ไอเดียบรรเจิด โอเพ่นลิสต์ รธน.ฉบับห้องแล็บ
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Tuesday, 17 March 2015 22:02
- Published: Tuesday, 17 March 2015 22:02
- Hits: 6676
ไอเดียบรรเจิด โอเพ่นลิสต์ รธน.ฉบับห้องแล็บ
มติชนออนไลน์ :วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558 รายงาน
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โยนหินเรื่องการก๊อบปี้การเลือกตั้งแบบเยอรมันโมเดลมาใช้ โดยการเลือกตั้งแบบเยอรมัน ทุกคะแนนเสียงจะถูกนำมาใช้ทั้งหมดไม่มีทิ้งน้ำ รูปแบบหลักกำหนดให้มี ส.ส.ในสภา 500 คน และแบ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 250 คน ส.ส.แบบเขต 250 คน ใช้การเลือกตั้งครั้งเดียว กาใบเดียว หรือเรียกว่า ระบบเลือกตั้งแบบผสม (Mixed Electoral
Systems) คิดคะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อกับระบบเขตเอามารวมกัน เพื่อให้คะแนนบัญชีรายชื่อที่ประชาชนเลือกเป็นตัวแทน บ่งชี้ว่าพรรคนั้นควรจะมีที่นั่งในสภา เท่าไหร่
ทำให้เกิดการบังคับตายตัวว่าพรรคเสียงข้างมากจะไม่มีทางได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะอย่างไรรัฐบาลจะต้องเป็นรัฐบาลผสม ไม่ใช่รัฐบาลพรรคเดียว และยังเป็นการเปิดโอกาสในพรรคเล็กพรรคน้อยมีสิทธิได้รับเลือกเข้ามานั่งเป็น ส.ส.ในสภา และทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และมีการตรวจสอบและถ่วงดุลกันมากยิ่งขึ้น
ล่าสุดตัวแทนที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลเยอรมัน ทั้ง 9 คน ได้ออกเดินทางไปดูงานและสังเกตรูปแบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันชนิดติดขอบสนาม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม
แต่ไม่รู้ว่าการไปดูงานครั้งนี้จะได้นำกลับมาใช้หรือไม่ เพราะ กมธ.ยกร่างฯได้ออกแบบรูปแบบการเลือกตั้งเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นรูปแบบใหม่ ไม่มีที่ไหนมาก่อน เพราะเป็นการหยิบหลายรูปแบบในการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ มาปรับใช้ โดยตั้งชื่อว่าการเลือกตั้งแบบ 'โอเพ่นลิสต์'ที่เป็นการเลือกตั้งแบบไทยแลนด์โอนลี่
โดย กมธ.ยกร่างฯ กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 ระบุว่า วรรคแรกการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจัดทำขึ้น โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และอาจระบุด้วยว่าต้องการให้ผู้ใดที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นหนึ่งคนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯได้กำหนดเจตนารมณ์เพิ่มเติม เพื่อเป็นบันทึกความเข้าใจว่า การเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือเดิมจะเรียกว่าปาร์ตี้ลิสต์ ยังคงเป็นปาร์ตี้ลิสต์ แต่ถูกกำหนดให้เป็นปาร์ตี้ลิสต์แบบโอเพ่น หรือที่เรียกว่า "แบบโอเพ่นลิสต์" ที่ให้สิทธิประชาชนจัดอันดับผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อให้เข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ตามลำดับที่ประชาชนต้องการได้ ที่ประชุมได้กำหนดเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นภาคปฏิบัติ คือกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่จัดลำดับ หรือระบุให้ผู้ใดเป็น ส.ส. ถือว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นสละสิทธิการจัดลำดับ โดยไม่ถือว่าบัตรเลือกตั้งเป็นบัตรเสีย
แนวคิดดังกล่าวที่มีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้จัดรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อด้วยตัวเอง เพื่อปิดโอกาสไม่ให้พรรคการเมืองผลักดันนายทุนพรรคมาอยู่ในลำดับต้นๆ และได้นั่งเก้าอี้ ส.ส. และให้ประชาชนมีสิทธิเลือกเอง
แต่ก็ดูท่าว่าเรื่องนี้จะจบยาก เพราะในตัวอย่างบัตรเลือกตั้งแบบใหม่ มีช่องให้ระบุหมายเลขปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาแน่นอน เพราะการเขียนหมายเลขยากต่อการตีความเพราะลักษณะการเขียนของบุคคลแตกต่างกัน เพราะมีหลายตัวเลขมีลักษณะใกล้เคียงกัน และยังมีความเป็นกังวลว่าตัวเลขที่ต้องระบุนั้น ต้องเป็นเลขไทยหรือเลขอารบิก ถ้าเขียนตัวเลขผิดแบบจะถือเป็นบัตรเสียหรือไม่
และหากมีการกำหนดรูปแบบใหม่ไม่ใส่ตัวเลข บัตรเลือกตั้งจะต้องมีรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคอยู่ในนั้น จะยิ่งสร้างความสับสน งุนงงให้กับประชาชนโดยใช่เหตุ
อีกประการหนึ่ง ก่อนหน้านี้มีการกำหนดให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะต้องใช้เป็นรูปแบบอัตโนมัติ หรือใช้เครื่องในการเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อจะต้องเลือกแบบโอเพ่นลิสต์แล้วการเลือกอัตโนมัติจะเป็นอย่างไร จะไม่ยิ่งสร้างความสับสนไปกันใหญ่หรือ
ในมุมมองของอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.สิริพรรณ นกสวน ชี้ว่า ประเทศเยอรมนีเองไม่ได้มีเป้าหมายในการนำระบบการเลือกตั้งมาใช้เพื่อให้เกิดรัฐบาลผสม การจะมีรัฐบาลผสมหรือไม่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนเลือก เนื่องจากเมื่อประชาชนเลือกพรรคการเมืองใดได้คะแนนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ เป้าหมายหลักของประเทศเยอรมนีคือให้ผลการเลือกตั้งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการเลือกพรรคการเมืองเข้าสภา ถ้าประเทศไทยนำมาใช้จะต้องดูมาตรการอื่นๆ ที่ประกอบกัน ว่ามีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดรัฐบาลผสมได้หรือไม่ เพราะโดยระบบของเยอรมันขนานแท้นั้น ไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้องได้รัฐบาลผสม แต่การเลือกตั้งแบบเยอรมันพรรคการเมืองจะได้ ส.ส.ตรงตามที่ประชาชนเลือกพรรคนั้นเข้าไป นอกจากนี้ยังเป็นความพยายามผสม 2 ระบบที่คงไว้ซึ่งความสมดุลในการมี ส.ส.เขตและพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ทั้งยังมีเกณฑ์ขั้นต่ำป้องกันพรรคเล็กที่อาจมีนัยยะทางการเมือง
ขณะที่ข้อเสียนั้น ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนแต่ละประเทศมีพฤติกรรมในการเลือกตั้งอย่างไร เพราะระบบเลือกตั้งต้องสอดคล้องกับสถานการณ์และปัญหาทางการเมืองของแต่ละประเทศ ในสังคมไทยถ้าเอามาใช้แต่พรรคการเมืองยังไม่ได้เสนอโจทย์หรือนโยบายที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ประชาชนก็จะไม่มีทางเลือก จะถูกบังคับให้เลือกเพื่อป้องกันพรรคที่ตัวเองชอบน้อยกว่า
แต่ก็ต้องรอดูว่าเราจะนำมาปรับใช้อย่างไร จะมีระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง หรือไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำเลย ต้องเข้าใจว่าเราเอามาดัดแปลงเพื่อส่งเสริมให้มีพรรคการเมืองในสภาหลายพรรค ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะให้เกิดรัฐบาลผสม
อย่างไรก็ตาม ประเทศเยอรมนีไม่ได้นำระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิดมาใช้ การจะนำระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิดมาใช้จะส่งผลให้การแข่งขันในพรรคการเมืองสูงขึ้น ทำให้ผลการเลือกตั้งคล้าย ส.ส.แบบเขตมาก ดังนั้นการจะใช้ระบบนี้ต้องไม่มี ส.ส.เขต ซึ่งหลายประเทศจึงไม่เลือกใช้กัน เพราะเป็น 2 ระบบที่คล้ายกันเกินไป เช่นประเทศเยอรมนีที่เน้นให้พรรคการเมืองเข้มแข็งก็ใช้ระบบบัญชีรายชื่อแบบปิด ขณะที่ระบบ
บัญชีรายชื่อแบบเปิดจะเน้นให้ตัวบุคคลเข้มแข็ง ขณะเดียวกันการเน้นตัวบุคคลเข้มแข็งต่างมีอยู่แล้วกับ ส.ส.เขต ดังนั้นผลตามการจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง ระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิดมีประเทศอย่างอินโดนีเซียที่ใช้และอินโดนีเซียไม่มี ส.ส.เขต
อย่างที่ทิชา ณ นคร อดีต กมธ.ยกร่างฯ กล่าวไว้ว่า ใน กมธ.ยกร่างฯเหมือนห้องแล็บที่ กมธ.จะต้องคำนึงถึงลมฟ้าอากาศและสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่ว่ามีอะไร ก็ใส่ไปอย่างเดียว
สัญญาณจาก"โพล"
มติชนออนไลน์ : วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558 บทนำมติชน
ผลสำรวจของสวนดุสิตโพลเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ระบุว่าประชาชนมีความรู้สึกที่เปลี่ยนไป จากระยะแรกที่เกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 โดยโพลระบุว่าผลงานรัฐบาล ณ วันนี้ ที่ประชาชนมั่นใจ ได้แก่ อันดับ 1 ดูแลสถานการณ์บ้านเมือง ทำให้ไม่มีการชุมนุมประท้วง สร้างความวุ่นวาย 88.28% อันดับ 2 การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น 82.39% อันดับ 3 มีความตั้งใจในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 80.07% อันดับ 4 การจัดระเบียบสังคม 68.77% อันดับ 5 ช่วยเหลือเกษตรกร ชาวนา ชาวสวนยาง 66.18%
ในอีกหัวข้อ โพลได้เสนอผลการสำรวจในหัวข้อผลงานรัฐบาล ณ วันนี้ ที่ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจมีอะไรบ้าง? และพบว่าอันดับ 1 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สินค้าแพง ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน มีหนี้สิน 85.68% อันดับ 2 การร่างรัฐธรรมนูญและการจัดการเลือกตั้ง 74.95% อันดับ 3 การจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีบ้าน 71.30% อันดับ 4 การสร้างความปรองดอง การปฏิรูปการเมืองและนักการเมืองให้มีความโปร่งใส 65.12% และอันดับ 5 ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาต่างชาติ 62.67% และในภาพรวม ประชาชนมั่นใจรัฐบาลอยู่บ้าง 64.64% ที่มั่นใจมากมีเพียง 18.49%
โพลได้ชี้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ แม้ปราศจากความวุ่นวายทางการเมือง แต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ดำเนินการโดยรัฐบาลยังไม่สามารถเรียกความมั่นใจได้ มีตัวเลขไม่เชื่อมั่นที่สูงอย่างน่าเป็นห่วง เช่นเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญ จัดเลือกตั้ง การสร้างความปรองดองและปฏิรูปการเมือง รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ในสายตาต่างประเทศ ก็ไม่ทำให้เกิดความมั่นใจ แม้รัฐบาลมีความตั้งใจอย่างสูงและทุกฝ่ายยอมนิ่งเงียบ เปิดโอกาสให้รัฐบาลดำเนินการเต็มที่
อาจกล่าวได้ว่า หากพิจารณาจากโพลแล้วการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การยกร่างรัฐธรรมนูญ การเตรียมเลือกตั้ง การปฏิรูป การปรองดอง ฯลฯ แม้รัฐบาลมีความตั้งใจอย่างสูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามความตั้งใจ เพราะยังมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการอาทิ การที่ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้บรรยากาศของการรัฐประหาร ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางอนาคตของประเทศ ก็เป็นอุปสรรคในตัวเอง โพลสวนดุสิตจึงส่งสัญญาณเตือนว่า การบริหารงาน การคืนอำนาจ จะต้องมีกระบวนการอันเป็นที่ยอมรับ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาดังที่ปรากฏในโพลครั้งนี้