WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'นักวิชาการ'ส่อง 4 ข้อ ทิศทาง 'ร่างรธน.ใหม่'

'นักวิชาการ'ส่อง 4 ข้อ ทิศทาง 'ร่างรธน.ใหม่'


วิโรจน์ อาลี - จรัญ มะลูลีม

 


ยุทธพร อิสรชัย - ธนพร ศรียากูล

     มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - นักวิชาการให้ความเห็นกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอแนวทาง 4 ข้อ ที่เป็นภาพทิศทางร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วย 1.สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ (เพิ่มการมีส่วนร่วม) 2.การเมืองใสสะอาดและสมดุล (ป้องกันทุจริต/ให้มีความสมดุล) 3.หนุนสังคมที่เป็นธรรม (ปฏิรูป) 4.นำชาติสู่สันติสุข (ปรองดอง)

วิโรจน์ อาลี

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อ 1 สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ในเชิงหลักการถูกต้องที่สุด ในแง่กลไก ดูเหมือนจะไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงเท่าไร การให้ประชาชนไปตั้งสมัชชา เปลี่ยนจากราษฎรเป็นพลเมือง จริงๆ แล้วกลับกันเลย ทำให้พลเมืองกลับไปเป็นราษฎรมากกว่า 

ตามหลักการประชาธิปไตย คือจะทำอย่างไรที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางตรงในทางการเมืองมากที่สุด ไม่ใช่ตั้งองค์กรทำหน้าที่แทนประชาชน พยายามให้อำนาจกับระบบราชการเข้ามาจัดการมากกว่า มีกับดักตัวนี้เต็มไปหมดเลย แม้เชิงหลักการจะดูดี แต่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงเลย

วิธีคิดของระบอบประชาธิปไตย คือทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนมีต้นทุนเข้ามาเล่นการเมืองเองได้น้อยที่สุด รอบนี้ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นสำหรับประชาชนเลย เราจะเปลี่ยนจากพลเมืองที่เดิมมีอยู่และถูกทำลายไปกับการปฏิวัติ ให้กลับกลายไปเป็นราษฎรมากกว่า ในแง่ปฏิบัติที่จะออกมาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้สวนทางกับสิ่งที่พูดหมด

ข้อ 2 การเมืองใสสะอาดและสมดุล ระบบสัดส่วนผสมเปิดโอกาสให้พรรคเล็กๆ มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เรื่องอื่นๆ สมดุลแค่ไหน สร้างสมัชชาคุณธรรมขึ้นมา เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อจะชี้ว่าใครดีใครไม่ดีเท่านั้นเอง วิธีการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นคือการออกแบบกฎหมายให้รัดกุม ควรลดการใช้ดุลพินิจ ลดการตีความ มีกระบวนการที่ประชาชนเข้าไปตรวจสอบเรื่องคอร์รัปชั่น

วิธีคิดเรื่องสมดุล จะสมดุลอย่างไร จะเอาคนดีไปสมดุลกับประชาชนเหรอ หรือเอาระบอบเผด็จการไปสมดุลกับประชาธิปไตยไหม ถามว่าคนชายขอบเท่านั้นเหรอที่จะรู้เรื่องคนชายขอบ คนทั้งประเทศไม่สามารถคิดปัญหาที่เป็นส่วนรวมได้เหรอ จริงเหรอที่คนส่วนมากไม่เห็นปัญหาคนชายขอบ

ข้อ 3 หนุนสังคมที่เป็นธรรม ถ้าทำได้ก็ดี ฟังดูดี แต่ต้องดูเรื่องรายละเอียดว่าคุณรับฟังเสียงคนข้างมากจริงไหม ถ้ากระบวนการเปิดช่องก็จะเป็นไปอย่างยุติธรรม แต่ถ้าไปให้น้ำหนักสมดุลอย่างที่ว่าก็จะทำให้เสียงที่มีในสังคมถูกกดทับไปเรื่อยๆ สังคมที่ต้องการทำให้เกิดความเป็นธรรมก็อาจไม่เกิด 

เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ จะไปโยงกับเรื่องวินัยการคลัง ปัญหาคือนโยบายบางอย่างที่ถูกตีว่าเป็นประชานิยมแล้วไม่ควรเอามาใช้ จะลดความเหลื่อมล้ำ ใครเป็นคนตัดสินว่าเหลื่อมล้ำ ถ้าไม่ใช่ตัวแทนของเขา ถ้าคุณบอกว่าตัวแทนของเขาเป็นประชานิยมแล้วเอาใครไม่รู้มาตัดสินว่านโยบายแบบไหนดีหรือไม่ดี ก็จะมีปัญหาว่าอาจเป็นการเอาอคติของคนกลุ่มน้อยมาใช้ แล้วไม่สามารถแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้

ทำอย่างไรที่จะทำให้ระบบที่มาตามกรอบความคิดนี้สามารถที่จะฟังเสียงของประชาชนแล้วนำไปสู่ข้อสรุปเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์สูงสุด 

ข้อ 4 นำชาติสู่สันติสุข (ปรองดอง) ตอนแรกรัฐบาลทำทุกอย่างให้นิ่ง มีความหวังว่าถ้านำทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุยกันจริงจัง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่สุดท้ายทุกคนบอกว่าไม่เกี่ยว ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ลอยตัวหมด แล้วบอกว่าฝั่งประชาชนอีกฝั่งหนึ่งไม่ยอมปรองดอง 

ฉะนั้นวิธีการปรองดองต้องนำทุกคนมานั่งคุยกัน ที่ผ่านมากระบวนการปรองดองควรทำกรอบแล้วสะท้อนไปสู่การปฏิรูปการเมืองหรือการเขียนรัฐธรรมนูญ เมื่อกระบวนนั้นไม่เกิดขึ้นแล้วจะคาดหวังว่าปรองดองได้ไหม ก็คงยากมาก

ถ้าดูภาพรวม เห็นด้วยในเชิงหลักการ ทุกอย่างที่พูดใช่หมด แต่ในแง่ปฏิบัติการทุกอย่างสวนทางไปซะหมดเลย หลักการ 4 ข้อในรายละเอียดที่ผ่านมา สิ่งที่พูดมากับสิ่งที่พวกคุณทำกันเองไม่ได้สอดคล้องสักอย่าง

จรัญ มะลูลีม

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถ้าทำได้ก็ยูโทเปียเลยนะ ความคิดที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นความคิดที่ดีเสมอ เพราะประชาชนคือผู้ที่มีส่วนร่วมสำคัญของประเทศอยู่แล้ว ในส่วนของนักการเมืองนั้น อยากให้เผื่อไว้สักนิดว่า นักการเมืองทุกคนไม่ใช่ว่าจะมีความเลวร้าย หรือต้องมองไปในทางที่ว่าเขาเหล่านั้นเข้ามากอบโกยแต่เพียงอย่างเดียว 

อดีตที่ผ่านมานั้น ก็มีนักการเมืองน้ำดีมากมายที่สร้างคุณูปการแก่ประเทศมาก่อน ดังนั้น การตรวจสอบนักการเมืองก็ไม่ควรตั้งกฎเกณฑ์จนถึงขั้นที่ว่าทำให้การดำเนินงานด้านการเมืองแทบจะกระดิกตัวไม่ได้เลย โอกาสที่พวกเขาจะได้ทำอะไรให้ประชาชนอาจเต็มไปด้วยความระแวงสงสัย 

แม้ว่าในอดีตจะมีนักการเมืองที่สร้างความเลวร้ายมาแล้วก็ตาม แต่อยากจะให้มองนักการเมืองในแง่ดีด้วย เพราะเราก็ผ่านประชาธิปไตยมานาน เราได้เห็นรัฐมนตรี ได้เห็นนักการเมืองที่ช่วยกันทำให้ประเทศมีความมั่นคงต่อระบอบประชาธิปไตยมามากต่อมากแล้วเช่นเดียวกัน 

ส่วนคุณธรรมต่างๆ หรือการให้อำนาจประชาชนนั้นเป็นเรื่องดี แต่ต้องให้สมดุลที่ดีระหว่างการเมืองกับประชาชน เพราะว่าประชาชนเป็นผู้ที่เลือกนักการเมืองของพวกเขาเข้ามา พวกเขาย่อมมีวิจารณญาณเช่นกัน และเลิกดูถูกประชาชนว่าเป็นผู้ไม่รู้จักการเมืองหรือว่าไม่รู้จักใช้สิทธิของตัวเอง เพราะเหตุการณ์ต่างๆ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้คนเข้าใจว่าการมีส่วนร่วมคืออะไร 

ในแง่ความปรองดอง ไม่ใช่ปรองดองแค่คนในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น แต่ต้องขยาย ครอบคลุม ที่เราเห็นอยู่นี้ก็มีหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่า ข้อเสนอว่าด้วยการปรองดองนั้นดูเหมือนจะปรองดองกับคนกลุ่มเดียวกันมากกว่า ถ้าขยายไปได้จะเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง

ยุทธพร อิสรชัย

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การกำหนดกรอบเอาไว้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เเต่ประเด็นสำคัญคือตัวเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ออกมาหลายอย่าง เรายังไม่เห็นเลยว่าตรงไหนที่เป็นการตอบโจทย์กรอบทั้ง 4 นั้น

บางเรื่อง เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีอยู่ในกรอบ เรายังไม่เห็นเลยว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนจะได้รับรองให้มันเกิดขึ้นในสภาพความเป็นจริงเเต่อย่างใด เพราะว่าในบทบัญญัติต่างๆ ยังไม่มีตรงไหนเลยที่เป็นหลักประกันส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง 

ตัวอย่างเช่น เรื่อง ส.ว.ที่เขาเรียกว่ามาจากการเลือกตั้งทางอ้อม จะมาเชื่อมโยงกับประชาชนเเละสังคมอย่างไร ยังไม่เห็นภาพเลย ยังพร่ามัวอยู่เยอะในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน

หรือการกำหนดว่านายกฯเป็นคนนอกได้ ก็เป็นการทำลายหลักการสำคัญในเรื่องการพัฒนาทางการเมืองเเละการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีพัฒนาการมาจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ต่อเนื่องยาวนาน มันก้าวหน้ามาถึงจุดที่นายกฯต้องมาจากประชาชน การเปิดโอกาสให้คนนอกมาเป็นนายกฯได้ มันจะตอบโจทย์เรื่องเพิ่มการมีส่วนร่วมได้อย่างไร 

แม้ว่าโจทย์บางข้อที่ตั้งไว้มันอาจจะมีกลไกใหม่ๆ เพิ่มขึ้นก็จริงอยู่ เเต่ว่าการมีส่วนร่วมมันไม่ได้ทำให้ตรงนั้นได้ส่งเสริมให้กรอบทั้ง 4 ตัวมันหมุนไปพร้อมๆ กันเเต่อย่างใด 

ที่บอกว่าต้องการสร้างสมดุลระหว่างสภาผู้เเทนฯมาจากพรรคการเมืองกับวุฒิสภาพหุนิยม ก็ต้องถามว่า ส.ว.ที่จะตั้งขึ้นมานั้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เพราะในหลายประเทศทั่วโลกก็ไม่ได้ใช้ระบบสภาคู่เเล้ว ใช้สภาเดี่ยวกัน เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น 

สำหรับสภาคู่ มันต้องตอบให้ได้ว่าเพื่ออะไร ถ้าต้องการให้ ส.ว.เป็นสภาตรวจสอบ ก็ต้องบอกให้ได้ว่าสภาตรวจสอบมีความเชื่อมโยงกับสังคมได้อย่างไร 

ที่จริง พัฒนาการ ส.ว.ของไทยเริ่มมาตั้งเเต่ปี 2476 ที่ต้องการให้ ส.ว.เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ส.ส. จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เเละมีอำนาจเป็นสภาตรวจสอบ จะเห็นได้ว่ามันสมดุลกันทั้งที่มาเเละอำนาจ 

วันนี้เราบอกว่าจะให้อำนาจ ส.ว.มากขึ้น สามารถตรวจสอบประวัติคณะรัฐมนตรี มีอำนาจเเต่งตั้งถอดถอนผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองเเละองค์กรอิสระ เเต่ที่มากลับกลายเป็นว่าไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นการเสียดุลอำนาจทางการเมือง 

ฉะนั้นการมี ส.ว.เเบบนี้ต้องตอบให้ได้ว่าเชื่อมกับประชาชนอย่างไร อาจไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งทางตรงก็ได้ อาจมาจากการเลือกเป็นลำดับชั้นขึ้นมาจากชุมชนท้องถิ่น เหมือนที่มา ส.ว.ของเยอรมนี เเบบนี้จะตอบได้ว่า ส.ว.นั้นไม่ได้มีที่มาเดียวกับ ส.ส. 

ประเด็นคือ ที่มากับอำนาจหน้าที่มันต้องสมดุลกัน ถ้า ส.ว.มีอำนาจถอดถอนตัวเเทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ว.ก็ต้องมีที่มาเชื่อมโยงกับประชาชนเหมือนกัน ไม่ใช่เชื่อมโยงกับอำนาจระบบราชการ 

เเบบนั้นจะสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้มีอำนาจเหนือข้าราชการ

ธนพร ศรียากูล

หัวหน้าพรรคคนธรรมดา

ทิศทางของร่างรัฐธรรมนูญ 4 ข้อนั้น ล้วนเป็นโมเดลรัฐธรรมนูญปี 2540 มีวัตถุประสงค์แบบเดียวกัน แทบจะไม่มีอะไรต่างออกไปเลย แต่ที่ต่างกันคงจะเป็นเพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นเชื่อในวิจารณญาณของประชาชน ไม่ต้องไปตั้งคนดีมาเป็นสมัชชาใดๆ ทั้งสิ้น แต่นำข้อพิจารณาของประชาชนทุกคนที่มีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครดีใครเด่นไปกว่ากัน 

เพราะฉะนั้น 4 แนวทางไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐธรรมนูญปี 2540 เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมกันของคน ทั้ง ส.ว. ส.ส. นายกฯ ล้วนมาจากการเลือกตั้ง นั่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันของคน 

แต่รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมกันของคน และจะทำให้คนรู้สึกไม่เท่าเทียมกัน เพราะคนในสังคมจะถูกแบ่งเป็น "คนดีโดยบริสุทธิ์" กับคนทั่วๆ ไป ซึ่งขัดกับหลักโดยทั่วไปที่ไม่มีใครดีโดยบริสุทธิ์ 

ส่วนที่บอกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ และให้ใช้ระบบสัดส่วนผสมมาใช้ อยากเรียนว่าสมมุติฐานในปี 2540 คือพรรคการเมืองไม่เข้มแข็งและไม่มีความต่อเนื่องในการบริหารงาน เพราะเป็นรัฐบาลผสม ไม่สามารถผลักดันนโยบาย

สาธารณะใดๆ ที่เป็น "ประชาธิปไตยกินได้" ได้เลย เราถึงมีรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งในการผลิตนโยบายสาธารณะ เพื่อทำให้ประชาชนรู้สึกว่าประชาธิปไตยนั้นจับต้องได้ ตรวจสอบได้ เข้าถึงได้

แต่ไม่น่าเชื่อว่าเวลาผ่านไป 18 ปี กลับคิดว่าการมีรัฐบาลผสมเป็นสิ่งที่ดี เรากำลังละเลยบทบาทของภาคประชาชนที่แสดงออกผ่านทางการเลือกผู้แทนของเขา แต่กลับไปให้ความสำคัญกับเทคโนแครตและข้าราชการ

เสียงค้านกระหึ่ม

บทนำมติชน

     การสัญจรยกร่างรัฐธรรมนูญที่พัทยา จ.ชลบุรี ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจบลงไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถือว่ารัฐธรรมนูญได้ยกร่างเสร็จสิ้น โดยมีเหตุการณ์นางทิชา ณ นคร กรรมาธิการยกร่างฯ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติขอลาออกจากตำแหน่ง หลังจากต่อสู้ให้สตรีมีสัดส่วนในรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จเป็นข่าวใหญ่ในวันส่งท้าย ขณะที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการฯได้สรุปเป้าหมายของรัฐธรรมนูญที่ยกร่างไว้ 4 ประเด็นคือ 1.เป้าหมายเพื่อให้พลเมืองเป็นใหญ่ 2.เป้าหมายการเมืองใสสะอาดและสมดุล 3.เป้าหมายความเป็นธรรม และ 4.เป้าหมายสู่สันติสุข

     นายบวรศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่กำหนดเป็นแนวทางนำไปสู่เป้าหมายทั้ง 4 เช่น กำหนดให้พลเมืองมีสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง กำหนดให้พลเมืองถอดถอนนักการเมืองได้ กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านประชามติ ฯลฯ เป็นแนวทางที่สนองตอบต่อเป้าหมายที่ 1 พลเมืองเป็นใหญ่ ส่วนเป้าหมายใสสะอาดและสมดุลนั้น แบ่งเป็นการเมืองใสสะอาด ให้จัดตั้งสภาคุณธรรม มีกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริจ หรือการเมืองที่สมดุลก็เกิดจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับเลือกตั้ง และวุฒิสภาที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ไม่ใช่พรรคการเมือง และไม่ได้เลือกตั้ง นอกจากนี้ ในเป้าหมายเป็นธรรมและสู่สันตินั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดแนวทางตามการปฏิรูป 18 ด้าน และจัดตั้งคณะกรรมาธิการปรองดองแห่งชาติขึ้นมา 

     เป้าหมายของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้รับการขานรับด้วยดี แต่แนวทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติกลับถูกตั้งคำถามและมีความเห็นต่างมาก ทั้งเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี หรือที่มาและอำนาจของวุฒิสภาซึ่งแลดูไม่สมเหตุสมผล เช่น ส.ว.มาจากการเลือกทางอ้อม แต่มีอำนาจต่อฝ่ายบริหารและสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา ที่สำคัญกลุ่มผู้ตั้งข้อสังเกต และไม่เห็นด้วยนั้น เป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มการเมือง กลุ่มนักวิชาการ ซึ่งหลายเสียงในกลุ่มต่างๆ เคยสนับสนุนกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นี่ย่อมแสดงว่ารัฐธรรมนูญที่เพิ่งร่างเสร็จ ยังมีประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจอย่างหนัก เพราะเพียงแค่นี้ กระแสเสียงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็ดังกระหึ่ม ดังขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งภายในและภายนอกที่ประชุม

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!