ชั่งน้ำหนัก'ได้-เสีย' กระชับมิตร'ไทย-รัสเซีย'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Friday, 10 April 2015 13:24
- Published: Friday, 10 April 2015 13:24
- Hits: 8464
มากกว่า ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศคนละขั้วการปกครองกับรัสเซีย การกระชับมือแน่นขึ้นของไทย-รัสเซียถูกมองว่าอาจส่งผลเสียมากกว่า จากนี้เป็นความเห็นของนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อประเด็นดังกล่าว
ปณิธาน วัฒนายากร
ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
การมองว่า รัสเซียมาเยือนไทยเป็นความต้องคานอำนาจของสหรัฐอเมริกา เป็นความคิดแบบเก่า แบบสมัยสงครามเย็น แต่รัฐบาลไม่มองว่าต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือไม่เลือกรัสเซียก็ต้องเลือกเอาสหรัฐ หากจะมีความคิดแบบใหม่ขึ้นมาหน่อย ก็อย่างที่สหรัฐทำอยู่ คือทั้งการแข่งขันและร่วมค้าขายระหว่างกัน เช่น สหรัฐกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งที่ไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน เพราะทุกประเทศสามารถคบหาสมาคมกันได้ เป็นการคิดแบบรัชกาลที่ 5 คือการคบหาสมาคมโดยไม่ได้เลือกข้าง อะไรที่เป็นประโยชน์ก็จะเสริม เช่น การซ้อมรบคอบร้าโกลด์
เช่นเดียวกับกรณีรัสเซีย หากมีเทคโนโลยีใหม่ที่สหรัฐขายให้เราไม่ได้ แต่รัสเซียขายได้ ขณะเดียวกันรัสเซียก็สามารถซื้อข้าว ยางพารา ของเราได้ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่คบรัสเซีย ที่ผ่านมาคนอเมริกันมาเมืองไทยไม่เท่าไร แต่คนรัสเซียมาไทยใกล้จะ 2 ล้านคนแล้ว จึงเป็นความสัมพันธ์แบบสลับซับซ้อน
เราไม่ได้เอาประเทศเหล่านี้มาถ่วงดุล เพราะเราเองก็ไม่ได้มีน้ำหนักมากพอที่จะทำอย่างนั้น เพราะแต่ละประเทศมีข้อดี ข้อจำกัดต่างกัน เช่น จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย อินเดีย เป็น 4 ประเทศที่รัฐบาลต้องการขยับความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น เพียงแต่วันนี้คนมองว่าการเมืองระหว่างไทยและสหรัฐไม่ปกติ และการเมืองระหว่างรัสเซียกับสหรัฐเองก็ไม่ปกติ และรัสเซียกับสหภาพยุโรป (อียู) ก็ไม่ปกติ นั่นก็เป็นเรื่องการเมือง แต่ความสัมพันธ์มันลึกซึ้งกว่าการเมืองมาก เพราะมีเรื่องของการค้า การลงทุน วัฒนธรรม การทหารด้วย
ส่วนเรื่องความเป็นประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่ไทยเองต้องการเป็นอยู่แล้ว เพียงแต่การแสดงออกของสหรัฐเป็นการพูดในที่สาธารณะ ใช้วิธีการผลักดันกลุ่มต่างๆ ให้วิจารณ์ เป็นวิธีที่คนไทยอาจมองว่าไม่ดี แต่เจตนาของทุกประเทศนั้นเหมือนกัน โดยต้องการให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย เพราะได้พิสูจน์แล้วว่าประชาธิปไตยเป็นผลดีต่อเสถียรภาพของโลก แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบถาวร
การเยือนไทยของรัสเซียจะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดถึงเรื่องเพื่อนแท้ระหว่างแถลงข่าวร่วมกับนายกฯรัสเซีย เป็นการแสดงของคนเป็น
นายกฯที่ค่อนข้างเปิดเผยกว่าทุกคน แต่ก็เข้าใจความพยายามของสหรัฐที่ผ่านมาว่ามีความเป็นห่วง
แต่ที่สุดแล้วมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เพราะหากเราได้ผลประโยชน์จากใคร เราก็คบ เขาเองก็เช่นกัน
สุรชาติ บำรุงสุข
ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นความพยายามของรัฐบาลไทยที่จำเป็นต้องเเสวงหามิตรเพิ่มในสถานการณ์หลังรัฐประหาร เนื่องจากไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศมากเท่าไร โดยแยกแยะเป็นประเด็นดังนี้
1.ความพยายามชุดเเรกของรัฐบาลที่เราได้เห็น คือการติดต่อกับจีน เเละคิดว่าครั้งนี้เป็นความพยายามใหญ่ครั้งที่สอง ในการผลักดันสร้างความใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลไทยกับรัสเซีย เป็นการเดินนโยบายระหว่างประเทศในภาวะซึ่งรัฐบาลทหารรู้อยู่เเก่ใจดีว่า ผลพวงจากการรัฐประหารจะทำให้รัฐบาลไม่ค่อยมีพื้นที่ในเวทีระหว่างประเทศเท่าที่ควร
2.ความสัมพันธ์ระหว่างไทยเเละรัสเซีย มีลักษณะคล้ายกับความสัมพันธ์ที่รัฐบาลไทยในปัจจุบันพยายามสนิทกับจีน คือเชื่อว่าถ้าวันนี้รัฐบาลของประเทศตะวันตกไม่ให้การยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จีนเเละรัสเซียย่อมจะเป็นทางเลือกใหม่ให้รัฐบาลทหารไทย
3.ในสถานะที่รัฐบาลพยายามจะหาทางเลือกใหม่ ซึ่งผูกโยงกับปัญหาในกรณีของรัสเซีย เห็นข้อเสนอที่ไทยพยายามจะทำให้รัสเซียสนใจ ด้วยการที่เราจะขอเป็นผู้ซื้ออาวุธจากรัสเซีย การตัดสินใจจะซื้ออาวุธรอบนี้ถ้าเป็นจริง จะเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะโดยปกติเเล้วอาวุธของไทยเป็นอาวุธที่มาจากค่ายตะวันตก ไม่ค่อยมาจากโลกตะวันออกเท่าไร ฉะนั้นประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง
4.ความสัมพันธ์ไทยรัสเซียที่เกิดขึ้น เกิดในสภาวะเศรษฐกิจของรัสเซียกำลังประสบปัญหา ฉะนั้นความคาดหวังว่าความสัมพันธ์อันดีมีความใกล้ชิดจะนำมาซึ่งความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริง เพราะปัจจุบันรัสเซียเองก็มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจอยู่
5.ถ้าความสัมพันธ์นี้มีเหตุผลมาจากความคาดหวังอีกประการหนึ่งว่า จะเป็นตัวนำมาซึ่งนักท่องเที่ยวรัสเซียให้หวนกลับมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาเเละต้องการเงินจากภาคการท่องเที่ยว นั่นก็อาจจะไม่เป็นจริงเท่าที่ควร เพราะเศรษฐกิจรัสเซียไม่ดี นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางออกมาท่องเที่ยวนอกประเทศได้มากมายเหมือนในอดีต
ฉะนั้น สถานการณ์ที่เห็นในปัจจุบัน จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการเเสวงหามิตรเพิ่ม ในสถานการณ์ที่รัฐบาลไทยรู้สึกว่าพื้นที่ในเวทีระหว่างประเทศลดลง เเต่ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะเหมือนกับ "คนจนกับคนจน" ที่จะพยายามผูกมิตรกัน เเละมีความหวังว่าจะช่วยกัน เเต่ในความจริงเเล้วอาจจะทำไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจด้วยกันทั้งคู่
ขณะเดียวกัน ความพยายามที่รัฐบาลไทยมีต่อรัสเซียในครั้งนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองจากโลกตะวันตก เพราะในด้านหนึ่งโลกตะวันตกก็มีปัญหากับรัสเซีย เช่น กรณีปัญหายูเครนที่เราเห็นท่าทีชัดเจนจากสหภาพยุโรป
เพราะฉะนั้นเชื่อว่า ประเด็นไทยรัสเซียจะถูกจับตามองจากสหรัฐไม่เเตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์
จรัญ มะลูลีม
อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การต่างประเทศของไทยเป็นการต่างประเทศที่ควรจะให้ความสำคัญกับการคบหาสมาคมกับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ไทยพยายามให้เกิดความสมดุลระหว่างจีน รัสเซีย และอเมริกา แม้เราอาจจะมีปัญหากับอเมริกาอยู่บ้างก็ตาม การขยายการค้า การลงทุน หรือความสัมพันธ์ไปทางรัสเซียเป็นการก้าวไปสู่มิติความสัมพันธ์ที่ควรจะขยายออกไป เราไม่ควรที่จะไปยึดที่ใดที่หนึ่งมาเป็นตัวเลือกในการดำรงสถานะความผูกพันกับประเทศต่างๆ ประเทศไทยควรจะคบกับทุกประเทศ ทุกภูมิภาค ในเวลาเดียวกัน ควรขยายความสัมพันธ์ทางการค้า การทูต ให้กว้างขวางออกไป
ประวัติศาสตร์ทางการทูตของไทยกับรัสเซียดำรงมาอย่างยาวนาน และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ปัจจุบันมีนักเรียนไทยจำนวนหนึ่งในรัสเซีย หลายคนหลังจากจบการศึกษา ออกมาทำงานในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยให้ความสำคัญกับจีนมากกว่ามหาอำนาจอื่นก็ตาม แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยน่าจะให้ความสำคัญกับทุกภูมิภาค ทุกประเทศ ทุกมหาอำนาจ รวมทั้งประเทศที่กำลังจะขึ้นมามีบทบาทสำคัญในโลก เช่น ประเทศอินเดียด้วยเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมาประเทศไทยซื้อยุทโธปกรณ์จากหลายประเทศ ความสามารถในด้านนี้ของรัสเซียก็อยู่ในอันดับต้นๆ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การคบหากับรัสเซียควรจะเป็นการคบหาที่ทั้งคู่ได้ผลประโยชน์ต่อกัน ทั้งสองฝ่ายน่าจะได้ผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ซึ่งกันและกันด้วย
นักวิเคราะห์บางคนอาจมองว่า ไทยถือไพ่รัสเซีย ถือไพ่จีน เพื่อถ่วงดุลหรือต่อรองกับสหรัฐ หรือยืนยันให้เห็นว่าไทยไม่ได้โดดเดี่ยวหากไม่มีอเมริกาก็ตาม กระนั้นก็มีความเห็นว่าไทยควรจะรักษาช่วงห่างของความสัมพันธ์ให้มีความเหมาะสมพอดี เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าไทยโอนเอียงไปในด้านใดมากที่สุด
นโยบายของจีนที่มีต่อรัสเซียในระยะหลังก็เปลี่ยนไป จะเห็นว่าระยะหลังประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ได้เน้นเรื่องอุดมการณ์ แต่เน้นเรื่องเศรษฐกิจที่สามารถทำงานร่วมกันได้ เห็นได้ชัดคือความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับรัสเซียในขณะนี้ได้พัฒนาไปมากแล้ว
การที่ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและรัสเซีย ถือว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่เป็นเอกเทศของไทย อาจจะทำให้เห็นว่าไทยเอนเอียงมาทางจีนกับรัสเซียมากขึ้น แต่ว่าในความเป็นจริง เชื่อว่าประเทศไทยยังคงให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐ แม้ว่าจะมีการให้ความสำคัญน้อยลงไปในช่วงนี้ แต่คิดว่าโดยพื้นฐานความสัมพันธ์ที่มีแต่ดั้งเดิม คงยังจะต้องคบหาสมาคมกับสหรัฐต่อไปเพราะว่าเป็นความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ทรรศนะจากต่างประเทศ
ดีพีเอ สำนักข่าวเยอรมัน เสนอบทวิเคราะห์ว่า ความเคลื่อนไหวเพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารและการค้าระหว่างไทยกับจีนและรัสเซีย ถือเป็นการตอบโต้ต่อความเย็นชาในความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา โดยอ้างความเห็นของ ภาวิช สุภาพัฒน์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายภาครัฐประจำบริษัทที่ปรึกษา ฟรีนส์แอนด์พาร์ทเนอร์ส ว่าการแตกแยกอันเนื่องมาจากการรัฐประหาร กลายเป็นโอกาสให้รัสเซียและจีนก้าวเข้ามาเติมเต็ม แต่การปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทยน่าจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวมากกว่า
นอกจากนั้น ทั้งภาวิชและ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ไอซิส) เตือนว่ามาตรการระยะสั้นของทางการไทยเรื่องนี้สามารถก่อผลกระทบในระยะยาวต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาได้ ดังนั้นต้องสร้างสมดุลระหว่างความต้องการได้รับการยอมรับกับความต้องการในระยะยาวของประเทศให้ดี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการเล่นเกม "ราคาแพง" เกินไปได้
ด้านรอยเตอร์ สำนักข่าวอังกฤษ ระบุว่า การหารือระหว่างรัสเซียกับไทยที่มุ่งเน้นไปที่การขยายการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีหน้า การตกลงใจซื้อยางพาราจากไทย 80,000 ตัน เพิ่มจากแผนจัดซื้อปีนี้ถึง 4 เท่าตัว และกำหนดส่งมอบเครื่องบินโดยสารซูกอยซุปเปอร์เจ็ท 3 ลำ ให้ไทยในปลายปีเดียวกันแล้ว พร้อมอ้างคำพูดของ เดนิส มานตูรอฟ รัฐมนตรีการค้ารัสเซีย เอาไว้ด้วยว่า"เรารู้สึกได้ถึงความสนใจจากทางฝ่ายไทยที่จะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์" พร้อมกับเปิดเผยถึงการหารือเกี่ยวกับเครื่องบินสำหรับใช้เพื่อการทหารและการฝึก แต่ไม่ยอมให้รายละเอียด
ขณะที่บทวิเคราะห์ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์อะนาโดลู เอเยนซี สำนักข่าวทางการตุรกี ให้ทรรศนะที่น่าสนใจเอาไว้หลายประเด็น ตั้งแต่การเปิดเผยของปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม ที่ว่าในปีนี้จะเป็นปีแรกที่ไทยจะมีการซ้อมรบร่วมทางอากาศกับจีน และข่าวเพิ่มเติมที่น่าจะทำให้ "เพนตากอนหัวใจเต้นแรงขึ้น" ก็คือคณะนายทหารระดับสูงสุดของไทยกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำ เครื่องบินเจ็ท และอุปกรณ์ทางทหารอื่นๆ จากจีน
ดูเหมือนว่า ความผิดหวังของรัฐบาลทหารของไทยต่อทัศนคติของสหรัฐอเมริกา คือแรงผลักดันรัฐบาลไทยเข้าสู่อ้อมอกของจีนที่ยินดีอ้าแขนรับ
แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่า ในระยะยาวไทยจะยังคงดำเนินยุทธศาสตร์ทางการทูตที่มีดุลยภาพอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้พึ่งพาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากเกินไป ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ดุลยภาพที่ว่านี้ไม่แน่เสนอไปว่าจะเป็นการกลับไปหาสหรัฐอเมริกา เพราะรัสเซียเองก็รออ้าแขนรับอยู่เช่นเดียวกัน