ส่อง'โพล'กมธ.ยกร่างฯ ชี้'นายกฯ-ส.ว.'ต้องเลือกตั้ง หนุนที่้มา'ส.ส.'2 รูปแบบ
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Wednesday, 11 March 2015 20:11
- Published: Wednesday, 11 March 2015 20:11
- Hits: 2909
ส่อง'โพล'กมธ.ยกร่างฯ ชี้'นายกฯ-ส.ว.'ต้องเลือกตั้ง หนุนที่้มา'ส.ส.'2 รูปแบบ
มติชนออนไลน์ :หมายเหตุ - กรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดบทเฉพาะกาล ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อต้องการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม รวมทั้งการที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะทำหน้าที่ต่ออีก 210 วัน หรือ 7 เดือน หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะอยู่ต่อจนถึงวันที่มี ส.ว. คือ 240 วัน หรือ 8 เดือน ต่อไปนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการต่อเรื่องดังกล่าว
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ถ้าร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จแล้วประกาศรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วคิดว่าสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือองค์กรที่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญควรจะเริ่มต้นใหม่ เช่น สนช.ควรต้องพ้นจากตำแหน่งไป ปล่อยให้ฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งได้เริ่มทำหน้าที่
เพราะฉะนั้นผมคิดว่า เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามที่จะต่ออำนาจ สืบทอดอำนาจ ต่ออายุออกไปไม่ว่าจะเป็นองค์กรใดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เกิดขึ้นชัดเจนไม่ว่าจะเป็นกรณีแม่น้ำทั้ง 5 สาย เป็นข้อเสนอที่เห็นได้ชัดมากว่ามีความพยายามในเรื่องสืบทอดอำนาจ
สิ่งที่สังคมไทยได้เห็นคือเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานให้คณะรัฐประหารให้ทำงานยืดยาวออกไป
การอ้างว่าดำรงตำแหน่งต่อเพื่อให้รัฐบาลใหม่สามารถดำเนินตามนโยบายที่วางไว้นั้น คิดว่านโยบายหรือผลงานที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารทำไว้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นบรรทัดฐานที่ต้องเดินตาม เอาเข้าจริงกฎหมายหรือนโยบายที่วางไว้ไม่ได้มีความชอบธรรมด้วยซ้ำ และไม่มีข้อกำหนดใดที่บอกให้รัฐบาลใหม่ต้องเดินตามข้อกำหนดแบบนั้น และผมมองว่าไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องเดินตาม
มีหลายครั้งที่ได้ยินการอ้างเหตุผลว่า ที่ต้องทำหน้าที่ต่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ระบุนั้น คำถามของผมคือ รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาจากไหน เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวเกิดขึ้นจากคณะรัฐประหารเขียนขึ้น โดยพื้นฐานการอ้างรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้มีความชอบธรรมในตัวมันเอง
ผมคิดว่ารัฐบาล คสช. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สปช. และ สนช. จะอยู่ในตำแหน่งก็อยากเตือนว่าการอยู่ในตำแหน่งคงต้องมีความชอบธรรมบางอย่างกำกับอยู่ ดังนั้นควรจะต้องตระหนักเองว่าตนเองไม่ได้มีความชอบธรรมใดที่จะอยู่ในตำแหน่งได้นาน รวมถึงการผ่านกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ จะไม่เป็นผลดีต่อสังคมไทยโดยรวม ผมคิดว่าจะยิ่งทำให้สังคมไทยลงไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นกว่าเดิม และอาจจะเกิดปัญหาระยะยาวมากขึ้นทั้งตัวรัฐธรรมนูญและตัวองค์กรที่จะมาสืบทอดอำนาจต่อ ในเชิงหลักการยังเป็นปัญหาด้วยว่า เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วยังมีองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่อยู่แล้ว องค์กรที่มาจากการเลือกตั้งจะทำงานอย่างไร จะสัมพันธ์กันอย่างไร น่าจะเป็นภาวะที่ยุ่งยาก
ผมคิดว่าเมื่อมีการประกาศรัฐธรรมนูญ องค์กรหรือสถาบันที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารควรพ้นจากตำแหน่งไป แล้วปล่อยให้การเมืองดำเนินต่อไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย
ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ต้องพูดกันตรงๆ ว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่ มีรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ฉบับชั่วคราว องค์กรที่อยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวทั้งหลายต้องหายไป องค์กรที่เคยมาจากวิธีพิเศษคือการแต่งตั้ง ทั้ง สนช. สปช. ผู้ทรงคุณวุฒิ ทุกอย่างไม่ควรอยู่เป็นภาระผูกพันกับรัฐบาลหน้าอันเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นหลักกฎหมายที่สากลที่สุด เหมือนกรณีที่รัฐบาลรักษาการไม่สามารถกู้เงินอะไรได้ เพราะจะเป็นภาระผูกพันให้กับรัฐบาลถัดไป
กรณีนี้เช่นเดียวกัน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศถูกตั้งด้วยรัฐบาลชั่วคราวทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลเรื่องการปฏิรูปหรืออะไรก็ตาม ไม่ควรเป็นภาระผูกพันไปถึงรัฐบาลหน้า
อย่างรัฐธรรมนูญ 2550 เราต้องยอมรับข้อหนึ่งว่าผ่านการทำประชามติ แม้จะเป็นประชามติที่ไม่มีอิสระอย่างแท้จริงก็ตาม แต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเรียกว่าฉบับ 2558 หรือ 2559 ดี เราไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วมเลย มีแต่กระบวนการสรรหาและการแต่งตั้งทั้งสิ้น ถ้าดูจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเรื่อง ส.ว. หรือสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ทุกอย่างมาจากการแต่งตั้งทั้งสิ้น ฉะนั้น ปัญหาของรัฐธรรมนูญจึงมีเพียงอย่างเดียว คือการแก้ไขที่กำหนดให้แก้โดยรัฐสภา แต่ปัญหาที่ทำให้เกิดวิกฤตคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับในการแก้ไขของรัฐสภา
หากเรานำสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมาให้คำปรึกษารัฐบาล ถามว่ารัฐบาลบริหารประเทศภายใต้ความรับผิดชอบต่อรัฐสภาอยู่แล้วในระบบรัฐสภา แล้วสถานะของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีเพื่ออะไร นอกจากให้คำปรึกษา ส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็น เพราะรัฐบาลต้องถูกตรวจสอบโดยรัฐสภาอยู่แล้ว ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือการถอดถอน มองว่าไม่มีความจำเป็นเลย ทั้งในแง่ที่มาและเนื้อหา
แง่ที่มาคือรัฐบาลชุดนี้ สนช. สปช. ไม่ควรสร้างภาระผูกพันให้รัฐบาลชุดหน้า แง่เนื้อหาคือไม่ควรมีเนื้อหาหรือองค์กรใดที่เป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีผลต่อรัฐบาลพลเรือนในภายภาคหน้า
ส่วนบทเฉพาะกาลที่ระบุให้ สปช.และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ถึงวันเปิดประชุมสภานั้น ถ้าเราพูดกันให้ถึงที่สุด อายุควรหมดวันที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ เพราะหมดภารกิจ หมดหน้าที่ ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่แล้ว ไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมเขียนให้อยู่ถึงวันเปิดประชุมสภาครั้งแรก สปช.ก็ไม่ควรอยู่ยาว ในเมื่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้นสอดคล้องกันหมด ทั้ง สปช. สนช. และ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ภารกิจของคุณตอนนี้คือร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างเสร็จ ประกาศใช้ ไม่ว่าประชาชนจะรับได้หรือไม่ นั่นคือเสร็จสิ้นหน้าที่แล้ว ไม่ควรมีตัวตนแล้วในระบบกฎหมาย
การเขียนในบทเฉพาะกาลเช่นนี้น่าจะมีวาระซ่อนเร้นบางอย่าง แต่ตอนนี้ยังตอบไม่ได้เพราะยังไม่เห็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ต้องอยู่จนถึงวันเปิดประชุมสภา ดูว่าพรรคไหนชนะการเลือกตั้งเข้ามา ส่วนการเลือกตั้งนั้นคงไม่เกิดในเร็ววันนี้ จะจัดหรือไม่ ตอนนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการหรือเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีคนเดียว อาจมีวันพรุ่งนี้ หรืออีก 3 ปีข้างหน้า เราตอบไม่ได้
สุดท้ายแล้ว การให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยังอยู่ น่าจะเพื่อดูว่ารัฐบาลใหม่ที่ชนะการเลือกตั้งเป็นพวกไหน เพราะจะมีผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องดูแนวคิดของ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ง่ายหรือยาก
ถ้าเราดูเนื้อหา สิ่งที่เราเขียนกันมามันแก้ไม่ได้ ตราบใดที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีการปฏิรูป อย่างรัฐธรรมนูญ 2550 เขียนไว้เลยว่า สภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สุดท้ายไปตกที่ศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ต่อให้เขียนว่าแก้ไขได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นแบบปัจจุบัน เราก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นวิกฤตที่เรียกว่า "ตุลาการภิวัฒน์" จริงๆ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นชุดเดิม