ปฏิกิริยา อ่อนๆ คัดค้าน 'มาตรา 44' ปฏิกิริยา นุ่มนวล
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Saturday, 04 April 2015 20:07
- Published: Saturday, 04 April 2015 20:07
- Hits: 7264
ปฏิกิริยา อ่อนๆ คัดค้าน 'มาตรา 44' ปฏิกิริยา นุ่มนวล
นักธุรกิจระดับ นายอิสระ ว่องกิจกุศล ประธานหอการค้าไทย นักธุรกิจระดับ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
อาจงุนงงต่อ 'ปฏิกิริยา'ที่ไม่เห็นด้วยกับ 'มาตรา 44'
ปฏิกิริยาจากข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน แห่งองค์กรสหประชาชาติ อาจไม่งุนงงเท่าใดนัก
เหมือนกับปฏิกิริยาอันมาจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ
เหมือนกับปฏิกิริยาอันมาจากตัวแทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำกรุงเทพมหานคร ที่ไม่รู้สึกว่าการแปรจาก “กฎอัยการศึก” มาเป็น 'มาตรา 44' เป็นการเปลี่ยนแปลง
แต่ปฏิกิริยาจาก 4 องค์กรสื่อมวลชนไทยนี่ซิ 'ไม่น่าเชื่อ'
เช่นเดียวกับ ปฏิกิริยาแสดงความไม่เห็นด้วยจากกรรมการแห่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทยซึ่งทักท้วงมาตั้งแต่เริ่มต้น
ทำไม'องค์กร'ในประเทศไทยเหล่านี้จึง 'ปฏิเสธ'
.....................................................
ความจริง หากเริ่มต้นจาก 'ฐานความคิด'ที่ว่า การดำรงอยู่ของ'มาตรา 44' ก็เหมือนกับการดำรงอยู่ของ'กฎอัยการศึก'ก็ไม่ควรมีการออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย
เพราะคล้ายกับไม่มีใครคัดค้าน “กฎอัยการศึก”
ดูเหมือนว่า กองทัพบกได้ประกาศและบังคับใช้ “กฎอัยการศึก” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557
โดยไม่มีเสียงคัดค้านและต่อต้าน
จากนั้น ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ก็ผันตนเองเป็น “หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (คสช.) แล้วยึดอำนาจด้วยวิธีการรัฐประหารโค่นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลง
ทุกอย่างก็ “เรียบโร้ย” โรงเรียน “คสช.”
........................................................
จากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนเมษายน 2558 ยาวนานกว่า 11 เดือนก็มีการเปลี่ยน “กฎอัยการศึก” มาประกาศและบังคับใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
มอบอำนาจให้กับ “หัวหน้าคสช.” อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด
เหตุผลที่กรรมการแห่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความไม่เห็นด้วยเพราะนี่คือการจำแลง “กฎอัยการศึก” มาในรูปของ “มาตรา 44”
เป็นเหตุผลใน “กระสวน” เดียวกันกับปฏิกิริยาของ “องค์กรสื่อ”
เพราะว่าภายในประกาศแห่ง “มาตรา 44” นั้นคือการจำแลงเอาคำสั่งคสช.ที่มุ่งในการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของสื่อโดยตรง
เป็น “เหล้าเก่า” เพียงแต่เอาใส่ “ขวดใหม่” เท่านั้นเอง
............................................................
แท้จริงแล้ว การไม่เห็นด้วยต่อ “กฎอัยการศึก” นั้นเป็นปฏิกิริยาที่ดำรงอยู่มาตั้งแต่รัฐประหารแล้ว
เพียงแต่โดย “กฎอัยการศึก” เพียงแต่โดย “อำนาจปืน” ของคสช.ทำให้ไม่สามารถแสดงออกได้ เพราะถ้าแสดงออกก็ต้องถูกเรียกตัวไป “ปรับทัศนคติ”
ปฏิกิริยา “ใหม่” อันปรากฏจึงถือว่า “หาญกล้า” อย่างเหลือเชื่อ
วันที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์