ภาษี ที่ดิน จากยุค ชวน หลีกภัย ถึง 'ประยุทธ์'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Wednesday, 11 March 2015 20:07
- Published: Wednesday, 11 March 2015 20:07
- Hits: 3130
วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
ภาษี ที่ดิน จากยุค ชวน หลีกภัย ถึง 'ประยุทธ์'
เสียง “เตือน” ในเรื่องการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อันมาจาก นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล เป็นเสียงเตือนอันทรงความหมาย
อย่ามองเพียงเขาเป็นเจ้าของโรงแรมขนาดใหญ่ที่กระบี่
ขอให้มองว่า ก่อนเข้ามามีบทบาททางการเมืองผ่านพรรคประชาธิปัตย์เขาเคยเป็นนักธุรกิจและมีตำแหน่งเป็นถึงประธานหอการค้าภาคใต้
และที่สำคัญเคยเป็นรัฐมนตรีอยู่ในกระทรวงการคลัง
ทั้งยังเป็นรัฐมนตรีอันได้รับความไว้วางใจจากรัฐมนตรีว่าการอันเป็นเจ้ากระทรวงให้ดูแลและรับผิดชอบงานอันเกี่ยวกับ “กรมภาษี”
ทั้งยังอยู่ในสถานการณ์วิกฤตที่เรียกว่า “ต้มยำกุ้ง”
สถานภาพของ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ตรงนี้แหละที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมควรให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษ
การเตือนของเขาเท่ากับรั้งบังเหียนม้ามิให้ตกเหว
............................................
สถานการณ์วิกฤตอย่างที่เรียกว่า “ต้มยำกุ้ง” จากรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในปี 2540 ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ในปี 2541 นั้นสำคัญ
สำคัญเพราะประเทศเกือบอยู่ในภาวะ “ล้มละลาย”
1 ต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นจำนวนมหึมา 1 มีความจำเป็นต้องหาเงินเพื่อชดใช้หนี้สินและบริหารประเทศ
กระทรวงการคลังต้องหากระบวนการต่างๆ มาใช้เพื่อสร้างรายได้
กระบวนการ 1 ที่ได้รับการเสนอขึ้นมาให้ผู้บริหารกระทรวงในขณะนั้นนำไปใช้คือ การปรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ให้กับ “กรมภาษี” อย่างมหาศาล พลิกฟื้นสถานะทางการคลังของประเทศอย่างฉับพลัน
แต่ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ไม่เออออไปด้วย
..............................................
ไม่เออออเพราะว่าจากกระบวนการนี้จะส่งผลสะเทือนให้กับผู้ประกอบการและประชาชนอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง
แทนที่จะเป็น “ผลได้” กลับจะกลายเป็น “ผลเสีย”
คนซึ่งเป็นเศรษฐีมีเงินไม่เดือดร้อนหรอก เพราะมีเงินและสามารถผลักภาระให้กับคนอื่นได้ แต่คนชั้นกลางโดยทั่วไปต่างหากที่จะเดือดร้อนแสนสาหัส
รัฐบาล นายชวน หลีกภัย จึงไม่เดินหน้าใน “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”
เพราะรัฐบาล นายชวน หลีกภัย มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมร้อนหนาวในความเดือดร้อนและความลำบากของประชาชนเป็นอย่างดี
รัฐบาล “รัฐประหาร” อาจไม่คิด เพราะไม่ได้มาจาก “ประชาชน”
..............................................
อย่าลืมเป็นอันขาดว่ารากฐานการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาจากอะไร
1 มาจากคนชั้นสูงในเมืองใหญ่ 1 มาจากคนชั้นกลางอันเป็นฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งรวมตัวกันเป็นกปปส.ภายใต้การนำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
นี่คือเสียงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิอาจเพิกเฉยและมองข้าม
ภาษีบ้าน-ที่ดิน
บทนำมติชน กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการนิติบัญญัติ ในการผลักดันออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป แต่ด้วยความที่เป็นกฎหมายใหม่ ขาดกระบวนการชี้แจงอย่างเป็นระบบให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ส่งผลให้ประชาชนตื่นตกใจ ทั้งนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสาระสำคัญ จะมีภาระเพิ่มขึ้น ต้องเสียภาษีบ้านและที่ดินที่อยู่อาศัยตามอัตราที่กฎหมายกำหนดต่างจากปัจจุบัน แม้กฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ และกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินมีผลบังคับใช้ แต่ในทางปฏิบัติ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นได้ยกเว้น ไม่จัดเก็บภาษีบ้านที่อยู่อาศัย รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปกฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯเป็นอีกฉบับที่อยู่ในแผนการผลักดัน บรรจุอยู่ในหมวดภาษีทรัพย์สิน ที่รัฐเห็นว่าควรจัดเก็บเหมือนกับต่างประเทศ อีกฉบับคือภาษีการรับมรดกที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติรับหลักการแล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ กฎหมายใหม่ 2 ฉบับนี้มีเจตนารมณ์จัดเก็บภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดภาระรัฐในการจัดสรรงบประมาณพัฒนาท้องถิ่น รัฐบาลหลายชุดพยายามผลักดันเรื่องนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีเสียงคัดค้านมาก รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการจนเป็นรูปเป็นร่าง แต่โดยที่ขาดการยึดโยง ไม่มีผู้แทนเป็นสะพานเชื่อม ชี้แจงข้อดีข้อเสีย สะท้อนปัญหาผลกระทบ ประชาชนจึงตื่นตกใจเนื่องจากได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันล่าสุด ไม่ล้มเลิกการผลักดันกฎหมายภาษีบ้านและที่ดิน พร้อมกับตั้งคำถาม หากไม่เก็บภาษี รัฐบาลจะนำเงินจากไหนมาพัฒนาประเทศ แสดงว่ารัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นประการต่างๆ ที่ต้องผลักดันเรื่องนี้ต่อไป แนวคิดเก็บภาษีทรัพย์สินเป็นผลมาจากการผลการศึกษาที่ระบุว่ามีข้อดีมากกว่าเสีย โดยเฉพาะช่วยสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เมื่อรัฐบาลยืนยันเดินหน้าต่อ สิ่งจำเป็นยิ่งคือการประชาสัมพันธ์เป็นระบบอย่างสม่ำเสมอในทุกขั้นตอน ให้ประชาชนเข้าใจหลักเกณฑ์ อัตราจัดเก็บ ข้อยกเว้น รวมถึงเงื่อนเวลาการบังคับใช้ที่ถูกต้อง เพื่อให้เตรียมพร้อมรับภาระ ทุกครั้งที่มีข้อสงสัยเกิดขึ้น ต้องรีบตอบคำถามให้กระจ่าง หายสงสัย ป้องกันความเข้าใจผิดตัวเลขจัดเก็บและเรื่องต่างๆ ที่อาจพึงมีได้ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายดำเนินไปอย่างราบรื่น บ้านเป็นปัจจัยสี่ การจัดเก็บภาษีสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องละเอียดอ่อน รัฐต้องรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ชี้แจงทำความเข้าใจอย่างระมัดระวัง |