สถานการณ์ เพื่อไทย สถานการณ์ หลังรัฐประหาร รอคอย'การเลือกตั้ง'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Saturday, 07 March 2015 13:08
- Published: Saturday, 07 March 2015 13:08
- Hits: 2850
วันที่ 07 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
สถานการณ์ เพื่อไทย สถานการณ์ หลังรัฐประหาร รอคอย'การเลือกตั้ง'
ทั้งๆ ที่กระบวนท่า 'ไม่ต่อต้าน ไม่แข็งขืน'ต่อคสช.และต่อรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและนปช.คนเสื้อแดงสร้างความหงุดหงิดให้เป็นอย่างมากกับแนวร่วม
โดยเฉพาะแนวร่วมที่เป็นปัญญาชนเป็นนักวิชาการ
แต่เหตุใดยิ่งนานวันเข้าพรรคเพื่อไทยและนปช.คนเสื้อแดง ยิ่งสงบนิ่งอยู่ในที่ตั้งไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ในทางการเมือง
แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะถูกไล่ต้อนอย่างหนักหนาสาหัส
แม้การคิดบัญชีต่อนักการเมืองของพรรคเพื่อไทย ของนปช.คนเสื้อแดงจะมีเป้าหมายเพื่อตัดสิทธิ์มิให้มีพื้นที่ในทางการเมือง
แต่พรรคเพื่อไทยนปช.คนเสื้อแดงก็ยังนิ่งสนิท
เป็นการนิ่งสนิทเหมือนกับยอมรับต่อการรัฐประหาร เป็นการนิ่งสนิทเหมือนกับยอมจำนนต่อกฎอัยการศึก
ตั้งท่ารอคอย “การเลือกตั้ง” สถานเดียว
...............................................
อาการนิ่งสนิทของพรรคเพื่อไทยและของนปช.คนเสื้อแดงอาจมีผลดี“บ้าง” ในทางการเมืองจากเหตุอื้อฉาวต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นราวระลอกคลื่น
เรื่องสภา “ครอบครัว” อันเห็นได้จาก “สนช.”
ก็กลายเป็นว่าบรรดา “คนดี” ทั้งหลายอย่างเช่น นายตวง อันทะไชย อย่าง นายสมชาย แสวงการ กระทำขึ้นเอง
มิใช่การขุดคุ้ยของพรรคเพื่อไทยหรือของนปช.คนเสื้อแดง
ข่าวลือข่าวปล่อยต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการลี้ภัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็นกระบวนการเต้าข่าวของปรปักษ์ทางการเมือง โดยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังเดินเหินไปกินก๋วยเตี๋ยว พบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเป็นปกติ
พรรคเพื่อไทย นปช.คนเสื้อแดง ปลอดจากการเคลื่อนไหวสิ้นเชิง
.............................................
หากศึกษาความมั่นใจของพรรคเพื่อไทยก็จะค่อยๆสัมผัสได้จากความจัดเจนในการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน
เลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 ก็ได้ชัยชนะถล่มทลาย
ทั้งๆ ที่พรรคไทยรักไทยไม่ได้เป็นผู้มีส่วนในการกำหนดกติกาผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จากนั้นก็ต่อยอดเป็นชัยชนะในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548
เลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนก็ชนะ
แม้กระทั่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยอันเป็นอวตารของพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทยก็ชนะพรรคประชาธิปัตย์
พรรคเพื่อไทยจึงรอ“การเลือกตั้ง” ด้วยความมั่นใจ
...............................................
รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 เป็นเรื่องของ “คสช.” ดำเนินไปแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
คล้ายกับว่าพรรคเพื่อไทยและนปช.คนเสื้อแดงจะอาศัยสถานการณ์ที่ถูกกระทำ ถูกรุกไล่ ทางการเมืองจากรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 มาเป็นผลด้านกลับ
พลิกสถานการณ์โดยการเลือกตั้งในปี 2559 อีกครั้ง
ความกล้าหาญ
วันที่ 07 มีนาคม พ.ศ. 2558 บทนำมติชน
มีคำกล่าวทำนองว่า ผู้ใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อผลประโยชน์ของผู้นั้น ดังนั้นในระบบอันเป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไป ผู้เขียนกฎหมาย หรือฝ่ายนิติบัญญัติ จึงต้องมาจากประชาชน เพื่อที่กฎหมายจะได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ แต่ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการแต่งตั้ง ผู้เขียนกฎหมายเป็นตัวแทนกลุ่มอำนาจ กลุ่มผลประโยชน์ ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า แม้จะแอบอ้างผลประโยชน์ของประชาชน ด้วยเหตุผลถ้อยคำสวยหรู แต่ผู้ได้ประโยชน์ก็ย่อมเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังนั่นเอง
อีกประเด็นใหม่ที่น่าสนใจจากการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ข้อเสนอจากกรรมาธิการบางคน ให้กำหนดในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ของ คสช. หรือแม่น้ำ 5 สายของ คสช. งดเว้นหรือเว้นวรรค การเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองหลังใช้รัฐธรรมนูญเป็นเวลา 2 ปี เพื่อแสดงถึงจริยธรรม ความโปร่งใส ความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่หาประโยชน์จากรัฐธรรมนูญที่ตนเองร่างขึ้นในแบบชงเองกินเอง
ข้อเสนอดังกล่าวเป็นหลักการที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะในเมื่อผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากระบบคัดเลือกโดยประชาชน และอ้างเสมอว่าต้องการทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อให้การเมืองไทยสะอาด โปร่งใส เป็นการเมืองที่พลเมืองเป็นใหญ่ การเสียสละไม่เข้ารับตำแหน่งใดๆ ในระยะหนึ่ง ที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้ จะช่วยลดข้อครหาได้มาก
แต่หลักการที่ดีอาจไม่เป็นที่ต้องการในบางสถานการณ์ ผู้เสนอให้มีบทเฉพาะกาลเองยังกล่าวอย่างไม่แน่ใจว่าบทเฉพาะกาลดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบของกรรมาธิการหรือไม่ ประกอบกับมีคำกล่าวอยู่ทั่วไปว่า ลงเรือแป๊ะก็ต้องตามใจแป๊ะ เป็นภาษาสัญลักษณ์ที่เข้าใจได้ง่ายๆ ดังนั้น ความเป็นไปได้ของบทเฉพาะกาลนี้ จึงอยู่ที่ ?แป๊ะ? หาก คสช.เห็นว่า บทเฉพาะกาลไม่เป็นประโยชน์กับการผลักดันการเมืองตามแนวทางของ คสช. ก็ย่อมจะไม่เห็นด้วยกับบทเฉพาะกาลดังกล่าว อย่างไรก็ตามถ้ากรรมาธิการหรือผู้เกี่ยวข้องเห็นว่า บทเฉพาะกาลนี้เป็นประโยชน์กับสังคและประเทศชาติ น่าจะแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม ผลักดันให้ปรากฏเป็นจริงให้ได้