ประเทศไทยช่วงเปลี่ยนผ่านจากกฎอัยการศึก
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Monday, 06 April 2015 21:31
- Published: Monday, 06 April 2015 21:31
- Hits: 7059
ดาบมาตรา 44 ในมือประยุทธ์ ประเทศไทยช่วงเปลี่ยนผ่านจากกฎอัยการศึก
มาอยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 จำนวน 14 ข้อ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
จุดประสงค์อย่างเป็นทางการคือ การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ แต่อย่างไม่เป็นทางการคือลดแรงเสียดทานจากทั้ง ภายในและนอกประเทศ
ภายในอย่างเช่นกลุ่มนักประชาธิป ไตย นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยว
ส่วนภายนอกมีทั้งจากกลุ่มประเทศผู้นำประชาธิปไตย อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหรัฐ รวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก อย่างฮิวแมนไรต์วอตช์ แอมเนสตี้ เป็นต้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายเนติบริกรอธิบายถึงระดับความ น่ากลัวของคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ว่าอยู่ในระดับต่ำกว่ากฎอัยการศึก
และน่าจะอยู่ในระดับพอๆ กับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพียงแต่มีความเฉพาะเจาะจงในการแก้ไขสถานการณ์บางเรื่องมากกว่า ส่วนอำนาจเข้มงวดกับสื่อ ไม่มีข้อแตกต่าง
นายวิษณุ ยังได้แจกแจงสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ เป้าหมายการใช้มาตรา 44 โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มหลักที่ต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วย
1.กลุ่มผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองในอดีตบางคนที่อาจก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น
2.กลุ่มทุน กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มผู้มีอิทธิพล ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคม แล้วก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นเพื่อปกป้อง ผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน โดยไม่เกี่ยวกับการเมือง
3.กลุ่มที่ฉวยโอกาสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเข้าสู่โรดแม็ป ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้รัฐธรรมนูญใหม่ การจัดการเลือกตั้ง อาจสร้างสถานการณ์บางอย่างในบางพื้นที่
4.กลุ่มสร้างสถานการณ์ให้เกิดความไม่เรียบร้อย ด้วยเจตนาอื่น ไม่มีเจตนาทางการเมือง
5.กลุ่มที่รู้สึกว่าได้รับความกระทบกระเทือนเดือดร้อน ได้รับความไม่เป็นธรรม เป็นพวกสุจริต ไม่มีเจตนาทางการเมืองแอบแฝง อาจมีวิธีระบายโดยการก่อความไม่สงบ
ส่วนเรื่องเกี่ยวกับศาลทหารที่ได้รับแรงกดดัน มาตลอดนั้น
นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อยกเลิกกฎอัยการศึก คดี 4 ประเภทที่ต้องขึ้นศาลทหาร ได้แก่ ข้อหาความผิดต่อสถาบัน ข้อหาความผิดต่อความมั่นคง ข้อหาความผิดตามกฎหมายอาวุธปืน และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 100 คดี
จะได้รับการพิจารณาใน 3 ศาลทหาร คือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลาง และศาลทหารสูงสุด ซึ่งเทียบได้กับศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ในระบบศาลพลเรือน
นอกจากนี้อำนาจทหารที่ให้ไว้ตามกฎอัยการศึก ยังมีมากกว่าในคำสั่ง 3/2558 เสียด้วยซ้ำไป
"ผลดีของการยกเลิกกฎอัยการศึกคือลดความหวาดระแวงในประชาคมโลกไปได้มาก แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม เพราะคำว่ากฎอัยการศึกนั้น แรงในสายตาของต่างชาติจริง" นายวิษณุระบุ
ซึ่งยังสงสัยว่าจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่
เพราะจากการตรวจสอบท่าทีของต่างชาติที่มาในรูปของตัวแทนรัฐบาล ตัวแทนองค์กรและสื่อมวลชนที่มีต่อมาตรา 44 ของไทยในเบื้องต้น พบว่า
ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกับท่าทีของนักประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนภายในไทย ขณะเดียวกันก็สวนทางกับความคาดหมายของนายวิษณุ
นายซาอิด ราด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความหวาดวิตกต่อการประกาศใช้มาตรา 44 ที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางในการบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ทหารต่อพลเรือน
แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ก็ตื่นตระหนกกับอำนาจที่มาทดแทน ที่ให้อำนาจอย่างอิสระต่อหัวหน้ารัฐบาลโดยไม่มีช่องทางให้ตรวจ สอบ ทำให้การประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกไม่มีความหมายใดๆ
ด้านผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ
กล่าวว่า การใช้มาตรา 44 แทนที่กฎอัยการศึกของไทย อาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม อย่างสันติของประชาชน
สหรัฐยังเรียกร้องให้ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร เช่นเดียวกับฝั่งสหภาพยุโรป หรืออียู ที่ออกแถลงการณ์ชี้ว่า การแทนที่กฎอัยการศึกด้วยคำสั่ง 3/2558 ไม่ได้ทำให้ไทยเป็นประชาธิป ไตยหรือเป็นรัฐบาลที่น่าเชื่อถือขึ้น
"ศาลทหารต้องไม่ถูกใช้พิจารณาคดีของพลเรือน" แถลงการณ์อียู ระบุ
สื่อต่างประเทศระดับโลก ไม่ว่าซีเอ็นเอ็นของสหรัฐ บีบีซี เดอะ การ์เดียนของอังกฤษ เอเอฟพีของฝรั่งเศส ต่างรายงานข่าวการใช้มาตรา 44 ของไทยด้วยน้ำเสียงคล้ายคลึงกัน
เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนและสื่อมวลชนทุกแขนงในไทย ที่อาจถูกคุมเข้มกว่าเดิม จากอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดและไร้ขีดจำกัด
สื่อบางสำนักพาดหัวข่าวเรียกมาตรา 44 ว่าเป็นแอบโซลูต เพาเวอร์ และอันลิมิเต็ด เพาเวอร์ ขณะที่ฮิวแมนไรต์วอตช์ ห่วงว่ากฎหมายใหม่นี้จะทำให้ไทยออกห่างจากประชาธิปไตยมากขึ้น
สอดรับกับปฏิกิริยาตอบสนองของบรรดานักวิชาการในไทย ที่บางคนสรุปว่าการใช้มาตรา 44 แทนที่กฎอัยการศึก เหมือนเป็นการเลี่ยงบาลี ไม่ต่างจากนำเหล้าเก่า ไปใส่ในขวดใหม่ โดยดีกรีความรุนแรงยังเท่าเดิม
หรืออาจหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำไป
กระนั้นก็ตามยังมีผู้ให้ความเห็นเป็นกลางๆ กล่าวคือไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปกับการใช้มาตรา 44 แต่ก็ไม่ถึงกับด่วนสรุปว่า ทหารจะใช้อำนาจ เข้มข้นกว่าตอนมีกฎอัยการศึก
คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. เจ้าของอำนาจแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 44 ว่าจะใช้อำนาจนั้น ไปในทางสร้างสรรค์อย่างที่พูดไว้หรือไม่
สถานการณ์ประเทศไทยในขณะนี้ กำลังประสบปัญหามากมายในทุกมิติทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง การต่างประเทศ ฯลฯ บางเรื่องสลับซับซ้อนเกินกว่าจะใช้วิธีบริหารจัดการแบบทหาร
บางเรื่องก็ใหญ่โตเกินกำลังที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะแบกรับความรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ต่อให้รวบอำนาจไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดขนาดไหนก็ตาม
ที่สำคัญต้องไม่ลืมคำเปรียบเทียบที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่าอำนาจเปรียบเสมือนดาบสองคม ยิ่งคมมากก็ยิ่งอันตรายมาก ถ้าหากคนใช้ใช้ในทางสร้างสรรค์ก็ดีไป แต่ถ้ากวัดแกว่งไปในทางไม่ถูกต้อง
ผลร้ายย่อมเกิดกับคนถือดาบเอง....
วันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 00:32 น. ข่าวสดออนไลน์