเศษไม่มีระบบการตรวจสอบกลั่นกรองการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ อย่างเข้มข้นและกว้างขวางหลายชั้นเท่ากับรัฐบาลปกติ
เนื่องจากไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน ไม่มีวุฒิสภาคอยทำหน้าที่ดังกล่าว ตลอดถึงการตรวจสอบจากภาคประชาชนและภาคนักวิชาการ ก็ไม่สามารถกระทำได้ในสถานการณ์พิเศษ
ฉะนั้นโจทย์การบ้านที่ พล.อ.ประยุทธ์และคสช.ต้องเก็บไปคิดคือ ทำอย่างไรที่จะเปิดให้ประชาชนเจ้าของประเทศตัวจริง มีส่วนร่วมตรวจสอบตรงนี้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในยุคบ้านเมืองอยู่ระหว่างรอการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ ที่อาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 15 เดือน ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้เป็นโรดแม็ป
ถึงแม้มาตรการต่างๆ ที่คสช.ดำเนินการอยู่ตอนนี้ หลายอย่างได้รับเสียงขานรับสนับสนุนจากประชาชนจำนวนไม่น้อย
โดยเฉพาะการใช้อำนาจเด็ดขาดเข้าไปจัดการกับปัญหาการเอารัดเอาเปรียบในสังคม ปัญหายาเสพติด ปัญหาชาวนา คนยากคนจน หนี้สิน การพนัน อาวุธเถื่อน ตัดป่าไม้ การจราจร ฯลฯ
รวมถึงการจัดกิจกรรมสร้างความปรองดองสมานฉันท์คนในชาติ ผ่านเวทีการแสดงดนตรี ดูหนังฟรีและความบันเทิงรูปแบบอื่นมากมาย ซึ่งอาจรวมถึงการเปิดให้คนไทยมีโอกาสได้ดูบอลโลกกันทุกบ้านอีก ต่างหาก
แต่นั่นไม่ใช่ความสุขที่ประชาชนเลือกเอง แต่มีคนเลือกให้
ได้แต่หวังว่า หากห้วงระยะของการจัดระบบระเบียบผ่านพ้นไป ก็จะถึงจังหวะที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเลือกความสุขเองจะกลับคืนมาในเวลาอันรวดเร็ว..
การเมือง การพัฒนา โครงการ 3.3 ล้านล้านบาท เริ่มต้น ยุค 'คสช.'
แล้วโครงการอันกระทรวงคมนาคมเสนอในวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาทผ่านความเห็นชอบโดยพื้นฐานจากการ
คณะกรรมการยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ
ที่ว่า “โดยพื้นฐาน” เพราะว่ายังต้องไปหารือร่วมกับ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ในเรื่อง “แหล่งเงินทุน”
และนำเสนอ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อีกครั้งภายในวันที่ 19 มิถุนายน
หากผ่านความเห็นชอบในเรื่อง “แหล่งเงินทุน” จากสำนักงบประมาณ จากกระทรวงการคลัง โครงการ 3.3 ล้านบาทก็เริ่มต้น
เริ่มต้นเฟส 1 ในปี 2558 ด้วยเงิน 2.1 แสนล้านบาท
เป็นการเริ่มต้นโดยไม่ต้องจัดทำเป็น “พระราชบัญญัติ” เป็นการเริ่มต้นโดยไม่ต้องฟังเสียงค้านจากวาระ 1 วาระ 2 ไปจนถึงวาระ 3 เหมือนที่ดังระงมเมื่อหลายเดือนก่อน
คสช.ซะอย่าง ก็เดินหน้าได้ฉลุย
มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนระหว่างโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทอันเป็น 'พ.ร.บ.' กับโครงการเงินทุน 3.3 ล้านล้านบาทใหม่นี้
1 ตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงออกไป
ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญมีการเติมยุทธศาสตร์ทางอากาศเข้ามาเป็นยุทธศาสตร์ที่ 5 เน้นพัฒนาสนามบิน พัฒนาการขนส่งทางอากาศ
เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้
เข้าใจได้ในเมื่อบุคคลที่นั่งเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ คือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ซึ่งได้รับมอบหมายให้กำกับและขับเคลื่อนงานทางด้านเศรษฐกิจ
มาทาง'อากาศ'ย่อมต้องเข้าใจใน'อากาศ'
ถามว่า จะมีกระแสคัดค้านต่อต้านเหมือนกับที่เกิดขึ้นในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกหรือไม่ ไม่ว่าจะมาจากนักการเมืองฝ่ายค้าน หรือส่วนอื่นๆ
ตอนนี้ยังไม่ปรากฏ
สะท้อนให้เห็นว่าที่คัดค้านต่อต้านในตอนนั้นมิได้เป็นเรื่องในทางหลักการ หากเห็นว่าเป็นเพราะเสนอโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เหมือนที่เคยค้านโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค
และทำท่าว่าจะเหมือนกับที่เคยค้านกันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
พอมาถึงยุค “คสช.” ทุกอย่างก็เงียบสงบ
โครงการอย่างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง โครงการอย่างการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ไม่ว่าจะทำโดยใครล้วนเป็นเรื่องดี ควรให้การสนับสนุน จะห่วงใยในเรื่องความโปร่งใส ห่วงใยในเรื่องกระบวนการ วิธีการก็สามารถห่วงใยได้
แต่มิได้หมายความว่าจะไม่ให้ทำอะไรเลย....