WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

นักวิชาการชี้บรรทัดฐาน จริยธรรม'สภาผัวเมีย'

นักวิชาการชี้บรรทัดฐาน จริยธรรม'สภาผัวเมีย'

  



พนัส ทัศนียานนท์-อัษฎางค์ ปาณิกบุตร-ไชยันต์ รัชชกูล

หมายเหตุ - กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนหนึ่ง ได้แต่งตั้งคนใกล้ชิด ภริยา บุตรและเครือญาติเข้ามาช่วยงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ผู้ชำนาญการและผู้ช่วยดำเนินงาน โดยมีเงินเดือน 24,000 บาท 20,000 บาท และ 15,000 บาท ตามลำดับ ทำให้เกิดข้อวิจารณ์มากมายเกี่ยวกับความเหมาะสมและจริยธรรม แม้จะไม่มีระเบียบห้ามไว้ก็ตาม ต่อไปนี้เป็นข้อคิดเห็นของนักวิชาการ ในกรณีที่เกิดขึ้นควรกำหนดเป็นบรรทัดฐานหรือข้อระเบียบที่ชัดเจนหรือยังคงใช้หลักของจริยธรรมเป็นตัวพิจารณา

พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กรณีนี้เป็นเรื่องของจริยธรรมอย่างชัดเจนอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เรื่องนี้ใครก็รู้อยู่แล้วว่า หากทำแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรและสร้างความรู้สึกคลางแคลงใจแก่ประชาชน แต่เหตุที่ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำมาตั้งแต่อดีต ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงหลักจริยธรรมเมื่อคนเราละเมิดแล้ว ฝ่าฝืนแล้ว ก็มักจะอ้างอย่างที่อ้างกันอยู่ทุกวันนี้ มักจะอ้างว่าไม่มีกฎหมายห้าม เป็นสิ่งที่แสดงว่าหลักศีลธรรม จริยธรรม ในบ้านเมืองนี้ ในประเทศนี้มันไม่ได้เป็นเรื่องที่ยึดถือกันจริงจังแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามเท่านั้นแต่พอเป็นเรื่องของตัวเอง เรื่องของผลประโยชน์พรรคพวกของตัวเองกลับทำเสียเอง 

กลายเป็นเรื่องสองมาตรฐาน หากคนอื่นทำจะถือว่าเขาทำผิด แต่ตัวเองที่นำญาติพี่น้อง ภรรยา สามี หรือ ลูก เข้ามารับเงินเดือนโดยอ้างว่าเข้ามาช่วยทำงาน แต่เรื่องจริงไม่ได้ตั้งเพื่อเข้ามาช่วยงานอะไรมากมาย ตั้งเพื่อที่จะกินเงินเดือนให้ครบโควต้าตามตำแหน่งที่ได้รับมาแค่นั้น เพราะมีหลายตำแหน่งทั้งที่ปรึกษา ทั้งผู้ชำนาญ ผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น 

เพราะฉะนั้นหากอยากให้หลักจริยธรรม ศีลธรรม มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น และเป็นเรื่องที่ยึดถือปฏิบัติทุกฝ่าย ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น สนช. สปช. หรือ ส.ส. ส.ว. ในอนาคต ก็ต้องออกเป็นกฎมาให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้อ้างได้ แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตอนนี้จะไม่มีกฎข้อบังคับ ถามใจทุกคนดู ทุกคนก็ต้องรู้ว่าการแต่งตั้งลักษณะนี้ย่อมทำให้ภาพลักษณ์ดูไม่ดี เชื่อเลยว่าทุกคนต้องรู้สึกอย่างนั้น แต่ครั้งนี้เป็นเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวก็อ้างว่าไม่มีข้อห้าม ไม่มีระเบียบข้อบังคับ ทั้งที่ก่อนหน้านี้กลัวว่าจะมีสภาผัวเมีย แสดงให้เห็นว่าหลักจริยธรรมนี้มันอ่อนแอ ใช้ได้กับคนบางกลุ่มบางพวก

ดังนั้น หากอยากจะให้สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ทำให้เป็นกฎที่แน่นอน ชัดเจน ทำออกมาเลย ไม่ต้องใช้หลักจริยธรรมเป็นหลักกฎหมายไปเลย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการ "คอร์รัปชั่น" อย่างหนึ่ง การทำกฎออกมาก็ทำเหมือนที่กำหนดคุณสมบัติ เช่น หากเป็น ส.ส. ก็ห้ามมีสามีหรือภรรยาเป็น ส.ว. ก็ตั้งไปว่าห้ามไม่ให้แต่งตั้งคู่สมรส ญาติพี่น้อง หรือ บุตร-ธิดา ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย เป็นต้น

สุดท้ายแล้วเรื่องทั้งหมดเกิดจากการ "ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง" ผมเชื่อว่าไม่ใช่ สนช.หมดทุกท่าน แต่เชื่อว่ามี สนช.ที่เคยโจมตีเรื่องสภาผัว สภาเมีย อยู่ในนั้นด้วย เรื่องนี้ความจริงแล้วอาจจะต้องพิจารณาทบทวนถึงขั้นว่า ควรจะมีโควต้าหรือตำแหน่งเหล่านี้ให้หรือไม่เสียด้วยซ้ำ เรื่องผู้ช่วยเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการทำหน้าที่ 

แต่ถ้าจะให้มีผู้ช่วยก็ควรจะต้องบรรจุเข้ามาเป็นข้าราชการของรัฐสภา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ใช่ให้งบให้โควต้ามาแล้วไปตั้งเอาเองก็จะเกิดเรื่องลักษณะนี้อีกเพราะหลักศีลธรรมจริยธรรมของเราไม่เข้มแข็ง

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

บรรทัดฐานเขาคือพวกใครพวกมัน ถึงไม่ได้เป็นเขาก็ตั้งอีก ต้องมีอยู่แล้วถ้า ส.ว.มาจากการสรรหาพวกนี้ก็ต้องเข้าไปส่วนหนึ่ง ใครเส้นดีก็ต้องได้เข้ามากกว่าคนเส้นไม่ดี ไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องประกันได้ว่าพวกนี้จะเป็นคนดี เขามองดูว่าเมื่อเป็นผลประโยชน์ของเขา เขาก็ยืนยันว่าไม่ผิดกฎหมาย ก็ใช่ ผิดกฎหมายก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว คนที่มาพูดว่าไม่ผิดกฎหมายนั่นหน้าตาค่อนข้างแย่หน่อย คือไม่อายสังคมเลย 

เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสก็คงตั้งอีก อย่าไปคิดอะไรมาก บ้านเราหนีไม่พ้นระบบอุปถัมภ์ ทีนี้หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนที่เข้าไปกินเงินเดือนภาษีเรานั้นทำงานไม่เป็นหรือไม่เก่ง เขาไม่กล้าเปิดการสรรหาว่า เราอยากได้ที่ปรึกษาดีๆ ก็ต้องคนเก่งรอบด้าน ไม่มีการประกาศรับสมัครสรรหา มีกรรมการที่เป็น

กลางหรือให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมาคัดเลือก

คุณธรรม จริยธรรมเป็นนามธรรม ข้อบังคับของ ส.ส. ส.ว.ก็มี มีกรรมาธิการคุณธรรมจริยธรรมประจำสภาด้วยซ้ำไป ก็ไม่เห็นทำอะไรได้เลย ก็เหมือนเดิม ตั้งพวกเดียวกันหมดเพื่อให้ได้ตังค์ บางทีในกลุ่มเดียวกันเองทะเลาะกันเองได้บ้างไม่ได้บ้าง ไปเช็กดูในสภาสายที่ไม่ได้ก็มี 

จริงๆ แล้ว ต้องลดจำนวนลงและเป็นคนเก่งจริงๆ มีการประเมิน เขาก็ไม่ให้ คงทำอย่างนั้นลำบาก จริงๆ แล้วถ้ามีระบบการคัดเลือก เช่นมีการสอบผู้ช่วย ส.ส. ส.ว. เขาก็อ้างว่าสอบไม่ได้ เพราะต้องการคนที่ใกล้ชิดเขา หนีไม่พ้นหรอก หาคนที่มีคุณธรรมจริยธรรมยาก ดีที่สุดคือเอามาเปิดโปงบ่อยๆ ให้อาย ไม่รู้เขาจะอายหรือเปล่า

ไชยันต์ รัชชกูล

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ลองเปรียบเทียบว่า แม้กระทั่งบริษัทกิจการที่เป็นของเอกชนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด 

ยังพยายามที่จะไม่ให้เอาคนในครอบครัวเข้ามาทำ ถึงแม้จะทำอยู่บ้างแต่พยายามที่จะไม่เอา นี้เราต้องเข้าใจถึงประเด็นที่เป็น Public Organization คือ องค์กรสาธารณะที่มีระบบ Bureaucracy หรือระบบองค์กรขนาดใหญ่ มีกฎมีเกณฑ์ที่ต่างไปจากองค์การทางสังคม หรือทางเครือญาติ 2 อันนี้ต้องแยกกัน แสดงว่ารัฐไทยสมัยใหม่ไม่ได้ห่างออกไปจากความเป็นองค์กรหมู่บ้านสมัยดั้งเดิมหรือตอนนี้ทำเหมือนกับว่าเอากรณียกเว้นมาเป็นกรณีทั่วไป แล้วความจริงเป็นเรื่องผิดกฎหมายผิดจรรยาบรรณ เพราะมีกฎหมายระบุไว้เลยว่าคนที่มีตำแหน่งทางสาธารณะก็ยังต้องระมัดระวังว่ามิให้ลูกเมียมีอำนาจเหมือนตนเองด้วย ยกตัวอย่าง คนที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการแล้วคนที่มาติดต่อภรรยาหรือลูกเขายังห้ามไว้เลย อย่าว่าแต่จะมาเป็นเลย แล้วการที่จะบอกว่าไม่ผิดกฎหมาย ความจริงกฎหมายเป็นเพียงมาตรฐานขั้นพื้นฐานเท่านั้นเอง เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ เช่น เราพูดจาหยาบคายไม่ได้ไปกระทบใครก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่เราควรทำไหม ในทางศาสนาเขาก็สอน เราคิดในใจ คิดอกุศลจิตก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่ว่าศาสนาพุทธก็สอนอยู่ว่าไม่ควรมีจิตใจหยาบคาย มีวาจาหยาบคาย ฉะนั้นการที่อ้างว่าไม่ผิดกฎหมาย อ้างเหมือนคนแถไป

ความจริงเราต้องเข้าใจกันก่อนว่าความหมายของ Bureaucracy คืออะไร เป็น Public Office เป็นเงินของราชการ เราต้องรู้ว่าเอาเงินภาษีของราษฎรไปใช้ประโยชน์สูงสุด คุณแน่ใจได้อย่างไรว่าการที่เอาเงินภาษีของราษฎรไปให้ลูกเมียคุณนั้นเป็นประโยชน์สูงสุดขององค์กรแล้ว ยกตัวอย่าง อาจารย์มีเงินทุนวิจัย เขายังไม่เอาลูกเมียเขามาเป็นผู้ช่วยนักวิจัยเลย ขนาดว่ามีสิทธิเต็มที่ มากกว่าตำแหน่งที่ปรึกษา สนช.เสียอีก ยังไม่ทำกันเลยในมหาวิทยาลัย 

ควรจะมีการสอบคัดเลือก เลือกสรร เหมือนกับระบบราชการทั่วไป แต่พวกนี้ก็เลี่ยงบาลีไปเรื่อย ไม่ได้บอกว่า ส.ส.ทำถูก แต่พวกนี้ก็ทำไม่ถูกเหมือนกัน คล้ายว่าเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง อ้างไปเรื่อย 

ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดความละอายที่มนุษย์ควรจะพึงมี

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!