มองแรงกระทบกระทั่งรัฐบาล - สื่อมวลชน
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 29 March 2015 13:26
- Published: Sunday, 29 March 2015 13:26
- Hits: 6922
วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 15:43 น. ข่าวสดออนไลน์
รายงานพิเศษ : มองแรงกระทบกระทั่งรัฐบาล - สื่อมวลชน
การทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านมาเกือบ 7 เดือน
มีการกระทบกระทั่งกับสื่อหลายต่อหลายครั้ง ระหว่างนักข่าวกับนายกฯ และนักข่าวกับรัฐมนตรี
บรรยากาศดังกล่าวสะท้อนอะไร และจะส่งผลต่อการบริหารบ้านเมืองหรือไม่
***
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
เป็นเรื่องของทฤษฎี 'ปาลูกบอล'เมื่อสื่อถามแรงมานายกฯก็ตอบแรงไป ต้องยอมรับว่าบางครั้งสื่อก็ถามคำถามที่รุนแรง ขณะที่ นายกฯ และรัฐบาลเองก็ต้องระมัดระวัง เพราะช่วงนี้มีสถานการณ์หรือประเด็นข่าว เช่น เรื่องการจัดเก็บภาษี หรือปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น
รัฐบาลคงกลัวว่า จะมีผลสะท้อนกลับมายังรัฐบาล และช่วงนี้เหมือนนายกฯตอบคำถามทุกเรื่องอยู่คนเดียว รัฐบาลก็ทำงานมีผลงานหรือนโยบายดีๆ พอสมควร
แต่ทีมโฆษกไม่ ค่อยแถลงให้ประชาชนได้รับทราบ รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงก็ไม่ได้ชี้แจง อ่อนประชาสัมพันธ์ รัฐมนตรีบางคนก็พูดในเรื่องที่ไม่ควรพูด เช่น เรื่องจะเดินหน้าเก็บภาษีประชาชนในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจเป็นแบบนี้
ทุกเรื่องจึงไปตกอยู่ที่นายกฯ แต่เชื่อว่านายกฯ แสดงออกไปอย่างนั้นเอง เป็นเพียงการหยอกล้อสื่อมากกว่า เพราะเวลาที่ให้สัมภาษณ์แบบมีอารมณ์แต่สุดท้ายก็จะหยอกล้อ หยอดมุขกับสื่อทุกครั้ง ถือเป็นเรื่องปกติ
ขณะนี้ แต่ละกระทรวงควรต้องชี้แจง ทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบผลงานของรัฐบาล ทุกเรื่องจะได้ไม่ไปตกกับนายกฯ คนเดียว เอาเรื่องดีๆ มาพูดกันบ้าง เมื่อสื่อถามถึงเรื่องไม่ดีข่าวจะได้บาลานซ์กัน
ในสถานการณ์ที่ทหารเข้ามาโดยใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ภาวะนี้บางครั้งรัฐบาลต้องอดทน แต่สื่อเองก็ใช้ความเป็นอิสรเสรีในการทำหน้าที่สูงเกินไป
ที่สุดแล้วเชื่อว่า นายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช.คงจะไม่ใช้อำนาจ คสช.ในการปิดกั้นสื่อ เชื่อว่านายกฯพูดไปอย่างนั้นเอง แม้ภายนอกนายกฯ จะดูแข็ง แต่อ่อนใน
***
จิตติ มงคลชัยอรัญญา
ผอ.สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ม.ธรรมศาสตร์
โดย หลักการแล้วรัฐบาลในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารและเป็นหน่วยงานสาธารณะที่สังคม จับตามอง การวางตัวกับสื่อมวลชนในการที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายหรือสถานการณ์ ต่างๆ ต้องสุขุมรอบคอบและระมัดระวัง เพราะถือเป็นตัวแทนของทุกกลุ่มทุกองค์กร
และสิ่งที่ปรากฏผ่านสื่อจะเป็นที่รับทราบของสังคม หากสื่อกระทำสิ่งใด ผิดพลาด การพูดคุยทำความเข้าใจก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี
การวางตัวกับสื่อ ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับรัฐบาลที่มาจากช่องทางอื่นย่อมมีสิ่ง ที่แตกต่างในการแสดงออกอยู่แล้ว เพราะนักการเมืองมืออาชีพย่อมรู้ดีว่าการแสดงออกแบบใดจะทำให้ภาพลักษณ์ของ ตัวเองออกมาดูดี จะมีความระมัดระวังในการตอบคำถามกับสื่อ
หากเป็นนักการเมืองมือสมัครเล่นที่มาทำหน้าที่แบบเฉพาะกิจ อาจคิดว่าการเข้ามาทำหน้าที่คือการเสียสละจึงไม่ได้คิดถึงเรื่องภาพลักษณ์ มากนัก
สิ่งที่ปรากฏต่อสื่อช่วงที่ผ่านมาเมื่อมีการแสดงออก บางอย่างที่ดูแล้วอาจถูกตั้งคำถาม ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะไม่ใช่ทหารแต่ทุกอาชีพไม่ว่าจะเป็นวงการไหน เมื่อคิดว่าตนเองมีอำนาจ มีความเชื่อมั่น พอมาลงเวทีสิ่งต่างๆกลับไม่ได้ตามที่คาดไว้ก็ย่อมอึดอัด
ยกตัวอย่างผู้นำองค์กรธุรกิจ ถ้าไม่ ได้ดั่งใจเรื่องอะไรก็สามารถระเบิดอารมณ์ได้ง่ายๆ ดังนั้นการวางตัวของผู้นำ ไม่ว่าองค์กรใดๆจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะตำแหน่งนี้เป็นที่จับตามองจากคนทั่วไป
การที่ผู้นำหลุดการกระทำใดๆ ออกมาแล้วจะส่งผลเสียในวงกว้างหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมนั้นๆ ถ้าเป็นต่างประเทศ หากผู้นำมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องชู้สาว ก็จะลาออกจากตำแหน่งทันที เพราะต่างประเทศค่อนข้างจะเข้มงวดกับเรื่องแบบนี้
แต่ถ้าเป็นประเทศไทยก็อาจไม่ได้ถูกมองว่า ร้ายแรง เนื่องจากสังคมได้ประเมินสิ่งต่างๆแตกต่างกัน จะร้ายแรงหรือไม่ก็ต้องดูเป็นทีละเรื่อง
***
ธีระพล อันมัย
อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ
เป็นลักษณะเสมอต้นเสมอปลายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. จากเรื่องผัดกะเพรากระทั่งเป็น นายกฯก็มีท่าทีเช่นนี้
น่าจะเกิดจากการที่ตัวนายกฯไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การวางตัวหรือการแสดงออกที่ปรากฏให้เห็นจึงไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น
การเรียกให้ น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ไปให้ข้อมูลกับคสช. หลังจากเธอลงพื้นที่รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแรงงานไทยในอินโดนีเซียคือ ความโชคร้ายที่สื่อไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงต่อผู้คนใน สังคม
ที่แย่กว่านั้นการอ้างว่าเพื่อรักษาผลกระทบจากความ เสียหายทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากรายงานข่าวชิ้นดังกล่าว แสดงว่าคนพวกนี้ไม่เคยรู้เลยว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อมวลชนนำเสนอการกดขี่ทรมานและมีนายทุนนับไม่ถ้วนที่ร่ำ รวยอยู่บนซากศพแรงงาน
และในภาวะที่รัฐบาลกำลังคุกคามสื่อ ทุกคนจะรับรู้ได้ว่าสมาคมสื่อทุกแขนงไม่เคยออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพการทำ หน้าที่ของเพื่อนร่วมวิชาชีพเลย ทั้งที่การแอ่นอกรับการข่มขู่ทุกรูปแบบน่าจะเป็นหน้าที่โดยไม่ต้องเลือก ปฏิบัติเลยว่า สำนักไหนจะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิก
จะมีบ้างก็แค่การออกมาปกป้องสื่อฟากเดียวกันที่มีผลกระทบทางผลประโยชน์ สำหรับฟากตรงข้ามอำนาจรัฐแล้วกลับเมินเฉย ถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนบทบาทของตัวเอง...